Wednesday, 3 July 2024
จลาจล

‘ฝรั่งเศส’ ปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง ก่อจลาจลเผาเมืองปารีส จากกรณีตำรวจยิงเด็กวัยรุ่น 17 ปี เสียชีวิตคาด่านตรวจ

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 66 ตำรวจปราบจลาจลในฝรั่งเศสกว่า 2000 นาย ออกปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงในกรุงปารีสจำนวนมาก ที่ออกมาประท้วงหนักในกรณีที่ตำรวจฝรั่งเศสยิงวัยรุ่นชายวัย 17 ปีเสียชีวิตในบริเวณด่านตรวจ

การประท้วงได้ยกระดับไปสู่ความรุนแรง มีการจุดไฟเผากองขยะ รถยนต์ข้างทาง อาคารสาธารณะ สถานีตำรวจ และยังทำลายทรัพย์สินราชการเป็นจำนวนมาก ติดต่อกันเป็นคืนที่ 2 แล้ว อีกทั้งมีการปะทะกันระหว่างตำรวจปราบปรามที่ใช้แก๊สน้ำตา และกลุ่มผู้ประท้วงที่ยิงพลุไฟ และขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ ล่าสุดมีผู้ประท้วงถูกจับกุมตัวแล้วไม่ต่ำกว่า 150 ราย

‘เจอราลด์ ดาร์มานิน’ รัฐมนตรีมหาดไทยของฝรั่งเศส กล่าวถึงเหตุความไม่สงบในกรุงปารีสเมื่อช่วงค่ำคืนที่ผ่านมาว่า “เป็นความรุนแรงที่แสดงออกถึงการต่อต้านสัญลักษณ์ของระบอบสาธารณรัฐ ที่ไม่สามารถรับได้อีกต่อไป ศาลาว่าการเมืองต่างๆ โรงเรียน และสถานีตำรวจหลายแห่งถูกเผา และทำลาย ซึ่งเราได้จับกุมคนก่อเหตุได้ราว 150 คน”

รัฐมนตรีมหาดไทยยังกล่าวให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ, ทหาร และหน่วยดับเพลิง ที่เผชิญหน้ากับสถานการณ์รุนแรงด้วยความกล้าหาญ อีกทั้ง ยังประนามกลุ่มผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรงว่า ‘ไร้ยางอาย และปราศจากความยั้งคิด’

สาเหตุที่จุดกระแสการประท้วงในหลายเมืองของฝรั่งเศส เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าวันอังคาร (27 มิ.ย. 66) ที่เขตนองแตร์ ชานกรุงปารีส เมื่อตำรวจฝรั่งเศสได้เรียกหยุดรถคันหนึ่งเพื่อตรวจค้น โดยตำรวจอ้างว่า มีการขัดขืนและพยายามจะขับรถชนเจ้าหน้าที่ จึงจำเป็นต้องยิงเพื่อป้องกันตัว ทำให้ ‘Nahel M’ วัยรุ่นชายวัย 17 ปี ถูกยิงเข้าบริเวณทรวงอกในระยะเผาขนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ซึ่งข้อเท็จจริงขัดกับภาพจากกล้องวงจรปิด ที่คนขับได้หยุดรถแล้ว และตำรวจยืนในตำแหน่งด้านข้างรถ และใช้ปืนจ่อเข้าไปในรถ

เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจอย่างกว้างขวางในหมู่ชุมชนกลุ่มน้อยในฝรั่งเศส ที่เชื่อว่าพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐ และการตัดสินใจใช้ความรุนแรงของตำรวจฝรั่งเศส ซึ่งในปี 2022 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตในกรณีคล้ายกับ Nahel M มาแล้วถึง 13 ราย

‘เอมานูเอล มาครง’ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของ Nahel M และยังกล่าวว่า “ประเทศเรามีเยาวชนคนหนึ่งถูกสังหาร ด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถอธิบายได้ และให้อภัยไม่ได้เช่นกัน และสั่งให้มีการสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรมอย่างถึงที่สุด”

