Wednesday, 19 June 2024
ฉางเอ๋อ

จีน เผยภารกิจ ‘ฉางเอ๋อ-7’ จับมือ 6 ประเทศ ร่วมพัฒนา สำรวจวิจัย โครงสร้างของดวงจันทร์

(27 เม.ย. 67) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนประกาศว่าภารกิจสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-7 (Chang’e-7) ของจีนจะบรรทุกเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ 6 รายการ ซึ่งพัฒนาโดย 6 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 1 แห่ง ได้แก่ อียิปต์ บาห์เรน อิตาลี รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ ไทย และสมาคมหอสังเกตการณ์ดวงจันทร์นานาชาติ

รายงานระบุว่าภารกิจฉางเอ๋อ-7 มีกำหนดเดินทางสู่อวกาศช่วงปี 2026 โดยเป้าหมายคือการสำรวจสภาพแวดล้อมพื้นผิวดวงจันทร์ น้ำ น้ำแข็ง และองค์ประกอบที่ระเหยง่ายของดินบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ รวมถึงทำการวิจัยภูมิศาสตร์ องค์ประกอบ และโครงสร้างของดวงจันทร์

ยานลงจอดฉางเอ๋อ-7 จะบรรทุกตัวสะท้อนแสงแบบเลเซอร์ที่พัฒนาโดยอิตาลีสำหรับทำการวัดแบบแม่นยำสูงบนพื้นผิวดวงจันทร์และการบริการระบุตำแหน่งของยานโคจร รวมถึงบรรทุกเครื่องมือวัดฝุ่นและสนามไฟฟ้าบนดวงจันทร์ที่พัฒนาโดยรัสเซียสำหรับตรวจสอบสภาพแวดล้อมพลาสมาบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่เต็มไปด้วยฝุ่น

ขณะเดียวกันยานลงจอดฉางเอ๋อ-7 ยังจะบรรทุกกล้องโทรทรรศน์บนดวงจันทร์ที่พัฒนาโดยสมาคมฯ สำหรับการสังเกตการณ์ดาราจักร โลก และท้องฟ้าทั้งหมด

ด้านยานโคจรจะบรรทุกกล้องไฮเปอร์สเปคตรัมที่พัฒนาโดยอียิปต์และบาห์เรนสำหรับจำแนกวัตถุบนพื้นผิวและสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์ รวมถึงบรรทุกเครื่องสเปกโตรมิเตอร์แบบสองช่องสัญญาณสำหรับการวัดรังสีโลกที่พัฒนาโดยสวิตเซอร์แลนด์และจีนสำหรับเฝ้าติดตามปริมาณรังสีที่เข้าและออกจากระบบภูมิอากาศของโลกจากมุมมองดวงจันทร์เป็นครั้งแรก

นอกจากนั้นยานโคจรยังจะบรรทุกชุดเซ็นเซอร์ตรวจจับสำหรับการเฝ้าติดตามสภาพอวกาศทั่วโลก เพื่อแจ้งเตือนการรบกวนทางแม่เหล็กและการแผ่รังสีจากพายุสุริยะด้วย

‘จีน’ ส่ง ‘ฉางเอ๋อ 6’ ยานอวกาศไร้ลูกเรือ ลงจอดบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จ ชี้!! นี่คือภารกิจครั้งสำคัญ เพื่อเก็บ ‘หิน-ดิน’ จาก ‘ซีกมืดของดวงจันทร์’ เป็นครั้งแรก

(3 มิ.ย.67) จีนนำยานอวกาศไร้ลูกเรือลงจอดบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จในวันอาทิตย์ (2 มิ.ย.) ก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญในภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ของพวกเขา สำหรับเก็บตัวอย่างหินและดินจากซีกมืดของดวงจันทร์กลับมายังโลกเป็นครั้งแรก

การลงจอดครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับสถานะมหาอำนาจด้านอวกาศของจีนขึ้นไปอีกขั้น ในความพยายามของโลกในการมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ ในขณะที่ประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐฯ หวังว่าการสำรวจแร่ต่างๆ บนดวงจันทร์จะสนับสนุนภารกิจของมนุษย์อวกาศในระยะยาวและจัดตั้งฐานบนดวงจันทร์ภายในทศวรรษหน้า

