Monday, 21 April 2025
จังหวัดอุบลราชธานี

เปิดตำนานพระแก้วนพรัตน์เมืองอุบลฯ (ตอน ๑) พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์คู่ราชธานีแห่งอีสาน

หากจะพูดถึงจังหวัดอุบลราชธานี สิ่งแรกที่หลายคนคงนึกสงสัยก็คือทำไม? จังหวัดนี้ถึงมีคำว่า 'ราชธานี' ต่อท้าย 

เอาสั้น ๆ ก็เพราะก่อนจะมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม อุบลราชธานีเป็นนครเทียบเคียงได้กับจำปาศักดิ์และหลวงพระบาง มีเมืองบริวารขึ้นตรงหลายเมือง และผู้ครองเมืองก็เป็นเจ้านายสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเวียงจันทน์ ทั้งยังมีความดีความชอบในการปกครองและช่วยรบในช่วงกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ จึงได้รับการยกเป็นเมืองประเทศราชในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ว่า 'อุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชฯ' 

เอาประมาณนี้ก่อน ไว้จะมาเล่าให้ฟังในบทความถัด ๆ ไป 

สำหรับบทความนี้จะเล่าถึง 'พระแก้ว' คู่บ้าน คู่เมืองอุบลราชธานี พระที่สร้างขึ้นจากแก้ว ๙ ประการ คือ เพชร, มณี, มรกต, บุษราคัม, โกเมน, นิลกาฬ, มุกดา, เพทาย และไพฑูรย์ 

“เพชรดี มณีแดง เขื่องใสแสงมรกต 
เหลืองใสบุษราคัม ทองแก่กำโมเมนเอก 
สีหมอกเมฆนิลกาล มุกดาหารหมอกมัว 
แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์” 

ว่ากันว่าหากมีครบทั้ง ๙ บ้านเมืองนั้นจะเจริญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอุบลฯ มี 'พระแก้ว' ประดิษฐานอยู่ถึง ๖ องค์ ทั้งยังเชื่อว่าอีก ๓ องค์ก็มีอยู่ เพียงแต่ยังค้นหาไม่พบ การมีพระแก้วนพรัตน์อยู่อย่างครบถ้วน ก็อาจจะอนุมานได้ว่าการมี 'ราชธานี' ต่อท้ายก็เหมาะสมแล้ว ส่วนจะมีพระแก้วองค์ใดบ้างที่ประดิษฐานอยู่ในเมืองดอกบัวแห่งนี้ไปติดตามกัน

พระแก้วบุษราคัม

องค์ที่ ๑ 'พระแก้วบุษราคัม' ประดิษฐาน ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากบุษราคัมสีเหลือง ทึบทั้งแท่น ฐานหุ้มด้วยทองคำเป็นพระพุทธรูปโบราณ ฝีมือช่างสกุลเชียงแสน 

ตามประวัติเป็นสมบัติของ 'เจ้าปางคำ' แห่งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบน (ปัจจุบันคือ จังหวัดหนองบัวลำภู) เมื่อพระวอ พระตา อพยพจากเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน จึงอัญเชิญมาด้วย เดิมที 'พระประทุมวรราชสุริยวงศ์' (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองอุบลฯ คนแรก ซึ่งเป็นลูกหลานพระวอ พระตา  ได้สร้าง 'วัดหลวง' เป็นที่ประดิษฐาน 'พระแก้วบุษราคัม' พร้อมกับ 'พระแก้วไพฑูรย์' แต่เมื่อครั้งมีข้าหลวงจากกรุงเทพฯ มาตรวจราชการจึงได้นำพระพุทธรูปทั้ง ๒ ไปซ่อนไว้ เพราะเกรงว่าข้าหลวงจะอัญเชิญไปจากเมืองอุบลฯ 