ด้านครอบครัวของวัยรุ่นชายผู้เสียชีวิต เรียกร้องให้ชาวฝรั่งเศสออกมาเดินขบวนประท้วง เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับบุตรชาย แต่สุดท้ายกลายเป็นเหตุบานปลายที่มีการเผาทำลายอาคาร ทรัพย์สินราชการในหลายเมือง ทั้งกรุงปารีส เมืองตูลูซ ดีฌง และลียง จนทางการฝรั่งเศสต้องส่งกองกำลังเข้าไปควบคุมสถานการณ์ และจับกุมผู้ก่อความไม่สงบได้เป็นจำนวนมาก

เรื่องคดีความของวัยรุ่น 17 ปี ก็เรื่องหนึ่ง แต่การใช้ความรุนแรงจนเกือบจะเผาบ้าน เผาเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ไม่สามารถเอามาเฉลี่ยกันได้ เพราะสังคมไม่อาจสงบได้หากเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์
 

‘มาครง’ โทษโซเชียลปลุกกระแสจลาจลในฝรั่งเศส เตรียมใช้อำนาจรัฐ ‘จัดการคอนเทนต์’ ปลุกปั่น!!

(3 ก.ค. 66) เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสเดือดจัด ออกมากล่าวโทษสื่อโซเชียล อาทิ Tiktok, Snapchat และอื่นๆ เป็นตัวการสุมเชื้อไฟความรุนแรงในฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ที่มีต้นเหตุจากคดีตำรวจฝรั่งเศสยิงนาย นาเฮล เอ็ม วัยรุ่นชายเชื้อสายแอลจีเรียวัย 17 ปีเสียชีวิต

โดยคลิปข่าว และการปลุกระดมจากคดีของ นาเฮล ถูกส่งต่อจนกลายเป็นไวรัลทั่วโลกโซเชียลในฝรั่งเศส ก่อให้เกิดความไม่พอใจในชุมชนคนกลุ่มน้อย และกลุ่มผู้อพยพ ลุกขึ้นมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่นาเฮล จนกลายเป็นจลาจลวุ่นวายไปทั่วประเทศ

และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า 'พฤติกรรมเลียนแบบ' ชักชวนกันออกมาป่วนตามกระแสจากโซเชียล รวมถึงเกมออนไลน์ที่แฝงความรุนแรง เป็นแรงเสริมให้เกิดพฤติกรรมป่วนบ้าน ป่วนเมืองในกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น

มาครง ถึงขั้นใช้คำว่า เด็กๆ พวกนี้ โดน "ล้างสมอง" จากการเสพคอนเทนต์ หรือ เกมออนไลน์ ที่ยุยงให้เกิดความรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาสังคม เห็นทีต้องเร่งประสานงานกับเหล่าบรรดาสื่อโซเชียลให้กำจัด "เนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อน" และขอให้ระบุตัวตนของผู้ใช้ที่เผยแพร่ ปลุกระดม ให้เกิดความรุนแรงในสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้

ซึ่งผู้นำฝรั่งเศสไม่ได้เอ่ยออกมาตรงๆ ว่า "เนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อน" ที่ว่านี้หมายถึงอะไร แต่เรียกร้องถึงสปิริตในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของเหล่าบรรดาสื่อโซเชียลมีเดีย และไม่เพียงแค่นั้น ตอนนี้รัฐบาลได้เรียกตัวแทนผู้ดูแลสื่อโซเชียลในฝรั่งเศสมาหารือแล้ว โดยเริ่มที่แพลทฟอร์ม Snapchat และ Twitter ให้ทำการลบคอนเทนต์ที่รุนแรง และให้หาตัวผู้ที่ปล่อยคลิป และภาพลงในโซเชียลด้วย

เจรัลด์ ดาร์มาแนง รัฐมนตรีมหาดไทยฝรั่งเศส ออกมายืนยันคำสั่งของรัฐบาล โดยเขาเป็นคนฝากคำเตือนถึงทีมสื่อโซเชียลในที่ประชุมว่า รัฐบาลไม่อนุญาตให้ใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางการปลุกระดมไปสู่ความรุนแรง จึงอยากเตือนให้รู้ไว้ว่าฝรั่งเศสมีกฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดทางโซเชียลเช่นกัน 

