Monday, 21 April 2025
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

กองทุนน้ำมันฯ แบกต้นทุนต่อไม่ไหว ขึ้นดีเซลอีก 1 บาท ราคาขยับ 33.94 บาท/ลิตร

กบน.เคาะดีเซลขึ้น 1 บาท สุดอั้นขยับขึ้น 2 สัปดาห์ติด หน้าปั๊มอยู่ที่ 33.94 บาท/ลิตร ลั่นยังอยู่ใต้เพดาน 35 บาท ด้าน สกนช. ใจป้ำลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ กลุ่มแก๊สโซฮอล์ 91-95 ลุ้นราคาขายปลีกเบนซินลด โอดฐานะกองทุนฯ ติดลบ 8.6 หมื่นล้านบาท   

6 มิ.ย. 2565 – นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2565 ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้ปรับราคาน้ำดีเซลขึ้น 1 บาท/ลิตร จากราคาแนะนำที่ 32.94 บาท/ลิตร เป็น 33.94 บาท/ลิตร มีผลเวลา 05.00 น. วันที่ 7 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการทยอยปรับขึ้น แต่ไม่เกินเพดาน 35 บาท/ลิตร เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนมากนัก โดยกองทุนยังคงอุดหนุนครึ่งหนึ่ง จากราคาจริงหากไม่มีการอุดหนุนเลยดีเซลจะอยู่ที่ 42.81 บาท/ลิตร   .
ค้นหา ดึงดูด และคัดกรอง ตอบทุกโจทย์การจ้างงานด้วยโซลูชันการสรรหาบุคลากรแบบครบวงจรจาก JobsDB

ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังคงมีความผันผวน ราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) เมื่อ 2 มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 158.29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากเดิมสัปดาห์ก่อนเทียบกับวันที่ 27 พ.ค. 2565 อยู่ที่ 149.49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็นผลมาจากการออกมาตราการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปที่ตกลงจะห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเชีย การเปิดประเทศของจีน ตลอดจนปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐลดลงกว่า 1.2 ล้านบาร์เรล  

‘กบน.’ เห็นชอบใช้กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนราคาเบนซิน 1 บาท/ลิตร

(31 ม.ค.67) นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กบน. มีมติเห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสนับสนุนผู้ใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซิน 1 บาท/ลิตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนหลังสิ้นสุดมาตรการลดการจัดเก็บภาษีกรมสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มเบนซิน 1 บาท เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีความผันผวน โดยราคาน้ำมันเบนซินวันที่ 1-30 มกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 95.72 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติภารกิจให้เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานยังมีความผันผวน

ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 28 มกราคม 2567 ติดลบ 84,349 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 37,875 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 46,474 ล้านบาท 

'กบน.' ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ อุ้มราคาดีเซลต่อ แม้สถานะกองทุนติดลบหนักเกินแสนล้านแล้ว

เมื่อวานนี้ (18 เม.ย.67) สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งราคาน้ำมันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง และยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบกับราคาน้ำมันได้ โดยเฉพาะความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางกรณีอิหร่าน-อิสราเอลที่อาจปะทุขึ้นอีก ประกอบกับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาท/ลิตร กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 เมษายน 2567 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล สกนช. เห็นว่า เพื่อไม่ให้มาตรการลดภาษีที่สิ้นสุดลงกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลมากนัก จึงจะเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนมากจนเกินไปและไม่ให้ราคามีความผันผวนมากจนเกินไปด้วย โดย กบน. จะพิจารณาอัตราการอุดหนุนหรือลดการชดเชยให้เป็นไปตามช่วงเวลาและจังหวะที่เหมาะสม จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงสามารถรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศไม่ให้ผันผวนมากจนเกินไปได้

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 14 เมษายน 2567 ติดลบ 103,620 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 56,407 ล้านบาท ส่วนบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 47,213 ล้านบาท