ภายหลังเมื่อมีการสร้างวัดศรีทองแล้วเจ้าอุปฮาดโท บิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) จึงอัญเชิญพระแก้วทั้งสององค์ออกจากที่ซ่อน โดยถวาย 'พระแก้วบุษราคัม' แก่ อพระเทวธัมมี' (ม้าว) พระสงฆ์ชาวอุบลฯ ซึ่งเป็นลัทธิวิหารริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งมาครองวัดเป็นรูปแรก เพราะเชื่อว่าข้าหลวง คงจะเกรงใจท่าน ไม่กล้าที่จะขอ 'พระแก้ว' ไปจากเมืองอุบลราชธานีเป็นแน่ ซึ่งในสมัยการปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อัญเชิญ 'พระแก้วบุษราคัม' นี้เป็นประธานในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก 

พระแก้วไพฑูรย์

องค์ที่ ๒ 'พระแก้วไพฑูรย์' ประดิษฐาน ณ วัดหลวง ริมแม่น้ำมูล องค์พระแกะสลักจากหินธรรมชาติแสงส่องผ่านได้ ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง โดยอยู่ในความครอบครองของบรรพบุรุษเจ้านายเมืองอุบลมาแต่อดีต เดิมที 'พระปทุมวราชสุริยวงศ์' (เจ้าคำผง) ได้ถวาย 'พระแก้วไพฑูรย์' และ 'พระแก้วบุษราคัม' เพื่อประดิษฐานไว้คู่กัน ณ วัดหลวง ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกของอุบลราชธานี แต่ด้วยเหตุจากการมาของข้าหลวงดังที่กล่าวไว้ข้างต้น จึงได้นำไปซ่อนไว้ เมื่อนำออกจากที่ซ่อนก็นำ 'พระแก้วบุษราคัม' ถวายแก่ 'พระเทวธัมมี' (ม้าว)

ส่วนพระแก้วไพฑูรย์นั้น เจ้านายเมืองอุบลราชธานีได้นำไปเก็บรักษาไว้เนื่องจากเป็นสมบัติอันล้ำค่าของบรรพบุรุษภายหลังจึงได้นำมาถวาย 'พระครูวิลาสกิจจาทร' (บัวสอน โอภาโส) เจ้าอาวาสวัดหลวงและประดิษฐานอยู่ที่วัดหลวงมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

'พระแก้วไพฑูรย์' เป็นหนึ่งในแก้วรัตนชาติ คือ ไพฑูรย์ หากยกองค์พระขึ้นส่องจะเห็นเป็นคล้ายสายฝนหยาดอยู่ภายในองค์พระ อันมีนัยความหมายแห่ง 'ความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกตามฤดูกาล'

พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง

องค์ที่ ๓ 'พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง' ประดิษฐาน ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยแก้วผลึกสีขาว โดยในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๕ 'สมเด็จพระมหาวีรวงศ์'(อ้วน ติสโส) ได้ขึ้นมาจำพรรษาที่วัดสุปัฏนาราม เพื่อควบคุมการก่อสร้างพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม โดยท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ  ได้รวบรวมพระพุทธธูปเก่าแก่จากหลายแห่ง เช่น พระพุทธรูปหินสมัยลพบุรี ๓ องค์ และโบราณวัตถุอื่นๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะ 'พระแก้วขาว' องค์นี้ก็เป็นหนึ่งในพระที่ท่านรวบรวม แต่พิเศษจรงที่ท่านถือไว้อยู่เป็นประจำ ส่วนท่านจะได้มาอย่างไร ไม่ปรากฏชัด

จนมาในช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๕ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ  ขึ้นมาจำพรรษาที่วัดสุปัฏนารามและได้มอบ 'พระแก้วขาว' องค์นี้ให้เป็นสมบัติของวัดสุปัฏนารามวรวิหาร โดยมี 'พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์' (ญาณ ญาณชาโล) เป็นผู้รับมอบ 

พระรัตนมงคลมุนี อดีตอาวาสวัดสุปัฏนารามเคยสันนิษฐานพุทธลักษณะขององค์พระว่า 'พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง' น่าจะเป็นพระรุ่นเดียวกับ 'พระแก้วบุษราคัม' โดยยึดเอาจากการมาตั้งถิ่นฐานของเมืองอุบลฯ เมื่อ ๒๐๐ ปี เศษมาแล้ว ตามที่บรรพบุรุษผู้มาสร้างเมืองอุบลฯ

