Tuesday, 22 April 2025
คนตกงาน

'แบงก์ชาติ' ฟันธงเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุด แต่คนว่างงานยังวิกฤต พุ่ง 3.4 ล้านคน

15 ต.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 6/2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2564 ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการส่งออกที่ชะลอลงกว่าคาด แต่พัฒนาการด้านวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีนี้

โดยประเมินว่า ปี 2564 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ 0.7% และในปี 2565 ที่ระดับ 3.9% จากการทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ขณะที่การส่งออกจะยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหา global supply disruption 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเผชิญความไม่แน่นอนสูง โดยต้องติดตาม 1.) แนวโน้มการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัส รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยว 2.) การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นภาคเอกชนหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุน 3.) ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะต่อไป และ 4.) ปัญหา supply disruption และต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางเรือ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกสินค้า

“กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 3/2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่เลื่อนมาจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากพัฒนาการด้านวัคซีนที่ปรับดีขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการด้านวัคซีนทั้งการนำเข้าและการกระจายตามแผนของรัฐบาล รวมถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาดหากการระบาดกลับมารุนแรงขึ้น” 

'โรงงานปิดตัว-คนตกงานเพิ่ม-ราคาอาหารพุ่ง' ต่างชาติกังวล แล้วคนไทยรู้สึกบ้างหรือยัง?

จากข่าว ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ศรีนครินทร์ ของกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล ซึ่งตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ ได้เตรียมปิดให้บริการถาวร โดยเปิดให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 20 ส.ค. 2567 หลังเปิดให้บริการพร้อมกับศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ มานานถึง 30 ปี ยักษ์ใหญ่ห้างสรรพสินค้า ปิดสาขา ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ บริหารต้นทุนดำเนินการ ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา

แต่...ข่าวการปิดโรงงาน เดือนละ 113 โรงงาน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ย่อมไม่ใช่การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์

ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 88.5 ปรับตัวลดลงจาก 90.3 ในเดือนเมษายน 2567 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ 

ทั้งนี้ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนรวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าชะลอลง

ขณะที่ 5 เดือนแรกปีนี้ พบว่าปิดโรงงานไปแล้ว 561 โรงงาน หรือเฉลี่ย 113 โรงงานต่อเดือน แย่ลงกว่าปีที่ผ่านมา ตกงานแล้ว 15,342 คน

ซึ่งยอดคนตกงาน น่าจะเพิ่มขึ้นสูงมากกว่านี้ ข่าวจากย่านนิคมอุตสาหกรรม โรงงานที่ยังพอประคองตัวดำเนินธุรกิจได้ เริ่มทยอยปลดคนงาน เพื่อลดค่าใช้จ่าย หลายโรงงานแล้ว 

คนตกงาน ค่าครองชีพก็ยังสูง ร้านค้าเตรียมปรับขึ้นราคาอาหาร หลังราคาก๊าซหุงต้ม ขยับขึ้น 15-20 บาท ต่อถัง ทั้งที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ประกาศตรึงราคาก๊าซ สิ้นสุด มิถุนายน 2567 หรือ สิ้นเดือนนี้ ยังไม่สิ้นสุดมาตรการตรึงราคา ก็เริ่ม ‘เอาไม่อยู่’

ข่าวอภิปราย พรบ.งบประมาณ ปี 2568 ในสภา ยังไม่มีอะไรที่น่าสนใจมากนัก ยังไงงบประมาณปี 2568 ก็ต้องคลอด เพราะนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังรออยู่ 

แต่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติให้สัมภาษณ์สื่อนอก 'บลูมเบิร์ก เทเลวิชัน' (Bloomberg Television) ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของรัฐบาลที่จะให้ปรับกรอบเงินเฟ้อและลดดอกเบี้ย ชี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจ รวมทั้ง ยังคงให้ข้อคิดเห็นท้วงติง เงินดิจิทัลวอลเล็ต ควรแจกเฉพาะกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

