Tuesday, 22 April 2025
คนไทยพลัดถิ่น

บิ๊กโจ๊ก ลงพื้นที่จังหวัดระนอง รับฟังความคิดเห็นคนไทยพลัดถิ่น ที่วอนให้รัฐบาลชะลอโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะกระทบแหล่งทำมาหากิน ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลเพื่อไทย สานต่อโครงการ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อให้สถานะแก่คนไทยพลัดถิ่น ซึ่งวันนี้ยังใช้ชีวิตด้วยความลำบาก

ช่วงบ่ายที่ผ่านมาพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้เดินทางลงไปที่หมู่บ้านห้วยปลิง หมู่ 7 ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง ซึ่งเป็น ถิ่นที่อยู่อาศัยของ ชาวบ้าน กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น 

การเดินทางไปครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้พบกับแกนนำชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ และเรียกร้องให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาดูแลความปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมระหว่างที่เดินทางไปยื่นหนังสือกับนายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี 

ทั้งยังเรียกร้อง ให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงพื้นที่ไปดูความเดือดร้อนของชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนไทยพลัดถิ่นมากกว่า 3000 คนในชุมชน ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ด้วย

จากการลงพื้นที่ และได้พูดคุยกับหญิงชราหนึ่งในแกนนำชาวบ้านที่มีสถานะเป็นคนไทยพลัดถิ่น รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยอมรับว่า ชาวบ้าน อยู่ด้วยความยากลำบากแสนเข็ญ กับการใช้ชีวิตที่ไม่มีบัตรประชาชน เนื่องจากรัฐบาล ยังไม่รับรองความเป็นคนไทย ทั้งที่ พรบ.สัญชาติไทย ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม กรณีรับรองคนไทยพลัดถิ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ 

ขณะที่ หญิงชรา (ก๊ะ) แกนนำที่เคยออกมาเดินขบวนเรียกร้องโดยการเดินเท้าจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปยังกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 18 วัน ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อขอให้ลงมาแก้ปัญหานี้ จนที่สุด รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ได้ริเริ่มพรบ.สัญชาติ 2555 

เธอบอกว่า ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดออกมาจากรัฐบาล ทำให้พวกเธออยู่ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากไม่สามารถไปไหนมาไหนได้สะดวกเพราะไม่มีบัตรประชาชน และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อการประกอบอาชีพได้ ทำได้เพียงการทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งวันนี้กำลังจะถูกเวนคืนพื้นที่ ไปทำโครงการแลนด์บริดจ์อีก 

จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย สานต่องานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ออก พรบ.สัญชาติ 2555 สำหรับคนไทยพลัดถิ่นไว้ และขอฝาก บิ๊กโจ๊ก ให้ช่วยไปบอกต่อรัฐบาลให้ด้วยว่า เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับมาแล้ว ชาวบ้านก็มีความหวัง และขอวิงวอนให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย สานต่อ ความหวังของชาวบ้านพลัดถิ่น ให้ได้มีสถานะคนไทย อย่างที่เคยสัญญาไว้ด้วย

ด้านพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่ารู้สึกเห็นใจชาวบ้านเป็นอย่างมาก หลังจากที่ได้มาเห็นสภาพพื้นที่และความเป็นอยู่ของคนไทยพลัดถิ่น แต่อำนาจในการดูแลเรื่องนี้เป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นจึงทำได้เพียงเป็นตัวกลาง บอกต่อความรู้สึก และความต้องการของชาวบ้าน ไปยังรัฐบาล พร้อมกับแนะนำชาวบ้านว่า ขอให้จัดทำเอกสาร ปัญหาและความเดือดร้อนของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น เสนอไปยังนายกรัฐมนตรีพร้อมกับข้อเรียกร้องของโครงการแลนด์บริดจ์ ที่จะยื่นเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้

ทั้งนี้ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยังบอกเลยว่า จากที่เคยทำการสำรวจเรื่องความปลอดภัยของชาวบ้านโดยเฉพาะตามชายขอบ พบว่าทั้งประเทศยังมีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นอีกมาก ที่ไม่ ได้รับสถานะเป็นคนไทย ทั้งที่เกิดและโตในประเทศไทย จึงทำให้คนเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิ์การคุ้มครองตามสิทธิพลเมือง และยังติดตาม ตามรอย ได้ยาก เมื่อเกิดปัญหาหรือคดีอาชญากรรม ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกปัญหา ที่เชื่อมั่นว่าหากมีการดำเนินการสานต่อ ก็จะทำให้คนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทหารพม่าบุกเผาชุมชนสิงขร อ้างกะเหรี่ยงหลบซ่อน ชาวบ้านร่ำไห้ลี้ภัยหลบเข้ามาพึ่งญาติฝั่งไทย

