Wednesday, 23 April 2025
ค้าขายออนไลน์

Shopee ประกาศ!! คิดค่าธรรมเนียมการขายของจากผู้ขายทั่วไป สะท้อน!! ถึงเวลาแพลตฟอร์มใหญ่ ได้เวลาโกยเงินกลับ

ธราดล ทนงาน (ดล) เจ้าของเพจ 'ด.ดล Blog' ได้โพสต์ถึงความเคลื่อนไหวสำคัญในวงการค้าขายออนไลน์ที่อาจกระทบต่อผู้ค้าขาย ระบุว่า...

1% ของเราไม่เท่ากัน กับการคิดค่าธรรมเนียมการขายของ Shopee ที่สั่นสะเทือนวงการ E-commerce ไทยอีกครั้ง

ต้องเรียกได้ว่าเป็นประกาศครั้งใหม่อีกครั้งในรอบไม่กี่เดือน ที่สั่นสะเทือนวงการค้าขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Shopee สำหรับการประกาศเก็บค่าธรรมเนียมการขาย 1% สำหรับที่ไม่ใช่กลุ่มใน Shopee Mall (ผู้ขายทั่วไป)

ต้องบอกว่าการประกาศเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในครั้งนี้ถือว่ามีความน่าสนใจนะครับ เพราะปกติ Shopee จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมในการขายมาก่อน การปรับรอบก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องของค่าธรรมเนียมการชำระเงินทีผู้ขายต้องมีการจ่ายอยู่แล้ว 3%

แม้ตัวเลขเฉลี่ยมันจะเป็นตัวเลขเพียงเล็กน้อยที่ราวๆ 1% เพียงเท่านั้น แต่การปรับครั้งนี้ ถือว่าส่งผลกระทบต่อพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอยู่ในแพลตฟอร์มพอสมควรเลยทีเดียว

ต้องเข้าใจก่อนว่า Shopee นั้นกลุ่มลูกค้า ค่อนข้างที่จะแตกต่างจาก Lazada อย่างชัดเจน ใครเข้ามา Shopee แน่นอนว่าต้องการสินค้าถูกที่สุดเป็นส่วนใหญ่ เพราะระบบได้ออกแบบแพลตฟอร์มมาให้เป็นแบบนี้

ทั้งเรื่อง User Experience ที่มีการเปรียบเทียบราคาอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนลูกค้าตัดสินใจที่จะจ่ายเงิน ยังมีสินค้ามาให้เปรียบเทียบอยู่เสมอ ทำให้เป็นแพลตฟอร์มที่มีโอกาสสูงที่ใครถูกกว่า ก็มักจะมีโอกาสขายได้มากกว่า

เอาจริงๆ ตรงนี้ค่อนข้างต่างจาก Lazada ที่จะไม่ค่อยเห็นการเปรียบเทียบราคาในทุกๆ ขั้นตอนของการซื้อแบบ Shopee ทำให้ผมมองว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของ Shopee มักจะเน้นที่ของถูกที่สุดเป็นหลัก

เมื่อแบรนด์ยักษ์ใหญ่เริ่มหนีไปสร้างช่องทางการขายของตนเอง

ถ้าใครสังเกต เราจะเห็นได้ว่าช่วงนี้แบรนด์หลายแบรนด์ยักษ์ใหญ่ เริ่มโปรโมตช่องทางการขายของแพลตฟอร์มตัวเองหรือเว็บไซต์ของตัวเอง แทนที่จะพึ่งพา marketplace เป็นช่องทางหลักเหมือนเมื่อก่อน

ซึ่งเมื่อเราได้เห็นเทรนด์ที่ชัดเจน เรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ เพิ่มขึ้น มันก็เป็นสัญญาณชัดเจนว่า ในอนาคต อะไรก็เกิดขึ้นได้ อาจจะขึ้นไปถึง 5% 10% ก็ได้ใครจะไปรู้ ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์ม E-commerce ของจีน
 

สถาบันพระปกเกล้า ระดมสมอง จัดระเบียบการค้าออนไลน์ มุ่งปกป้อง สร้างภูมิคุ้มกัน เยียวยาผู้บริโภค

วันที่ 17 สิงหาคม ที่ห้องประชุมสัตมรามาธิราช สถาบันพระปกเกล้า นายถนัด มานะพันธุ์นิยม เลขานุการ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ และรองประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค คนที่หนึ่ง กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดระเบียบการค้าออนไลน์ :ความท้าทายในยุค Digital โดยกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ร่วมกับ สถาบันพระปกเกล้า

ภายในกิจกรรม ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับฟังการบรรยาย เรื่อง การจัดระเบียบการค้าออนไลน์ : ความท้าทายในยุค Digital โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พร้อมทั้งผู้เข้าร่วมการประชุม ได้ระดมความคิดเห็นเชิงปฏิบัติการ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ระดมความเห็นใน 3 ประเด็นสำคัญ

1. การเสริมสร้างกลไก มาตรการ และแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการค้าจดทะเบียนพาณิชย์

2. แนวทางการบูรณาการความร่วมมือเพื่อปกป้องคุ้มครอง และเยียวยาช่วยเหลือผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าออนไลน์

และ3. การสร้างการรับรู้ ความเชื่อมั่นและเสริมภูมิคุ้มกันให้ประชาชนเกี่ยวกับการค้าออนไลน์

‘มณีรัตน์’ หนุนขายของออนไลน์-ลดค่าขนส่งระหว่างประเทศ ติดปีกให้ e-Commerce ไทย ก้าวขึ้นแข่งขันได้ในระดับสากล

เมื่อวานนี้ (7 พ.ค. 66) มณีรัตน์ ลิมป์รัตนกาญจน์ ผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต 23 พรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า…

ปัจจุบันการซื้อสินค้าจากประเทศจีนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้ค้าจีนสามารถส่งส่งสินค้ามาถึงผู้ซื้อในไทย ค่าส่งเพียง 20 บาท !! เขาทำกันได้อย่างไร ?? 