ส่องสถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบอ่วม!! แตะ 1.1 แสนล้านบาท จำใจขยับดีเซล 50 สต. แต่ยังพยุง LPG 423 บาท ถึง 30 มิ.ย.67

(25 พ.ค.67) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้อนุมัติขยายกรอบวงเงินชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านบาท (จากเดิมกำหนดกรอบวงเงินไว้ 48,000 ล้านบาท) ส่งผลให้กรอบวงเงินสำหรับชดเชยราคา LPG ปัจจุบันรวมเป็น 50,000 ล้านบาท

โดย ณ วันที่ 19 พ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานว่า มีการใช้เงินชดเชยราคา LPG ไปแล้วรวม 47,624 ล้านบาท ซึ่งใกล้เต็มกรอบวงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท ดังนั้น กบน. จึงได้ขยายกรอบวงเงินเพื่อชดเชยราคา LPG เป็น 50,000 ล้านบาท เพื่อตรึงราคา LPG ให้อยู่ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่กำหนดให้ตรึงราคาดังกล่าวจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2567

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในบัญชี LPG ได้ชดเชยราคา LPG อยู่ที่ 4.15 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 25.87 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทำให้กองทุนฯ มีเงินไหลออกจากการชดเชยราคา LPG ประมาณ 44.47 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 1,334 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ราคา LPG โลกยังทรงตัวในระดับสูงที่ 582.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

สำหรับการตรึงราคา LPG ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทาง กบง. ได้เริ่มตรึงราคามาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 รวมเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว และย้อนไปในช่วงเดือน มี.ค. 2567 กบง. ได้มีมติให้ตรึงราคา LPG ไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2567 นี้ โดยให้กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาเฉพาะเดือน เม.ย. 2567 ส่วนเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567 จะของบกลางจากรัฐบาลมาชดเชยราคาแทน 

แต่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้ตรึงราคา LPG ตามเดิมที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดยให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ดูแลเอง ซึ่งหมายถึงรัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบกลางมาช่วยตรึงราคา LPG แต่อย่างใด จึงส่งผลให้ เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2567 กบน. ต้องมีมติเพิ่มกรอบวงเงินเพื่อใช้ชดเชยราคา LPG เป็น 50,000 ล้านบาทดังกล่าว

ส่วนฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 19 พ.ค. 2567 ยังติดลบอยู่ 110,854 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 63,230 ล้านบาท ส่วนบัญชี LPG ติดลบ 47,624 ล้านบาท

โดยกองทุนน้ำมันฯ จะต้องเร่งดำเนินการให้เงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ มากขึ้น เนื่องจากได้กู้เงินกับสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท เมื่อปี 2565-2566 และจะเริ่มครบกำหนดต้องจ่ายคืนเงินต้นก้อนแรกที่ยืมมา 30,000 ล้านบาท ในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กบน. ได้พยายามปรับขึ้นราคาดีเซลครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อลดภาระการชดเชยราคาลง โดยมีการขึ้นราคาดีเซลรวมไปแล้ว 5 ครั้ง รวมราคา 2.50 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกันก็พยายามแก้ปัญหาโดยลดการชดเชยราคา LPG ลง แต่เมื่อ ครม. ไม่อนุมัติเงินมาช่วย จึงทำให้กองทุนฯ ยังต้องดึงเงินในกองทุนฯ มาพยุงราคาต่อไปก่อน  

'กบน.' ควักเงินกองทุนฯ ชดเชยราคาดีเซลเพิ่ม  หลังปรับขึ้นราคาไม่ได้อีก เพื่อลดกระทบประชาชน

