Monday, 26 May 2025
การทูตและการทหาร

‘เพจดัง’ ชี้ ‘เด็กไทย’ เรียนประวัติศาสตร์สากล แค่ท่องจำ ไร้!! ความเข้าใจ-เชื่อมโยง เคลิ้มไปกับโลกแบบ ‘แฟนตาซี’

(29 ก.ค. 67) เพจ ‘การทูตและการทหาร Military & Dplomacy’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ การปฏิวัติฝรั่งเศสในแบบเรียนไทย โดยได้ระบุว่า ...

การปฏิวัติฝรั่งเศสในแบบเรียนไทย

พูดถึงการ Romanticize การปฏิวัติฝรั่งเศสในประเทศไทย ผมคิดว่าจุดเริ่มต้นสำคัญมาจากเนื้อหาในแบบเรียนประวัติศาสตร์สากลที่กลวงโบ๋มาก

ในแบบเรียนประวัติศาสตร์สากล เรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสมักจะอยู่ในหัวข้อ ‘การปฏิวัติครั้งสำคัญของโลก’ รวมอยู่กับเรื่องการปฏิวัติในอังกฤษ (กฎบัตร Magna Carta, การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์, Bill of Rights ฯลฯ) การปฏิวัติหรือการประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ ค.ศ. 1776 ครับ ทีนี้ปัญหาก็เริ่มจากว่าก่อนที่จะมาถึงหัวข้อการปฏิวัติเหล่านี้ แทบไม่มีการปูพื้นประวัติความเป็นมาของประเทศเหล่านี้ รวมถึงฝรั่งเศส มาก่อนเลย บทเรียนก่อนหน้านี้ยังเป็นเรื่องการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) การปฏิรูปศาสนา (มาร์ติน ลูเทอร์ ฯลฯ) การปฏิวัติอุตสาหกรรม ต้องท่องชื่อศิลปิน นักสำรวจ นักวิทยาศาสตร์อยู่เลย แล้วอยู่ๆ ก็ตูม! การปฏิวัติฝรั่งเศส ถามว่าก่อนหน้านั้นนักเรียนได้เรียนอะไรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสมาบ้าง คำตอบคือพระราชวังแวร์ซายส์ สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นงานศิลปะสมัยใหม่แบบ Baroque-Rococo แค่นี้แหละครับ ถามว่าสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เกิดอะไรขึ้นบ้าง ที่จะส่งผลกระทบต่อไปถึงยุคพระเจ้าหลุยที่ 15 และหลุยส์ที่ 16 หรือศิลปะ Baroque-Rococo นี่มีลักษณะอย่างไร ก็ตอบไม่ได้ครับ แต่ต้องท่องว่าพระราชวังแวร์ซายส์เป็นตัวอย่างของงานศิลปะแบบนี้เพราะชื่อเฉพาะพวกนี้ คนออกข้อสอบชอบมาก

เมื่อบทเรียนก่อนหน้าการปฏิวัติฝรั่งเศสแทบไม่ได้เอ่ยถึงประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสมาก่อนเลย แล้วอยู่ๆ ก็สอนนักเรียนว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสมีอุดมการณ์ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" มีการประกาศ ‘คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง’ นักเรียนก็เคลิ้มสิครับ ถามว่าหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอบไม่ได้ครับ เพราะหัวข้อนี้ตัดจบแค่นั้น กว่าแบบเรียนจะกลับมาพูดถึงฝรั่งเศสอีกทีก็ ... สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1914 ฝรั่งเศสอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร ... นั่นแหละครับ โรเบสปิแอร์คือใคร Reign of Terror คืออะไร นโปเลียนคือใคร ฯลฯ แบบเรียนไม่ได้สอนครับ

เมื่อนักเรียนจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย โดยมีความรู้เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสแค่ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ กับ ‘คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง’ ถ้าเข้ามหาวิทยาลัย เป็นนักศึกษาแล้วไปเจออาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนแต่ลัทธิการเมือง โดยไม่สอนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จริงๆ ประกอบด้วย ก็ยิ่งเคลิ้มกันไปใหญ่สิครับ การปฏิวัติฝรั่งเศสเลยถูก Romanticize จะเป็นนิยายแฟนตาซีอยู่แล้ว แต่เป็นแฟนตาซีแค่ตอน ค.ศ. 1789 (ทลายคุกบาสตีย์) ถึง ค.ศ. 1793 (มารี อองตัวเน็ตต์ถูกตัดคอ) นะ ถ้าขยับเลยไปอีกหน่อยถึงช่วง Reign of Terror จะไม่ค่อยแฟนตาซีแล้ว ยิ่งถ้าช่วงหลัง ‘นายพลโบนาปาร์ต’ โผล่มาปุ๊บนี่จบเลย

จะเห็นได้ว่าปัญหาการ Romanticize การปฏิวัติฝรั่งเศสนี่ส่วนหนึ่งก็มาจากแบบเรียนประวัติศาสตร์สากลในโรงเรียนที่เนื้อหากลวงโบ๋มาก อยู่ๆ ก็ยกคำขวัญลอยๆ ขึ้นมาให้ท่อง โดยแทบไม่ได้ปูพื้นประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส หรือที่สำคัญคือเหตุการณ์ช่วงหลังการปฏิวัติ นักเรียนก็เคลิ้ม พอไปฟังนักวิชาการ ฟังสื่อต่อก็กลายเป็นแฟนตาซีไป

ทีนี้ถ้าจะให้เพิ่มเนื้อหาเข้าไปในแบบเรียนเฉยๆ ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องนะครับ เพราะถ้าเพิ่มเนื้อหารายละเอียดช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ก็ต้องเพิ่มเนื้อหารายละเอียดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อื่นๆ ด้วย แล้วในโรงเรียนก็คงได้เรียนกันแต่ประวัติศาสตร์นี่แหละครับ ไม่มีเวลาเรียนวิชาอื่นๆ (ฮา)

ผมคิดว่าแทนที่จะต้องเพิ่มเนื้อหาเข้าไปทีละจุดๆ เราน่าจะมาทบทวนหลักสูตรสาระประวัติศาสตร์สากลในโรงเรียนกันใหม่ว่าประวัติศาสตร์ช่วงไหนที่นักเรียนควรรู้จริงๆ บ้าง ไม่ใช่ยกเนื้อหาวิชา ‘อารยธรรม’ (Civilization) ของระดับมหาวิทยาลัยมาทั้งดุ้นแบบนี้ ซึ่งลำพังวิชา Civilization มันก็ไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์โลกที่สมบูรณ์ในตัวเอง เป็นแค่วิชาพื้นฐานของนักศึกษาสาขาประวัติศาสตร์ชั้นปี 1 ก่อนจะได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์เฉพาะของประเทศหรือภูมิภาคต่างๆในชั้นปีที่สูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งเดี๋ยวเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ยุโรป ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก ประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เป็นต้น ก็จะมาช่วยเติมองค์ความรู้ของนักศึกษาสาขาประวัติศาสตร์ต่อยอดจากวิชา Civilization อยู่แล้ว แต่สำหรับนักศึกษาสาขาอื่นๆ ที่ได้เรียนประวัติศาสตร์สากลมาแค่ในโรงเรียน ถึงระดับมัธยมปลาย น่าจะต้องมาทบทวนปรับแก้หลักสูตรให้กระชับแต่ลึกซึ้งมากกว่าการเอาวิชา Civilization มากลวงๆ ทั้งดุ้นแบบนี้ครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top