Tuesday, 22 April 2025
ชนเผ่า

‘NGO’ สิทธิเด็กฯ ผุดแคมป์นานาชาติพันธุ์-ชนเผ่า ที่ จ.เชียงราย เปิดแล้ว 10 ห้อง รายได้ส่วนหนึ่งสมทบ ‘มูลนิธิเพื่อนลูกสาวไทย’

(27 ธ.ค. 66) ผู้บริหารจากองค์กรภาคเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิเด็กหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน ได้ร่วมลงทุนสร้างแคมป์หรูหรา ‘Visama Mae Chan’ อยู่ติดกับป่าเขาใกล้ดอยจระเข้ เลขที่ 614 หมู่บ้านสันโค้ง หมู่ 10 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่เดือนเมษายน 66 จนแล้วเสร็จ และเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2566 เป็นต้นมา

ซึ่งรูปแบบสิ่งปลูกสร้างที่พักแห่งนี้ดูแปลกตา สร้างอิงอยู่กับธรรมชาติของต้นไม้ ทุ่งนาและภูเขา บนเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 120 ไร่ รวมถึงที่พักและบริการต่างๆ ก็เน้นให้เข้ากับธรรมชาติ ไร้การให้บริการเรื่องโทรทัศน์ แต่ราคาค่าบริการในระดับเดียวกับโรงแรมขนาดใหญ่

โดย Visama Mae Chan ตั้งอยู่ห่างไกลชุมชนบ้านสันโค้งเข้าไปใกล้กับเขตป่า ด้านหน้าเป็นกอไผ่และใช้ไม้ไผ่ทำรั้ว มีทุ่งนาและเลี้ยงควายเผือกเป็นฉากทิวทัศน์ และด้านข้างมีอาคารต้อนรับ-ร้านอาหารเป็นเรือนไม้ 1 ชั้น ส่วนห้องพักจะอยู่ใต้ต้นไม้ เป็นสิ่งปลูกสร้างทรงยกสูงแต่ใช้ผ้าใบเต็นท์เป็นผนังหลัก มุ่งให้ผู้เข้าพักอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่มีความเป็นเอกลักษณ์และหรูหรา หรือ ‘ลักชัวรีเต็นท์แคมป์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ’

ปัจจุบันมีที่พักรูปแบบดังกล่าวที่สร้างแล้วเสร็จอยู่จำนวน 10 หลัง แบ่งเป็นเต็นท์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในเชียงราย คือ กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า 7 หลัง, เย้า 1 หลัง, ลาหู่ 1 หลัง และ ลีซู 1 หลัง แต่ละเต็นท์มีขนาด 48-80 ตารางเมตร และมีเฉลียงขนาด 12-20 ตารางเมตร แล้วแต่ชนิดของเต็นท์

ภายในมีเตียงนอน ห้องน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทันสมัยและหรูหรา แต่เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ โดยคิดค่าเข้าพักสำหรับเต็นท์อาข่าคืนละประมาณ 18,000 บาท และถ้าเป็นช่วงโปรโมชันลดเหลือ 13,600 บาท, เต็นท์เย้า 16,000 บาท, เต็นท์ลาหู่ 19,000 บาท และเต็นท์ลีซูประมาณ 40,000 บาท

ทุกเต็นท์จะไม่มีโทรทัศน์ให้เพื่อให้ผู้พักอยู่กับธรรมชาติอย่างสงบใจ แต่มีระบบอินเทอร์เน็ต หรือ WI-FI ให้ มีสถานที่นั่งพักผ่อนกลางทุ่งนาโดยไม่มีหลังคา เพื่อดูภาพยนตร์กลางแปลงพร้อมมีบริการเครื่องดื่มยามค่ำคืน

รวมทั้งมีกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้เข้าพักได้ทำ เช่น ทำอาหารและทำความเข้าใจกับอาหารล้านนา, วาดภาพ, ปั้นดินเผาและงานมืออื่นๆ, ยิงธนู, ปลูกต้นไม้แล้วติดป้ายชื่อเพื่อให้ระลึกถึง, นวด-สปากลางทุ่งนา, ผจญภัยกลางแจ้ง, สระว่ายน้ำ, บริการนำเที่ยวสถานที่ต่างๆ ในเชียงราย ฯลฯ

ซึ่งบางรายการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น วาดภาพประมาณ 3,200 บาท ฯลฯ โดยมีข้อมูลเผยแพร่และเปิดให้จองทาง https://maechan.visamalodges.com/ พร้อมระบุ รายได้ส่วนหนึ่งจะนำเข้าช่วยเหลือเด็กๆ ใน ‘มูลนิธิเพื่อนลูกสาวไทย’ ด้วย

