Thursday, 24 April 2025
กินเจ

‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ เผย ปีนี้คนกรุงกินเจเพิ่ม 3.5% รับเทรนด์สุขภาพ หนุนเงินสะพัด 3 พันล้าน สวนกระแสต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง เหตุน้ำมันแพง

(11 ต.ค. 66) ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ มองว่า เทศกาลกินเจปี 66 จะเริ่มขึ้นวันที่ 15-23 ต.ค. 66 รวมเป็นเวลา 9 วัน ในปีนี้ราคาอาหารเจน่าจะยังคงปรับสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตอาหารเจหลายรายการมีแนวโน้มจะขยับขึ้นจากช่วงเทศกาลกินเจปีก่อน ได้แก่ ผักบางชนิด (อาทิ คะน้า ฟักทอง เต้าหู้) และข้าว จากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่ ซึ่งกระทบกับปริมาณผลผลิต นอกจากนี้ กลุ่มโปรตีนเกษตรก็น่าจะปรับขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มในช่วงกินเจ

ขณะที่ราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ล่าสุดเดือน ก.ย. 66 ภาพรวมเงินเฟ้อหมวดอาหารที่บริโภคในบ้านที่เติบโต 1.5%YoY และหมวดอาหารที่บริโภคนอกบ้านที่เติบโต 1.1%YoY สะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางราคาอาหารเจทั้งที่บริโภคในบ้านและร้านอาหาร ก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจ ขณะที่จำนวนคนกินเจในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพและการกลับมาใช้ชีวิตปกติ

อย่างไรก็ดี ด้วยทิศทางราคาอาหารเจที่มีอาจปรับสูงขึ้น ประกอบกับความกังวลต่อค่าครองชีพที่สูง และกำลังซื้อที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพบางส่วน อาทิ มหกรรมลดราคา แต่ผู้บริโภคยังกังวลกับภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงรายได้ในอนาคต

ทั้งนี้ สะท้อนจากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่า คนกรุงเทพฯ ที่วางแผนจะกินเจ พยายามปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อควบคุมงบประมาณการใช้จ่ายตลอดเทศกาล โดยการลดวันกินเจลง รวมถึงเลือกใช้บริการช่องทางการจำหน่ายที่ราคาไม่สูง อาทิ ร้านอาหารตักขายข้างทางและนั่งทานในร้าน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลกินเจปี 66 น่าจะอยู่ที่ 3,100 ล้านบาท หรือขยายตัว 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลมาจากระดับราคาอาหารเจที่อาจปรับขึ้นราว 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ปริมาณการบริโภคอาหารเจโดยรวมน่าจะเติบโตเล็กน้อยหรือราว 1.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปข้างหน้า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงไม่สนใจบริโภคอาหารเจ ถือเป็นความท้าทายต่อทิศทางการเติบโตของธุรกิจอาหารเจ ดังนั้น โจทย์สำคัญคงอยู่ที่แนวทางในการกระตุ้นยอดขายและฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้นแม้อยู่นอกเทศกาลกินเจ โดยเฉพาะการชูจุดขายความคุ้มค่าด้านราคาเมื่อเทียบกับอาหารทั่วไป รวมถึงพัฒนาความพิเศษให้กับเมนูอาหาร เพื่อสร้างประสบการณ์การบริโภคที่ดี และนำไปสู่การกลับมาซื้อซ้ำ อาทิ ใช้วัตถุดิบพรีเมียมที่มีคุณค่าทางอาหารสูง (โปรตีนทางเลือก ซุปเปอร์ฟู้ด) พัฒนาเมนูแปลกใหม่ที่แตกต่างกว่าอาหารเจเดิมๆ ที่มีจำหน่ายในตลาด รวมถึงการจัดโปรโมชันหรือส่วนลดให้กับอาหารเจ ทั้งในและนอกเทศกาลกินเจ

‘รัฐบาล’ กำชับพาณิชย์คุมเข้ม ‘ราคาสินค้า-ปริมาณ’ ป้องกันปชช.ถูกเอาเปรียบ ในช่วงเทศกาลกินเจ

