Friday, 5 July 2024
การเงินระหว่างประเทศ

'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! หลังสหรัฐฯ ถูกลดระดับความน่าเชื่อถือเรื่อง Governance สัญญาณไม่ดีต่อระบบการเงินระหว่างประเทศที่อิงค่า USD เป็นเสาหลัก

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นการเงินระหว่างประเทศและบทบาทนำของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ระบบการเงินระหว่างประเทศมีวิวัฒนาการมายาวนาน แต่เริ่มที่จะมีกฎเกณฑ์ชัดเจนเมื่ออังกฤษจัดตั้งมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) ขึ้นราวปี 1815 ภายใต้ Gold Standard อัตราแลกเปลี่ยนและปริมาณเงินของทุกประเทศอิงอยู่กับปริมาณทองคำของประเทศนั้นแบบคงที่ หากดุลการค้าดุลการชำระเงินเกินดุล/ขาดดุล จะต้องมีการเคลื่อนย้ายทองคำระหว่างประเทศเพื่อปรับตัวเข้าสู่สมดุล ทองคำจึงทำหน้าที่เป็น Reserve Currency 

ระบบ Bretton Woods ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กำหนดให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) ทำหน้าที่เป็น Reserve Currency แทนทองคำ แต่ก็ยังอิงทองคำเป็นฐานของค่าเงิน USD อยู่ จนกระทั่งประธานาธิบดี Nixon ประกาศยกเลิก Gold Convertibility ในปี 1971 นับแต่นั้นเป็นต้นมาระบบการเงินโลกได้เปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนเสรี (Flexible or Floating Exchange Rates) โดย USD ทำหน้าที่เป็นเงิน Reserve สกุลหลัก และอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของธนาคารกลาง ระบบดังกล่าวจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อโลกมีความเชื่อมั่นในเงิน USD

การลดระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Downgrade) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย Fitch ซึ่งเป็นหนึ่งใน Big Three ของ Credit Rating Agencies โดยอ้างเหตุผลว่าเกิดความสึกกร่อนใน Governance ของรัฐบาลสหรัฐฯ ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักต่อระบบการเงินระหว่างประเทศที่อิงค่าเงิน USD เป็นเสาหลัก และย่อมส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ และตลาดการเงินทั่วโลก และอาจเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นและการปรับเปลี่ยนระบบการเงินระหว่างประเทศ

พูดถึงเรื่อง Governance ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ Rating Downgrade นั้น ก็อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ หากยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้หรือจัดตั้งได้แต่ไม่มีความมั่นคง 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง ก็อาจเป็นเหตุของการถูก Rating Downgrade ด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ ในทางกลับกันหากเราได้รัฐบาลใหม่ที่มีความมั่นคง ประเทศไทยก็อาจใช้เป็นโอกาสในการเชิญ Credit Rating Agencies เข้ามาประเมินเครดิตของประเทศใหม่ เพราะอยู่ในวิสัยที่ไทยจะได้รับการพิจารณา Upgrade ได้ด้วยเช่นกัน เมื่อคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังเข้มแข็งอยู่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top