Tuesday, 22 April 2025
ก่อสร้าง

‘ชัชชาติ’ เชื่อ คานก่อสร้างทางยกระดับถล่ม ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จี้!! ผอ.เขตลาดกระบังเร่งสอบสวนสาเหตุ เพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 66 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวระหว่างลงพื้นที่เกิดเหตุคานโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม ว่า ช่วงระหว่างก่อสร้างคือจุดอ่อนที่อันตรายที่สุด เนื่องจากคอนกรีตยังไม่แข็งตัว องค์ประกอบแต่ละส่วนของโครงสร้างยังไม่เชื่อมเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะต้องร้อยชิ้นส่วนซึ่งเป็นคอนกรีตมาประกอบกัน เชื่อว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ตามหลักการ เหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้น อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง เพราะฐานรากมีการลงเสาเข็มลึกถึงชั้นทราย

สำหรับ Launcher คือคาน 1 คาน เคลื่อนไหวได้ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนคอนกรีต 20 ชิ้น ต้องใช้ลวดสลิงดึงส่วนประกอบแต่ละชิ้นมาต่อกัน เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เกิดจากความไม่เสถียรระหว่างก่อสร้าง ส่วนจุดที่เสาขาด คาดว่ารับน้ำหนักมากเกินไป

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะมีการก่อสร้างลักษณะนี้มากมายในกรุงเทพมหานครโดยไม่ต้องปิดพื้นที่ และไม่เคยเกิดปัญหาลักษณะนี้ ต่อไปต้องคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ เบื้องต้นอาจต้องปิดพื้นที่บริเวณเกิดเหตุ 3-4 วัน และคาดว่าจะรู้สาเหตุภายในคืนนี้ สำหรับผู้บาดเจ็บ ณ เวลานี้ ได้รับแจ้ง 8 คน เสียชีวิต 1 คน ยังไม่มีรายงานผู้สูญหาย ปัจจุบัน ได้แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดกระบัง เป็นผู้บัญชาการเหตุ

‘ถนนพระราม 2’ ตำนาน 50 ปี ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ แต่ 'แลนด์ลอร์ด' เพียบ รอวันเส้นทางลงสู่ใต้ เปลี่ยนแปลง!!

เมื่อวันที่ 9 ก.ย.66 จากผู้ใช้เฟซบุ๊กเพจ Property Expert Live ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

ถนนพระราม 2 กับตำนาน 50 ปี ที่ก่อสร้างไม่เสร็จ แต่แลนด์ลอร์ดเพียบ เส้นทางลงสู่ภาคใต้กำลังรอการเปลี่ยนแปลง!!

- ถนนพระราม 2 ก่อสร้างกว่า 50 ปียังไม่เสร็จ
- ถนนพระราม 2 เป็นเส้นทางหลักการใช้สัญจรของประชาชนฝั่งธนบุรีมายังพระนคร และเป็นเส้นทางลงสู่ภาคใต้ แต่ละวันมีปริมาณรถมาก กว่า 150,000 คันต่อวัน
- ทำให้ต้องมีการขยายถนนและก่อสร้างไม่สิ้นสุด ไม่ต่ำกว่า 50 ปี จนถูกขนานนามว่า ‘ถนนเจ็ดชั่วโคตร’
- การก่อสร้างถนนพระรามเริ่มก่อสร้างครั้งที่แรก เมื่อปี 2513-2516 มีการก่อสร้างถนน 2 เลน สวนทางกัน
- ซึ่งแล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2516 ซึ่งสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางมากกว่า ถนนเพชรเกษม เส้นทางหลักสู่ภาคใต้เดิม ได้มากถึง 40 กม.
- นำพาความเจริญจากกรุงเทพฯ มาสู่พื้นที่ ‘สองสมุทร’ ได้แก่ สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม แบบก้าวกระโดด

- ปี พ.ศ. 2531 ‘วันชาติ ลิ้มเจริญ’ นักพัฒนาที่ดินยุคบุกเบิก นำที่ดิน 500 ไร่ บริเวณสี่แยกเอกชัย พัฒนาเป็น ‘โครงการมหาชัยเมืองใหม่’
- ปี พ.ศ. 2532 นักลงทุนก่อตั้ง ‘โรงพยาบาลมหาชัย’ อาคารสูง 6 ชั้น บนที่ดิน 2.5 ไร่ บริเวณสี่แยกมหาชัย
- ปี พ.ศ. 2533 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก่อตั้ง ‘นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร’ บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน กลายเป็นทำเลทองเพราะใกล้ท่าเรือคลองเตย ปัจจุบันมีโรงงานเข้ามาตั้ง 116 แห่ง
- ความเจริญที่เข้ามาแบบก้าวกระโดด สวนทางกับสภาพถนนที่มีเพียงแค่สองเลน คับแคบและชำรุด ในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2532 จึงได้เริ่มขยายถนนออกเป็น 4 ช่องจราจร ตลอดสาย 84 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 3,504.70 ล้านบาท
- ครั้งที่ 2 ปี 2532-2537 มีการขยายถนนจาก 2 เลนเป็น 4 เลน พร้อมก่อสร้างทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง ได้แก่ บางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และวังมะนาว
- ปี พ.ศ. 2539 กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ก่อตั้งเมืองใหม่ ‘สารินซิตี้’ ขนาด 5,935 ไร่ ทุ่มโฆษณาทั้งโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์มหาศาล

