Wednesday, 3 July 2024
ชาวไทยมุสลิม

‘โต๊ะอิหม่าม’ รวมใจชาวไทยมุสลิม ขอบคุณ ‘บิ๊กตู่’ หลังสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ เปิดทางร่วมพิธี ‘อุมเราะห์’

(1 ก.พ. 65) ที่ศูนย์เรียนรู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงแพะ ต.โมคลาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช นายทวี ประหยัด อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงภาคใต้ ในฐานะประธานเครือหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนภาคใต้ ร่วมรับฟังพบปะผู้ประสานงานองค์กรเอกชนอิสระ ตัวแทนกลุ่มองค์กรเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มต่างๆ นำโดย นายยะผาด สัมฤทธิ์ ‘โต๊ะอิหม่าม’ เป็นผู้นำศาสนาอิสลาม นายสมบูรณ์ โต๊ะเต้ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงเเพะ นายชาญวิทย์ กำปา นายโหด หวันสมัน ตัวแทน อบต.ตำบลโมคลาน และตัวแทนชาวไทยมุสลิมจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับกรณีที่ทางผู้นำรัฐบาลไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย โดยการเยือนครั้งนี้มีความหมายต่อประเทศไทยมากในการที่จะ ‘ฟื้นแรงงานไทย’ และด้านต่างๆ โดยเฉพาะชาวมุสลิมจากประเทศไทยดีใจเป็นอย่างมากที่จะได้เดินทางไปแสวงบุญยังประเทศซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง
นายยะผาด สัมฤทธิ์ ‘โต๊ะอิหม่าม’ ผู้นำศาสนาอิสลาม กล่าวว่า วันนี้พวกเราชาวมุสลิมดีใจเป็นอย่างยิ่งกับข่าวที่ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือ ‘นายกลุงตู่’ รื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและซาอุดีอาระเบีย ในรอบกว่า 30 ปี ซึ่งคาดว่า จะมีการส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเปิดประเทศซาอุดีอาระเบียต้อนรับนักแสวงบุญชาวไทยมุสลิมไปยัง ‘นครเมกกะ’ และ ‘เมืองเมดินา’ เข้าร่วม ‘พิธีอุมเราะห์’ ซึ่งการทำ ‘อุมเราะห์’ คือ การจาริกแสวงบุญ ณ ศาสนสถานสำคัญ 2 แห่งของชาวอิสลาม สามารถกระทำได้ตลอดทั้งปี ตรงข้ามกับ ‘พิธีฮัจญ์’ ซึ่งจะกระทำได้เพียงแค่ปีละครั้ง ตามกำหนดวันที่ยึดตามปฏิทินจันทรคติของศาสนาอิสลาม 

ทั้งนี้ศาสนสถานประกอบ ‘พิธีอุมเราะห์’ เพิ่งกลับมาเปิดอีกครั้งเมื่อเดือน ตุลาคมปีก่อน แต่เป็นไปอย่างจำกัด หลังจากห้ามการประกอบพิธีไปเป็นเวลา 7 เดือนเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 และในปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งศาสนสถานสำคัญของอิสลามเปิดรับนักแสวงบุญอีกครั้ง จึงเป็นข่าวดีที่ทางประเทศไทยเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการในด้านต่างๆ จะทำให้นักแสวงบุญจากประเทศไทยเดินทางเข้าประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างง่ายขึ้น

โต๊ะอิหม่าม ผู้นำศาสนาอิสลาม กล่าวอีกว่า พวกเราชาวมุสลิมที่นับถือ ‘ศาสนาอิสลาม’ ต่างพากันปลื้มและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางรัฐบาลไทย โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำโอกาสดีๆ มาให้กับพวกเราที่จะได้ไปแสวงบุญกันอย่างเป็นทางการ พวกเราขอขอบคุณ ‘นายกลุงตู่’ เป็นอย่างมากที่ทำหน้าที่ผู้นำของประเทศได้อย่างดีเยี่ยม เป็นนายกรัฐมนตรีที่รัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะคำว่า ‘ศาสนา’ ได้เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาของประเทศไทยได้ดำเนินกิจกรรมทางศาสนาอย่างอิสระ จนทำให้พวกเราชาวภาคใต้ทั้ง ‘คนไทยชาวพุทธ’ และ ‘คนไทยชาวมุสลิม’ อยู่ด้วยกันอย่างสมานฉันท์ รักและสามัคคี กันมาอย่างต่อเนื่อง พวกเราจึงอยากขอบคุณ ‘นายกลุงตู่’ จากใจจริง