ปิดท้ายด้วยข่าวตลาดหุ้นไทย สัปดาห์นี้ ปรับตัวมาแตะที่ 1,306.41 จุด มูลค่าซื้อขาย 56,556.18 ล้านบาท เด้งขึ้นมา +8.12 หลังช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ต่ำกว่า 1,300 จุด ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นไทย ที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี 

หุ้นไทย 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา มาร์เก็ตแคปลด 4.5 ล้านล้านบาท ต่างชาติเทขาย 2.97 แสนล้านบาท ตลาดหุ้นไทยถูกต่างชาติขายต่อเนื่องเกือบ 3 แสนล้านบาท กดดัน MARKET CAP ตลาดหุ้นไทยลดลงจาก 20.57 ล้านล้านบาท เหลือ 16.06 ล้านล้านบาท ลดลงไปกว่า 4.5 ล้านล้านบาท ในช่วงเวลาสั้น ๆ และ SET INDEX ยังปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า -22.1%

ต่างชาติกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย การเมืองในไทย แล้วประชาชนคนไทย เริ่มกังวลกันบ้าง หรือยัง...

'สิงคโปร์' แหกกฎ!! เตรียมแจกเงินคนตกงาน 1.5 แสนบาท แต่ต้องรับเงื่อนไข 'อบรมเพิ่มทักษะ' เพื่อกลับสู่ตลาดงานต่อไป

คนตกงานในสิงคโปร์เตรียมเฮ เมื่อ 'ลอเรนซ์ หว่อง' นายกรัฐมนตรีประกาศอัดฉีดงบประมาณก้อนใหม่ ลงในโครงการ SkillsFuture Jobseeker Support เตรียมแจกเงินช่วยเหลือแรงงานที่ว่างงานในประเทศ หลังจากที่เคยคัดค้านว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่ส่งเสริมให้คนหวังพึ่งแต่สวัสดิการรัฐจนขาดแรงจูงใจในการหางานทำ

SkillsFuture Jobseeker เป็นโครงการภาครัฐที่สนับสนุนผู้หางาน ด้วยการจัดฝึกอบรม เพิ่มทักษะแรงงาน พร้อมบริการให้คำปรึกษาด้านอาชีพ และจัดหางานให้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือ ช่วยให้แรงงานยกระดับทักษะด้านอาชีพของตัวเอง เพื่อหางานให้ได้เร็วที่สุด

แต่เมื่อวันอาทิตย์ (18 ส.ค.67) ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ลอเรนซ์ หว่อง ได้ประกาศระหว่างการปราศรัยเนื่องในวันชาติ รัฐบาลสิงคโปร์จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่กำลังว่างงานในสิงคโปร์ด้วย

โดยโครงการ SkillsFuture ใหม่นี้ รัฐจะให้เงินช่วยเหลือแก่คนงานรายได้น้อย - ปานกลาง ที่ตกงานเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในค่าครองชีพ ซึ่งเป็นเงินสูงถึง 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 1.57 แสนบาท) เป็นระยะเวลาสูงสุดที่ 6 เดือน 

ตัวเลขเงินจำนวนนี้ นักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมวิทยามองว่า 'เหมาะสม' สำหรับแรงงานที่มีเหตุต้องว่างงานโดยไม่สมัครใจ และไม่เกินพอดี จนอาจเกิดปัญหาการหวังพึ่งพาสวัสดิการรัฐในระยะยาว หากอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม

ส่วนเงื่อนไข ก็คือ ผู้ว่างงานต้องลงทะเบียนเข้าโครงการพัฒนาแรงงาน SkillsFuture Jobseeker ตามมาตรฐานของกรมส่งเสริมแรงงานของสิงคโปร์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ย้ำว่า การเข้าฝึกอบรมในโครงการนี้ถือเป็นการลงทุนที่จำเป็นสำหรับแรงงาน เพื่อโอกาสในการได้งานที่ดีกว่าในอนาคต ซึ่งบุคคลที่ผ่านเกณฑ์ประเมินรายเดือน จึงจะมีสิทธิ์รับเงินชดเชยรายได้ 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในระยะเวลา 6 เดือน 