- ส่วนหนึ่งแบ่งพื้นที่ให้กลุ่มเจริญอักษร ก่อตั้ง ‘นิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร’ บนพื้นที่ 991 ไร่ ถือเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทย
- ครั้งที่ 3 ปี 2539-2543 ถือเป็นงานก่อสร้างครั้งใหญ่ ขยายถนนช่วงสามแยกบางปะแก้วถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน เป็น 14 เลน แบ่งออกเป็นทางหลัก 8 เลน และทางขนานข้างละ 3 เลน
- ครั้งที่ 4 ปี 2544-2546 ขยายช่องจราจรจาก 4 เลน เป็น 8 และ 10 เลนตามลำดับ ระหว่างทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน - นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ความยาวรวมประมาณ 22 กม.
- พ.ศ. 2545 กลุ่มเซ็นทรัลก่อตั้ง ‘ห้างเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2’ พื้นที่ 210,000 ตารางเมตร โดยเช่าที่ดินระยะยาว 96 ไร่ จากกลุ่มโรงพยาบาลบางปะกอก
- ครั้งที่ 5 ก่อสร้างระหว่างปี 2549-2552 เพื่อเป็นการรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และเทศกาล จึงมีการก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายจนถึงทางแยกต่างระดับวังมะนาว จากเดิม 4 เลน เป็น 6 - 8 เลน
- โรงเรียนอัสสัมชัญ ก่อตั้ง ‘อัสสัมชัญ แคมปัส พระราม 2’ บนพื้นที่ 230 ไร่ ริมคลองโคกขาม ใช้งบลงทุนกว่า 2,500 ล้านบาท เปิดการเรียนการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2555

- ครั้งที่ 6 ปี 2561-2563 โครงการการขยายถนนพระรามที่ 2 ระหว่างแยกต่างระดับบางขุนเทียน - แยกเอกชัย จาก 10 เลน เป็น 14 เลน
- ความเจริญของถนนพระราม 2 ที่มียานพาหนะสัญจรเฉลี่ยแต่ละวันมีปริมาณรถมากกว่า 150,000 คันต่อวัน
- นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างอื่น ๆ ที่คาบเกี่ยวกับถนนเส้นนี้อีกหลาย เช่น ทางยกระดับบางขุนเทียน - มหาชัย เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 - ปี 2565
- นอกจากนั้น ทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกตะวันตก ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2563 ไปจนถึงปี 2566
- และในอนาคตจะมีการก่อสร้าง มอเตอร์เวย์ หมายเลข 8 (นครปฐม - ปากท่อ / ปากท่อ - ชะอำ) ซึ่งยังไม่นับรวมงานซ่อมแซมพื้นผิว ก่อสร้างสะพานกลับรถ

'เพจดัง' ชี้!! วิกฤติผิดนัดชำระหุ้นกู้ภาคก่อสร้าง-อสังหาฯ เริ่มส่อเค้า ปล่อยให้แบงก์มีกำไรสะสมไว้ดีแล้ว ช่วยรับแรงกระแทกก่อนชั้นนึง

(11 ม.ค.67) เพจ 'สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

วิกฤติผิดนัดชำระหุ้นกู้ภาคก่อสร้าง-อสังหาที่เริ่มส่อเค้า ต้องไม่ให้กระทบไปถึงแบงก์

ให้แบงก์มีกำไรไว้ดีแล้ว อย่างน้อยได้มีกำไรสะสมไว้รับแรงกระแทกก่อนชั้นนึง

ถ้าสถาบันการเงินยืนอยู่ได้ วงจะจำกัดอยู่ที่ผู้ถือหุ้นกู้ของแต่ละบริษัท 

ให้ถือซะว่าการลงทุนมีความเสี่ยง

สถาบันการเงินไทยรอบนี้ระวังตัว ไม่ปล่อยกู้ความเสี่ยงสูงก็ดีแล้ว 

ปี 40 ที่เละเพราะสถาบันการเงิน ปล่อยกู้เพลิน พอวิกฤติมาเลยไปกันหมด 

สถานะการเงินภาครัฐไทยรอบนี้ไม่ได้มีปัญหา หนี้ไม่ได้สูง อยู่แค่ 60% กว่า ๆ 

เงินสำรองระหว่างประเทศมีเยอะอันดับต้น ๆ ของโลก ไม่มีปัญหาถูกโจมตีค่าเงินจนสำรองหมดเหมือนปี 40