‘ภท.’ เปิดนโยบายเอาใจ ‘ชาวไทยมุสลิม’ ยัน!! กัญชาเสรีมีคนบิดเบือน ลั่น!! หากเป็นรัฐบาลพร้อมตั้งองค์กรกิจการฮัจญ์ ลดค่าใช้จ่ายร่วมแสวงบุญ

‘ภูมิใจไทย’ หาเสียงชาวไทยมุสลิม ลั่นเป็นรัฐบาลพร้อมตั้งองค์กรกิจการฮัจญ์ ลดค่าใช้จ่ายร่วมแสวงบุญ แจงนโยบายกัญชามุ่งประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น หลังถูกฝ่ายการเมืองบิดเบือนให้ใช้เสรี

(1 พ.ค.66) ที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีการแถลงนโยบายพรรคภูมิใจไทยต่อพี่น้องมุสลิมไทย นำโดย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะแกนนำพรรค พร้อมด้วยนายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรค และนางปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายมณฑล โพธิ์คาย ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตประเวศ–สวนหลวง และน.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตปทุมวัน สาทร ราชเทวี 

นายศุภชัย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยให้ความสำคัญกับพี่น้องมุสลิม เรามีรัฐมนตรี 1 คน ที่เป็นมุสลิม เรามีส.ส.ที่เป็นมุสลิมหลายคน และวันนี้ในเขตเลือกตั้งที่มีพี่น้องมุสลิม เราหวังว่าจะได้กลับมาทำหน้าที่ในสภา เพื่อเป็นปากเสียงให้พี่น้องมุสลิม ผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเต็มที่สมบูรณ์ตามหลักศาสนาอิสลาม หลังการเลือกตั้งถ้าเราได้กลับมาเป็นรัฐบาล จะจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลส่งเสริมกิจการฮัจญ์ เพื่อไม่ให้มีหน่วยงานที่ไม่เหมาะสมเข้ามาบริหารจัดการที่ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น พรรคมีความเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องมุสลิม ให้เกียรติพี่น้องของเราในการทำหน้าที่เป็นตัวแทน หลายสิ่งหลายอย่างที่เราตั้งใจทำต่อพี่น้องมุสลิมถูกบิดเบือนหลายเรื่อง อาทิ นโยบายกัญชาที่เราตั้งใจเอาพืชที่ทรงคุณค่ามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เรามุ่งหวังที่จะช่วยประชาชนหลายล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงยาแผนปัจจุบัน แต่วันนี้มีคนเอาไปบิดเบือนว่าให้ใช้เสรี ทั้งที่เรามีกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขคุมเข้มอยู่ และในสภาครั้งที่แล้วเราเสนอกฎหมายขึ้นมาเพื่อควบคุมกำกับ แต่ถูกเตะสกัดโดยพรรคการเมืองอื่น” นายศุภชัย กล่าว

“วันที่ 14 พ.ค.นี้ เป็นวันเลือกตั้ง พี่น้องอยากได้ส.ส.ในเขตของท่านอย่างไร เราเสนอบุคคลที่มีความเหมาะสมให้ นอกจากเลือกส.ส.เขตแล้ว ท่านต้องเลือกนายกรัฐมนตรี วันนี้มีหลายท่านเสนอตัวเป็นนายกฯ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเสนอนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกฯ เพราะท่านเหมาะสมเข้าใจการบริหารงานภาครัฐ เป็นรองนายกฯ แก้ปัญหาโควิด – 19 ซึ่งในวัย 56 ปี ถือว่ากำลังหนุ่มมีความเหมาะสม จึงขอฝากพี่น้องทั้งเขตและพรรค” นายศุภชัย กล่าว  

‘ชาวไทยมุสลิม’ สวมชุดมลายู ร่วมฉลอง ‘วันอีดิลอัฎฮา’ อวดโฉมอัตลักษณ์ที่ทรงเสน่ห์ได้อย่างอิสระเสรี

‘วันอีดิลอัฎฮา’ เป็นวันที่มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงความเสียสละของ ‘อิบราฮิม’ ที่ยอมสละชีวิตบุตรชายของตัวเองเพื่อศาสดามูฮัมหมัด แต่ศาสดาได้มอบแกะให้อิบราฮิมเชือดแทน ชาวมุสลิมทั่วโลกจะฉลองวันนี้ด้วยการเชือดสัตว์ เช่น วัว และแพะ จากนั้นจึงนำไปแบ่งปันให้ญาติ มิตรสหาย ตลอดจนบริจาคให้ผู้ยากไร้

