Wednesday, 23 April 2025
คัดค้าน

‘รมว.ปุ้ย’ รับหนังสือคัดค้าน ‘โครงการเหมืองแร่โพแทช’ ยัน!! จะดูแลเคร่งครัด ไม่ให้กระทบ ‘สิ่งแวดล้อม-สุขภาพปชช.’

(2 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังรับข้อเรียกร้องจากผู้แทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ที่ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเหมืองแร่โพแทชของประเทศไทย ก่อนการเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ จังหวัดนครราชสีมา โดยสาระสำคัญหลัก ๆ ของกลุ่มผู้เรียกร้อง คือ ขอให้ยกเลิกแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโพแทชทั้งหมด ขอให้ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับการพัฒนาเหมืองแร่โพแทช และขอให้เร่งรัดตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมาโดยเร่งด่วน

นางสาวพิมพ์ภัทราฯ เปิดเผยต่อว่า แม้รัฐบาลจะมีนโยบายในการผลักดันการนำแร่โพแทชขึ้นมาใช้ประโยชน์ แต่ก็ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน สำหรับในกรณีโครงการเหมืองแร่ไทยคาลิ ได้รับประทานบัตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีพื้นที่ประมาณ 9,005 ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 มีการร้องเรียนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ ในประเด็นเรื่องดินเค็มทำการเกษตรไม่ได้ บ่อน้ำสาธารณะไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ ซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อตรวจสอบในประเด็นผลกระทบที่ประชาชนได้รับหลายคณะ ทั้งในระดับจังหวัดและในระดับกรม มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายครั้ง ซึ่งผลการตรวจสอบในชั้นนี้ยังไม่สามารถชี้ชัด

ได้ว่าผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหินของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด โดยผลการตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนที่การแพร่กระจายของคราบเกลือ พบว่าพื้นที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความเค็มมาแต่เดิม อย่างไรก็ดี ล่าสุด จังหวัดนครราชสีมาได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งชุด โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้แทนชุมชนในพื้นที่เพื่อตรวจสอบในประเด็นข้อเรียกร้องและผลกระทบอีกคณะหนึ่งสำหรับประเด็นเรื่องแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 เป็นแผนที่มีการจัดทำและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึง 2570 นั้น ได้ผ่านการวิเคราะห์ทางวิชาการ การประชาพิจารณ์ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ และ คณะรัฐมนตรี เป็นไปตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 กำหนดไว้

อย่างไรก็ดี ได้ทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเริ่มทบทวนแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ อีกครั้งในปี 2568 ซึ่งจะได้นำประเด็นข้อเรียกร้องต่าง ๆ รวมทั้งข้อเสนอในเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ไปประกอบในการทบทวนแผนดังกล่าวด้วย

“ดิฉันขอยืนยันว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะกำกับดูแลการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทชให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด พยายามนำทรัพยากรแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ในขณะเดียวกันก็พยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด โดยในการบริหารจัดการแร่จะต้องคำนึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชนประกอบกันด้วย” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

'ธนกร-รวมไทยสร้างชาติ' ดักทาง 'กมธ.นิรโทษกรรม' ถอยปลดล็อก ม.112 เชื่อ!! คนไทยทั้งชาติรับไม่ได้ หากให้มีการนิรโทษฯคนหมิ่นสถาบันฯ

(12 ก.ค. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน โดยกมธ.ไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องนิรโทษกรรมคดีมาตรา 110 และ คดีมาตรา 112 ซึ่งถือเป็นคดีที่มีความอ่อนไหว และ คดีที่มีความรุนแรง ตามมาตรา 289 ด้วยการลงมติได้ ว่า 

“ตนขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาตามหลักการกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในหมวด 2 มาตรา 6 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบุว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ หากกรรมาธิการฝืนให้ลงมติให้คดีที่ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับสถาบันฯ ให้ได้รับการนิรโทษกรรม อาจเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญได้”

เมื่อถามว่า การที่กมธ. ไม่สามารถลงมติได้ว่าไม่รวมคดีที่มีความอ่อนไหว ม.110, ม.112 และคดีร้ายแรง สะท้อนถึงความไม่ชัดเจนเรื่องข้อกฎหมายหรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า 

“ความจริงแล้วถ้ายึดหลักการกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมถึงจารีตประเพณีรากเหง้าของประเทศแล้ว ตนเชื่อว่า กรรมาธิการจะไม่เสียงแตกแบบนี้ เพราะทุกคนต่างทราบดีอยู่แล้วว่า หากเราไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์คงไม่มีประเทศไทยในวันนี้ ซึ่งการจะนิรโทษกรรมผู้ที่หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่ควรเกิดขึ้น ควรจะใช้ช่องทางอื่นเพื่อจะขอพระราชทานอภัยโทษจะเป็นทางออกที่ดีกว่า”

“แม้ว่ากมธ.นิรโทษกรรม ไม่มีข้อยุติเรื่องคดีม.110,112 โดยมีข้อสรุปให้ส่งเรื่องเสนอต่อสภาฯ และให้สส. เป็นผู้พิจารณาในรายละเอียด ของการบัญญัติเป็นกฎหมายก็ตาม ผมมองว่า การที่กมธ.ไม่ชี้ชัด ไม่มีข้อสรุปว่าจะไม่รวมคดีอ่อนไหวในการนิรโทษกรรมนั้น ก็ทำให้สังคมคิดได้ว่า เป็นการอะลุ่มอล่วย เห็นด้วยในการกระทำผิดโดยปริยายหรือไม่ ส่วนตัวขอคัดค้าน และหากถูกเสนอกฎหมายเข้าสภา ผมและสส.พรรครวมไทยสร้างชาติก็จะลงมติไม่เห็นด้วยให้มีการนิรโทษฯ ให้คนหมิ่นสถาบัน และเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศก็รับไม่ได้เช่นกัน” นายธนกร ย้ำ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top