จรัญ-อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายชัดข้อหา ‘อั่งยี่-ซ่องโจร’ เกิดจากปมฮั้วเลือกสว. ต้องอยู่ในอำนาจ ‘กกต.’ ตามกฎหมายโดยตรงไม่ใช่ดีเอสไอ หวัง 6 มีนาคม ‘บอร์ดคดีพิเศษ’ ไม่รับเป็นคดีพิเศษ เตือนหากรับอาจมีวิกฤติบางอย่างรออยู่ข้างหน้า!
เมื่อวันที่ (5 มี.ค.68) นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผ่าน ไทยโพสต์ เกี่ยวกับกรณีที่ คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) หรือ 'บอร์ดคดีพิเศษ' นัดประชุมวันที่ 6 มีนาคม เพื่อลงมติว่าจะรับกรณี ฮั้วเลือก สว.เป็น คดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาของสังคม โดยเฉพาะใน ประเด็นข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
นายจรัญระบุว่า กฎหมายเปิดช่องให้ดีเอสไอรับคดีอาญาได้ทุกคดี ผ่านมติของคณะกรรมการคดีพิเศษ แต่ปัญหาอยู่ที่ กรณีนี้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอำนาจของ กกต. ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. โดยตรง
“รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะฝ่ายข้างมากหรือฝ่ายข้างน้อย เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้ง” นายจรัญกล่าว
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า กกต. ได้รับอำนาจให้จัดการเลือกตั้งโดยอิสระ หากไม่มีความเป็นกลาง การแข่งขันทางการเมืองจะไม่เป็นธรรม และอาจ กระทบต่อคุณภาพของระบบการเมืองการปกครองของประเทศ
นายจรัญ ชี้ว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจน ในมาตรา 49 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ว่าความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ต้องอยู่ภายใต้การดำเนินการของ กกต.
“ถ้ามีการจ่ายเงิน จ่ายทอง วางระบบฮั้วกัน ถือเป็นความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งต้องอยู่ในอำนาจของ กกต.”
อย่างไรก็ตาม ประชาชนมองว่าการเลือก สว. ครั้งนี้มีปัญหา และเมื่อ กกต. ใช้เวลานานโดยไม่มีความคืบหน้า จึงเกิดแรงกดดันให้ผู้ร้องเรียนไปที่ดีเอสไอ
นายจรัญ ตั้งข้อสังเกตว่าดีเอสไอไม่สามารถรับทำคดีนี้ได้เอง เพราะเป็น ความผิดที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้อยู่ในอำนาจของ กกต. ซึ่ง หากมีเรื่องฟอกเงิน ก็ต้องให้ กกต. ตรวจสอบก่อน แล้วจึงส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
นายจรัญ กล่าวถึงการที่ดีเอสไอตั้งข้อหา อั่งยี่-ซ่องโจร ว่าเป็น ความผิดอาญาตามกฎหมายทั่วไป ซึ่งอาจถูกใช้เป็นเหตุผลในการรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษได้
“แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะดีเอสไอเป็นหน่วยงานที่ทรงอำนาจมาก มีอำนาจมากกว่าตำรวจ และที่สำคัญดีเอสไออยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายบริหารผ่านกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นสายตรงของคณะรัฐมนตรี”
นายจรัญ เตือนว่า หากปล่อยให้ดีเอสไอเป็นตัวหลักในการทำคดี และแยกความผิดเลือกตั้งออกจาก ข้อหาอั่งยี่-ซ่องโจร อาจทำให้ ดีเอสไอกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง
“นี่ไม่ใช่อั้งยี่ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรง เช่น ค้ามนุษย์ แต่มันเป็นอั้งยี่ที่เกิดจากการฮั้วเลือก สว. ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอยู่ในอำนาจของ กกต.”
นายจรัญ เตือนว่า หากบอร์ดคดีพิเศษลงมติรับคดีนี้ เท่ากับเป็น การแย่งอำนาจ กกต.และอาจนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองใช้ DSI แทรกแซง กระบวนการเลือกตั้งในอนาคต
“ถ้ารับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ต่อไปจะกลายเป็นบรรทัดฐาน ไม่ใช่แค่เรื่อง สว. แต่รวมถึงการเลือกตั้ง สส. และประชามติ ฝ่ายการเมืองที่กุมอำนาจรัฐอยู่ก็จะใช้ ดีเอสไอ รับทำคดีเลือกตั้งได้ทุกประเภท”
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสนอว่า ดีเอสไอควรให้ กกต. เป็นผู้ดำเนินคดีหลัก และหากมีหลักฐาน ควรส่งต่อให้ กกต. ไม่ใช่รับทำคดีเอง
“อยากให้สองหน่วยงานหารือกัน กกต. ทำหน้าที่ของตนเอง ส่วน ดีเอสไอมีข้อมูลอะไรก็ส่งให้ ไม่ใช่ให้รัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็นตัวตั้งตัวตี”
นายจรัญ ย้ำว่า กรรมการบอร์ดคดีพิเศษควรพิจารณาอย่างรอบคอบในวันที่ 6 มีนาคม เพราะหากลงมติรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษเท่ากับหัก กกต. แย่งชิงบทบาท ซึ่งวิกฤตการณ์บางอย่างอาจจะรออยู่เบื้องหน้าก็ได้
“มั่นใจว่ามติบอร์ดคดีพิเศษ มีวิจารณญาณ พอจะไม่รับคดีนี้ แต่จะหาทางออกที่เหมาะสม” นายจรัญกล่าวทิ้งท้าย
