Tuesday, 22 April 2025
จังหวัดตรัง

'รร.วิเชียรมาตุ' โพสต์ภาพนร.พร้อมใจซ้อมถวายบังคม เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 106 ปี วันก่อตั้ง

ไม่นานมานี้ เฟซบุ๊ก 'โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง' ได้โพสต์ภาพ การซ้อมถวายบังคมของบรรดาน้อง ๆ เด็กนักเรียน เนื่องในวันครบรอบ 106 ปี โรงเรียนวิเชียรมาตุ ที่จะมาถึงในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยอันงดงามที่ยังคงอยู่สืบเรื่อยมา

โดยผู้ที่ได้พบเห็นภาพดังกล่าวต่างชื่นชมโรงเรียน คณะครูอาจารย์ และน้อง ๆ นักเรียนต่าง ๆ นานา ว่า...

>> งดงามน่าชื่นชมค่ะ...ทั้งครูอาจารย์นักเรียนทุกท่าน...นี่คือสิ่งดีงามเชิดชูเกียรติของตนและครอบครัว...

>> วัฒนธรรมไทยมีความสวยงาม เป็นสิ่งบอกตัวตนและบรรพบุรุษ

>>อาจารย์ ทุกคนควรทำเป็นแบบอย่างให้เด็ก ๆ เห็นด้วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คงภาพสวยงามเหล่านี้ไว้ตลอดไป

>> รู้สึกชื่นชม และประทับใจ ในความงดงามของวัฒนธรรมที่วิเชียรมาตุถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาก ๆ

>> ขอบคุณท่านผู้บริหาร และน้อง ๆ ที่เห็นความสำคัญกับประเพณีอันดีงาม ในฐานะศิษย์เก่า รู้สึกภาคภูมิใจจริง ๆ

>> แค่เห็นภาพก็ยังขนลุก เมื่อถึงวันจริงจะขนาดไหน จบมากี่ปีก็ไม่มีวันลืมพิธีนี้ วันที่ 1 จะไปร่วมไหว้แม่แก้วด้วยกันค่ะ

‘พระ-เณร’ สำนักสงฆ์เขาหลักจันทร์ ปลูกผักสวนครัวขาย  หาเงินจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ หลังชาวบ้านทำบุญน้อยลง

(18 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักสงฆ์เขาหลักจันทร์ หมู่ที่ 12 ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง พระเคารพ ญาติโก เจ้าสำนักสงฆ์พร้อมด้วยพระลูกวัด ได้ใช้ที่ดินว่างข้างสำนักสงฆ์ฯ และข้างกุฎิพระ เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ปลูกพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิด เช่น ตะไคร้ พริก มะเขือยาว มะเขือเปราะ ถั่วพู ถั่วฝักยาว บวบ และแตงกวา ซึ่งเป็นพืชอายุสั้น สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว เพื่อนำออกจำหน่าย หารายได้มาจ่ายค่าน้ำค่าไฟของสำนักสงฆ์ฯ ซึ่งรวมกันไม่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน

สาเหตุเกิดจากเป็นสำนักสงฆ์ที่อยู่ห่างไกล ประกอบกับชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพกรีดยางพารา ถ้าฝนตกชุก ตกบ่อย ก็จะขาดรายได้ จึงพากันเข้าวัดทำบุญน้อยลง กระทบถึงรายได้ที่ไม่เพียงพอของสำนักสงฆ์ด้วย พระสงฆ์สามเณรจึงต้องช่วยกันปลูกผักหารายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย

โดยเมื่อเก็บผลผลิตแล้วจะนำใส่ถุง ขายถุงละ 20 บาท เพื่อให้ชาวบ้านที่เดินทางไปทำบุญได้เลือกซื้อ แต่หากชาวบ้านคนไหนไม่มีเงิน ก็หยิบเอาไปกินฟรีได้หรือตามแต่กำลังศรัทธา ซึ่งถือเป็นประโยชน์ 3 ทางคือชาวบ้านได้ช่วยพระ พระได้ช่วยชาวบ้าน และพระได้ออกกำลังกายลดโรค ลดพุงไปในตัว

ซึ่งพืชผักทุกชนิดปลูกไม่เกิน 3 เดือนก็เก็บขายได้ ทั้งยังปลอดภัยจากการใช้สารเคมี เพราะมีการใช้กาวดักแมลง และใช้น้ำหมักชีวภาพ โดยผักที่เหลือจากที่วางขายที่สำนักสงฆ์แล้ว จะมีญาติโยมที่เป็นแม่ค้า นำออกไปช่วยเร่ขายตามบ้าน สร้างรายได้ 400-500 บาทต่อสัปดาห์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงคิดจะขยายพื้นที่ปลูกผักเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท จึงวอนผู้ใจบุญแวะอุดหนุนพืชผักปลอดภัยได้ทุกวัน หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่พระเคารพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 083 280 2764

