Tuesday, 22 April 2025
จีดีพี

‘เพื่อไทย’ แซะ ‘บิ๊กตู่’ โวเศรษฐกิจขยายตัว ทั้งที่บวกลบแล้ว ยังติดลบอยู่ถึง -4.6%

‘เพื่อไทย’ ติง ‘ประยุทธ์’ อย่าพูดเกินจริง เศรษฐกิจขยายตัวยังไม่ถึงระดับที่ได้ตกลงมา ชี้ เศรษฐกิจไทยอยู่ในแดนลบมา 3 ปีแล้ว ประชาชนลำบาก รายได้ลด ค่าใช้จ่ายเพิ่ม แนะ ฟื้นฟูเศรษฐกิจดีกว่าแจกเงิน คนอยากมีรายได้ที่มั่นคง 

นางสาวจุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร สส. กทม. เขตบางรัก และ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แย่งซีน สภาพัฒน์ฯ เร่งแถลงการขยายตัวในไตรมาสที่สองว่าจะขยายตัวได้ 3.3% ทั้งที่โดยมารยาทแล้วต้องให้สภาพัฒน์ฯ แถลงข่าวก่อนในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตามอาจจะเป็นเพราะพลเอกประยุทธ์ถูกโจมตีเรื่องความล้มเหลวด้านเศรษฐกิจ จึงพยายามหาเรื่องเพื่อมากลบปมด้อย โดยที่อาจจะไม่ทราบเลยว่าการขยายตัวได้ 3.3% ไม่ได้แปลว่าดี ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ทรุดหนักติดลบไปถึง -6.2% และปี 2564 เศรษฐกิจไทยแทบไม่ฟื้นเลย โดยขยายได้แค่ 1.6% ซึ่งบวกลบกันแล้ว ยังคงติดลบอยู่ถึง -4.6% ดังนั้น การขยายตัว 3.3% ก็ยังฟื้นไม่ถึงระดับที่ได้ตกลงมา แถมไตรมาสแรกปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 2.2% เท่านั้น ดังนั้น ครึ่งปีแรกปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียงประมาณ 2.8% ซึ่งถือว่าต่ำมาก ไม่เห็นน่าจะภูมิใจถึงกับต้องเร่งแย่งแถลงข่าวแต่อย่างไร ทั้งที่ตอนต้นปีพลเอกประยุทธ์ยังโม้เองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายได้ 4% ซึ่งคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้บอกแต่แรกแล้วว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะทำได้ไม่ถึงแน่ 

การที่ในปีนี้เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวได้ต่ำยังไม่ฟื้นกลับไปถึงระดับที่ได้ตกลงมา ทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในแดนลบเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ขนาดนักวิชาการของทีดีอาร์ไอยังยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นช้าที่สุดประเทศหนึ่งของโลก  ส่งผลทำให้ทำไมประชาชนถึงรู้สึกลำบากกันอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจติดลบทำให้รายได้ของประชาชนลดลง คนหาเงินไม่พอค่าใช้จ่ายที่จะเลี้ยงตัวเองแลครอบครัว หาเงินไม่พอผ่อนบ้าน ไม่พอผ่อนรถ ต้องกู้เงินมาประคองชีวิต กู้มาจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูกหลาน ทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง อีกทั้งธุรกิจก็ย่ำแย่ หนี้สินรุงรังและพุ่งสูงขึ้นเพราะรายได้เข้ามาน้อยแต่รายจ่ายเพิ่ม แถมยังต้องมาเจอกับภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของแพง ไข่แพง หมูแพง น้ำมันแพง ก๊าซหุงต้มแพง ไฟฟ้าแพง ปุ๋ยแพง ค่าขนส่งแพง ฯลฯ ซ้ำเติม ยิ่งทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่รู้จะหารายได้ที่ไหนมาประคองชีวิตให้เพียงพอ อีกทั้งหากดอกเบี้ยขึ้นอีก ภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเดิมอยู่แล้วให้ยิ่งหนักขึ้น ซึ่งพลเอกประยุทธ์ไม่ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เลย ปัญหาจะเพิ่มหนักขึ้น และ ประชาชนจะทนกันไม่ไหว