ที่ฝรั่งเศส มีกฎหมายต่อต้านการคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นคดีอาญาหากมีการข่มขู่ คุกคามว่าจะทำร้ายร่างกาย ฆ่า ข่มขืน หรือแม้แต่ด่าทอ ดูหมิ่นกันในออนไลน์ ถือเป็นความผิดทั้งสิ้น และในปี 2020 รัฐสภาฝรั่งเศสได้ผ่านกฎหมายควบคุมสื่อโซเชียล และ search engine ให้นำคอนเทนต์ต้องห้ามออกภายใน 24 ชั่วโมง 

แต่ทว่า เท่าที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายในคดีคุกคามทางโซเชียลมักไม่ค่อยจริงจังเท่าไหร่นักในฝรั่งเศส แต่มาคราวนี้ มาครงจะเอาจริงแล้ว เพราะเชื่อว่าความอลหม่านในรอบ 4-5 วันที่ผ่านมาเกิดจากการปลุกปั่นในโซเชียล ไม่ผิดแน่

จากข้อมูลของตำรวจ พบว่าในจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมจากการก่อเหตุจลาจลป่วนเมืองนั้น 1 ใน 3 เป็นเพียงเด็ก และเยาวชน หลายคนยังเด็กมากๆ ไม่น่าเชื่อว่าจะกล้าออกมาก่อเหตุรุนแรงได้อย่างไม่รู้สึกผิด ผู้นำฝรั่งเศสจึงฝากไปถึงพ่อแม่ ให้ดูแลลูกหลานของตัวเองให้ดีหน่อย 

"เพราะเป็นหน้าที่พ่อแม่ที่กันลูกตัวเองให้อยู่ในบ้าน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะไปตามจับตัวลูกคุณข้างนอกนะครับ"

เชื่อแล้วว่า เอมานูเอล มาครง ฉุนขาดจริงๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสวันนี้ แต่ที่แปลกใจคือ ทางฝรั่งเศสเพิ่งจะตาสว่างหรือ? ว่าช่องทางโซเชียลถูกใช้ปลุกระดมให้เกิดม็อบจลาจลได้? เมื่อก่อนเห็นปกป้องตลอดเลยว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ตอนนี้แสดงออกไม่ได้แล้วนะ แถมยังใช้อำนาจรัฐบีบให้บริษัทโซเชียลส่งข้อมูลผู้ใช้ที่เข้าข่ายสร้างคอนเทนต์ปลุกระดมให้รัฐได้ด้วย 

ไฟไหม้บ้านคนอื่นไม่เดือดร้อนเท่าไฟไหม้บ้านตัวเองเช่นนี้แล

การเผชิญหน้า 'จลาจล-ประท้วง-เสรีภาพ' ของผู้นำหนุ่ม ในยุค 'วิกฤติเศรษฐกิจ-โซเชียลกำหนดวิธีคิด' ให้ผู้คนลุกฮือ

ไม่นานมานี้ YouTube ช่อง 'Kim Property Live' ได้โพสต์คลิป เล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ การประท้วง การจลาจล ในประเทศฝรั่งเศส โดยได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ...

วันนี้จะมาชวนคุยเกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศส การประท้วง การจลาจล การต่อต้านและความไม่สงบ ภายใต้บริบทของประเทศคิดที่มีความหลากหลาย และสร้างสรรค์ รวมทั้งเป็นเจ้าของแบรนด์หรู ต่างๆ มากมาย ซึ่งวันนี้ต้องเผชิญความท้าทายจากอำนาจของประชาชนภายใต้อิทธิพลสื่อที่ผู้นำหนุ่มแห่งฝรั่งเศสกำลังปวดหัว

โดยเราต้องทำความเข้าใจ เกี่ยวกับรากเหง้าและวัฒนธรรมการประท้วงของฝรั่งเศสกันก่อน ประเทศของเขามีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปีค.ศ 1789 ซึ่งเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศส และนี่ก็คือเอกลักษณ์ของทางประเทศฝรั่งเศส ที่เกี่ยวกับ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ประเทศฝรั่งเศสมีการนัดกันหยุดงานและประท้วงกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพลักษณ์ของประชากรในฝรั่งเศสเป็นคนที่ดูเข้มแข็ง และกล้าท้าทายต่ออำนาจ คนในฝรั่งเศสนั้นมีความรู้ มีการศึกษาค่อนข้างดี และก็ยังมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เยอะอีกด้วย อีกทั้งทางด้านสหภาพแรงงานก็เข้มแข็ง ทำให้เกิดการประท้วง ทั้งในฝั่งของคนทำงานและบริษัท จึงทำให้เราเห็นภาพที่วุ่นวาย