ด้านพระธิติศักดิ์ สุธัมโม พระสำนักสงฆ์เขาหลักจันทร์ กล่าวว่า ผักที่ปลูกมีแตงไข่เข้ ถั่วฝักยาว มะเขือ พริก ตะไคร้ บวบ โดยขายถุงละ 20 บาทเหมือนกันหมด ซึ่งเงินรายได้ส่วนนี้นำไปเสียค่าไฟทั้งนั้น ซึ่งค่าไฟประมาณ 5,000 กว่าบาทต่อเดือน แต่ไม่มีค้างจ่ายเพราะพระอาจารย์จะขอทุกวันพระหรือถ้าไปกิจนิมนต์ก็จะขอด้วย แต่ยังไม่พอ ซึ่งนอกจากจะหาค่าไฟให้วัดแล้ว ชาวบ้านก็ได้ทำบุญด้วยเท่ากับได้มาช่วยวัด ช่วยพัฒนาวัด และได้กินผักปลอดสารพิษ ถือเป็นรายได้ 2 ทางและได้ออกกำลังกาย ตามที่พระอาจารย์เคยสอนว่า กำจัดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตด้วยการออกกำลังกาย เพราะพระฉันของดี ๆ เยอะ จึงทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันต่าง ๆ จึงแก้ได้ด้วยการออกกำลังกาย

‘วัดควนอินทนินงาม’ ทาสีโบสถ์ทั้งหลังเป็นสีธงชาติไทย หวังไว้เตือนใจให้คนรุ่นหลังรำลึกถึง ‘บรรพบุรุษไทย’

เจ้าอาวาสวัดควนอินทนินงาม อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ทาสีโบสถ์ทั้งหลังด้วยสีธงชาติไทย ทั้งแดง ขาว น้ำเงิน สื่อความหมายถึงการรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่อเตือนใจอนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงบรรพบุรุษไทย ดึงคนเข้าวัด และเป็นโบสถ์เพียงแห่งเดียวในตรังที่ทาด้วยสีธงชาติไทยทั้งหลัง

(20 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดควนอินทนินงาม ริมถนนสายตรัง-ย่านตาขาว หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง พระครูปลัดเริงชัย สุภโร เจ้าอาวาสวัดควนอินทนินงาม ผุดไอเดียการทาสีโบสถ์ทั้งหลังด้วยสีธงชาติไทย ทั้งสีแดง สีขาวและสีน้ำเงิน สื่อความหมายถึงความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเพื่อเตือนใจให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงบรรพบุรุษไทย เป็นการปลุกใจให้รักชาติ และยังสามารถดึงคนเข้าวัดด้วยความโดดเด่นที่ไม่เหมือนใคร ทำนักท่องเที่ยวที่ผ่านไป-มาบนถนนสายดังกล่าว ต่างรู้สึกประทับใจ และแวะเวียนเข้ามาถ่ายภาพโพสต์ลงโซเชียลและเพจต่าง ๆ กันอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโบสถ์หลังนี้ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2555 มีขนาดความยาว 100 เมตร ความกว้าง 30 เมตร สูง 2 ชั้น ใช้เงินก่อสร้างไปแล้วกว่า 20 ล้านบาท แต่ก่อสร้างแล้วเสร็จไปประมาณ 50 % ยังไม่ได้ติดตั้งระบบไฟฟ้าและน้ำประปา เนื่องจากวัสดุก่อสร้างมีราคาแพงขึ้น ซึ่งภายในเป็นลานกิจกรรม สำหรับให้เยาวชนและประชาชน ได้ใช้ในการประกอบพิธีต่าง ๆ และมีพระประธานปางมารสะดุ้งองค์ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ น้ำหนัก 80 ตัน ที่มีดวงตาเป็นนิลสีดำประดิษฐานอยู่

ส่วนบริเวณรอบโบสถ์จะมีการสร้างน้ำตก ให้น้ำไหลเวียนได้รอบโบสถ์ เพื่อให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่งด้วย พร้อมกับการปลูกต้นไม้เพื่อให้ร่มเงาแก่คนและสัตว์ เช่น กระรอก กระแต นก และหมาแมว โดยผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคได้ที่ Fb วัดควนอินทนินงาม หรือที่พระครูปลัดเริงชัย หมายเลขโทรศัพท์ 085-8892403

ด้านพระครูปลัดเริงชัย สุภโร เจ้าอาวาสวัดควนอินทนินงาม กล่าวว่า ที่สร้างเป็นสีธงชาติเพื่อให้ได้ครบตามหลักชาวพุทธ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะถ้าเราไม่มีชาติ เราก็ไม่สามารถมีศาสนาอยู่ได้ และที่ศาสนาอยู่ได้เพราะมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์อุปถัมภ์ จึงทำให้คนมาเห็นก็นึกภาพออกว่านี่คือเมืองไทย ซึ่งที่ตรังไม่มีวัดไหนมีสีธงชาติเต็มรูปแบบเหมือนของทางวัด ที่ตรังคงจะไม่มี ถ้ามีก็มีเฉพาะหลังคา ซึ่งของเราเป็นชั้นแบบสีธงชาติเลย

คู่มือลับฉบับสายมู เปิดพิกัดศาลเจ้าลับเมืองตรัง ไหว้โก้ยเซ่งอ๋อง ช่วยหนุนการงาน-การเงิน