‘ซูโจว’ แลนด์มาร์กแห่งใหม่ หมุดหมายสำคัญอุตสาหกรรมทั่วโลก ผสานจุดเด่น 'ประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม-วิทยาศาสตร์

เพจเฟซบุ๊ก ลึกชัดกับผิงผิง ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ เมืองซูโจว และยกย่องว่าเป็นเมืองแห่ง สวรรค์ในโลก โดยได้ระบุว่า ...

เมืองซูโจว สวรรค์ในโลก

จีนมีสำนวนโบราณที่ว่า 'บนฟ้ามีสวรรค์ ในโลกมีซูโจวและหางโจว' ความหมายคือ เมืองซูโจว (苏州)และหางโจว(杭州)เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่เปรียบเสมือนแดนสวรรค์ของมนุษย์ 

จีนมีเมืองใหญ่พิเศษ 4 แห่ง ที่ใช้คำย่อ 'เป่ยซ่างกว่างเซิน' (北上广深) ได้แก่ กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ เมืองกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้น 

รองลงมาคือเมืองแนวหน้าใหม่ที่มีทั้งหมด 15 เมืองได้แก่ เฉิงตู ฉงชิ่ง หางโจว ซีอาน หวู่ฮั่น ซูโจว เจิ้งโจว หนานจิง เทียนจิน ฉางชา ตงกวน หนิงโป ฝอซาน เหอเฟย์ ชิงเต่า

เมืองซูโจวไม่ใช่เมืองเอกของมณฑลใด แต่สามารถเข้ารายชื่อ '15 เมืองแนวหน้าใหม่' ของจีน เมืองซูโจวมีอะไรบ้าง 

เมืองซูโจวอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลเจียงซู ภาคตะวันออกของจีน เป็น 'เมืองแห่งความฝัน' สำหรับชาวจีน เมืองนี้มีประวัติศาสตร์กว่า 2,500 ปี เคยเกิด 'จอหงวน' จำนวน 50 คน ('จอหงวน' สำเนียงกลางว่า จฺวั้ง-ยฺเหวียน สำเนียงแต้จิ๋วว่า จ่อง้วง เป็นตำแหน่งราชบัณฑิตซึ่งได้คะแนนอันดับหนึ่งในการสอบขุนนางของประเทศจีนสมัยที่จีนปกครองโดยกษัตริย์ ในประเทศจีนปัจจุบัน คำนี้ใช้เรียกนักเรียนที่ได้คะแนนมากเป็นอันดับหนึ่งของมณฑลในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย)

ปัจจุบัน เมืองซูโจวมีสมาชิกสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีนจำนวนกว่า 100 คน นับเป็นหนึ่งในแหล่งวัฒนธรรมสำคัญของจีน มีบุคคลชื่อดังจำนวนมาก

งิ้วคุณฉงี่ (昆曲)ของซูโจวได้ชื่อว่าเป็น 'บรรพบุรุษของงิ้วร้อยชนิดในจีน' คุนฉวี่ ผ้าไหมสมัยซ้ง  ขิมโบราณ และสถาปัตยกรรมพื้นเมืองโบราณ เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเมืองซูโจว

เมืองซูโจวอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสามเหลี่ยมแม่น้ำแยงซี ที่เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดของจีน เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของจีน ที่ดินจะปลูกข้าวได้เป็นอย่างดี มีผลิตภัณฑ์อุดมสมบูรณ์ ทำให้เมืองซูโจวได้ชื่อว่า 'คลังธัญญาหารของประเทศ' และ 'เมืองแห่งการพาณิชย์อันดับ 1 ของจีน'  