(24 มิ.ย.67) ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center - ENC) รายงานสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาเพิ่มเงินชดเชยราคาดีเซลขึ้นอีกครั้งเป็น 2.02 บาทต่อลิตร จากเดิมชดเชยอยู่ 1.60 บาทต่อลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับ กบน. ไม่สามารถปรับขึ้นราคาดีเซลได้อีกแล้ว เนื่องจากเต็มเพดานที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้ปรับขึ้นได้ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งปัจจุบันราคาดีเซลจำหน่ายอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร ทำให้ กบน. ต้องอนุมัติใช้เงินกองทุนฯ ชดเชยราคาดีเซลเพิ่มขึ้นแทน

ทั้งนี้การเพิ่มเงินชดเชยราคาดีเซลดังกล่าว ส่งผลให้กองทุนฯ ต้องประสบปัญหาเงินไหลออก 178.28 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งมากกว่าเงินไหลเข้า 158.47 ล้านบาทต่อวัน ทำให้เงินกองทุนฯ ติดลบวันละ 19.81 ล้านบาท หรือประมาณ 594 ล้านบาทต่อเดือน

โดยสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดที่รายงานโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ณ วันที่ 23 มิ.ย. 2567 ภาพรวมกองทุนฯ ยังคงติดลบรวม -110,743 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -63,121 ล้านบาท และมาจากบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,622 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กบน. พยายามปรับขึ้นราคาดีเซลจาก 29.94 บาทต่อลิตร นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567 เป็น 32.94 บาทต่อลิตร หรือเท่ากับปรับขึ้น รวม 6 ครั้ง เป็นเงิน 3 บาทต่อลิตร โดย ครม. อนุญาตให้ปรับขึ้นราคาดีเซลได้ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นระหว่างวันที่ 20 เม.ย.-31 ก.ค. 2567 

ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาดีเซลดังกล่าว เพื่อช่วยลดภาระกองทุนฯ ในการชดเชยราคาดีเซล และหวังให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้าจนบัญชีเป็นบวกในแต่ละวัน เนื่องจากต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการชำระหนี้เงินต้นก้อนแรก จำนวน 30,000 ล้านบาทในเดือน พ.ย. 2567 นี้ (จากหนี้กู้ยืมทั้งหมด 105,333 ล้านบาท) เบื้องต้น กบน. เคยระบุว่าจะพยายามทำให้กองทุนฯ มีรายรับเป็นบวกในแต่ละวันให้ได้ ภายในเดือน ต.ค. 2567 หรือในอีก 4 เดือนข้างหน้าเพื่อให้ทันต่อการชำระหนี้เงินต้นก้อนนี้

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกล่าสุด ณ วันที่ 24 มิ.ย. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 82.49 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 80.76 เหรียญหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.03 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 85.29 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.05 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ในส่วนของค่าการตลาดน้ำมันที่ผู้ค้าได้รับ ในวันที่ 24 มิ.ย. 2567 ซึ่งรายงานโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่าค่าการตลาดดีเซลอยู่ที่ 1.87 บาทต่อลิตร ส่วนของกลุ่มเบนซินยังสูงอยู่ที่ประมาณ 3.4-3.7 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดน้ำมันตั้งแต่ 1-24 มิ.ย. 2567 อยู่ที่ 2.34 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่ควรได้ที่ 1.50-2 บาทต่อลิตร)

เปิดหนี้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เริ่มจ่ายเงินต้น พ.ย. นี้ 140 ล้านบาท คาด!! จะใช้หนี้หมดได้ ภายในปี 2571 กบน. เชื่อ!! ยังตรึงราคาขายไว้ได้

(12 ต.ค. 67) นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2567 ที่จะถึงนี้ จะครบกำหนดที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องเริ่มทยอยชำระหนี้เงินต้นที่กู้ยืมมาจากสถาบันการเงิน รวมทั้งสิ้น 105,333 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2565-2566 ส่วนดอกเบี้ยก็ได้เริ่มจ่ายมาตั้งแต่กู้ยืมเงินครั้งแรกและจ่ายเป็นประจำ จำนวน 250 ล้านบาททุกเดือน