(11 ต.ค. 67) ที่น้ำผุดใต้ ตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ที่แห่งนี้มีศาลเจ้าแห่งหนึ่งที่อาจไม่ค่อยคุ้นหูของหลาย ๆ คนมากนัก แต่สำหรับชุมชนละแวกนี้ ‘ศาลเจ้าโก้ยเซ่งอ๋อง’ เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของชุมชนเลยทีเดียว 

เกือบ ๆ จะ 30 แล้วที่ศาลเจ้าแห่งนี้ถูกก่อตั้งขึ้นด้วยความเคารพและศรัทธาของประชาชน โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ ที่เป็นกลุ่มที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารมายาวนานหลายชั่วอายุคน

โก้ยเซ่งอ๋อง โก้ยเซ่งอ๋อง หรือชื่อเดิมของท่านคือ 'กั๋วหงฟู่' ในวัยเด็กท่านเป็นเพียงเด็กเลี้ยงแพะในชนบทของมณฑลฮกเกี้ยน ชีวิตของท่านเป็นแบบเรียบง่ายและใกล้ชิดกับธรรมชาติ แต่ด้วยความกล้าหาญและความซื่อสัตย์ ท่านได้รับความเคารพจากชาวบ้านในชุมชนของท่านตั้งแต่วัยเยาว์ ต่อมาในชีวิตของท่าน ท่านได้รับบทบาทในการช่วยเหลือและปกป้องชาวบ้านจากอันตรายต่าง ๆ

หลังจากท่านเสียชีวิต เรื่องราวของท่านกลายเป็นตำนาน ชาวบ้านเชื่อว่าท่านยังคงมีอิทธิฤทธิ์ในการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้คนเช่นเดิม จึงยกย่องท่านเป็นเทพเจ้า 'โก้ยเซ่งอ๋อง' และสร้างศาลเจ้าเพื่อให้ลูกหลานได้มากราบไหว้บูชาท่าน

ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าโก้ยเซ่งอ๋อง ชาวบ้านเชื่อว่าท่านมีอิทธิฤทธิ์ในการช่วยเหลือในเรื่องการงาน การเรียน ธุรกิจ และสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่มาขอพรในเรื่องที่สำคัญมักจะสมหวังตามที่ขอ เช่น การขอบุตรหรือขอให้ธุรกิจเจริญรุ่งเรือง การแก้บนด้วยสิ่งของที่สัญญาไว้อย่างไก่ หมู หมี่เหลือง หรือของแห้งต่าง ๆ เป็นการแสดงความขอบคุณต่อท่าน

หากใครได้มีโอกาสผ่านมาที่ตรังในช่วงเทศกาลกินเจ หรือช่วงอื่น ๆ ลองแวะมาสัมผัสบรรยากาศและพลังศรัทธาที่ศาลเจ้าโก้ยเซ่งอ๋อง แล้วคุณอาจจะได้พบกับสิ่งที่คุณตามหาก็เป็นได้

พิกัดสำหรับตามไปมู: https://maps.app.goo.gl/ThBKWfd3P1eytHGc6

Jurassic World: Rebirth ถ่ายทำในไทย จูราสสิกเวิลด์ภาคใหม่เตรียมฉายกลางปีนี้

(10 ก.พ.68) แฟน ๆ เตรียมพบกับความยิ่งใหญ่ของ Jurassic World: Rebirth ภาคล่าสุดของแฟรนไชส์ไดโนเสาร์ระดับโลก ที่เพิ่งปล่อยตัวอย่างออกมา พร้อมเผยให้เห็นฉากหลังอันงดงามของประเทศไทย

ภาพยนตร์ตัวอย่างที่ถูกเผยแพร่ผ่านช่องยูทูบ Universal Pictures มีส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นฉากหลังของหนังที่มีการถ่ายทำที่จังหวัดตรังและกระบี่ของไทย ที่กองถ่ายฮอลลีวูดยกกองมาถ่ายทำเมื่อปีที่แล้ว

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการถ่ายทำในหลายสถานที่ของไทยเมื่อปีที่ผ่านมา รวมถึง เกาะกระดาน และ ถ้ำมรกต จังหวัดตรัง, เขาตาปู ในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา, น้ำตกห้วยโต้ ในอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา จังหวัดกระบี่ รวมถึงฉากบางส่วนใน กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

การถ่ายทำในไทยกินเวลากว่า 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน – 16 กรกฎาคม สร้างรายได้สะพัดสู่เศรษฐกิจไทยกว่า 400 ล้านบาท และคาดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวของไทยบนเวทีโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะ เขาตาปู หรือที่รู้จักในชื่อ “เกาะเจมส์ บอนด์” จากการปรากฏตัวใน 007 The Man with the Golden Gun

ในภาคนี้ สการ์เลตต์ โจแฮนสัน รับบทเป็นตัวละครหลักที่ออกตามหาดีเอ็นเอของไดโนเสาร์ยักษ์ที่สุดในโลก แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันทำให้เธอต้องติดเกาะอันลึกลับ

แฟนหนังเตรียมพบกับความตื่นเต้น และชมความงดงามของธรรมชาติไทยในจอฮอลลีวูดได้กลางปีนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top