ปี 2022 ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีของเมืองซูโจวติด 10 อันดับแรกของจีนอย่างต่อเนื่อง จีดีพีของอำเภอต่างๆ ในเมืองซูโจวส่วนใหญ่ติด 100 อันดับแรกของจีน อย่างเช่นอำเภอคุนซาน (昆山) จัดอยู่อันดับ 1 ของอำเภอที่เข้มแข็งของจีนติดต่อกันหลายปีแล้ว  

ในสายตาของผู้คน ซูโจวเป็นเมืองที่มีความอ่อนโยน เขตนี้มีแม่น้ำลำคลองและทะเลสาบจำนวนมาก หมู่บ้านริมน้ำที่สวยงามกระจายไปทั่ว ทำให้กลายเป็น 'เวนิสตะวันออก' และทำให้นิสัยใจคอชาวซูโจวมีความอ่อนโยนเหมือนน้ำใส 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมืองซูโจวในปัจจุบันจัดอยู่อันดับต้นๆ ของเมืองอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญของจีน มีโครงการลงทุนจากบริษัทที่อยู่ใน 500 อันดับแรกของโลกจำนวนมากมาย มีบริษัทเอกชนหลายล้านบริษัท คุณไม่ได้อ่านผิด..หลายล้านบริษัทจริงๆ 

ปัจจุบัน ซูโจวมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับชาติจำนวน 14 แห่ง นิคมอุตสาหกรรมซูโจวเป็นผู้นำของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศจีน ปีนี้ บริษัทแอร์บัสได้มาเปิดศูนย์วิจัยและการผลิตที่จีน ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมซูโจว บริษัทเทคโนโลยีด้านต่างๆ อาทิ  สารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ ยาชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี อุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ เป็นต้น อันเป็นองค์ประกอบทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เมืองซูโจวกำลังกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของอุตสาหกรรมทั่วโลก 

นี่คือซูโจวที่ได้รับการขนานนามว่า 'สวรรค์ในโลก' 'เมืองแห่งสวนโบราณ' 'บ้านเกิดของจอหงวน' 'หมู่บ้านของสมาชิกสภาวิทยาศาสตร์' ที่นี่มีหมู่บ้านโจวจวงที่ได้ชื่อว่า 'หมู่บ้านในน้ำที่สวยงามอันดับ 1 ของจีน' มีวัดหานซาน (寒山寺) ที่มีชื่อเสียงในจีน มีคุนซานที่เป็น 'อำเภอเข้มแข็งที่สุดของจีน' เก๋งจีนที่มีประวัติศาสตร์กว่าพันปี ปริมาณผลิตผ้าไหมเป็นอันดับ 1 ของจีน เป็นเมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นเมือง และมีอาหารโอชาแบบภาคตะวันออกของจีน เมืองซูโจวห่างจากนครเซี่ยงไฮ้ประมาณ 80 กิโลเมตรเท่านั้น มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ การคมนาคมสะดวกมาก

ขอขอบคุณข้อมูล : เพจเฟซบุ๊ก ลึกชัดกับผิงผิง

‘ผู้ว่าฯ ธปท.’ มอง!! การเติบโตเศรษฐกิจไทย ไม่ควรล่า ‘GDP’ แบบเดิมอีกต่อไป เผย!! ควรเน้นการเติบโตจากท้องถิ่น ชี้!! นี่คือ ‘กุญแจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน'

เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.67) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ‘Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก..Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน’ ที่จัดโดยสำนักข่าว Thaipublica ในหัวข้อ ‘สร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand’ ว่า ประเทศไทยจะเติบโตแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป ต้องหารูปแบบการเติบโตใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากที่เราเคยเติบโต

ตัวสะท้อนที่เห็นชัด ว่าเราจะเติบโตแบบเดิมไม่ได้ ด้านแรก หากดูในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของจีดีพี ถือว่าไม่ได้สะท้อนเรื่องของความมั่งคั่งหรือรายได้ของครัวเรือนเท่าที่ควร 