ยานฉางเอ๋อ 6 ของจีน ติดตั้งเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ และแท่นปล่อยตัวเองลงแตะพื้นในแอ่งขั้วใต้-เอตเคน (South Pole-Aitken Basin) ตอนเวลา 6.23 น.(ตามเวลาปักกิ่ง) จากข้อมูลของสำนักงานอวกาศแห่งชาติจีน

ภารกิจที่ประสบความสำเร็จนี้ถือเป็นภารกิจครั้งที่ 2 ของจีนในบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ ดินแดนที่ยังไม่มีประเทศอื่นๆ ไปถึง ด้านนี้ของดวงจันทร์หันหน้าหนีโลกอยู่ตลอด มันเต็มไปด้วยแอ่งลึกและมืดมิด ทำให้การสื่อสารและปฏิบัติการลงจอดหุ่นยนต์เจองานท้าทายกว่าเดิม

ยานสำรวจฉางเอ๋อ 6 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดลองมาร์ช 5 ของจีนเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมเหวินฉาง บนเกาะไห่หนาน ทางใต้ของประเทศ มันเข้าบริเวณใกล้เคียงกับดวงจันทร์ในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา ก่อนกระชับวงโคจรเข้าไปใกล้เรื่อยๆ เพื่อเตรียมการลงจอด

ฉางเอ๋อ 6 ถือเป็นยานอวกาศลำที่ 3 ของโลกที่ลงจอดบนดวงจันทร์ในปีนี้ เริ่มจากยานแลนเดอร์ SLIM ของญี่ปุ่นในเดือนมกราคม ตามด้วยยานแลนเดอร์ของ Intuitive Machines บริษัทสตาร์ปอัปสัญชาติสหรัฐฯ ในเดือนต่อมา

จนถึงตอนนี้สหรัฐฯ ยังเป็นชาติเดียวของโลกที่ส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบบนดาวจันทร์ในปี 1969

ด้วยการตักและขุดเจาะ ยานฉางเอ๋อ 6 จะมีเป้าหมายเก็บรวมรวบวัตถุดวงจันทร์น้ำหนัก 2 กิโลกรัม ในระยะเวลา 2 วัน และนำมันกลับมายังโลก

ตัวอย่างเหล่านี้จะถูกเคลื่อนย้ายเข้าสู่ตัวบูทเตอร์จรวดที่อยู่ด้านบนสุดของยานแลนเดอร์ ที่จะถูกปล่อยกลับสู่อวกาศ และประกอบร่างเข้ากับยานอวกาศอีกลำในวงโคจรของดวงจันทร์ และเดินทางกลับโลก ทั้งนี้คาดหมายว่ามันจะกลับสู่โลก ลงจอดแถวๆ ภูมิภาคเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน ประมาณวันที่ 25 มิถุนายน

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ภารกิจนี้จะมอบร่องรอยสำคัญแก่จีน ในประวัติศาสตร์ 4,500 ปีของดาวจันทร์ และให้เงื่อนงำใหม่ๆ เกี่ยวกับรูปแบบระบบสุริยะ และเปิดทางสำหรับการเปรียบเทียบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนระหว่างด้านมืด ภูมิภาคที่ยังไม่เคยมีการสำรวจ กับด้านที่หันหน้ามายังโลกของดวงจันทร์

นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่จีนเริ่มภารกิจเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ในปี 2020 โดยครั้งแรกยานฉางเอ๋อ-5 นำวัตถุหนัก 1.7 กิโลกรัมกลับมาจากพื้นที่ที่เรียกว่า มหาสมุทรแห่งพายุ (Oceanus Procellarum) ซึ่งอยู่บนด้านใกล้ของดวงจันทร์ซึ่งเผชิญหน้ากับโลกตลอดเวลา

จีนกำลังวางแผนภารกิจยานอวกาศไร้คนขับอีก 3 ภารกิจในทศวรรษนี้ เนื่องจากจีนกำลังค้นหาน้ำบนดวงจันทร์ และสืบเสาะการตั้งฐานถาวรที่นั่น

ยุทธศาสตร์ที่กว้างขวางของรัฐบาลจีน ตั้งเป้าที่จะเห็นนักบินอวกาศจีนเดินบนดวงจันทร์ภายในปี 2030 ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ตั้งเป้าจะนำนักบินอวกาศกลับไปเหยียบดวงจันทร์เช่นกัน โดยนาซาตั้งเป้าที่จะเปิดตัวภารกิจชื่อว่า อาร์เทมิส 3 (Artemis 3) ภายในปี 2026


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top