ซึ่งในปีนี้ สำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกมาประกาศว่า มีผู้เห็นดวงจันทร์ 1 ซุ้ลฮิจญะฮฺ ฮ.ศ. 1444 ตรงกับอังคารที่ 20 มิถุนายน 2566 วันอารอฟะฮฺ ตรงกับวันพุธที่ 28 มิถุนายน 2566 และ ถือว่า ‘วันอีดิลอัฎฮา’ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน 2566 โดยให้พี่น้องมุสลิมทั่วประเทศได้ปฏิบัติศาสนกิจโดยพร้อมเพรียงกัน โดยคาดว่า บรรยายกาศการเฉลิมฉลองในปีนี้ จะเต็มไปด้วยความคึกคักของพี่น้องประชาชนชาวไทยมุสลิม ที่ต่างเดินทางไปร่วมกันปฏิบัติศาสนกิจโดยพร้อมเพรียง

นอกจากนี้ ชาวไทยมุสลิมทั้งผู้ใหญ่ เด็ก วัยรุ่น ยังสวมเครื่องแต่งกายด้วยชุดมลายู สีสันสวยงาม ยังมีให้เลือกหลากหลาย โดยแต่ละพื้นที่ก็จะนิยมแต่งกายแตกต่างกันออกไป แต่ทุกพื้นที่ก็ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตัวเอง เช่น

ชุด ‘บาจู กูรง’ ลักษณะเด่นของชุดจะเป็นชุดที่ตัดเย็บจากผ้าผืนเดียวกันทำให้สี และลวดลายบนผืนผ้าจะเป็นแบบเดียวกันทั้งชุด มีความประณีตและสวยงาม เป็นชุดที่ดูสุภาพ ช่วยเสริมความโดดเด่นแก่ผู้สวมใส่

‘เสื้อโต๊ป’ ลักษณะชุดยาวคลุมข้อเท้า ผ่าหน้าความกว้างพอสำหรับสวมหัวได้ เสื้อแขนยาว นิยมใช้ผ้าสีขาวตัดเย็บ แต่การออกแบบปกและปลายแขนแตกต่างกัน เช่น คอกลมผ่าหน้ามีภู่ห้อย คอตั้ง ปกเชิ้ต ปลายแขนแบบปล่อย ปลายแขนติดกระดุมแบบเสื้อเชิ้ต หรือใช้ ‘Cufflink’

‘เสื้อปาเต๊ะ’ จากจังหวัดยะลา ตัดจากผ้า Sutra Patek Indonesia (สตรอ ปาเต๊ะ อินโดนีเซีย) เป็นผ้าปาเต๊ะ ที่นิยมสวมใส่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอดีตจะใช้เป็นผ้านุ่ง หรือ ผ้าถุง แต่ปัจจุบันมีการส่งเสริม พัฒนาต่อยอดผ้าท้องถิ่น นำมาออกแบบ ตัดเป็นเครื่องแต่งกาย กระเป๋า รองเท้า และอื่นๆ อีกมากมาย โดยลวดลายของผ้าปาเต๊ะ ส่วนใหญ่มีรูปแบบมาจากธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ หรือรูปเลขาคณิตต่างๆ บางลายก็จะเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมความเป็นมลายูและจีนเข้าไว้ด้วยกัน ถ่ายทอดออกมาผ่านลวดลายบนผ้า เช่น รูปดอกท้อ ดอกโบตั๋น พัด ลายหงส์ หรือ นกฟินิกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ การสวมชุดมลายูของชาวไทยมุสลิมในวันสำคัญนั้น ถือเป็นการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวไทยมุสลิม ซึ่งกำลังได้รับการผลักดันให้เป็นมรดกโลก ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เป็นเสน่ห์ และยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงอัตลักษณ์ที่ทรงคุณค่าของพี่น้องชาวไทยมุสลิมทุกกลุ่มในประเทศนี้ ซึ่งล้วนได้รับการยอมรับ และแสดงออกได้อย่างอิสระเสรี ตราบใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมายในประเทศไทย
 

‘รอมฎอน 2567’ เดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของ ‘ชาวมุสลิม’