โดยเฉพาะหากมองไปข้างหน้า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้นแม้ตัวเลขจีดีพีเติบโต แต่ไม่ได้หมายความว่า รายได้หรือความมั่งคั่งของครัวเรือนหรือรายได้ต่างเพิ่มขึ้น 

ด้านที่สอง ในมุมของภาคธุรกิจ เห็นการกระจุกตัวค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ที่ 5% แต่มีสัดส่วนรายได้สูงถึงเกือบ 90% เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 84-85%

สะท้อนการกระจุกตัวของรายได้ธุรกิจที่เพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำ หากดูธุรกิจรายเล็กที่เพิ่งเกิดใหม่ และมีการก่อตั้งธุรกิจมาน้อยกว่า 5 ปีหลัก มีอัตราการปิดกิจการ หรือการตายที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนถึง Dynamic ที่เริ่มลดลง สะท้อนการกระจุกตัวสูงขึ้น

ด้านที่สาม ภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้อานิสงส์ที่ประเทศไทยเคยได้รับ ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะ การพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศหรือ FDI ที่เข้ามาในประเทศ ที่ไทยหวังพึ่งแบบเดิมไม่ได้เหมือนเดิม หากดูมาร์เก็ตแชร์ของไทยเคยอยู่ที่ 0.57%  ซึ่งสูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม มาก แต่ปัจจุบัน FDI  เวียดนามแซงไทยไปมาก

สะท้อนให้เห็นว่าเราทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป ไม่เหมือนอดีตที่เรามีเสน่ห์แม้เรานั่งเฉยๆ เขาก็วิ่งมาหาเรา แต่ตอนนี้ไม่ใช่อีกต่อไป ดังนั้นประเทศไทยต้องปรับตัว ต้องออกแรงมากขึ้น จะหวังพึ่งต่างชาติไม่ได้เหมือนเดิม หมายความเราจำเป็นที่ต้องพึ่งความเข้มแข็งภายในของเรามากขึ้น

“เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลขอย่างเดียว ล่าจีดีพี ล่า FDI เพราะการเติบโตที่ผ่านมาก็ไม่ได้สะท้อนไปสู่เรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ตัวเลขที่ต้องล่าคือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้คน ความมั่งคั่งของคน ที่เป็นสะท้อนคุณภาพของชีวิตความเป็นอยู่ของคน เช่น ตัวเลขสาธารณสุข การศึกษา และโอกาสต่างๆ เพราะตัวเลขวันนี้ไม่ได้สวยหรูเหมือนเมื่อก่อน”

ดังนั้นการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น เข้มแข็งกว่าเดิม หรือเติบโตบนรูปแบบใหม่ ต้องอาศัยหลายๆ เรื่อง ภายใต้ More Local 

ด้านแรก เน้นการเติบโตแบบท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประชากร 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล

ซึ่งต้องสร้างความมั่งคั่งนอกพื้นที่ และด้านที่สอง ธุรกิจประมาณ 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล ซึ่งหากดูสัดส่วนประชากรเมืองหลวง และเมืองรองมีช่องว่าง (Gap) มหาศาล และด้านที่สาม จากตัวเลข World Bank

สะท้อนว่าการเติบโตจีดีพีสูง แต่การเติบโตของประชากรเพียง 0.22% เท่านั้น 

อย่างไรก็ดี การเติบโตแบบท้องถิ่น จะต้องโตแบบแข่งขันได้ และเป็นการแข่งขันกับโลกได้ด้วย ไม่เฉพาะแข่งขันเฉพาะจังหวัดเท่านั้น แต่การเติบโตที่แข่งขันได้ ต้องก้าวข้ามหลายด้าน 

ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือของที่ไม่ใช่

ด้านแรก การเติบโตโดยอาศัยความหนาแน่นของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เริ่มส่งผลกระทบ จากความหนาแน่นเหล่านี้แล้ว ทั้งความแออัด ต้นทุนที่สูงขึ้น ที่เริ่มเห็นจีดีพีต่อหัวของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ชะลอตัวลง 

ด้านที่สอง นโยบายที่เน้นการกระจายความเจริญไปพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เช่น การพยายามไปพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ  หรือ Special Economic Zone  เพื่อดึงดูดความมั่งคั่งการลงทุนต่าง ซึ่งจากการทำมาตั้งแต่ ปี 2558 พบว่ามีมูลค่าลงทุน หากเทียบกับสัดส่วนของมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในประเทศทั้งหมด ที่พบว่าอยู่เพียง 0.5% หรือไม่ถึง1%  ดังนั้นแม้นโยบายเหล่านี้ เป็นเจตนารมณ์ที่ดีของนโยบายรัฐ เพื่อหวังให้เกิดการกระจายความเจริญ แต่หากไม่ได้ศักยภาพต่างๆ นโยบายพวกนี้อาจเป็นนโยบายที่ไม่ใช่ 

ส่วนสิ่งที่ ‘ใช่’ คือ การสร้างท้องถิ่นสากลให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน จุดเด่นแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทั้งทรัพยากร และประวัติศาสตร์ แต่จะต้องแข่งขันกับโลกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยการที่ทำให้ท้องถิ่นสากลได้ ต้องมี 5-6 เรื่อง 

1.เชื่อมกับตลาด แต่จากท้องถิ่นที่ไม่หนาแน่น กระจายไม่เยอะ ทำให้ต้นทุนจะต่ำได้น้อยมาก แต่กระแสออนไลน์จะทำให้การเชื่อมกับตลาดได้ง่ายขึ้น

2.สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการหาจุดเด่น และเอกลักษณ์ 

3.ร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) จะช่วยได้ โดยตัวเล็กจับมือกับตัวใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสที่เป็น Win-Win

4.ทำให้เมืองรองโต ทำให้เกิดการเข้าถึงเมืองรอง สร้างการกระจุกตัวในเมืองใหม่ ๆ 

5.ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเองได้ เพราะอะไรที่จากส่วนกลางแบบ One size fits all จะไม่เหมาะกับทุกพื้นที่ เช่น ต่างประเทศที่พัฒนาได้ดี อาทิ เกาะเจจู ของเกาหลีที่ให้พื้นที่ออกนโยบายเอง ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์

6.สร้างระบบติดตาม ประเทศที่ทำได้ดี คือ เวียดนาม ที่มีการคำนวณความสามารถในการแข่งขันในแต่ละจังหวัด และแต่ละพื้นที่ โดยมีการสำรวจความเห็นนักลงทุนถึงกฎระเบียบการลงทุน และอุปสรรคมีอะไรบ้าง เพื่อพยายามให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน 

‘ธนกร’ แนะรัฐ!! ส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้ต่อเนื่อง มั่นใจ!! โกยรายได้เข้าไทย รับไฮซีซันยาวทั้งปี 68

(8 ธ.ค. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ รองหัวหน้าพรรคและ  สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ   กล่าวว่า หลังจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เปิดเผยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาพักผ่อนท่องเที่ยวในประเทศไทย ภาพรวมปี 2567 ประเมินว่าจะอยู่ที่ 35 ล้านคน โดยคาดการณ์ว่าจากนโยบายและแคมเปญของรัฐบาลที่สนับสนุนให้จัดกิจกรรมบิ๊กอีเวนท์ตั้งแต่ปลายปีนี้ยาวจนถึงปี 2568 ทั้งปี ที่จะมีทั้งการแข่งขันวอลเลย์บอลและไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาซีเกมส์ ช่วงปลายปีนั้น มั่นใจว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไปแตะถึง 40 ล้านคนเป็นครั้งแรกได้ ซึ่งตนขอฝากให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ททท.ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวให้เกิดความต่อเนื่อง และไม่เพียงแค่ดึงดูดชาวต่างชาติเท่านั้น แต่ควรจะมีโครงการส่งเสริมคนไทยเที่ยวในประเทศให้มากขึ้นด้วย พร้อมกับการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยภาคภูมิใจและเป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เกิดความประทับใจ

