Sunday, 20 April 2025
ช่วยน้ำท่วม

‘ยิ่งลักษณ์’ ส่งตัวแทนช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม โทษรัฐประหาร ส่งผลแผนจัดการน้ำถูกยับยั้ง

15 ต.ค. 64 - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ส่งตัวแทนมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลบางกระบือ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี นำโดย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หลานสาวและอดีตนายทะเบียนพรรคทษช. นายวิม รุ่งวัฒนจินดา อดีตรองเลขาธิการพรรคทษช. และทีมเลขาน.ส.ยิ่งลักษณ์

ร.ท.ปรีชาพล กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ฝากให้กำลังใจพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกๆ ครอบครัว เชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านพ้นไปโดยเร็ว และอยากฝากถึงรัฐบาล เรื่องการเยียวยาหลังน้ำท่วมขอให้ทั่วถึงและเป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน โดยเฉพาะเกษตรกร ที่จะต้องขาดรายได้ไปตลอดทั้งปี เพราะพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสีย สำหรับพี่น้องชาวจังหวัดสิงห์บุรี ท่านนายกฯ ฝากให้กำลังใจ ขอให้ทุกคนผ่านพ้นความลำบากนี้ไปให้ได้ ในช่วงปี 54 ท่านนายกฯ ได้เดินทางมาตรวจงานที่สิงห์บุรีบ่อยมากๆ เนื่องจากมีเหตุที่ประตูระบายน้ำบางโฉมศรีแตก ที่อำเภออินทร์บุรี

นายวิม กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้โทรมาสอบถามถึงสถานการณ์น้ำท่วม หลังจากมีข่าวว่าหลายจังหวัดถูกน้ำท่วมจนทำให้พี่น้องประชาชนต้องกลายเป็นผู้ประสบภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ตลอดจนภาคอีสาน ที่ปีนี้ภาคอีสานกลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมมากที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงคิดว่าเบื้องต้นเพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยก่อน โดยเฉพาะเรื่อง อาหาร น้ำดื่ม และยาสามัญประจำบ้าน ที่จำเป็นต้องใช้ ท่านจึงให้ทีมงานช่วยกันจัด ”ถุงน้ำใจ จากยิ่งลักษณ์“ เพื่อนำมามอบให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ที่หน่วยงานรัฐยังไม่เข้ามาช่วยเหลือ หรือบางพื้นที่ที่อาจถูกมองข้ามไป ซึ่งทางทีมงานก็ได้ประสานไปยังกลุ่มผู้ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ

"กรมการทหารช่าง" ส่ง กำลังพล-ยุทโธปกรณ์ ช่วยประชาชน ขนย้านสิ่งของหนีน้ำท่วม พร้อมรับซื่อสินค้าเกษตร

กรมการทหารช่าง โดย กองพลทหารช่าง (ช.11 พัน.602) จัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่ ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จว.ราชบุรี 

โดยการช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นการช่วยขนย้ายประชาชนและสิ่งของ ออกจากพื้นที่น้ำท่วม และสะพานขาด ถนนไม่สามารถใช้สัญจรได้  

 

'เพื่อไทย' โอดน้ำท่วมเชียงใหม่หนักแทบปิดเมือง 'ส.ส.-ว่าที่ผู้สมัคร' ระทม!! ช่วยมากไม่ได้ กลัวผิดกฎเหล็ก กกต.

(4 ต.ค. 65) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) นายบรรจงศักดิ์ วงศ์รัตนวรรณ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคพท.ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจพี่น้องประชาชนและหน่วยงานงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือรับมือสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งเป็นผลพวงจากพายุโนรู โดยฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าบนเทือกเขาไหลทะลักท่วมหลายพื้นที่ ทั้งที่ อ.เวียงแหง​ อ.เชียงดาว อ.ไชยปราการ เส้นทางสายแม่จา​-เมืองแห่ง​ดินสไลด์ ไม้ล้มขวางเส้นทาง​พาดทับสายไฟฟ้า​หลายจุด ตลอดสายทางพื้นถนนด้านล่างทรุดตัวเป็นโพรงขนาดใหญ่​ ขณะที่ถนนโชตนา ช่วงระหว่าง อ.เชียงดาว เข้า อ.ไชยปราการ ถนนมีการทรุดตัว สุ่มเสี่ยงต่อการสัญจร สำหรับ อ.เชียงดาว​ พื้นที่ลุ่ม​ได้รับความเสียหายจากน้ำที่เอ่อทะลักท่วมพื้นที่การเกษตร​ ดินสไลด์​ทับบ้านเรือนประชาช​นที่บ้านห้วยตีนตั่ง​ น้ำพัดคอสะพาน​ขาด​ที่บ้านห้วยทรายขาว​ ต.ทุ่ง​ข้าว​พวง​ ส่วนที่ อ.แม่แตง ดินถล่มสร้างความบ้านประชาชนจำนวนมาก นักท่องเที่ยวในเขต ต.เมืองก๋าย ต้องเดินเท้ากว่า 10 กิโลเมตร มาที่ศูนย์ชั่วคราวที่ อบต.เมืองก๋าย เนื่องจากเส้นทางสัญจรเสียหายอย่างหนัก 

