Wednesday, 23 April 2025
การค้าการลงทุน

‘นายกฯ’ ชู 3 แนวทาง แก้วิกฤติสภาพภูมิอากาศ บนเวทีเอเปค ‘ความยั่งยืน-การค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง-ความเชื่อมโยงศก.’

(18 พ.ย.66) ที่ศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ (Moscone Center) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในรูปแบบ Retreat (APEC Economic Leaders’ Retreat (Session II)) หัวข้อ ‘Interconnectedness and Building Inclusive and Resilient Economies’ และร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปค ครั้งที่ 30 โดยนายกฯ กล่าวถ้อยแถลงเป็นลำดับที่ 18 ต่อจากผู้นำจีนไทเป ประธานาธิบดีเวียดนาม นาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) นำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกใน ค.ศ. 2023

นายกฯ กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ต่อระบบการค้าพหุภาคีและเอเปค เพื่อมุ่งสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก ที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่นและสงบสุข โดยได้มีการหารือและสนทนาเกี่ยวกับวิธีการต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเห็นพ้องกับผู้นำทุกคนว่า ถึงเวลาที่ต้องลงมือให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยเสนอ 3 มุมมอง ที่เป็นประโยชน์ต่อเอเปค คือ 1.ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสานต่อพัฒนาการเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ปีนี้เอเปคมีความก้าวหน้าอย่างมาก โครงการมากกว่า 280 โครงการ ตอบสนองต่อเป้าหมายฯ นี้ ขณะที่ ABAC เดินหน้าผลักดันการจัดทำ BCG Pledge การจัดการประชุม Sustainable Future Forum ครั้งแรก เพื่อกระตุ้นธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น 

2.เปิดการค้าและการลงทุนอย่างเติบโตและรุ่งเรือง เอเปคสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดกฎเกณฑ์ โดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนกลาง เป็นกุญแจสำคัญ รวมถึงการมีส่วนร่วมไปสู่ผลลัพธ์ที่มีความหมายในการประชุมรัฐมนตรีครั้งต่อไป (The Thirteenth Ministerial Conference (MC13))

นายกฯ กล่าวว่า ไทยผลักดันความพยายามอย่างต่อเนื่องในเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เพื่อความก้าวหน้าในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และไทยจะเร่งเจรจา FTA อื่นในเชิงรุก รวมทั้งยกระดับการเจรจาที่มีอยู่เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ 3. เสริมสร้างความเชื่อมโยง เพื่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น โดย ไทยกำลังเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย และยังรวมทั้งยังได้อนุมัติวีซ่าฟรี ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสนับสนุนความต่อเนื่องของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card) ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสนับสนุน MSMEs และสตาร์ตอัปอีกด้วย ทั้งนี้ยินดีกับสหรัฐฯ ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมที่เป็นประโยชน์ครั้งนี้ โดยไทยพร้อมร่วมประสานความร่วมมือกับเปรูเพื่อสานต่อความสำเร็จนี้ต่อไป  

‘นายกฯ’ เตรียมพร้อม!! ประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม จ่อคุยเอกชนยักษ์ใหญ่ของโลก กระตุ้นลงทุนในไทย

(15 ม.ค. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดพบหารือผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ในห้วงระหว่างการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2567 เชื่อมั่นการหารือเหล่านี้จะนำมาซึ่งการค้าและลงทุน สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลให้ไทย ในสาขาการค้าการลงทุนที่สำคัญ ซึ่งบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่จะพบหารือกับนายกรัฐมนตรี

อาทิ DKSH ผู้ให้บริการด้านการขยายตลาด ตั้งแต่การจัดหาแหล่งผลิต การวิจัยและวิเคราะห์ตลาด การตลาด การขาย การกระจายสินค้า โลจิสติกส์ และการบริการหลังการขาย ผลิตภัณฑ์และสินค้ามากมายหลายประเภท โดย DKSH ประเทศไทย เป็นหนึ่งในองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศในด้านยอดขาย และเป็นประเทศที่มีการดำเนินกิจการที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม DKSH

