‘ก้าวไกล’ ค้าน ควบรวม ‘ทรู’ - ‘ดีแทค’ จี้ องค์กรกำกับดูแล กล้ายุติทุนใหญ่ผูกขาด
พรรคก้าวไกล คัดค้านการควบรวมบริษัทให้บริการเครือข่ายมือถือ ‘ทรู’ และ ‘ดีแทค’ จี้ องค์กรกำกับดูแล ต้องกล้าหาญ ยุติการผูกขาดของทุนใหญ่ ปกป้องผู้บริโภค
ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นคัดค้านกรณีการควบรวมระหว่างสองบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย อย่างทรูคอร์ป และ โทเทิลแอคเซสคอมมูนิเคชั่น โดยตั้งคำถามว่า การควบรวมนี้เป็นการผูกขาดหรือครอบงำตลาดหรือไม่
“การควบรวมครั้งนี้ จะทำให้บริษัทใหม่นั้นกลายเป็นผู้ให้บริการเบอร์หนึ่งทันที และมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% เมื่อวัดจากจำนวนเลขหมาย ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าการควบรวมนี้จะทำได้โดยไม่เป็นการผูกขาด หรือครอบงำตลาดได้อย่างไร และหากดีลนี้สำเร็จจะเกิดผลอย่างไรกับผู้บริโภค และคู่แข่ง”
ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้นว่า หน่วยงานใดจะเป็นผู้กำกับดูแล เพราะแม้ พรบ.แข่งขันทางการค้า จะถูกยกเว้น หากอุตสาหกรรมนั้นมีกฎหมายกำกับดูแลเฉพาะอยู่แล้ว เช่น กรณีนี้เป็นอุตสาหกรรมโทรคมนาคมย่อมจะอยู่ภายใต้กำกับของ กสทช. ซึ่งควรจะเป็นไปตามประกาศของ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ในข้อ 8
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นบริษัทลูก (ทรูมูฟ - ดีแทคไตรเน็ต) แต่บริษัทที่จะควบรวมเป็นบริษัทแม่ (ทรูคอร์ป - โทเทิลแอคเซสคอมมูนิเคชั่น) นี่อาจกลายเป็นช่องทางหนึ่งที่จะกรณีนี้จะหลุดจากมือ กสทช. ไปสู่การขออนุญาตต่อบอร์ดแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะตามประกาศหลักเกณฑ์การควบรวมของ กสทช. นั้นเข้มงวดกว่าของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า แถมยังระบุหลักเกณฑ์ที่เป็นตัวเลขชัดเจนไว้อีกด้วย