หัวใจคือ อย่าให้ปัญหาผิดนัดชำระหุ้นกู้ของภาคอสังหาฯ ลามไปถึงสถาบันการเงิน 

สถานะการเงินภาครัฐและสำรองเงินตราระหว่างประเทศไม่ได้มีปัญหาอะไร

'บอร์ด กทท.' จี้งานก่อสร้างและพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 พร้อมเร่งปรับยุทธศาสตร์และ Master ของการท่าเรือ/ท่าเรือแหลมฉบังใหม่ ให้เป็นไปตามเป้าสอดรับนโยบายของรัฐบาล มุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) โดยเร็ว

นายชยธรรม์ พรหมศร ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้นำคณะกรรมการและที่ปรึกษาบอร์ด พร้อมด้วยนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการและผู้บริหาร กทท. ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) และลงพื้นที่ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรับทราบปัญหาและติดตามความคืบหน้า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 งานก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการถมทะเล เพื่อเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาในการดำเนินงาน ให้ โครงการสามารถแล้วเสร็จตรงเวลา เป็นไปตามกรอบระยะเวลาของสัญญาที่ได้ทำไว้ พร้อมทั้งได้เดินทางไปตรวจการดำเนินงาน รับทราบปัญหาเพื่อแก้ไขให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการให้บริการขนส่งตู้สินค้าเชื่อมต่อทางเรือเข้ากับทางรถไฟของ Single Rail Transfer Operator : SRTO ซึ่งหากการดำเนินการมีประสิทธิภาพ ในการให้บริการจะช่วยให้การขนส่งสินค้าผ่านช่องทางนี้มากขึ้น เป็นการลด ปริมาณการขนส่งทางถนนลง ซึ่งจะเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการ บรรลุวัตถุประสงค์ในการ ลดต้นทุนการขนส่ง logistics ในระบบการขนส่งสินค้าของประเทศโดยรวม ด้วยการบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพ การขนส่งทางน้ำกับทางรางที่มีต้นทุนถูกกว่า ให้ไร้รอยต่อแบบ Seamless Multimodal Transport ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเร็ว

นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้เข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของ บริษัท ฮัทชิสัน เทอร์มินัล จำกัด ณ ท่าเทียบเรือชุด D รวมถึงรับทราบการนำระบบรถบรรทุกไร้คนขับ autonomous truck ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาปรับใช้ในการปฏิบัติการ เพื่อยกระดับศักยภาพความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย Green Transport ตลอดถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การอำนวยความสะดวก ให้แก่ผู้รับบริการของท่าเรือดังกล่าวในปัจจุบันและมีแผนที่จะขยายการให้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต

สำหรับการลงพื้นที่ติดตาม งานก่อสร้างในส่วนของงานถมทะเล ในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 ผู้แทน กลุ่มผู้รับเหมางาน ในกลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC ได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงาน ที่ปัจจุบันได้มีการเร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยได้เพิ่มแรงงาน เครื่องจักร และเรือขุด Grab Dredger เข้ามาใช้ในการปฏิบัติงานทำให้ ปัจจุบัน มีขีดความ สามารถในการขุดดินได้วันละ 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และคาดว่าจะสามารถส่งมอบงานก่อสร้างถมทะเลที่แล้วเสร็จในพื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้แก่ กทท. ได้ทันภายในเดือน กรกฎาคมนี้

นายชยธรรม์ฯ กล่าวว่า  แม้ว่าตัวแทนผู้รับเหมาจะรายงานว่า ได้ดำเนินการเร่งรัดงานขุดและถมทะเลด้วยการเพิ่ม เครื่องจักรและแรงงานแล้ว แต่จาก รายงานของผู้ควบคุมงานพบว่า ปัจจุบันผลงานก่อสร้างของผู้รับจ้างในแต่ละสัปดาห์ ยังมีความล่าช้าจากแผนฯ อยู่ จึงได้กำชับให้ผู้บริหาร กทท. ใส่ใจติดตามคุณภาพการก่อสร้าง ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ระบุในสัญญาจ้าง ควบคู่ไปกับการเร่งรัดแก้ปัญหาในรายละเอียดกับกลุ่มผู้รับเหมากิจการร่วมค้าฯ เพื่อให้งานแล้วเสร็จเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งเป้าหมายสำคัญต่อไปคือ งานก่อสร้างถมทะเลต้องแล้วเสร็จพร้อมส่งมอบพื้นที่ F และพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 ทั้งหมดให้กทท. ได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่ระบุในสัญญา เพื่อให้ กทท.สามารถส่งมอบพื้นที่ถมทะเลที่แล้วเสร็จดังกล่าว ให้กับผู้รับสัมปทานได้ตามสัญญาสัมปทานที่ กทท. ได้เซ็นไว้กับผู้รับสัมปทาน เพื่อทำการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ได้ แล้วเสร็จตามแผนฯ ต่อไป