Dubai Port World ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเล และเขตการค้าเสรี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 70 ล้านตู้ โดยมีเรือนำเข้าประมาณ 70,000 ลำต่อปี ซึ่งเท่ากับประมาณถึง 10% ของปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก และมีพื้นที่ให้บริการในท่าเรือกว่า 82 แห่งในกว่า 40 ประเทศ

Standard Chartered ธนาคารชั้นนำระดับสากลและมีเครือข่ายทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความชำนาญที่ส่งเสริมธุรกิจที่มีศักยภาพให้เติบโต พร้อมเป้าหมายส่งเสริมความยั่งยืน 3 ด้านคือ การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) การเป็นองค์กรที่รับผิดชอบ (Responsible Company) และการสร้างความเท่าเทียมในชุมชน (Inclusive Communities) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

Telenor บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำระดับโลก มีลูกค้าประมาณ 175 ล้านคนใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคนอร์ดิกและในเอเชีย

Coca Cola หนึ่งในบริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเจ้าของหรือมีใบอนุญาตยี่ห้อเครื่องดื่มมากกว่า 200 ยี่ห้อ โดยก่อตั้งในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพื่อจัดตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคในปี พ.ศ. 2553

Nestlé บริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำระดับโลก มีสินค้าจำหน่ายอยู่ใน 190 ประเทศทั่วโลก โดยมีโรงงานผลิต 344 โรงงานใน 77 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ เนสท์เล่ ในประเทศไทย มีแนวทางที่เน้นการขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค (Good for You) และการขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อโลกของเรา (Good for the Planet) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่เน้นการดูแลสุขภาพของคนไทย และการดูแลสิ่งแวดล้อม

Grab ผู้ให้บริการจัดส่ง การเดินทาง พัสดุ การเงิน การบริหารจัดการธุรกิจและอื่นๆ ผ่าน Application เดียว ช่วยเชื่อมโยงผู้บริโภคจากทุกสาขาอาชีพกับผู้ประกอบการนับล้านใน 500 เมืองและ 8 ประเทศ

Robert Bosch บริษัทเทคโนโลยีด้านการขับเคลื่อนชั้นนำของโลก และเชี่ยวชาญด้าน อุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค เทคโนโลยีพลังงานและอาคาร ดำเนินงานในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และมีบริษัทในเครือมากกว่า 468 แห่ง โดยมีการลงทุนในประเทศไทย รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปี พ.ศ. 2557 บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 24 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 6.3 พันล้านบาท (165 ล้านยูโร)

‘สุชาติ-รวมไทยสร้างชาติ’ นำทัพถกความร่วมมือการค้า ‘ไทย-จีน’ เล็ง!! ขยายสินค้าตลาดปศุสัตว์-ผลไม้-ดึงนักลงทุนจีนลุยไทยเพิ่ม

(30 ก.ค.67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ร่วมประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการค้าและการลงทุน หรือ ‘ซับ-คอมมิทตี ไทย-จีน’ ครั้งที่ 3 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเวทีการประชุมในระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างไทยและจีน โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 

ทั้งนี้ ในการหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างไทยกับจีน โดยรมช.สุชาติฯ กล่าวว่า ”ในการประชุมครั้งนี้ตนจะเป็นประธานร่วมกับนายหลี่ เฟย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้นำประเด็นทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนที่สำคัญมาหารือกันในประเด็นสำคัญ อาทิ ความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร โดยเฉพาะขอให้จีนเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์และผลไม้ให้ไทย และการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าไทยไปจีน ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าของทั้งสองฝ่าย และในโอกาสนี้ตนได้เชิญชวนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซ และการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง การค้าเสรีที่ไทยกับจีนมีร่วมกัน ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป“

ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2566 การค้าไทยกับจีนมี มูลค่า 104,999 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.22 เมื่อเทียบกับปี 2565 และในปี 2567 (มกราคม - พฤษภาคม) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 45,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.24 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ของปี2566 โดยจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าสำคัญของไทย อาทิ ผลไม้สด เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์และ ส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในขณะที่สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากจีน อาทิ เครื่องจักร ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก และชิ้นส่วน ยานยนต์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top