(18 ก.พ. 68) ทหารเมียนมาบุกเผาทำลายบ้านเรือนหลายหลังในหมู่บ้านสิงขร เขตตะนาวศรี ประเทศเมียนมา ส่งผลให้ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยพลัดถิ่นต้องอพยพหนีตาย บางส่วนลี้ภัยเข้ามาฝั่งไทยอย่างหวาดกลัว ขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

เหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากทหารเมียนมาเชื่อว่าหมู่บ้านสิงขรเป็นที่หลบซ่อนของกองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังประชาชน PDF ก่อนหน้านี้เพียงสามวัน ทหารเมียนมาได้บุกโจมตีและเผาทำลายบ้านเรือนไปแล้ว 4-5 หลัง พร้อมใช้โดรนและเครื่องบินโจมตี ส่งผลให้วัดสิงขรวราราม ซึ่งเป็นวัดไทยโบราณในพื้นที่ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า “ทหารเมียนมาบุกเข้ามาตั้งแต่ช่วงเช้า เผาบ้านหลายหลังจนชาวบ้านต้องวิ่งหนีเอาชีวิตรอด โชคดีที่พระและชาวบ้านบางส่วนหลบหนีออกมาได้ก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้ทุกคนต่างไร้ที่อยู่อาศัย”

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ชาวไทยพลัดถิ่นกว่า 100 ครอบครัวจำเป็นต้องละทิ้งบ้านเรือนของตน หลายคนพยายามลี้ภัยเข้ามายังฝั่งไทยผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่กลับต้องใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อน เนื่องจากไม่มีเอกสารที่สามารถยืนยันสถานะทางกฎหมายในประเทศไทยได้ หากถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบก็อาจถูกจับกุมและส่งกลับไปยังเมียนมา ซึ่งสถานการณ์ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

“พวกเขาไม่มีบ้าน ไม่มีอาหาร และเด็กๆ ก็นอนไม่ได้เรียนหนังสือ ทุกคนกอดคอกันร้องไห้เมื่อเห็นภาพบ้านของตัวเองกลายเป็นเถ้าถ่าน” แหล่งข่าวกล่าวเสริม

หมู่บ้านสิงขรเคยเป็นส่วนหนึ่งของสยามมาก่อน แต่ต้องสูญเสียให้แก่อังกฤษในยุคล่าอาณานิคม ปัจจุบันแม้ดินแดนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมา แต่คนไทยในหมู่บ้านยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณี และภาษาไทยไว้อย่างเหนียวแน่น วัดสิงขรวรารามเป็นศูนย์กลางของชุมชนและเป็นหลักฐานของรากเหง้าไทยในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกลุ่มต่อต้านทำให้ชาวบ้านต้องตกอยู่ในความเสี่ยง แม้พวกเขาจะพยายามใช้ชีวิตอย่างสงบ แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการถูกลูกหลงจากสงครามได้

ขณะที่สถานการณ์ยังคงเลวร้าย ไม่มีรายงานว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือชาวไทยพลัดถิ่นในพื้นที่ดังกล่าว มีเพียงกองกำลังทหารของไทยที่รับทราบสถานการณ์เท่านั้น

“คนไทยที่นี่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนต่างแดน พวกเขายังมีญาติพี่น้องในไทย มีสายเลือดและวัฒนธรรมร่วมกัน ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลไทยจะเข้ามาช่วยเหลือและให้ความคุ้มครองคนไทยที่ถูกลืมเหล่านี้” แหล่งข่าวตั้งคำถาม

สถานการณ์ในหมู่บ้านสิงขรสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของชาวไทยพลัดถิ่นที่ยังคงยึดมั่นในอัตลักษณ์ของตนเอง แต่กลับต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ไร้ที่พึ่ง การช่วยเหลือจากภาครัฐจะเป็นความหวังเดียวที่พวกเขามี เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้อีกครั้ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top