ค่าส่งสินค้าที่สูงเป็นปัญหาใหญ่ที่เหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์คนไทยกำลังประสบกันอยู่ เพราะบางครั้งค่าส่งสินค้าภายในประเทศยังเสียค่าส่งแพงกว่านี้ !! 

รัฐบาลจีนให้ความสำคัญและผลักดันธุรกิจค้าปลีก e-commerce ของจีนจนสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด หนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้ผู้ค้าปลีกออนไลน์จีนสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ คือค่าขนส่งสินค้าไปต่างประเทศที่ถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทำให้ผู้ค้าจีนได้เปรียบผู้ค้าประเทศอื่น ๆ ด้านราคาเมื่อคิดรวมค่าขนส่งกับค่าสินค้าเข้าด้วยกัน โดยรัฐบาลจีนให้ความช่วยเหลือผู้ค้าในส่วนนี้ โดยการสนับสนุนค่าส่งสินค้าไปต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม, ผลักดันเรื่องการบริหารจัดการระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพ, ควบคุมราคาค่าส่งสินค้าให้มีความเหมาะสม, ร่วมกับการเจรจาลดหย่อนภาษีนำเข้ากับประเทศคู่ค้า

ในทางกลับกันประเทศไทยมีสินค้าไทย ที่ได้รับความที่นิยมจากลูกค้าชาวจีนและประเทศอื่น ๆ จำนวนมาก แต่หากคนไทยขายของออนไลน์ส่งไปต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน กลับต้องเสียค่าขนส่งสูงกว่าจากจีนมาไทยหลายเท่า เป็นปัญหาที่ดับฝันโอกาสทางธุรกิจของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์รายย่อยชาวไทยในการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มไปสู่ตลาดโลกอย่างสิ้นเชิง

ในครั้งนี้หากได้มีโอกาสได้เข้าไปเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน ประเด็นการค้าขายออนไลน์ เป็นประเด็นสำคัญที่อยากจะผลักดัน โดยหนึ่งในนั้นคือการปลดล็อก ลดค่าขนส่งสินค้ารายย่อยระหว่างประเทศ เพื่อติดปีก e-Commerce ไทย สนับสนุนให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไทยให้แข่งขันได้ในระดับสากล

‘สรรพากร’ จี้กลุ่มค้าขายออนไลน์ - อินฟลูฯ ยื่นภาษีเงินได้ฯ ชี้! หากเลี่ยงภาษี - แจ้งเท็จ เสี่ยงเจอโทษหนักคุกสูงสุด 7 ปี

(10 ม.ค.68) นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่าภาพรวมกรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.- 31 ธ.ค. 2567 เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ โดยสามารถจัดเก็บได้ 4.7 แสนล้านบาท เกินเป้า 3.9 พันล้านบาท เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่เกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศ สามารถจัดเก็บได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนปัจจัยที่ทำให้การจัดเก็บภาษีลดลง ส่วนหนึ่งมาจากภาษีการนำเข้าลดลงประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน

โดยในไตรมาส 2/2568 คาดว่า การจัดเก็บภาษีจะเกินเป้า เพราะเป็นช่วงของการยื่นจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะเน้นย้ำใน กลุ่มค้าขายแบบซื้อมาขายไป ซึ่งรวมถึง ธุรกิจค้าขายแบบออนไลน์ และอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น ขณะที่ไตรมาสที่ 3/2568 เป็นฤดูกาลจัดเก็บภาษีนิติบุคคล ซึ่งยังต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

“กรมสรรพากร มีเป้าจัดเก็บรายได้ทั้งปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 2.37 ล้านล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 ถึง 5% จากจำนวนผู้ยื่นเสียภาษี จำนวนราว 11 ล้านคน ซึ่งมีการยื่นขอคืนเงินภาษี 4 ล้านคน และจ่ายภาษีเพิ่ม 7 ล้านคน โดยสรรพากรจะพยายามทำให้ได้ตามเป้าหมาย” นายปิ่นสาย กล่าว

ซึ่งข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ยื่นเสียภาษีมากกว่า 100,000 รายแล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้ยื่นขอคืนภาษีผ่านช่องทางออนไลน์สูงถึง 96%

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวอีกว่า สำหรับการยื่นเสียภาษีรูปแบบออนไลน์ จะทำให้ผู้เสียภาษีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคืนภาษีได้รวดเร็วขึ้น ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ใน 2-3 วัน ซึ่งผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 ผ่านระบบออนไลน์ได้จนถึงวันที่ 8 เม.ย. 2568

ทั้งนี้ กรมสรรพากร ได้ใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาตรวจจับข้อมูลของกลุ่มดังกล่าวด้วย ฉะนั้น จึงขอให้มายื่นไว้ก่อนถูกผิดไม่เป็นไร ซึ่งสามารถแก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม หากเกินระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นภาษี จะมีโทษทั้งทางเเพ่งและทางอาญา โดยทางเเพ่งต้องเสียเบี้ยปรับ 1 หรือ 2 เท่า ของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี บวกเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน หรือ 18% ต่อปี ส่วนทางอาญา เจตนาผู้ที่สร้างรายได้อันเป็นเท็จและมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอม มีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top