นอกจากนี้ นายชยธรรม์ ยังได้กล่าวว่า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งหลากหลายรูปแบบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำ ที่มีความสำคัญและถือเป็น gateway ในการขนส่ง นำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ เป็นส่วนช่วยสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นรากฐานในการสร้างให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการขนส่ง Logistics Hub ของภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล อีกด้วย

“ที่สำคัญในการลงพื้นที่และประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ครั้งนี้ได้พบว่า แผนยุทธศาสตร์แผนแม่บทการพัฒนาและแผนปฏิบัติการของการท่าเรือฯ รวมถึงแผนแม่บทการพัฒนาของท่าเรือแหลมฉบัง จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย โดยกำหนดโจทก์ให้กับผู้บริหารการท่าเรือฯ ไปเร่งรัดดำเนินการร่วมกับพันธมิตรท่าเรือชั้นนำ ในต่างประเทศของ กทท. เพื่อให้สามารถกำหนดเป็นแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการที่ทันสมัย สอดรับกับเป้าหมาย นโยบาย และยุทธศาสตร์ของรัฐบาล นำเสนอบอร์ดคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นชอบนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) ได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว” นายชยธรรม์ กล่าว

กทม. รีโนเวท ‘ลุมพินีสถาน’ อาคารยุค 2499 เดินหน้าพัฒนาสู่ ‘โรงละครสาธารณะ’ ใจกลางเมือง

(18 ต.ค. 67) เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘หวังสร้างเมือง’ ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปรับปรุงลุมพินีสถานว่า 

ลุมพินีสถานใกล้ความจริงอีกขั้นแล้วครับ
กำหนดงานปรับปรุง 270 วัน วันนี้เดินทางมา 51 วันแล้วครับ มาตรวจดูวันนี้ โครงสร้างภายในสวยมาก เราเก็บไว้เกือบทุกอย่าง โดยเฉพาะเวทีไฮโดรลิคตรงกลาง และโครงสร้างหลังคาไม้ พื้นไม้เดิม 
สัญญาเสร็จกลางปี 68 ไว้มาอัปเดตกันอีกครั้ง กรุงเทพฯเรากำลังจะมีโรงละครสาธารณะดีๆใจกลางเมืองแล้วครับ : )

โดยนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “กรุงเทพฯกำลังจะมีโรงละครสาธารณะแล้วครับ”

ทั้งนี้ลุมพินีสถานได้ดำเนินการก่อสร้างช่วงประมาณ พ.ศ.2495 และสร้างแล้วเสร็จก่อนปี พ.ศ.2499 โดย เป็นสถานที่จัดแสดงวัฒนธรรมความบันเทิงแบบสมัยใหม่ เช่น การเต้นลีลาศ ดนตรีแจ๊ส ได้รับอิทธิพลจากอเมริกัน เป็นคุณค่าที่รัฐบาลปรารถนาได้มาครอบครอง แม้ไม่ใช่มาจากรากของเราเอง โดยมีไฮไลต์คือเวทีที่สามารถหมุนได้รอบตัว

‘สน.สามเสน’ แนะเริ่มวางแผนการเดินทาง รับก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก พ.ย. นี้

(25 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สถานีตำรวจนครบาลสามเสน’ ได้โพสต์ประชาสัมพันธ์ให้วางแผนในการเดินทางจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ตะวันตก) จากสถานีศูนย์วัฒนธรรมไปยังสถานีบางขุนนนท์ ความว่า 

ประชาสัมพันธ์ผู้ปกครองที่ใช้ถนนมาจากบางขุนนนท์ ถึง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื่องด้วยมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้ม จำนวน 11 สถานี 
ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.67 ถึงปี พ.ศ.2572 (รวม 5 ปี) 

(ผ่านถนนราชินี,อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย,ถ.ราชดำเนินกลาง,ถ.หลานหลวง,ถ.เพชรบุรี,ถ.ราชปรารภ,ถ.วิภาวดีรังสิต)

ขอประชาสัมพันธ์ในการวางแผนในการเดินทางด้วยครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top