Monday, 17 June 2024
การส่งออก

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ชี้!! ความเสี่ยงมากมายในปี 2024 รอไทยอยู่  โตช้า หนี้เสียมาก ส่งออกอืด นักท่องเที่ยวต่ำเป้า เงินดิจิทัลเสี่ยงไม่ผ่าน

(25 ธ.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ระบุว่า...

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯ แข็งแกร่งเกินคาดแม้จะขึ้นดอกเบี้ยหลายรอบยังเติบโตแข็งแกร่ง มีความเป็นไปได้ที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว 

ส่วนไทยส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยผิดพลาด ทำให้เศรษฐกิจชะลอมาก ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น การปล่อยสินเชื่อหดตัวหนัก บ้าน รถ SME กระทบรุนแรง

จีน ชะลอตัวหนัก หนี้เสียภาคอสังหาฯ ภาคก่อสร้าง กำลังส่งผลกระทบวงกว้าง 

ยุโรป กระทบจากสงครามรัสเซีย ยูเครนยาวนาน วิกฤต คลองซูเอส และ ฮามาส ซ้ำเติมสร้างปัญหาเงินเฟ้อทั่วยุโรป

นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสร้างปัญหาเงินเฟ้อในญี่ปุ่นมาก คนญี่ปุ่นเริ่มมีกำลังซื้อถดถอย สัญญาณการสิ้นสุดนโยบายการเงิน ดอกเบี้ยติดลบใกล้ถึงสิ้นสุด

อินเดียกำลังฉายแววเป็นผู้นำเศรษฐกิจยุคใหม่ตามด้วยอินโดเนเซีย และเวียดนามเกาะรถอย่างห่าง ๆ

ประเทศไทยมีระเบิดเวลา บริษัทใหญ่ล้ม และหนี้เสียจากบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลางรออยู่ใครถือ พันธบัตร ต้องรอบคอบ ความคาดหวังที่ประชาชนให้พรรคเพื่อไทยว่าเก่งเศรษฐกิจกำลังมีคำถาม 

ท่านนายกต้องรีบแก้ปัญหา โดยต้องมี รมต.คลังตัวจริงมาทำงาน ส่วนกระทรวงเศรษฐกิจอื่นต้องพิจารณาว่าได้คนถูกฝาถูกตัวหรือไม่ หรือยังปรับงานไม่ลงตัว ยังทำงานไม่เข้าขากับฝ่ายราชการ

ท่านนายกฯ พยายามขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ แต่ยังมีจุดที่ต้องปรับอีกมาก การขึ้นค่าแรงจะช่วยดึงกำลังซื้อหรือไม่หรือ เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการโรงงานให้ปิดตัว หรือย้ายฐานการผลิตมากขึ้น 

เอาใจช่วยรัฐบาลให้ประชาชนอยู่ดีกินดีครับ

ส่งออกข้าวไทย 66 ทะลุ 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี ผลจากความต้องการในตลาดโลกพุ่ง-อินเดียชะลอส่งออก

(1 ก.พ.67) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ส่งออกในปี 2566 ส่งออกข้าวได้ 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้น 13.62% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา เป็นการส่งออกเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 178,136 ล้านบาท หรือประมาณ 5,144 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.43% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความต้องการในตลาดโลกสูง การชะลอส่งออกข้าวของอินเดีย และปัญหาโลกร้อน

ขณะที่เป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2567 กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ สรุปร่วมกันว่าจะส่งออกได้ปริมาณ 7.5 ล้านตัน

ล่าสุดข้อมูลใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1-30 มกราคม 2567 มีปริมาณ 1,122,358 ตัน เพิ่มขึ้น 43.96% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการขออนุญาตส่งออกข้าวอยู่ที่ 779,654 ตัน

>>ปัจจัยหนุนส่งออกข้าว 2567

โดยปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ คือผลผลิตข้าวของไทยที่คาดว่าจะลดลงจากปีก่อน 5.87% ซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการส่งออกที่อาจเผชิญกับการแข่งขันและความท้าทายหลายประการ เช่น ปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทำให้ปริมาณอุปทานข้าวโลกเพิ่มขึ้น การนำเข้าข้าวของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากความนิยมของการบริโภคข้าวลดลง อาทิ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ทำให้การแข่งขันทางด้านราคารุนแรงขึ้น