‘รอมฏอน’ เป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม แต่ละปีชาวมุสลิมทั่วโลกจะ ‘ถือศีลอด’ ตลอดทั้งเดือน โดยจะเริ่มถือศีลอดตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งปีนี้ วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับ วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี

รอมฎอน ถือเป็นเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เชื่อกันว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานพระคัมภีร์อัลกุรอานลงมาให้แก่ นบีมูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม เพื่อใช้สั่งสอน และเป็นเครื่องชี้ทางให้แก่อิสลามิกชนทั่วโลก

พระคัมภีร์ระบุว่า วันที่พระเจ้าประทานอัลกุรอานให้แก่ นบีมูฮัมหมัด คือ ช่วงวันที่ 26-27 ของเดือนรอมฎอน ซึ่งชาวมุสลิมถือว่า เป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ในเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมทุกคนจึงต้องรักษาศีล อดอาหารเพื่อฝึกฝนการบังคับตนเองและเพื่อให้เข้าถึงคำสอนของนบีมูฮัมหมัด รวมถึงใช้เวลาในการศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอานอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการบูชาพระเป็นเจ้า เดือนนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ‘เดือนบวช’

ตลอดเดือนรอมฎอน 29-30 วัน หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ชาวมุสลิมจะปฏิบัติศาสนกิจเพื่ออัลเลาะห์ ด้วยการอดอาหาร งดเว้นเครื่องดื่ม พร้อมทั้งงดเว้นจากการร่วมประเวณี รวมทั้งเข้มงวดระมัดระวังตนเองไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต้องห้ามของศาสนา ไม่กระทำใดที่ขัดต่อคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ดังนี้…

- ทางมือ ด้วยการทำร้าย หรือหยิบฉวย ลักขโมย
- ทางเท้า ด้วยการก้าวย่างไปสถานที่ต้องห้าม
- ทางตา ด้วยการจ้องมอง ดูสิ่งลามก
- ทางหู ด้วยการฟังสิ่งไร้สาระ การฟังคำนินทาให้ร้าย และ
- ทางปาก ด้วยการโกหก โป้ปด ให้ร้าย พูดเรื่องไร้สาระ หยาบคาย

การปฏิบัติตนเพื่อละเว้นจากการกระทำดังกล่าวเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตกดิน และแสดงให้เห็นว่าการถือศีลอดนั้นไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะการอดอาหารดังที่เข้าใจกัน หากยังรวมถึงการระมัดระวังตนมิให้ประพฤติผิดในเรื่องอื่น ๆ ด้วย

>> ความสำคัญของ ‘เดือนรอมฎอน’
แก่นสาระของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน มีจุดประสงค์ เพื่อให้อิสลามิกชนได้ตระหนักรู้ถึงความยากลำบาก ได้เรียนรู้อุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต การถือศีลอดจึงเป็นการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อให้รู้จักอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากต่าง ๆ ด้วยความเพียร และสติปัญญา

“การถือศีลอด เป็นการขัดเกลาจิตใจให้อิสลามิกชนเป็นผู้มีสติหนักแน่น อดทนต่อความหิวโหย อดทนต่อความโกรธ ไม่ปล่อยจิตใจไหลไปตามสิ่งเย้ายวนอารมณ์”

การถือศีลอด จึงเป็นกระบวนการฝึกฝนจิตใจของชาวมุสลิมให้เป็นผู้มีสติ การถือศีลจึงมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต ต่อหน้าที่การงาน และกิจวัตรประจำวันของชาวมุสลิม

>> หลักปฏิบัติในการถือศีลอด
การเริ่มต้นวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ในเดือนรอมฎอน จะมีขึ้นตั้งแต่วันแรกของเดือน โดยการประกาศการเริ่มต้นเดือนรอมฎอนจะทำโดยผู้นำทางศาสนาของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะกำหนดจากการสังเกตคืนที่ปรากฎดวงจันทร์เสี้ยวเป็นครั้งแรกหลังจากคืน เดือนมืดให้เป็นวันที่ 1 ของเดือน และนับไปจนครบ 29-30 วันตามแต่ปฏิทินฮิจเราะญ์ของแต่ละปี
อย่างไรก็ตาม ชุมชนมุสลิมหลักของโลก ในตะวันออกกลาง การเริ่มเดือนรอมฎอนจะยึดตามคำประกาศของผู้นำศาสนาอิสลามในอียิปต์เป็นสำคัญ

