Wednesday, 23 April 2025
คารม_พลพรกลาง

‘กระทรวงศึกษาฯ’ จัดโครงการ ‘อาชีวะล้างแอร์’ ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ประหยัดค่าไฟ ลดภาระค่าใช้จ่ายของ ปชช.

(11 พ.ค.67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินโครงการอาชีวะล้างแอร์ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินกิจกรรมล้างแอร์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงฤดูร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และประหยัดพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

นายคารม กล่าวว่า โครงการดังกล่าว มีนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ออกให้บริการในพื้นที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ต่าง ๆ ที่ประชาชนขอรับบริการ พร้อมให้ข้อมูลความรู้พื้นฐาน แนะนำการดูแล บำรุงรักษา 

“ขอเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนใช้บริการล้างแอร์ ในกิจกรรมอาชีวะคลายร้อนทั่วไทย ร่วมใจล้างแอร์ฟรี สามารถลงทะเบียนล้างแอร์ฟรีได้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป ผ่านเว็บไซต์ของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา www.vec.go.th หรือทางFacebook ประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา” นายคารม กล่าว

‘ต่างชาติ’ แห่ลงทุนไทย 5 เดือนแรกปี 67 เพิ่มขึ้น 16% สร้างเม็ดเงินทะลุ 71,702 ล้านบาท ‘ญี่ปุ่น’ ครองแชมป์

(27 มิ.ย. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 317 ราย เพิ่มขึ้น 16% เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 85 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 232 ราย มีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 71,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% 

นายคารม กล่าวว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น จำนวน 84 ราย คิดเป็น 26% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุนรวม 40,214 ล้านบาท 2.สิงคโปร์ จำนวน 51 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 5,189 ล้านบาท 3.สหรัฐฯ จำนวน 50 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ มีเงินลงทุน 1,196 ล้านบาท 4.จีน จำนวน 38 ราย คิดเป็น 12% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ มีเงินลงทุน 5,485 ล้านบาท และ 5.ฮ่องกง จำนวน 28 ราย คิดเป็น 9% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 12,048 ล้านบาท

“สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนชาวต่างชาติในช่วง 5 เดือนของปี 2567 มีชาวต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 99 ราย คิดเป็น 31% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้น 106% และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 18,224 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 93% โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 31 ราย ลงทุน 3,523 ล้านบาท จีน 19 ราย ลงทุน 1,803 ล้านบาท ฮ่องกง 11 ราย ลงทุน 5,005 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 38 ราย ลงทุน 7,893 ล้านบาท” นายคารม กล่าว

‘ครม.’ มีมติปรับเงื่อนไขชดใช้ทุน ‘นักเรียนทุน จ.ภ.’ สถาบันโคเซ็น ญี่ปุ่น เตรียมปฏิบัติงานตามผู้ให้ทุนกำหนด หลังสำเร็จการศึกษา

(27 มิ.ย. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอดังนี้...

1. เห็นชอบให้ปรับเงื่อนไขการชดใช้ทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานเพื่อใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (นักเรียนทุน จ.ภ.) ระยะที่ 2 โดยผู้รับทุนจะเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานชดใช้ทุน หรือหน่วยงานของรัฐที่ผู้ให้ทุนกำหนด และรับเดือนตามที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนตามสัญญา โดยหน่วยงานชดใช้ทุน ให้หมายความรวมถึงภาคอุตสาหกรรมสถาบันไทยโคเซ็น และหน่วยงานของรัฐ ภาคอุตสาหกรรมให้หมายความถึง ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพและกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตในประเทศไทย โดยไม่จำกัดภูมิภาคในประเทศไทยและไม่จำกัดสัญชาติของบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ให้หมายความถึง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยธุรการขององค์การของรัฐที่เป็นอิสระ กองทุนที่เป็นนิติบุคคล หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ และหน่วยงานที่มีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐ

2. เห็นชอบให้ปรับเงื่อนไขการชดใช้ทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานเพื่อใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุน จ.ภ. ระยะที่ 1 โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขการปฏิบัติงานเพื่อใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุน จ.ภ. ระยะที่ 2 ตามข้อ 1. เนื่องจากเป็นการให้ทุนการศึกษาในลักษณะเดียวกันกับการดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาต่อสำหรับนักเรียนทุน จ.ภ. ไปศึกษาต่อ ณ National Institute of Technology (KOSEN) ของประเทศญี่ปุ่น (สถาบันโคเซ็น)

“คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ปรับเงื่อนไขการชดใช้ทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานเพื่อใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (นักเรียนทุน จ.ภ.) ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งผู้รับทุนจะเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานชดใช้ทุนหรือหน่วยงานของรัฐที่ผู้ให้ทุนกำหนดและรับเงินเดือนตามที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนตามสัญญา โดยหน่วยงานชดใช้ทุน ให้หมายความรวมถึงภาคอุตสาหกรรม สถาบันไทยโคเซ็น และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้เพื่อให้เงื่อนไขการชดใช้ทุนของนักเรียนทุน จ.ภ. ทั้ง 2 ระยะ ซึ่งเป็นทุนประเภทเดียวกันมีแนวทางเหมือนกันและเป็นการขยายสถานที่การปฏิบัติงานเพื่อรองรับนักเรียนทุน จ.ภ. ที่สำเร็จการศึกษาให้สามารถเข้าปฏิบัติงานได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งเพื่อให้การจัดสรรทุนดังกล่าวเกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการกำลังคนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มีความรู้ ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ” นายคารม กล่าว