"มั่นใจว่า การท่องเที่ยวจะสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นไปตามเป้า ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจ จีดีพีเติบโตขึ้น ซึ่งรัฐบาลเอง ควรจะเร่งเครื่องมาตรการและโครงการต่างๆ เข้ามาเสริมเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทั้งการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้และลดค่าครองชีพให้กับประชาชน การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เกิดความเหมาะสม โดยมองว่าควรทำควบคู่กับการแก้หนี้สินในครัวเรือนไปพร้อมกัน จะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวให้เกิดความยั่งยืนได้  อีกทั้ง ต้องเร่งแก้ปัญหายาเสพติด เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องเดินหน้าลุยปราบปรามและแก้ไขให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วด้วย" นายธนกร กล่าว

นายธนกร กล่าวต่อว่า หลังจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเรื่องความพึงพอใจของประชาชนต่อผลงานของรัฐบาลในรอบ 2 เดือน ออกมาว่าคนไทยส่วนใหญ่ 48.8% ยังมีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง มองว่า หากรัฐบาลเร่งเครื่องทำผลงานให้ชัดเจน ทั้งการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ควบคู่กับการแก้หนี้ ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ยากจน และปราบปรามยาเสพติด อาชญากรรมออนไลน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เชื่อว่า ระดับความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อผลงานรัฐบาล ในรอบ 90 วัน จะปรับระดับเพิ่มขึ้นได้แน่นอน

‘ประชัย’ เตือน!! ‘แบงค์ชาติ’ คุมค่าเงินบาท ให้จริงจัง ก่อนกลียุคทางเศรษฐกิจ ชี้!! คนจนได้รับผลกระทบ

(8 ธ.ค. 67) นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ค่าเงินบาทเป็นตอนที่ 21ว่า ข่าวสารการปิดโรงงานโรงแล้วโรงเล่า ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นอย่างท่วมท้นยากที่ธปท.และรัฐบาลจะแก้ไขได้ ตามที่เครดิตบูโรและธปท.ได้แถลงไว้นั้น  เหตุเนื่องมาจาก ธปท.ปฏิบัติหน้าที่รักษาเสถียรภาพเงินบาทอย่างเสรีนิยมโดยปล่อยให้ค่าเงินบาทขึ้นลงตามธรรมชาติหรือตามยถากรรมแล้วแต่ผู้ก่อการร้ายนิวยอร์กจะปั่นขึ้นเท่าที่พวกมันต้องการทั้งๆที่ช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาประเทศคู่แข่งทางการค้าของเราเช่น จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ ต่างปล่อยให้ค่าเงินของเขาอ่อนค่ากว่าเราเป็น 10% ขึ้นไป แม้แต่ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์อินเด็กซ์ ค่าเงินบาทก็แข็งกว่า 18.93% ทำให้สินค้าส่งออกแพงกว่าของคู่แข่ง

ขณะเดียวกันราคาสินค้านำเข้าจากคู่แข่งทางการค้าราคาคิดเป็นเงินบาทกลับถูกกว่าของเรา เป็นเหตุให้สินค้าส่งออกขาดทุน ขณะเดียวกันสินค้านำเข้าก็ถูกกว่าต้นทุนการผลิตจากโรงงานภายในประเทศทำให้ต้องปิดโรงงานโรงแล้วโรงเล่า คนงานตกงานเป็นสิบล้านคน