สำหรับยอดหนี้เงินต้นจะทยอยสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามวงเงินที่ทยอยกู้ยืมในแต่ละครั้ง โดยในเดือน พ.ย. 2567 ต้องเริ่มจ่ายหนี้เงินต้น 140 ล้านบาท และ เดือน ธ.ค. อยู่ที่ 278 ล้านบาท ส่วนปี 2568 ก็จะยังคงจ่ายสูงขึ้นอีก โดยเริ่มต้นเดือน ม.ค. จำนวน 800 ล้านบาท และทยอยสูงขึ้นไปถึงเดือน พ.ค. ที่ 1,400 ล้านบาท โดยยอดจะพุ่งสูงสุดในเดือน ต.ค. 2568 ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท และจากนั้นจะทยอยลดลงเรื่อย ๆ  ซึ่งคาดว่าการชำระหนี้เงินต้นจะไปสิ้นสุดในปี 2571

ดังนั้นภารกิจสำคัญที่กองทุนฯ จะต้องเตรียมไว้สำหรับการชำระหนี้เงินต้นดังกล่าว ก็คือ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะต้องเร่งเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ เพื่อให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง เพียงพอที่จะใช้ดูแลราคาน้ำมันและ LPG ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีเงินเพียงพอจ่ายหนี้เงินต้นก้อนนี้ด้วย

ทั้งนี้จะส่งผลให้กองทุนฯ ไม่สามารถกลับไปชดเชยราคาดีเซลได้อีก ยกเว้นกรณีเกิดวิกฤติราคาพลังงานที่รุนแรง ซึ่งหากราคาน้ำมันโลกขยับสูงขึ้นในช่วงนี้ กองทุนฯ จะลดการเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลเพื่อส่งเข้ากองทุนฯ ลง จนอาจเก็บเข้าต่ำสุดเหลือเพียง 50 สตางค์ต่อลิตร (ปัจจุบันเก็บอยู่ 1.66 บาทต่อลิตร) แต่หากราคายังขยับสูงขึ้นไปอีก กบน. อาจจำเป็นต้องขยับขึ้นราคาดีเซล แทนการนำเงินกองทุนฯ ไปชดเชยราคาดีเซล

อย่างไรก็ตามวันที่ 31 ต.ค. 2567 นี้ จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร โดยปัจจุบันราคาจำหน่ายอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร ดังนั้น กบน. เตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทบทวนราคาดีเซลอีกครั้งก่อนสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ กบน. ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์การสู้รบในต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลก ซึ่ง กบน. เชื่อว่ายังดูแลราคาดีเซลในประเทศไทยได้ แต่เป็นห่วงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) โลก เนื่องจากในช่วงปลายปีจะเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้หลายประเทศมีความต้องการ LPG จำนวนมากและราคาจะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งหากกองทุนฯ ต้องชดเชยราคา LPG สูง จะส่งผลกระทบต่อฐานะกองทุนฯ ได้  

โดยปัจจุบันกองทุนฯ ยังมีเงินไหลเข้าจากผู้ผลิต LPG  5.94 ล้านบาทต่อวัน และเงินไหลเข้าจากผู้ใช้น้ำมัน 331 ล้านบาทต่อวัน รวมมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ ประมาณ 337 ล้านบาทต่อวัน หรือ 10,110 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเพียงพอดูแลเสถียรภาพราคาดีเซลและ LPG  รวมทั้งสามารถเก็บไว้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้สถาบันการเงินได้ แต่หากราคา LPG โลกขยับขึ้นแรงในช่วงปลายปี 2567 นี้ กบน. ก็จะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมกับกองทุนฯ ต่อไป แต่ยืนยันว่าราคา LPG จะยังคงจำหน่ายที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ไปจนถึง 31 ธ.ค. 2567 นี้ ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

สำหรับสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 8 ต.ค. 2567 เงินกองทุนฯ ติดลบรวม -96,818 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -49,378 ล้านบาท และมาจากบัญชี LPG ติดลบรวม -47,440 ล้านบาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top