‘รัฐบาล’ ไฟเขียว!! เพิ่มงบเหมาจ่ายดูแล ‘ผู้มีภาวะพึ่งพิง’ อีก 4 พันบาท พร้อมขยายการดูแลเพิ่มอีก 2 กลุ่มเป้าหมาย เคาะ!! 'อปท.' ดูแล

(3 ก.ค. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะมีผู้มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลจากภาครัฐอยู่ที่จำนวน 320,000 คนต่อปี แต่พบว่ายังมีผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงกลุ่มอื่น ๆ ในชุมชนเพิ่มเติมอีก เช่น 1.กลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อม และ 2.กลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) เป็นต้น ซึ่งมีความจำเป็นหรือความต้องการที่ต้องได้รับการดูแลเหมือนกับกลุ่มที่มี ADL เท่ากับหรือต่ำกว่า 11 ดังนั้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้มีภาวะพึ่งพิงให้ได้รับบริการที่บ้านหรือในชุมชนเพิ่มขึ้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบให้ขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ครอบคลุมกลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ระยะปานกลางและกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย โดยคาดการณ์ว่า จะทำให้มีผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงที่ได้รับการดูแลในระบบเพิ่มรวมเป็นจำนวนประมาณ 6 แสนคน

นายคารมกล่าวว่า นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติเพิ่มงบประมาณค่าบริการจากเดิมเหมาจ่ายการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ จากจำนวน 6,000 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มเติมเป็นจำนวน 10,442 บาทต่อคนต่อปี (เพิ่มขึ้น 4,442 บาทต่อคนต่อปี) ซึ่งจะทำให้ อปท. มีงบประมาณสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นในการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ ทำให้หน่วยบริการสามารถจัดบริการได้ดีขึ้น รวมถึงจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นให้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดแรงจูงใจหน่วยบริการที่มีศักยภาพ เช่น สถานชีวาภิบาลที่อยู่กระจายในชุมชนเข้าร่วมให้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงในระบบ

“รัฐบาลมุ่งดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ผ่านการจัดสรรงบประมาณ โดยมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานดำเนินการให้ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) โดยได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านกลไก ‘ระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่’ (Long Term Care : LTC )” นายคารมกล่าว

'รัฐ' ปลื้ม!! '30 บาทรักษาทุกที่-ร้านยาชุมชนอบอุ่น' ช่วยคนเจ็บป่วยนับล้าน เข้าถึง 'สิทธิ-บริการ' ได้จริง

(12 ก.ค. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า 'นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่' บริการที่ 'ร้านยาคุณภาพ' ในการร่วมดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ภายใต้โครงการ 'ร้านยาดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ' (common illnesses) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 'หน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุข' ที่ผ่านมาจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ขับเคลื่อนร่วมกับสภาเภสัชกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ผลปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างมากในพื้นที่ 45 จังหวัดที่เริ่มนโยบายนี้ 

นายคารม กล่าวว่า จากข้อมูลในระบบ AMED ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ใช้เป็นระบบปฏิบัติการในการเบิกจ่าย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 พบว่า ขณะนี้มีร้านยาชุมชนอบอุ่นในระบบ จำนวน 2,151แห่ง มีประชาชนเข้ารับบริการแล้วจำนวน 1,125,253 คน เป็นการรับบริการจำนวน 2,849,528 ครั้ง โดยช่วงอายุ 45-64 ปี เป็นกลุ่มประชากรที่เข้ารับบริการมากที่สุดจำนวน 429,907 คน สำหรับกลุ่มอาการในการเข้ารับบริการ พบว่า ไข้ ไอ เจ็บคอ เป็นกลุ่มอาการที่มีการเข้ารับบริการมากที่สุด จำนวน 1,191,643 ครั้ง หรือร้อยละ 47 ของการเข้ารับบริการ กลุ่มอาการรองลงมาได้แก่ ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ จำนวน 597,737 ครั้ง อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน จำนวน 339,846 ครั้ง ปวดท้อง จำนวน 239,967 ครั้ง ความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตา จำนวน 145,591 ครั้ง ปวดหัว จำนวน 117,091 ครั้ง และบาดแผล จำนวน 114,809 ครั้ง เป็นต้น

“จากข้อมูลที่ปรากฏนี้สะท้อนให้เห็นว่า 30 บาทรักษาทุกที่ รับบริการที่ร้านยาชุมชนอบอุ่น ได้ช่วยดูแลประชาชนที่มีภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งอยู่ใน 16 กลุ่มอาการ ได้เข้าถึงการรักษาโดยใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ การบริการที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นนี้ เป็นส่วนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากเภสัชกรที่เป็นหนึ่งในวิชาชีพระบบสุขภาพ และให้คำปรึกษาหรือแนะนำการกินยา สำหรับการเข้ารับบริการขอให้ประชาชนสังเกตสติกเกอร์ 'ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย' โดยมีวิธีรับบริการ 2 รูปแบบ ไม่เสียค่าใช้จ่าย คือ 1. โทร.สายด่วน สปสช. 1330 จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำให้รับบริการที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้าน หรือ 2. ดูรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/page/List_of_retail_pharmacies หรือสังเกตสติกเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย” นายคารม กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top