สำหรับสินค้าปฐมภูมิก็เช่นกัน สินค้าต่างประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ด้อยค่ากว่าเงินบาท ทำให้ราคาสินค้าที่เกษตรกรและฟาร์มปศุสัตว์ในประเทศได้รับตกต่ำลง เงินที่จะจับจ่ายซื้อสินค้าหายไปมาก ภาษีที่รัฐบาลเก็บได้ต่ำกว่างบประมาณแผ่นดิน หนี้สินครัวเรือนและหนี้สินไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นยากแก่การแก้ไข สถาบันการเงินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงซึ่ง ธปท.รู้เป็นอย่างดีตามรายงานของ ธปท.และเครดิตบูโรที่แนบมาอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดย world bank อาจสั่งแช่แข็งสถาบันการเงินและปัจจัยการผลิตทั้งประเทศแล้วหั่นศพแยกอวัยวะศพขายให้ผู้ก่อการร้ายนิวยอร์กและพวกในราคาเท่าเศษเนื้อไปทำกำไร 

แต่ครั้งนี้คงจะเกิดกลียุคเพราะคนจนที่ได้รับผลกระทบมีมากอาชญากรรมเต็มบ้านเต็มเมืองเพราะคนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ตามสมควร

ขอวอนให้ ธปท.อย่าประมาททำการรักษาเสถียรภาพเงินบาทอย่างจริงจังอย่างน้อยบาทควรอ่อนลง

ก.11.5%เหมือนเงินหยวนจีน
หรือ

ข. 18.93%เหมือนกับดอลลาร์อินเด็กซ์
หรือ

ค.
16.67+24.5=41.17% เหมือนกับเงินวอนเกาหลีใต้
หรือ

ง.  83.26%เหมือนกับเงินดองเวียดนาม
(หมายเหตุ:ข้อ ค.และข้อ ง.อ่อนมากเกินไป)

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ การปิดโรงงาน การว่าจ้างแรงงาน คนว่างงาน
การบริโภคภายในประเทศ หนี้ครัวเรือนและหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ GDP โต 3-5%

คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 เวิลด์แบงก์เชื่อจีดีพีโต 2.9% แม้หนี้ครัวเรือนพุ่ง-ส่งออกชะลอตัว

(14 ก.พ.68) ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเติบโต 2.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ภายในกลางปี นอกจากนี้ นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ส่งผลให้ระดับความยากจนลดลง 8.29% ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม จีดีพีของไทยยังคงต่ำ และยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก 

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า รายงาน *Thailand Economic Monitor* ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตจาก 2.6% ในปี 2567 เป็น 2.9% ในปี 2568  

การลงทุนที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาครัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และการเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวยังมีบทบาทสำคัญ โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568  

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยนวัตกรรม ผู้ประกอบการ และธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความยืดหยุ่นและพลวัตสูง จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน  

"ประเทศไทยมีกรรมเก่า คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังมีบุญเก่า คือ เสถียรภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้กลับมาเป็นบวกจากการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด" นายเกียรติพงศ์กล่าว พร้อมเสริมว่า แม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะดีกว่าที่คาด แต่จีดีพีของไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2569 จีดีพีจะเติบโตที่ 2.7%  

ความท้าทายสำคัญที่ไทยต้องเผชิญ ได้แก่ การลดระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และการสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมผู้สูงอายุ สงครามการค้า และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก  

ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยควรเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการคลังผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ การใช้งบประมาณอย่างมีกลยุทธ์ การขยายฐานภาษี และการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่กระตุ้นการเติบโตในภาคโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความยั่งยืนระยะยาว  

นางเมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทยและเมียนมา เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และโครงการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ส่งผลให้อัตราความยากจนลดลงจาก 8.5% ในปี 2566 เหลือ 8.29% ในปี 2567  

“ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในอนาคต จำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่กล้าหาญ ควบคู่ไปกับการลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการเติบโต ซึ่งจะช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวต่อความท้าทายระดับโลกและเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต” นางเมลินดากล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top