ตอนนี้เรานับพระแก้วได้ ๓ องค์แล้วคือ 'พระแก้วบุษราคัม' / 'พระแก้วไพฑูรย์' / 'พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง' เป็น ๓ รัตนชาติคือ บุษราคัม, ไพฑูรย์ และ เพชร ซึ่งในอุบลราชธานีมีพระแก้วที่ปรากฏขึ้นแล้ว ๖ องค์ โดยในตอนหน้าผมจะนำเรื่องราวขอพระแก้วอีก ๓ องค์ได้แก่ 'พระแก้วโกเมน' / 'พระแก้วนิลกาฬ' / 'พระแก้วมรกต' ซึ่งแต่ละองค์มีประวัติที่น่าสนใจมากทีเดียว 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อได้อ่านเรื่องราวเพลินๆ ของพระแก้วแห่งอุบลราชธานีแล้ว ท่านคงจะหาโอกาสไปกราบสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายกันสักครั้งหนึ่ง

คู่บ้าน คู่เมือง พระแก้วนพรัตน์เมืองอุบล ๖ จาก ๙ พระพุทธรูปสำคัญ ตำนานความศักดิ์สิทธิ์แห่งราชธานีอีสาน (ภาค ๒)

จากครั้งที่แล้วได้เขียนเล่าถึงพระแก้วคู่บ้าน คู่เมือง ‘อุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชฯ’ พระที่สร้างขึ้นจากแก้ว ๙ ประการ คือ เพชร มณี มรกต บุษราคัม โกเมน นิลกาฬ มุกดา เพทาย และไพฑูรย์ 

“เพชรดี มณีแดง เขื่องใสแสงมรกต 
เหลืองใสบุษราคัม ทองแก่กำโมเมนเอก 
สีหมอกเมฆนิลกาล มุกดาหารหมอกมัว 
แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์” 

ซึ่งอุบลฯ มี ‘พระแก้ว’ ประดิษฐานอยู่ถึง ๖ องค์ ทั้งยังเชื่อว่าอีก ๓ องค์ก็มีอยู่เพียงแต่ยังค้นหาไม่พบ โดยตอนที่แล้วได้เล่าถึงพระแก้ว ๓ องค์สำคัญอันได้แก่...

องค์ที่ ๑ ‘พระแก้วบุษราคัม’ ประดิษฐาน ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) 
องค์ที่ ๒ ‘พระแก้วไพฑูรย์’ ประดิษฐาน ณ วัดหลวง ริมแม่น้ำมูล 
องค์ที่ ๓ ‘พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง’ ประดิษฐาน ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร 

ในตอนนี้ผมจะมาเล่าถึงพระแก้วอีก ๓ องค์และข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพระแก้วทั้ง ๙ ของอุบลราชธานี เชื่อว่าเมื่อคุณได้อ่านจบแล้วคงจะได้ไปสักการะพระปฏิมาทุกองค์ให้ครบถ้วนเป็นสิริมงคลเป็นแน่แท้ 

พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม 

องค์ที่ ๔ ‘พระแก้วโกเมน’ ประดิษฐาน ณ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) ผู้สร้างวัดคือ อุปฮาดก่ำ โอรสของ ‘พระปทุมวรราชสุริยวงศ์’ (เจ้าคำผง) ซึ่งในอดีตเป็นวัดที่อยู่ห่างจากเขตเขื่อนคูเมือง จึงเรียกกันว่า วัดป่ามณีวันบ้าง วัดป่าน้อยบ้าง 