ขณะที่ไทยยังมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ส่งออก เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย

>>อินโดนีเซียซื้อข้าวลดลง อินเดียกลับมาส่งออก

นอกจากนี้ มีสัญญาณว่าอินโดนีเซียอาจซื้อข้าวน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีข้าวค้างสต๊อกจากปี 2566 ค่อนข้างมาก ขณะที่จีนมีการผลิตข้าวมากขึ้น และเริ่มปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำเข้าข้าวให้เป็นผู้ผลิตข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรและอาจส่งออกในอนาคต

นอกจากนี้ อินเดียอาจประกาศยกเลิกการระงับการส่งออกข้าวขาว ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนของอินเดียกลับมาส่งออกข้าวได้เสรีตามปกติ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นความท้าทายต่อการส่งออกข้าวไทย

>>แผนรับมือส่งออกข้าว

นายรณรงค์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรับมือกับความท้าทายในการขายข้าวให้ประเทศคู่ค้าในประเด็นที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวของประเทศผู้ส่งออกราย เนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง

ดังนั้น จึงจำเป็นที่ไทยต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกโดยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูงไม่ควรน้อยไปกว่าผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศผู้ส่งออกอื่น ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยทั้งสิ้น ประกอบกับพันธุ์ข้าวต้องมีความต้านทานโรคและแมลงเพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและการกำจัดแมลง

ทั้งนี้ หากไทยไม่มุ่งเน้นพัฒนาปรับปรุงในเรื่องดังกล่าวจะทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้าข้าวในตลาดโลกในที่สุด

>>อัดกิจกรรมส่งเสริมส่งออกข้าว

กรมการค้าต่างประเทศพร้อมเดินหน้าทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าวไทย ตามนโยบาย ‘รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ในการส่งออกไปต่างประเทศ’

โดยกิจกรรมหลักที่จะจัดขึ้นในปีนี้ ประกอบด้วย การจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ ‘Thailand Rice Convention (TRC) 2024’ ในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้าข้าวโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวโลกและเจรจาธุรกิจระหว่างกัน

รวมทั้งจะมีการจัดงาน TRC สัญจร ลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลแนวโน้มความต้องการข้าวในตลาดโลกแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กรมมีแผนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์และขยายตลาดข้าวกับแอฟริกาใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดข้าวที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของไทย รวมทั้งการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับรัฐบาลอินโดนีเซียและจีน รวมถึงประเทศอื่นที่มีความประสงค์ขอซื้อข้าวในรูปแบบ G to G ตลอดจนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญ และจัด Thai Rice Roadshow ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดจีนด้วย

นายกฯ จีนตอบขุนคลังมะกัน หลังถูกโวยส่งออกรถไฟฟ้าแผงโซลาร์เซลล์มากไป

ภายหลังจาก นางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐอเมริกา หยิบยกข้อกังวลเกี่ยวกับกำลังการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่มากเกินไปของจีนขึ้นมาหารือกับนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันอาทิตย์ (7 เม.ย.67) 

ด้าน นายกรัฐมนตรีหลี่ ก็ได้ชี้แจงว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ควรนำเศรษฐกิจการค้ามาทำให้เป็นเรื่องการเมือง แต่ควรพิจารณาประเด็นด้านกำลังการผลิตอุตสาหกรรมอย่างเป็นกลางตามข้อเท็จจริงและโต้แย้งด้วยหลักเหตุผล ด้วยมุมมองของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด มุมมองในระดับโลก และบนพื้นฐานของกฎหมายเศรษฐกิจ

“การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ของจีนจะมีส่วนช่วยเหลือสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกสีเขียวและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้อยู่ในระดับต่ำ” นายหลี่ กล่าว