ด้านน.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ นายศรีเรศ โกฎคำลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคพท.พร้อมด้วยน.ส.ศรีโสภา โกฏคำลือ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคพท.ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากน้ำท่วมตั้งแต่คืนวันที่ 2 ต.ค.ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ พบว่าพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายหนักจากน้ำป่าทะลักลงแม่น้ำปิงจนถนนในท้องถิ่นพัง พี่น้องประชาชนต้องช่วยเหลือกันเองด้วยการสร้างคันกั้นน้ำซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรในท้องถิ่นริมแม่น้ำปิง เพื่อป้องกันการกัดเซาะตลิ่งพังจากไม้ในพื้นที่และเสริมกระสอบทรายเพื่อความแข็งแรง ในเบื้องต้นได้ประสานงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเพิ่มเติมแล้ว

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ และรองเลขาธิการพรรคพท.ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนในตัวเมืองเชียงใหม่ หลังถูกน้ำป่าจากดอยเชียงดาวและใกล้เคียงไหล ลงสู่แม่น้ำปิงจนเกินศักยภาพที่แม่น้ำจะรับได้ ระดับน้ำในแม่น้ำปิงสูงสุด ณ วันที่ 3 ต.ค.อยู่ที่ 4.63 เมตร น้ำล้นตลิ่งจนไหลเข้าท่วมพื้นที่ตั้งแต่คืนวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ระดับน้ำเทียบเท่ากับปี 2554 ทำให้ต.ช้างคลาน ต.ป่าแดด และพื้นที่ใกล้เคียงถูกน้ำท่วม ทั้งเมืองกลายเป็นอัมพาต สถานที่ราชการ, วัด, โรงเรียน ภาคเศรษฐกิจท้องถิ่น เช่น โรงแรมอนันตรา โรงเรียนมงฟอร์ด ไนท์บาซา กาดต้นลำไย ร้านอาหาร ไม่สามารถเปิดทำการได้ การคมนาคมไม่สามารถสัญจรไปมาได้เกือบ 100%  

นายจักรพล กล่าวอีกว่า ตอนนี้การให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนหยุดชะงักจากกฎเหล็ก 180 วันของ กกต.ที่กลายเป็นอุปสรรค ในภาวะที่พี่น้องประชาชนกำลังตกทุกข์ได้ยาก แต่ผู้แทนราษฎรที่พี่น้องประชาชนเลือกเข้ามาแก้ปัญหา ร่วมทุกข์-ร่วมสุข กลับไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างคล่องตัวและทันต่อความเดือดร้อน ไม่มีเวทีทำงานให้ ส.ส.เขต ตนทำได้เพียงตะโกนไถ่ถามพี่น้องประชาชนหน้าบ้าน และประสานงานหน่วยงานท้องถิ่นซึ่งก็ประสบภัยเช่นเดียวกันเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นไปด้วยความทุลักทุเล ไม่ทันการณ์ เช่น ประสานเทศบาลนครเชียงใหม่นำกระสอบทรายเข้าไปในพื้นที่เพิ่มเติม มีประชาชนส่งข้อความมาทางเฟซบุ๊ก ขอความช่วยเหลือด้านอาหารแห้ง น้ำ และยารักษาเบื้องต้น

‘ลุงตู่’ กำชับ!! 10 ข้อปฏิบัติเร่งช่วยปชช. พ้นวิกฤตน้ำท่วม

โฆษกรัฐบาลย้ำนโยบายนายกฯ 10 ข้อถึงผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย โดยให้ถือปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน

เมื่อวันที่ (4 ตุลาคม 2565) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบนโยบายให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัย เพื่อได้นำไปปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นขณะนี้ ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านการพยากรณ์ และคาดการณ์ลักษณะอากาศวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย แจ้งให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ประสานไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพื่อแจ้งเตือนประชาชนผ่านทุกช่องทาง ไปถึงชุมชน หมู่บ้าน ให้ประชาชนรับทราบ และเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในเบื้องต้น

2. ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ เตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกล สาธารณภัย ให้พร้อมออกปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย อาทิ การกำจัดวัชพืช ขยะตามเส้นทางน้ำ การพร่องน้ำในแหล่งน้ำ การเร่งระบายน้ำ/การเปิดทางน้ำ/ผลักดันน้ำ ออกจากพื้นที่ชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม

3. กำชับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการก่อสร้าง บำรุงรักษาถนน ในการตรวจสอบปรับปรุง กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาโครงการที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการระบายน้ำในช่วงฝนตกหนัก พร้อมทั้งให้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจร ติดตั้งป้าย/สัญญาณจราจรแจ้งเตือนประชาชนใช้ความระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าวให้ชัดเจน โดยให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากถนนให้ครบถ้วน ทั้งทางลอด การติดตั้งสัญญาณจราจร ป้าย ควรแจ้งเตือนและเฝ้าระวังเส้นทางหลีกเลี่ยง และควรปักแนวถนน สำหรับรถวิ่งผ่าน ในกรณีที่ถนนน้ำท่วม

4. เมื่อสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่คลี่คลาย ให้เร่งสำรวจผลกระทบ ความเสียหายในด้านต่าง ๆ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

5. เมื่อเกิดน้ำท่วมขังสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน ให้มอบหมายฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ตลอดจนเชิญชวนประชาชนจิตอาสา ร่วมเฝ้าระวัง และร่วมกันกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งบูรณาการหน่วยงานฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร ตลอดจนภาคเอกชน ในการใช้เครื่องจักรกลสาธารณภัยเปิดทางน้ำ หรือสูบน้ำระบายออกจากพื้นที่ และการช่วยเหลือประชาชน

‘พิมพ์ภัทรา’ สั่ง ‘ก.อุตฯ’ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ ส่ง ‘ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน’ บรรเทาทุกข์ประชาชน 

(23 พ.ย. 66) ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งมอบความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ภาคใต้ ขานรับข้อสั่งการ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ เร่งสำรวจความเสียหายในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเร็ว 

ทั้งนี้จากข้อมูลที่ได้รับรายงานเบื้องต้น พบว่า มีบางพื้นที่ประสานขอความช่วยเหลือ ‘ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน’ เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน อาทิ พื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี  พร้อมกำชับให้มีการเฝ้าระวังการรั่วไหลของสารเคมีอันตราย และกากอุตสาหกรรม จัดเตรียมแผนรักษาความปลอดภัยอื่น ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัย รวมถึงการให้บริการการตรวจประเมิน และคำปรึกษาแนะนำการบริหารจัดการในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งแบบลงพื้นที่ (Onsite) และระบบทางไกล (Remote Assessment)

พร้อมจัดตั้งให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางในพื้นที่ภาคใต้ ทำหน้าที่รวบรวมและกระจายความช่วยเหลือไปยัง 14 จังหวัดภาคใต้ สำหรับส่วนกลางให้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นศูนย์รวบรวมความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน และบริหารจัดการเพื่อส่งมอบไปยังพื้นที่ประสบภัยอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ 

ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมขอขอบคุณทุกภาคส่วน ที่มีส่วนร่วมในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนชาวไทย โดยโครงการ ‘อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย’ ปีที่ 2 โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคเอกชน ผ่านอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ และหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม นำสิ่งของอุปโภค บริโภค และของใช้ที่จำเป็นแพ็กเป็น ‘ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน’ เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม ผ่านมารวมระยะเวลากว่า 1 เดือน  ซึ่งได้ส่งมอบไปยังพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย ราชบุรี พิจิตร ขอนแก่น มหาสารคาม ชุมพร ระนอง และนครศรีธรรมราช ส่งมอบถุงยังชีพไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติไปแล้วกว่า 7,000 ราย

‘สว.วีระศักดิ์’ ร่วมพิธีเปิดงาน ‘พึ่งพา RUN’ มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

เมื่อวานนี้ (5 ธ.ค. 66) มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดกิจกรรม ‘พึ่งพา RUN’ ครั้งที่ 1 ภายใต้งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ประจำปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติองค์ประธาน และนายกกิตติมศักดิ์ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อเป็นการส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไป หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพสร้างกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ ให้กับตนเองและครอบครัว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของมูลนิธิฯ และเฉลิมฉลองการดำเนินงานตลอด 28 ปี ที่ผ่านมาของมูลนิธิ ฯ เพื่อนำรายได้สมทบทุนและใช้สำหรับกิจกรรมของมูลนิธิฯ

สำหรับงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมการมูลนิธิฯ และรองประธานกรรมการอำนวยการจัดงานฯ กล่าวเปิดงาน ระบุว่า…กิจกรรมวิ่งการกุศล ‘พึ่งพา RUN’ ในวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ในโอกาสครบรอบ 28 ปี จัดตั้งมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ภายใต้แนวคิด “น้ำพระทัยสองพระมิ่งขวัญเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เปี่ยมล้นพระเมตตาผู้ประสบอุทกภัย" เพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ในการทรงงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตลอดระยะเวลากว่า 28 ปี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพทรงพระกรุณาประทานถ้วยรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศการแข่งขันจำนวน 2 ถ้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของขวัญและกำลังใจของผู้ร่วมกิจกรรม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ แก่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ปี 2566 

ภายหลังมีผู้เข้าแข่งขันวิ่งเข้าเส้นชัย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นประธานมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการแข่งขันวิ่งการกุศล ‘พึ่งพา RUN’ ชิงถ้วยประทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ณ สวนเบญจกิติ

สำหรับกิจกรรมพึ่งพา RUN แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ Mini Marathon 10 กิโลเมตร ประเภทบุคคลหญิงและชาย และ Fun Run (เดิน/วิ่ง) 3 กิโลเมตร บรรยากาศภายในงานคึกคัก มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งแบบวิ่งในงาน และ Virtual Run รวมกว่า 300 คน ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนจะได้รับเสื้อวิ่ง และเหรียญวิ่งผลิตจากเส้นใยขวดพลาสติกรีไซเคิล สอดคล้องกับรูปแบบการจัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2566 คือ Sustainability เพื่อรณรงค์ให้ทุกหน่วยงานได้เห็นถึงความสำคัญของการนำกลับมาใช้ใหม่ สนับสนุนอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรกับโลก 

นอกจากนี้ภายในงานผู้ร่วมงานยังได้รับประทานอาหารเช้าเมนูข้าวเหนียวไก่ทอดสูตรประทานฯ และไอศกรีมจากมูลนิธิ ณภาฯ อีกด้วย

'สุริยะ' สั่ง!! 'กรมเจ้าท่า' นำเรือพระราชทานเร่งช่วยเหลือเชียงราย 24 ชั่วโมง พร้อมลำเลียงอาหารและน้ำดื่มเข้าช่วยผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

(12 ก.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำชับให้กรมเจ้าท่า นำกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยเรือท้องแบนพระราชทานและยานพาหนะต่าง ๆ ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง 

สำหรับการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยวันนี้ (12 ก.ย. 67) บริเวณบ้านน้ำลัด ตำบลริมกก  อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีประชาชนติดอยู่ภายในประมาณ 100 กว่าคน มีนายภูเมศ สุขม่วง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยกรมเจ้าท่า ภาค 1 ได้นำเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่า พร้อมด้วย เรือพระราชทาน เรือเจ็ทสกี และรถยนต์ เข้าสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นจังหวัดเชียงราย ลำเลียงอาหารและน้ำดื่ม อย่างเร่งด่วน โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ในการเข้าช่วยเหลือของศูนย์ฯ ภาค 1 จำนวน 35 คน เรือพระราชทาน 2 ลำ เรือท้องแบน 1 ลำ เรือเจ็ทสกี 3 ลำ รถบรรทุกหกล้อมีเครนยก 1 คัน รถกะบะขับเคลื่อนสี่ล้อ 8 คัน 

- สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 กำลังพล 2 คน รถ 1 คัน
- สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย กำลังพล 15 คน เรือเจ็ทสกี 1 ลำ รถ 3 คัน
- สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ กำลังพล 4 คน เรือเจ็ทสกี 1 ลำ รถ 1 คัน
- สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่ กำลังพล 3 คน เรือท้องแบน 1 ลำ รถ 1 คัน
- สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพิษณุโลก  กำลังพล 3  เรือเจ็ทสกี 1 ลำ รถ 1 คัน
- สำนักงานและพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 คน 8 เรือพระราชทาน 2 ลำ รถ 2 คัน 

สำหรับพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยสามารถติดต่อ ขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนกรมเจ้าท่า 1199 ตลอด 24 ชั่วโมง

'ฝนหลวงฯ' นำเฮลิคอปเตอร์ ออกส่ง 'ข้าวกล่อง-น้ำดื่ม' กว่า 10 เที่ยว หลังมีผู้ที่ติดอยู่ตามบ้านเรือนและไม่ได้ทานอาหารมากว่า 2 วัน

(12 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เข้าสู่วันที่ 3 หลายพื้นที่น้ำเริ่มลดปริมาณลง แต่ยังคงมีหลายพื้นที่ ที่ยังเดือดร้อน ประชาชนติดอยู่ตามบ้านเรือนและไม่ได้ทานอาหารมากว่า 2 วัน

โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ฝนหลวง ร่วมกับเกษตร และสหกรณ์จังหวัดเชียงราย และหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในภารกิจแจกอาหาร ข้าวกล่อง และน้ำดื่ม รวมประมาณ 1,000 ชุด รวม 10 เที่ยวบิน บริเวณพื้นที่เทศบาล ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ที่ขาดน้ำและอาหารมากกว่า 2 วัน

ระทึก!! เรือกู้ภัยฯ 'ไทด์ เอกพันธ์' ถูกซัดล่ม ระหว่างช่วยผู้ประสบภัย เคราะห์ดีทุกคนสวมเสื้อชูชีพ เผย!! รู้ว่าเสี่ยง แต่ชาวบ้านรออยู่

(13 ก.ย. 67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก NAKON45 อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ ซึ่งเป็นอาสาสมัครร่วมกตัญญู ได้โพสต์คลิปไลฟ์สด อาสาสมัครลอยเกาะเรือท้องแบนที่ไหลมาตามกระแสน้ำ ระหว่างที่อาสาสมัครกู้ภัยฯ เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมบริเวณชุมชนวังทอง อำเภอแม่สาย โดยเรือนี้มี 'ไทด์ เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์' ทีมสื่อมวลชน และกู้ภัย รวมถึงผู้ประสบภัยนั่งมากับในเรือลำนี้ด้วย ทั้งนี้ยังมีข้อความระบุว่า "รู้แหละว่าเสี่ยง แต่ชาวบ้านรอพวกเราอยู่"

โดยขณะเกิดเหตุพบว่า ระหว่างที่ขับเรือเข้าไปพื้นที่นั้นกระแสน้ำยังคงไหลเชี่ยว จู่ ๆ เครื่องเรือดับ เพราะมีเศษหญ้า เศษผ้า เศษขยะ และกิ่งไม้ เข้าไปพันที่ตัวเครื่องยนต์ จึงทำให้ ได้ซัดเข้าตัวเรือ ทำให้เรือค่อย ๆ เอียง และล่ม ทำให้ไทด์ เอกพันธ์ ทีมสื่อมวลชน และกู้ภัย รวมถึงผู้อยู่บนเรือทุกคน จมน้ำ และถูกน้ำซัดไหลไปตามกระแส ทีมกู้ภัยทีมร่วมภารกิจได้ช่วยกันตะโกนให้ช่วยเหลือ เคราะห์ดีที่เจ้าหน้าที่สวมเสื้อชูชีพ ทำให้ทุกคนปลอดภัย ไม่ได้รับอันตราย ทราบต่อมาว่าอาสาสมัครได้รับบาดเจ็บ 1 นาย ส่วนอาสาสมัครที่เหลือปลอดภัย รวมไปถึง 'ไทด์ เอกพันธ์' ด้วย

อีกด้าน!! ความจริงที่ว่า “ทำไมไม่ค่อยเห็น ‘รมต.-สส.’ ลงน้ำท่วม?” เพราะ 'สั่งการ-ประสานทีมพื้นที่' ช่วยประชาชนไว้แล้ว

(13 ก.ย. 67) จากเฟซบุ๊ก 'KUL' โดย กุลวิชญ์ สำแดงเดช ผู้ดำเนินรายการ Ringside การเมือง ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

ทำไม ไม่ค่อยเห็น รมต. สส. ลงน้ำท่วม

ช่วงนี้มันเป็นการแถลงนโยบาย อันนี้ ต้องให้ความเป็นธรรม มันมีการถามตอบกันอยู่ตลอด

แล้วถามมา ก็ต้องตอบ 

คนอื่นตอบแทนไม่ได้

ดังนั้น รัฐมนตรี ใช้การสั่งการ แทนลงจริง ไปก่อน

และ สำหรับ เหล่า สส. จากที่พูดคุย ทีมงานของทุกท่าน ประจำอยู่ในพื้นที่ มีการประสานช่วยเหลือแล้ว 

เพียงแต่เป็นทีมประสานงาน ทีมเฉพาะกิจ ก็ไม่มีข่าวปรากฏ แต่ไม่ได้หมายถึงนักการเมืองทิ้งประชาชนแบบที่ มีการพยายามสื่อ

ถ้าจำกันได้ ที่ผ่านมา ช่วงน้ำท่วม ซึ่งมันไม่ติดงานแถลงนโยบาย รมต. สส. ก็ลงกันไปเยอะ 

ผมมั่นใจว่า หลังแถลงนโยบาย 

จะมีการลงพื้นที่อย่างอึกทึกครึกโครมแน่นอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top