‘พระแก้วโกเมน’ ตามตำนานเล่ากันมาว่าเป็นพระแก้วที่สร้างขึ้นในยุคเดียวหรือในคราวเดียวกับพระแก้วบุษราคัม สร้างขึ้นจากแก้วสีน้ำหมอก (สีม่วง) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๔ นิ้ว สูงประมาณ ๕ นิ้ว สถิต ณ วัดป่าน้อยมาแต่แรกเริ่ม จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ จึงได้นำพระแก้วโกเมนออกไปประดิษฐานไว้อย่างลับ ๆ ณ วัดแห่งหนึ่ง พร้อมทำผอบไม้จันทน์ครอบพระแก้วไว้  ภาษาอีสานเรียกว่า ‘งุม’ วัดซึ่งเป็นที่เก็บรักษาพระแก้วโกเมนในครั้งนั้น จึงถูกเรียกว่า ‘วัดกุดละงุม’ ซึ่งอยู่ที่ อ.วารินชำราบ ในปัจจุบัน 

ครั้นเมื่อสงครามสงบจึงได้อัญเชิญ ‘พระแก้วโกเมน’ กลับมาประดิษฐาน ณ วัดมณีวนารามอีกครั้ง แต่ก็ยังรักษาความลับไว้ เนื่องจากพระแก้วโกเมนถือว่าเป็นสำคัญของเมืองอุบล จึงได้รักษาไว้อย่างห่วงแหน เจ้าอาวาสของวัดมณีวนาราม ทุกรูปจึงเก็บรักษาองค์พระไว้ในตู้นิรภัย มิได้นำมาญาติโยมทั่วไปได้สักการะกัน จนกระทั่งมาถึงยุคเมื่อสิ้น หลวงปู่พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหับผโล) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะกรรมการวัดจึงได้ขออนุญาตอัญเชิญพระแก้วโกเมนลงมาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการะและได้สรงน้ำในวันวิสาขบูชาของทุกปี 

พระแก้วนิลกาฬ วัดเลียบ

องค์ที่ ๕ ‘พระแก้วนิลกาฬ’ ประดิษฐาน ณ วัดเลียบ อำเภอเมืองอุบลราชธานี ‘วัดเลียบ’ มีที่มาของชื่อวัดจากสถานที่การสร้างวัดที่สร้างเลียบคันคูเมือง เคยถูกปล่อยให้เป็นวัดร้างจนพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ได้มาบุกเบิกบูรณะวัดขึ้นใหม่ นับเป็นวัดต้นธารแห่งการปฏิบัติธรรมสายวิปัสสนากรรมฐาน

‘พระแก้วนิลกาฬ’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทำจาก ‘แซฟไฟร์สีน้ำเงินเข้ม’ ถูกค้นพบอยู่ในกล่องไม้สักโบราณบนฝาเพดานกุฎิสุขสวัสดิ์มงคล กุฎิหลังเก่าของวัด โดย พระครูอุบลคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือประมาณ ๒๐ กว่าปีมานี้เอง ซึ่งท่านได้พบพระพุทธรูป ๓ องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปบุเงิน ๒ องค์ และพระแก้วนิลกาฬ ๑ องค์  โดยในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้อัญเชิญพระแก้วนิลกาฬออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำในทุกสงกรานต์ 

พระแก้วมรกต วัดเลียบ

องค์ที่ ๖ ‘พระแก้วมรกต’ ประดิษฐาน ณ วัดเลียบ อำเภอเมืองอุบลราชธานี พระแก้วองค์นี้มีพุทธลักษณะคล้ายพระแก้วโกเมน วัดป่าน้อย แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดนัก โดยพระครูอุบลคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ บอกว่ามีโยมมาถวายไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕

จากที่ได้เล่าและนำเสนอมายังเป็นข้อมูลคร่าว ๆ ที่ยังไม่ได้เจาะลึกนัก ทั้งนี้พระแก้วบางองค์อาจจะมีที่มาที่ชัดเจน แต่บางองค์แม้จะเก่าแก่แต่ก็ยังมีแค่ตำนานรองรับ ส่วนพระแก้วองค์อื่น ๆ ในอุบลฯ และในอดีตเป็นอำเภอหนึ่งของอุบลราชธานีมีองค์พระที่น่าสนใจดังนี้ 