สำหรับการรับเงินช่วยเหลือของแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนภายใต้เงื่อนไขที่รัดกุมนั้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านแรงงานครั้งสำคัญของประเทศสิงคโปร์ ที่ไม่เคยมีสวัสดิการสำหรับคนว่างงานมาก่อน เพราะเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะส่งเสริมให้ประชาชนขาดความกระตือรือร้น แล้วเลือกที่จะรับสวัสดิการมากกว่าการทำงาน

ทั้งนี้การปฏิเสธแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการสำหรับแรงงาน มีมาตั้งแต่สมัยที่สิงคโปร์แยกตัวจากมาเลเซียในปี 1965 และจัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเองภายใต้การนำของ ลี กวนยู ซึ่งประกาศอย่างชัดเจนว่า เขาละทิ้งแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ เพราะรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายตามแนวคิดดังกล่าวจะบั่นทอนความสามารถในการพึ่งพาตัวเองของประชาชน และความมุ่งมั่นในการสร้างตัวเพื่อความสำเร็จในชีวิต 

ดังนั้น ผู้นำที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากนายลี กวนยู ตั้งแต่ โก๊ะ จ๊กตง และ ลี เซียนลุง ก็ไม่เคยผลักดันนโยบายด้านสวัสดิการช่วยเหลือผู้ว่างงานเช่นกัน

ทว่า ลอเรนซ์ หว่อง กลับมีความเห็นว่า อาจถึงเวลาแล้วที่สิงคโปร์ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อช่วยเหลือแรงงาน ในยุคสมัยที่มีความท้าทายทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงยืนยันว่า การรับสวัสดิการรัฐอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ส่งผลดีเชิงบวกต่อแรงจูงใจในการแสวงหางานของแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์ระวังมาโดยตลอด 

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ จึงมองหาทางเลือกอื่น โดยใช้แบบแผน 'Workfare' แทนที่จะใช้คำว่า 'Welfare' ซึ่งหมายถึงสวัสดิการที่รัฐต้องเป็นผู้รับประกันการว่างงาน ที่นำไปสู่ความคาดหวังในการพึ่งพาแต่สวัสดิการรัฐ ซึ่งหมายถึงการใช้ภาษีจากการทำงานของประชาชนคนอื่น

Workfare เป็นแนวทางที่รัฐบาลสิงคโปร์นำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 2005 โดยแรกเริ่มเดิมที เป็นโครงการที่สนับสนุนกองทุนแก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐจะเติมเงินให้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้มีรายได้น้อยจะต้องมีงานทำ

แต่สำหรับโครงการล่าสุดนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จะพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ว่างงาน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ว่างงานต้องเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ ต้องผ่านคะแนนประเมิน และ ต้องเข้าโปรแกรมจัดหางาน เพื่อกลับสู่ตลาดแรงงานต่อไป 

ลอเรนซ์ หว่อง กล่าวว่า โครงการนี้มีไว้เพื่อสนับสนุนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพที่จำเป็นระหว่างเข้าโครงการ แต่คนงานก็ต้องมีส่วนร่วม ด้วยการแสดงรับผิดชอบต่ออนาคตของตนเอง  และพยายามดึงตัวเองขึ้นมาให้ได้

ก็ถือเป็นโครงการแจกเงินอย่างมีวิสัยทัศน์ ตามสไตล์สิงคโปร์จริง ๆ ที่ยึดว่า 'เกิดเป็นคน ต้องทำงาน' และสวัสดิการรัฐมีไว้สำหรับผู้ที่เสียภาษีเท่านั้น

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top