Monday, 1 July 2024
จัดสรรที่ดิน

‘พีมูฟ’ จี้!! ‘เศรษฐา’ บรรจุข้อเสนอเรื่องที่ดินไว้ในนโยบายรัฐบาล พร้อมดันยกร่าง รธน.ทั้งฉบับ ตั้ง ‘สสร.’ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

(6 ก.ย. 66) ที่ด้านหน้าสนง.กพ.เดิม ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ ‘P-Move’ นำโดย นายจำนงค์ หนูพันธ์ และ น.ส.ศิรวีย์ ทิพย์วงศ์ รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง ข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อให้บรรจุไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล

โดยระบุว่า เนื่องจาก ช่วงรณรงค์การเลือกตั้งที่ผ่านมาภาคประชาชนได้จัด ‘เวทีภาคประชาชนเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง’ โดย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเสนอนโยบายด้านการแก้ไขปัญหาที่ดินและการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อพรรคการเมืองและสื่อสารสาธารณะต่อประชาชนชาวไทย ถึงแนวคิดในการบริหารทรัพยากรโดยยึดหลักสิทธิชุมชน

โดยเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยพลังประชารัฐได้ตอบรับการเข้าร่วมเวที และได้ส่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะทำงานธุรการเพื่อการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ มานำเสนอนโยบายของพรรค

ดังนั้น เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐดำเนินการตามนโยบายที่ได้ให้คำมั่นกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและประชาชน สามารถบรรลุตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ตอนรณรงค์การเลือกตั้งกับ ประชาชนในนามของพีมูฟ จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะรัฐมนตรี เพื่อให้บรรจุนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาป่าไม้-ที่ดิน รัฐสวัสดิการและประชาธิปไตย ไว้ในนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา ดังต่อไปนี้

1.) ให้ยกระดับโฉนดชุมชนให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดที่ดิน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ภายใต้มาตรา 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562

2.) ผลักดันให้มีการทบทวนปรับปรุงการดำเนินงาน ของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (มหาชน) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการกระจาย การถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน สู่เกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน รวมทั้งผลักดันให้มีการจัดตั้ง ‘ธนาคารที่ดิน’ ให้เป็นองค์กรที่มั่นคง และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานอย่างพอเพียง

3). แก้ไขกฎหมายคืนความเป็นธรรมในเรื่องที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ ให้แก่ประชาชนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม สังคายนากฎหมาย ที่ดิน-ป่าไม้ทั้งระบบ ทบทวนและยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน ได้แก่ มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย.2541, มติคณะมนตรีวันที่ 26 พ.ย.2561 และมติคณะรัฐมนตรีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

4.) เร่งออกกฎหมายว่าด้วยการนิรทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบ จากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ.....โดยระหว่างการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ชะลอการดำเนินคดีและการบังคับคดีทางปกครอง ก่อนการพิสูจน์สิทธิ์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายเกี่ยวกับคดีที่ดินป่าไม้ ตามที่อ้างถึง

5.) ผลักดันให้มีการจัดระบบสวัสดิการถ้วนหน้าแก่ประชาชนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

6.) ผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยให้การจัดตั้งและสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่สามารถกำหนดแนวทางได้ในทุกขั้นตอนโดยเร็ว

ทั้งนี้ เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐมีนโยบายในการเปลี่ยน สปก. 4-01 ให้เป็นโฉนด ซึ่ง ขปส.ได้ประกาศจุดยืนไว้แล้วว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวมาโดยตลอด ดังนั้นจึงขอสงวนสิทธิ์ในการไม่ให้การสนับสนุนนโยบาย ‘การแปลงสปก.-401 เป็นโฉนด’ อย่างถึงที่สุด และขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายดังกล่าว ด้วยความรอบรอบคอบรัดกุม ไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุน และทำให้เกิดวิกฤติความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของที่ดินมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ มีนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกมนตรี (สปน.) รับหนังสือดังกล่าวไว้เพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปซึ่งกลุ่ม ผู้ชุมนุมพอใจ และใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัย ก่อนที่จะเดินทางกลับ

GISTDA จับมือ สำนักงานฯ นโยบายที่ดินแห่งชาติ ใช้ข้อมูลจากอวกาศช่วยชุมชนจัดการที่ดินทำกิน

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและแผน ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ณ ห้องวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลแปลงที่ดินในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนอันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนผ่านการจัดทำระบบฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อให้มีภูมิสารสนเทศ (Geo- Informatics) ที่มีความพร้อมสำหรับใช้ในการติดตาม ตรวจสอบ ตลอดจนใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองหน่วยงาน

การนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในครั้งนี้จะเน้นการใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมรายละเอียดสูงมากของประเทศไทยมาสนับสนุนในการจัดทำแผนที่ในโครงการ one map รวมถึงจะมีการบูรณาการข้อมูลจากดาวเทียมดวงอื่นของหน่วยงานพันธมิตรมาใช้ในการวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ที่ดิน และติดตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากข้อมูลดาวเทียมมีคุณสมบัติในการจำแนก วิเคราะห์ข้อมูลบนพื้นโลก สามารถแยกแยะการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจัดให้มีระบบภูมิสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ ซึ่งสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เหมาะสำหรับการนำไปใช้ในการบริหารจัดการที่ดินของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งยังช่วยติดตามความเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ให้เป็นไปตามแนวทางของนโยบายของรัฐบาล 

MOU ในวันนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างกัน หลังจากที่ปัจจุบัน สคทช. และ GISTDA อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ คทช. นับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานอย่างเป็นทางการ เพื่อยกระดับการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศบนพื้นฐานของข้อมูลเชิงพื้นที่จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมที่มีประสิทธิภาพสูงจากการลงทุนของประเทศไทย เนื่องจากการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญของ สคทช. ทั้งการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) การพิสูจน์สิทธิในเขตที่ดินของรัฐ การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง ด้านที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ต้องอาศัยการมีข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ ซึ่ง สคทช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรมของ GISTDA มาใช้ในการบริหารจัดการที่ดินของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสำหรับเป็นฐานของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชัน Dragonfly ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจวางแผนและบริหารจัดการแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ คทช. ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกจนถึงจำหน่ายผลผลิตอย่างครบวงจร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top