พระแก้วมณีแดง วัดมหาวนาราม 

‘พระแก้วมณีแดง’ ประดิษฐาน ณ วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) อำเภอเมืองอุบลราชธานี พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ได้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเนื่องจากดำริให้เป็นวัดที่เหมาะแก่การปฏิบัติสมณธรรมโดยเริ่มแรกจัดสร้างขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ ในปีพ.ศ. ๒๓๒๒ แต่ยังมิแล้วเสร็จเป็นวัด พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ก็ได้อนิจกรรมลงเสียก่อน พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าพรหม) จึงได้มาดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๕๐ โดยมีพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งท่านเป็นผู้สร้างพระพุทธรูป ‘พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง’

‘พระแก้วมณีแดง’ ปกติจะประดิษฐานภายในกุฏิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ ป.ธ. ๙) แต่ในทุกสงกรานต์ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวบริเวณข้างพระวิหารพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง โดยเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล

สำหรับพระแก้วเก่าแก่ที่ประดิษฐานอยู่ในจังหวัดบ้านใกล้เรือนเคียงของอุบลราชธานี คือจังหวัดยโสธร ถ้าเราจะไม่นำมาเล่าก็คงจะกระไรอยู่ อย่ากระนั้นเลยผมจึงขอยกเรื่องราวสั้น ๆ ของ ‘พระพุทธบุษยรัตน์’ หรือ ‘พระแก้วหยดน้ำค้าง’ มาเพิ่มเติมด้วยดังนี้ 

พระพุทธบุษยรัตน์ วัดมหาธาตุ ยโสธร

‘พระพุทธบุษยรัตน์’ หรือ ‘พระแก้วหยดน้ำค้าง’ วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร เป็นเป็นพระพุทธรูปโปร่งแสงปางสมาธิ เป็นศิลปะสมัยเชียงแสน ทำจากหินเขี้ยวหนุมาน ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๙ นิ้ว สูง ๒ นิ้ว ประวัติความเป็นมาของพระแก้วองค์นี้ มี ๒ เรื่อง คือ เรื่องที่ ๑ เล่ากันว่าว่าเป็นสมบัติของ ‘เจ้าพระวิชัยราชขัตติยวงศา’ เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ได้รับมรดกจากบรรพบุรุษ นำมาประดิษฐานที่ยโสธร ตั้งแต่สมัยเป็นหมู่บ้านสิงห์ท่า เมืองยศสุนทร เพื่อเป็นพระพุทธรูปคู่กับ ‘พระแก้วบุษราคัม’ แห่งเมืองอุบลราชธานี ส่วนเรื่องที่ ๒ เล่าว่า สมัยรัชกาลที่ ๓ ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ มีพระยาราชสุภาวดี (ภายหลังเลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปปราบ 

ในครั้งนั้นได้ตั้งกองทัพที่เมืองยโสธร และได้ความช่วยเหลือจากพระสุนทรราชวงศา (ฝ่าย) ร่วมรบจนมีชัยชนะ รัชกาลที่ ๓ จึงทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระแก้วหยดน้ำค้างองค์นี้พร้อมกับเจ้านางเมืองเวียงจันทน์ และปืนใหญ่ เพื่อเป็นรางวัล 

เดิมยโสธร ถูกรวมเข้าอยู่ในสังกัดมณฑลลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ (มณฑลลาวกาว) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๓ และกลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้สั่งการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ให้แยกอำเภอยโสธร อำเภอกุดชุม อำเภอเลิงนกทา อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอป่าติ้ว ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี แล้วรวมกันตั้งเป็นจังหวัดยโสธร

ในท้ายสุดนี้แม้ว่าพระแก้วบางองค์จะยังมีประวัติไม่ชัดเจนตามที่ผมได้เล่าไปแล้ว แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีความชัดเจนขึ้น และน่าจะมีพระแก้วศักดิ์สิทธิ์อีกหลายองค์ได้บังเกิดขึ้นอีกเป็นแน่ ตราบเท่าที่ศาสนาพุทธยังคงอยู่คู่บ้านเมืองเรา และตราบเท่าที่เมืองราชธานีแห่งอีสานอย่าง ‘อุบลราชธานี’ ยังคงเป็นดอกบัวใหญ่สวยสง่าคู่บ้านเมืองของเราสืบไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top