‘Mr.Christopher Stafford’ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Visama Mae Chan กล่าวว่า “เราตั้งใจให้ Visama Mae Chan เป็นสถานที่เต็นท์แคมป์แบบหรูหรา ซึ่งจะไม่เป็นเพียงแค่สถานที่ส่วนตัว แต่เป็นสาธารณะด้วย ทั้งนี้ เราพยายามเชื่อมโยงผู้เข้าพักกับอาหารไทย เพราะถือเป็นสิ่งที่อัศจรรย์มาก และในฐานะที่ตนอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน 23 ปี ก็รู้สึกรักอาหารไทยที่มาจากทุกภูมิภาคของประเทศมาก”

ด้าน ‘นายสุพจน์ วงค์หนังสือ’ ผู้จัดการทั่วไป Visama Mae Chan กล่าวว่า “หลังจากเปิดให้บริการก็พบว่า มีนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของเราคือ ชาวอเมริกันและยุโรป แต่เราก็อยากประชาสัมพันธ์ให้ท้องถิ่นได้รับทราบด้วย”

ทั้งนี้ Visama Mae Chan เกิดจากผู้บริหารขององค์กรเอกชนที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ บางคนอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 20 ปี ได้พัฒนาพื้นที่นี้ทำธุรกิจ เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือเด็กๆ ดังกล่าว ซึ่งนอกจากลักชัวรีเต็นท์แคมป์ทั้ง 10 หลังดังกล่าว แล้วยังมีแผนจะขยายออกไปอีก 10 หลังในภูเขาบริเวณใกล้กันด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการขยายในปี 2567 ที่จะถึงนี้

งานเข้าสังคมชนเผ่าในป่าอเมซอน  หลังอินเทอร์เน็ตเข้าถึง แม้สื่อสารสะดวกขึ้น แต่พฤติกรรม 'ติดจอ-ลามก' เริ่มลุกลาม

(6 มิ.ย.67) สถานีโทรทัศน์ NDTV ของอินเดีย รายงานข่าว Starlink Brings Internet To Remote Tribe. They Get Hooked To Porn ระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในพื้นที่ป่าอเมซอน กำลังประสบกับสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้า-คายไม่ออก เมื่อเทคโนโลยี ‘สตาร์ลิงก์ (Starlink)’ ระบบอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่ได้รับมอบจาก อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีนักลงทุนด้านเทคโนโลยี แม้จะทำให้พวกเขาสะดวกสบายด้านการติดต่อสื่อสารมากขึ้น แต่ก็ทำให้มีพฤติกรรมที่ไม่ดีเกิดขึ้นด้วย

ชนเผ่า ‘มารุโบ (Marubo)’ ในบราซิล ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 2,000 คน ได้รับมอบระบบสตาร์ลิงก์ เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ซึ่งผู้อาวุโสของเผ่า ไซนามะ มารุโบ (Tsainama Marubo) หญิงชราวัย 73 ปี เล่าว่า ด้านหนึ่งอินเทอร์เน็ตทำให้คนในเผ่าสามารถพูดคุยกับคนรักที่อยู่ห่างไกล และขอความช่วยเหลือหากเกิดเหตุฉุกเฉินได้ แต่อีกด้านหนึ่ง ดูเหมือนมันจะทำให้คนหนุ่ม-สาว มีนิสัยเกียจคร้าน รวมถึงทำให้เด็กและเยาวชนเสพติดการพูดคุยและใช้ชีวิตกับหน้าจอ ไปจนถึงการรับข้อมูลสื่อลามกอนาจารและข้อมูลที่ผิดต่างๆ อย่างไรก็ตาม ตนก็ไม่เห็นด้วยหากจะรื้อถอนระบบออกไป

อัลเฟรโด มารุโบ (Alfredo Marubo) หัวหน้าสมาคมชุมชนหมู่บ้านมารุโบ กล่าวว่า ตนไม่สบายใจกับเรื่องสื่อลามกอนาจารมากที่สุด มีการแชร์คลิปเนื้อหาด้านเพศกันในกลุ่มแชทของบรรดาชายหนุ่ม และผู้นำชุมชนบางคนบอกกับตนว่า พวกเขาสังเกตเห็นหนุ่มๆ ในเผ่า มีพฤติกรรมทางเพศที่ดูก้าวร้าวขึ้น ทั้งนี้ เสาอากาศรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตระบบสตาร์ลิงก์ ได้รับบริจาคจาก อัลลิสัน เรโน (Allyson Reneau) นักธุรกิจชาวอเมริกัน

สมาชิกรายหนึ่งในเผ่า กล่าวถึงประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต ว่า ในอดีตการถูกงูพิษกัด ถือเป็นความเสี่ยงอย่างสูงที่คนในเผ่าอาจเสียชีวิตได้ ในอดีตการขอความช่วยเหลือต้องใช้วิทยุสื่อสาร ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รีบนำเฮลิคอปเตอร์มารับ แต่อินเทอร์เน็ตทำให้ทุกอย่างรวดเร็วขึ้น จึงเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้มากขึ้น ขณะที่สมาชิกอีกราย กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตสามารถให้อิสระแก่ปัจเจกบุคคลได้ ด้วยสิ่งนี้ พวกเขาสามารถสื่อสารได้ดีขึ้น ในการให้ข้อมูลและบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top