การอดอาหาร แม้จะเป็นส่วนสำคัญในวัตรปฏิบัติของเดือนรอมฎอน แต่อาหารก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน โดยก่อนและหลังพระอาทิตย์ตก ชาวมุสลิมจะรับประทานอาหารอย่างอิ่มหนำสำราญร่วมกับครอบครัว โดยมีข้อบังคับว่าอาหารชนิดแรกที่อิสลามิกชนต้องรับประทานหลังจากถือศีลอดมา ทั้งวัน คือ ‘อินทผลัม’ ตามด้วยอาหารหวานต่างๆ เพื่อชดเชยกับพลังงานที่สูญเสียไปจากการอดอาหาร

แม้ว่าในช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ชาวมุสลิมจะสามารถรับประทานอาหารได้ แต่ยังคงต้องสำรวมและถือศีลไม่ปล่อยให้ตนเองมีความสุขกับการรับประทานอาหารและผ่อนคลายจนเกินไป

โดยถือว่าหากศาสนิกชนดื่มด่ำในรสชาติของอาหารและความสุขจากการรับประทาน การฝึกฝนตนเองที่กระทำมาทั้งวันก็เท่ากับเป็นการสูญเปล่า

>> สิ่งที่ควรปฏิบัติในการถือศีลอด
- รับประทานอาหารซุโฮร์ให้ใกล้หมดเวลา และรีบแก้ศีลอดเมื่อเข้าเวลา
- ไม่พูดนินทา ไม่คิดร้าย ทำใจให้สงบ อ่านอัลกุรอ่าน
- เคี้ยวอาหารช้าๆ ห้าสิบครั้งต่อคำ ควรทานอาหารไม่อิ่มแน่นมาก
- ดื่มน้ำสะอาด หลังรับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารเหมือนปกติ ไม่ควรเพิ่มอาหารมาก
- เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- ไปละหมาดตะรอเวียะฮ์ (การละหมาดในเดือนรอมฏอน) ทุกๆ วัน อย่างช้าๆ ไม่รีบ
- แบ่งปันอาหารให้ผู้ที่ถือศีลอด
- พยายามเลิกสิ่งเสพติดต่างๆ เช่น บุหรี่ ชา กาแฟ
- ควรตรวจร่างกายก่อนเข้าเดือนรอมฎอน และหลังจากสิ้นเดือนรอมฎอน

>> ข้อห้ามขณะถือศีลอด ในช่วงเวลากลางวัน มีดังนี้...
- ห้ามรับประทานหรือดื่ม รวมทั้งการสูบบุหรี่ด้วยโดยเจตนา
- ห้ามร่วมประเวณี หรือทำให้อสุจิออกมาโดยเจตนา
- ห้ามทำให้อาเจียนโดยเจตนา
- ห้ามเอาสิ่งใดเข้าไปจนลึกเกินบริเวณภายนอกในอวัยวะที่เป็นรู เช่น ปาก จมูก โดยเจตนา

>> ดุแลใส่ใจสุขภาพ ‘ช่วงถือศีลอด’
นพ.ปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา เคยให้ข้อมูลว่า พฤติกรรมการรับประทานที่แตกต่างกันของแต่ละคน อาจทำให้ช่วงเวลาถือศีลอดยาวนานได้ตั้งแต่ 13 - 20 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันไป 29-30 วัน จึงอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับบางคน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

>> ในเดือนถือศีลอด ดูแลสุขภาพได้ดังนี้...
- รับประทานอาหารสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะจะทำให้กระหายน้ำได้ระหว่างการถือศีลอดในตอนกลางวัน
- อาหารมื้อเย็นควรเริ่มด้วยอาหารเหลวย่อยง่าย เลี่ยงอาหารที่ย่อยยากเพราะจะทำให้กระเพราะอาหารทำงานหนักขึ้น
- อาหารมื้อเย็น ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารมากเกินไป เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวกระเพาะอาหารจะมีน้ำย่อยออกมามาก การรับประทานอาหารอย่างรวดเร็วจะทำให้กระเพาะอาหารปรับตัวไม่ทัน ระบบย่อยอาหารแปรปรวน เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
- หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ต้องอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง เพราะการนอนหลังรับประทานอาหารทันที อาจทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ ทำให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวนเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ก่อนรับประทานอาหารหรือปรุงอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง สำหรับน้ำดื่มควร เป็นน้ำที่สะอาด เช่น น้ำต้มสุก หรือน้ำบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน

>> รู้หรือไม่ ‘รอมฎอน’ ขยับเร็วขึ้นมาทุกปี
เดือนรอมฎอน นอกจากการกำหนดเดือนในปฏิทินอิสลามที่ต้องสังเกตการณ์ดวงจันทร์เสี้ยวแรกแล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องกับ ดาราศาสตร์ อย่างเรื่องการหมุนรอบตัวเองของโลก และการที่แกนโลกเอียง ดังนี้
เดือนรอมฎอน ขยับเร็วขึ้นมาทุกปี เมื่อเทียบกับปฏิทินสากล

ในแต่ละปี เดือนรอมฎอนจะขยับเร็วขึ้นมา 10 หรือ 11 วัน เมื่อเทียบปฏิทินสากล (ปฏิทินเกรกอเรียน) ปฏิทินสากลนั้นใน 1 ปี มีจำนวนวัน 365 หรือ 366 วัน แตกต่างกับปฏิทินอิสลามแบบจันทรคติ (เดือนกอมารียะห์) ที่มีทั้งหมด 12 เดือน แต่หนึ่งเดือนกอมารียะห์นั้นจะมีจำนวนวัน 29 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับการสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวแรก

ดังนั้น 1 ปีของปฏิทินอิสลาม มีจํานวนวันประมาณ 354 หรือ 355 วัน น้อยกว่าปฏิทินสากลอยู่ประมาณ 10 หรือ 11 วัน ส่งผลให้แต่ละปี เดือนรอมฎอนจะขยับเร็วขึ้นมา และฤดูกาลที่ถือศีลอดจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เนื่องจากปฏิทินจันทรคติ เป็นปฏิทินไม่ตรงตามฤดูกาล

สำหรับปีนี้ วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1445 ตรงกับวันที่ 12 มีนาคม 2567 (ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี) เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1444 ตรงกับวันที่ 23 มีนาคม 2566
ใน 1 วันระยะเวลาถือศีลอด แต่ละพื้นที่บนโลกไม่เท่ากัน

ระยะเวลาการถือศีลอดของมุสลิมแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เพราะแกนหมุนรอบตัวเองของโลกที่เอียงทำมุม 23.5 องศากับเส้นตั้งฉากระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้พื้นที่ต่างๆ บนโลก ได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดฤดูกาลบนโลกและระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกัน เช่น ช่วงฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ กลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน

ในขณะที่ซีกโลกใต้จะเป็นฤดูหนาวที่มีกลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน นั่นแปลว่า ในช่วงเดือนรอมฎอนของแต่ละปี มุสลิมแต่ละพื้นที่ทั่วโลกจะถือศีลอดใน "ฤดูกาล" ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มีระยะเวลากลางวัน - กลางคืนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ทั้งนี้เดือนรอมฎอนจะสิ้นสุด1 เดือนในปฏิทินจันทรคติ อาจมี 29 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับการมองเห็นดวงจันทร์ของเดือนใหม่ ดังนั้นในเย็นขอวันที่ 29 ของเดือนรอมฎอนมุสลิมก็จะพากันไปร่วมกันดูดวงจันทร์ หากเห็นก็ถือว่าวันต่อไปเป็นเดือนใหม่ และรอมฎอนก็สิ้นสุดลง เท่ากับว่ารอมฎอนของปีนั้นมี 29 วัน แต่หากไม่เห็นก็นับว่ารอมฎอนมี 30 วัน มุสลิมต้องถือศีลอดต่อไปอีก 1 วัน จึงถือว่าเดือนรอมฎอนของปีนั้นสิ้นสุดลง

เมื่อรอมฎอนสิ้นสุดก็จะเป็นการเฉลิมฉลอง ที่เรียกว่าวัน ‘วันอีฎิ้ลฟิตริ’

เดือนรอมฏอน นับว่ามีความสำคัญ ตามบัญญัติของศาสนา 1 ใน 5 ของอิสลาม หรือเรียกว่า "การถือบวช" คล้ายกับการถือศีล 5 ของชาวพุทธ แต่ศีลอดของอิสลามนั้นไม่ปฏิบัติไม่ได้ มุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะแล้ว จำเป็นต้องปฏิบัติศีลนี้อย่างเคร่งครัด ยกเว้นผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย คนชรา หญิงมีครรภ์ เด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

อ้างอิง: สำนักสารสนเทศ กอ.รมน.ภาค 4 สน. / สสส. / สำนักจุฬาราชมนตรี / สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top