(14 ต.ค.66) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เทศกาลกินเจของทุกปีจะเป็นช่วงที่ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมายังมีผู้ประกอบการบางรายเอาเปรียบผู้บริโภค ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า โดยคาดว่าในปีเทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 15 - 23 ตุลาคม 2566 จะคึกคัก มีประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้า และทำบุญมากยิ่งขึ้น รัฐบาลห่วงใยปัญหาสุขภาพของประชาชน มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี เชิญชวนประชาชนลดการกินเค็มในทุกเมนูเจเพื่อสุขภาพที่ดี ตลอดช่วงเทศกาลกินเจ ประจำปี 2566 ขอให้รับประทานอาหารให้ได้สารอาหาร 5 หมู่ แนะนำให้ประชากรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,300 มก.ต่อวัน เพื่อช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ถึง 20% โดยตั้งเป้าหมายลดพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมของคนไทยลง 30% ภายในปี 2568

นายคารม กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลเรื่องราคาสินค้า พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าขายในราคาที่เป็นธรรม” โดยกรมการค้าภายใน ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สายตรวจ ออกตรวจสอบตลาด และแหล่งจำหน่ายวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารเจอย่างใกล้ชิด เพื่อกำกับดูแลพฤติกรรมทางการค้า สถานการณ์ด้านราคาและปริมาณ ตลอดจนการปิดป้ายแสดงราคาจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าและเอาเปรียบผู้บริโภค ในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ 

“สำหรับประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าและบริการ หรือพบเห็นพฤติกรรมที่เอาเปรียบผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ หากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคามีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท กรณีจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร กักตุนสินค้าและปฏิเสธการจำหน่ายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายคารม กล่าว

'แม่ค้า' โอด 'กินเจ 67' ผักแพง!! ผลจากน้ำท่วมหลายพื้นที่ ประชาชนเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันซื้อ 'ผักจัดชุด' แทน

(29 ก.ย.67) ผู้สื่อข่าวได้ออกไปสำรวจราคาผักสดในตลาดสดเทศบาลเมืองศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พบว่าหลังจากในพื้นที่หลายจังหวัดมีฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ส่งผลทำให้พืชผลทางการเกษตรประเภทผักสด ถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหาย โดยพบว่าเทศกาลถือศีลกินเจในปีนี้ ผักแต่ละชนิดปรับราคาแพงขึ้นประมาณ 10 - 20 บาท ต่อกิโลกรัม

ด้านนางกรรณิกา ศิริวงษ์ แม่ค้าขายผักสดในตลาดเทศบาลเมืองศรีราชา กล่าวว่าในช่วงก่อนเทศกาลถือศีลกินเจในวันที่ 3-11 ต.ค.นี้ ช่วงนี้ราคาผักเริ่มขยับราคาขึ้นเป็นบางอย่างแต่ที่แพงสุดก็คงจะเป็นผักขึ้นฉ่าย ซึ่งตอนนี้พุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 180 บาท และคาดว่าราคาผักต่าง ๆ อาจจะขยับขึ้นอีก 5-10 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อถึงช่วงเทศกาลกินเจจริง ๆ สำหรับราคาผักแต่ละอย่างในตอนนี้

อาทิ ผักขึ้นฉ่ายราคา กก.ละ 180 บาท หัวไชเท้าราคา กก.ละ 35-40 บาท ผักกาดขาวราคา กก.ละ 45-50 บาท ผักกวางตุ้งราคา กก.ละ 35-40 บาท คะน้าราคา กก.ละ 40-50 บาท กะหล่ำปลีราคา กก.ละ 45-50 บาท ถั่วฝักยาวราคา กก.ละ 60-70 บาท มะระราคา กก.ละ 50 บาทผักบุ้งจีน 40-50 บาท 

ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทำให้ผลิตผลการเกษตรเสียหาย และต้นทุนการขนส่งเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลกินเจอีกด้วย ซึ่งในส่วนของผู้มาจับจ่ายเข้าใจในสถานการณ์ดังกล่าว ยังมาจับจ่ายกันเช่นเดิมแต่อาจลดจำนวนลงบ้าง

ประชาชนผู้บริโภคบอกว่ายิ่งใกล้กินเจ ราคาผักก็จะขยับขึ้นอีกเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกประสบปัญหาน้ำท่วมจึงต้องปรับลดในการซื้อ โดยปกติจะซื้อครั้งละครึ่งกก.และ 1 กก. แต่ตอนนี้ปรับลดในการซื้อโดยจะเลือกซื้อเป็นตะกร้าที่แม่ค้าจัดไว้ให้แล้ว โดยราคาตะกร้าละ 50-60 บาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top