อย่างไรก็ตาม ประเทศฝรั่งเศสนั้น ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสินค้าแบรนด์ดัง แบรนด์หรูที่โด่งดังไปทั่วโลกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น หลุยส์วิตตอง Hermes Chanel ยิปแซง Peugeot ยางมิชลิน ห้างคาร์ฟูร์ เครื่องสำอางลอรีอัล Ibis axa แต่ก็แทบจะไร้ค่า เมื่อเทียบกับพลังของผู้คนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยวิถีคิดแห่งเสรีภาพค้ำชู

กลับมาพูดกัน ในปัจจุบันของฝรั่งเศส มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เหตุการณ์มันลุกลามกันมาตั้งแต่ เหตุการณ์เสื้อกั๊กเหลือง ที่คนประท้วงกันในเรื่องของนโยบาย โลกร้อน ขึ้นภาษีน้ำมัน ประชาชนไม่พอใจรัฐบาล ที่นโยบายเอื้อไปทางคนที่ร่ำรวย เพราะว่าประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง มาจากสายของการเงินธุรกิจ 

นอกจากนี้ตัวเขาก็ยังมีแนวคิดที่จะเลื่อนการเกษียณออกไปอีก 2 ปี เนื่องด้วยระบบบำนาญของฝรั่งเศส ดูแลประชาชนไม่ไหวแล้วประชาชนเริ่มที่จะแก่มากขึ้น เงินที่เข้ามาก็น้อย ดอกเบี้ยก็ต่ำ พอยืดเวลาเกษียณออกไปก็ทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ เกิดการหยุดทำงานการประท้วงไปทั่วฝรั่งเศส (สำหรับคนไทยนั้นอาจจะตกใจแต่สำหรับคนฝรั่งเศสการ Strike หยุดงานการเดินขบวนการประท้วงนั้น เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว)

ทว่า เหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่มความร้อนแรงให้กับประเทศฝรั่งเศส ทั้งในเรื่องของการเมืองและเรื่องของสังคมนั่นก็คือ การที่ตำรวจท่านหนึ่ง ทำการวิสามัญวัยรุ่นอายุ 17 ปี ซึ่งน้องคนนี้ก็ได้มาจากแอฟริกาเหนือ (ก็ต้องบอกว่าในประเทศฝรั่งเศสนั้นมีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติที่เยอะ มีผู้ที่อพยพเข้าเมืองมาเยอะ และถ้าดูจากแผนที่แล้วประเทศฝรั่งเศสนั้นจะอยู่ทางตอนบนของประเทศซีเรีย ตะวันออกกลาง) 

ฉะนั้นเมื่อมีผู้อพยพเข้ามากันเยอะ เพื่ออาศัยลี้ภัยสงคราม เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติก็เริ่มมีการก่อตัวให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้อพยพนั้นก็เติบโตขึ้นมากเช่นเดียวกัน และนั่นก็ทำให้ประชาชนเริ่มไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ไม่ชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) พอมีเหตุการณ์การวิสามัญของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามา จึงทำให้เกิดความไม่พอใจเกิดขึ้น ทำให้ความรุนแรงปะทุขึ้นมา มีคนยิงพลุใส่ตำรวจ เผารถยนต์ของตำรวจ โดยล่าสุดมีการจับกุมผู้ประท้วงไปแล้ว ประมาณ 1,100 คนจากทั่วประเทศ และปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 40,000 คนได้เข้าควบคุมสถานการณ์ 

แน่นอนว่า การประท้วงในครั้งนี้ ได้ท้าทายอำนาจของประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ซึ่งก็ได้มีการเรียกประชุมฉุกเฉินและมีการขอให้ผู้ปกครองนั้นดูแลบุตรหลานให้ดี ให้อยู่กันแต่ในบ้าน ซึ่งทางฝ่ายค้าน ก็ได้ใส่ประธานาธิบดีมาครงทันทีว่าอ่อนแอ ควบคุมกฎหมายไม่ดีรักษาความสงบเรียบร้อยไว้ไม่ได้

ประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ก็ปวดหัวพอสมควร ปัญหาเก่าก็มีสะสมมาเยอะอยู่แล้ว ทั้งปัญหาเงินเฟ้อ ที่สูงขึ้นไปถึง 6% ตอนนี้ก็ได้ลงมาอยู่ราวๆ 5% แล้ว ส่วนตัวเลข GDP นั้นถึงแม้จะไม่ติดลบแต่ก็ถือว่าแทบจะไม่โตเลย ตัวเลขอยู่ที่ 0.9% เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ค่าครองชีพสูง ประชาชนก็ย่อมจะมีความกดดันสูงอยู่แล้วและเมื่อมีเหตุการณ์ปะทุขึ้นมาอีก จุดเดือดนี้ ก็ได้แพร่ขยายออกไปได้ง่าย 

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของท่านประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ก็ได้มี Action ต่างๆ เพื่อจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องรายได้ ค่าครองชีพ ได้มีการเชิญชวนนักธุรกิจทั่วโลกให้มาตั้งโรงงานที่ประเทศฝรั่งเศส เพราะถ้าโรงงานการผลิตอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ก็จะเกิดการจ้างงานทำให้คนฝรั่งเศสนั้นมีงานทำเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ซึ่งประธานาธิบดีมาครง ก็เคยจีบอีลอนมัสก์ ให้มาสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศฝรั่งเศส 

ขณะเดียวกัน ก็เคยชวนเจ้าสัวซีพีของไทยไปเปิดโรงงานที่ฝรั่งเศส เพราะนโยบายหลักของประธานาธิบดีมาครงนั้น เน้นไปที่พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นนโยบายหลักของประเทศในทวีปยุโรปอยู่แล้วที่จะเน้นในเรื่องนี้ เขาไม่อยากจะซื้อพลังงานจากทางด้านประเทศรัสเซีย แต่การขึ้นภาษีดีเซลนั้นก็ยังติดขัดกับพวกเสื้อกั๊กเหลืองอยู่ คนฝรั่งเศสไม่เอาด้วย เพราะว่ามองว่าเป็นการรังแกคนที่จน คนทางภาคเกษตรกรรมนั้นใช้พลังงานดีเซลที่เยอะ แล้วต่อมาเหตุการณ์จลาจลในประเทศฝรั่งเศสนั้นก็ได้ลุกลามไปยังประเทศเบลเยียม ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เกิดการปล้นในเมืองโลซาน โดยยึดประเทศฝรั่งเศสเหมือนโมเดลในการประท้วงการเรียกร้องประชาธิปไตย ประชาชนในหลายประเทศดูฝรั่งเศสเป็นตัวอย่าง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการประท้วงการจลาจลแบบนี้ มันก็ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจที่เปิดอยู่ก็ต้องปิดตัวลงไป จะทำการค้าการขายกันก็ไม่ได้ ทำให้เกิดการสูญเสีย ประมาณ 1 billion Euro หรือว่าประมาณ 1,000 ล้านยูโร ซึ่งก็คล้ายคลึงกับบ้านเราถ้าเกิดการประท้วงปิดห้างกันการค้าการขายระบบเศรษฐกิจของบ้านเราก็เสียหาย นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยวเพราะว่าคนไม่กล้ามาท่องเที่ยวกัน ทำให้เกิดการกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของฝรั่งเศสมากขึ้นไปอีก เพราะฝรั่งเศสนั้นก็เป็นประเทศที่เน้นการท่องเที่ยว ของที่เป็นแบรนด์เนมของที่เป็นแฟชันสัญลักษณ์ของความหรูหรา จนรัฐบาลของฝรั่งเศสจะต้องมาการันตีให้ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

ถึงตรงนี้ ก็ต้องยอมรับว่า ฝรั่งเศส เป็นประเทศที่มีแนวคิดทางด้านการเมืองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน มีความเข้มแข็งของประชาชน มีความเข้มแข็งของสหภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองค่อนข้างสูง แต่อีกด้านหนึ่งก็มักทำให้เกิดการประท้วงการจลาจล ซึ่งต้องยอมรับว่าในช่วงหลัง Social Media ก็มีผลอย่างมากต่อการนำมาซึ่งความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเมื่อก่อนที่เดินขบวนกันแบบสันติ แต่ปัจจุบันก็ได้ รุนแรง จนเกินต้านจากการปลุกปั่นในออนไลน์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top