นายกรัฐมนตรีของจีนยังแสดงความหวังว่า สหรัฐฯ จะสามารถทำงานร่วมกับจีนในการปฏิบัติตามบรรทัดฐานของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและความร่วมมืออย่างเปิดกว้างเป็นพื้นฐาน ขณะเดียวกัน ก็ละเว้นจากการนำประเด็นทางเศรษฐกิจและการค้าไปเป็นเรื่องการเมือง หรือขยายแนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติมากจนเกินไป

ก่อนหน้าการประชุมดังกล่าว ขุนคลังหญิงแกร่งผู้นี้ระบุว่า ชาติทั้งสองไม่ควรหลบเลี่ยง ‘การสนทนาที่ยากลำบาก’ ในการจัดการกับข้อแตกต่างระหว่างกัน

ด้านกระทรวงการคลังสหรัฐฯ แถลงเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้ว่า ดำเนินอย่างตรงไปตรงมาและได้ผล โดย รมว.คลังได้แสดงความเห็นต่อฝ่ายจีนว่า ความสัมพันธ์ที่ดีทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะทำให้มีสนามการแข่งขันด้านธุรกิจที่เท่าเทียมกัน นอกจากนั้น ยังได้เน้นย้ำความสำคัญในการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายอื่น ๆ ในโลก เช่น การบรรเทาภาระหนี้สินของชาติด้อยพัฒนา

สหรัฐฯ และจีนพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ท่ามกลางปัญหาขัดแย้งกันหลายเรื่อง รวมถึงความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เพิ่งหารือกันทางโทรศัพท์ ก่อนนางเยลเลน จะมาเยือนจีนเมื่อวันพฤหัสฯ (4 เม.ย.) ไม่กี่วัน นางเยลเลนเคยเยือนจีนครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2566 สำหรับการมาเยือนครั้งที่ 2 เป็นเวลา 5 วันนี้ ได้พบปะหารือกับรองนายกรัฐมนตรี เหอ ลี่เฟิง ที่กว่างโจวเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคใต้ของจีน โดยขุนคลังหญิงมะกันได้หยิบยกประเด็นกำลังการผลิตที่มากเกินไปของจีนมาเป็นหัวข้อสำคัญในการหารือเช่นกัน

การครอบงำตลาดของจีนในด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและแผงโซลาร์เซลล์ก่อความวิตกแก่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) โดยอียูมีการสอบสวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จีนส่งเข้ามาขายว่าอาจได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลปักกิ่งอย่างมากจนไม่เป็นธรรมแก่บริษัทผู้ผลิตในอียู การสอบสวนอาจนำไปสู่การตั้งกำแพงภาษีนำเข้า

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์เตือนถึงความเสี่ยงในการเป็นพันธมิตรของชาติตะวันตกเพื่อกดดันปักกิ่ง โดยนายซื่อ อวิ้นหง ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนในกรุงปักกิ่งระบุว่า การเพิ่มมาตรการเข้มงวดกับสินค้าและเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวของจีนไม่ช่วยให้ชาติตะวันตกได้สนามแข่งขันเพิ่มขึ้นมากนัก ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีจะยังคงเป็นภารกิจสำคัญอันดับต้น ๆ ของจีน ซึ่งไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไปจากนี้

ส่งออกมีนาคมไทย ติดลบ 10.9% ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ลบ 4% หยุดสถิติส่งออกไทยโต 7 เดือนติด สู่ติดลบแรกในรอบ 8 เดือน

(29 เม.ย. 67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศ หรือการส่งออกเดือนมีนาคม 2567 พบว่ามีมูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์ หดตัว 10.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 26,123.8 ล้านดอลลาร์ ขาดดุล 1,163.3 ล้านดอลลาร์

สาเหตุจากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปี 2566 แต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี จากปัจจัยหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน และขยายตัวต่ำ ปัญหาความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ การดำเนินนโยบายทางการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ

หากพิจารณาในภาพรวม 3 เดือนแรก หรือไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 พบว่า มีมูลค่า 70,995.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 การนำเข้า มีมูลค่า 75,470.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.8% ดุลการค้า ไตรมาสแรกของปี 2567 ขาดดุล 4,475.2 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (827,139 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 3.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 2.3


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top