Wednesday, 3 July 2024
กองทุนน้ำมัน

กพช.ขยายกรอบกู้เงินโปะกองทุนน้ำมันเป็นไม่เกิน 4 หมื่นล้าน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดสถานะกองทุนให้มีเงินของกองทุนเองรวมกับเงินกู้ต้องไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท หรือจากนี้ไปสามารถกู้เงินได้มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมัน ล่าสุดคณะกรรมการบริหารกองทุน กำลังเสนอหลักเกณฑ์การขอกู้เงินให้ที่ประชุมครม.อนุมัติ ซึ่งเบื้องต้นจะมีการทยอยกู้เงินล็อตแรกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในช่วงกลางเดือนม.ค. 65 โดยปัจจุบันกองทุนมีเงินอยู่ประมาณ 7,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน โดยปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนช้า และน้ำมันเตา จากเดิม ในอัตรา 0.10 บาทต่อลิตร เหลือจัดเก็บในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี และอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 2 ปี โดยมีผลทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

‘บิ๊กตู่’ ยอมรับ ‘กองทุนน้ำมัน’ ติดลบ เตรียมกู้ 2 หมื่นล้าน ตรึงราคาดีเซลอีก 4 เดือน

“บิ๊กตู่” ยอมรับกองทุนน้ำมันติดลบ ครม. อนุมัติขอเงินกู้อีก 2 หมื่นล้าน คาดสำรองจ่ายได้อีก 4 เดือน “วอน” รถบรรทุกอย่ากดดัน เตรียมรถ “บขส.-รถทหาร” ขนสินค้าแทนรถบรรทุกประท้วงราคาดีเซลแพง

เมื่อเวลา 13.15 น. ที่โรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท จังหวัดกระบี่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรนอกสถานที่ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา หลังกลุ่มสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ทำกิจกรรมคาร์ม็อบ เคลื่อนขบวนรถบรรทุกในถนน 4 สายหลัก และมาชุมนุมบริเวณหน้ากระทรวงพลังงาน ว่า ยืนยันแล้วว่าเราต้องรักษาให้ได้ในราคา 30 บาทต่อลิตรก่อน และถ้าราคาน้ำมันมีการปรับลดลงทุกอย่างก็จะดีขึ้น เพราะขนาดตรึงแค่ราคา 30 บาท ก็ใช้เงินอุดหนุนไปประมาณเดือนละ 3,000 ล้านบาทลงไป  

ในส่วนของกองทุนน้ำมันนั้นอยู่ในสภาพที่ติดลบแล้ว และวันเดียวกันนี้ ครม. ได้มีการอนุมัติ เงินกู้ไปเพื่อนำงบประมาณมาใช้จ่ายสำรองไว้ในช่วง 4 เดือนข้างหน้า ซึ่งถ้าราคาน้ำมันลดลงก็ไม่มีปัญหาทุกอย่างก็จะกลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติ ราคาน้ำมันก็จะลดลงมาเอง 

ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่มีความพยายามกดดันด้วยการนำรถบรรทุกเคลื่อนไหวบนถนนสายหลัก และมาชุมนุมที่บริเวณหน้ากระทรวงพลังงานจะแก้ปัญหาอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เท่าที่ได้รับรายงานก็เป็นความเคลื่อนไหวของสมาคมรถบรรทุก ซึ่งในประเทศไทยก็มีหลายสมาคมยอมรับว่ามีคนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลก็ต้องดูแลทุกคนซึ่งรัฐบาลก็จำเป็นต้องดูให้ละเอียดถี่ถ้วน 

'กรณ์ พรรคกล้า ' ขอบคุณรบ. ขานรับรวดเร็ว เตรียมเก็บกำไรโรงกลั่น 2 หมื่นลบ. พยุงราคาน้ำมัน

'กรณ์' ขอบคุณรัฐบาล แก้ปัญหาราคาน้ำมัน เก็บกำไรโรงกลั่น ลดเบนซิน เตรียมเสนอทางออกช่วยประชาชนต่อ ก่อนประชุมครม.สัปดาห์หน้า

ภายหลังที่รัฐบาลประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจฉุกเฉิน เมื่อวันที่ (16 มิ.ย. 65) โดยมีมติว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องราคาน้ำมัน รัฐบาลจึงได้เก็บกำไรโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซ 8 พันล้านบาทต่อเดือน โดยลดภาระเบนซิน 1 บาทต่อลิตร และอุดหนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อเสริมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจนั้น นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ซึ่งเป็นผู้เรียกร้องในเรื่องนี้ ได้โพสต์ขอบคุณรัฐบาลที่ขานรับประเด็นเรื่องค่าการกลั่นโดยเร็ว โดยระบุว่าขอให้ถือว่าเรามาช่วยกันทำงานเพื่อบ้านเมือง ทีมทำงาน พรรคกล้า - KLA Party ดีใจที่วันนี้ประชาชนได้เงินกลับมา 24,000 ล้านบาททันที

‘จิราพร’ ชี้ ‘บิ๊กตู่’ ติดกับดักกม. สมัยรัฐประหาร แถมไร้ฝีมือบริหาร ทำกองทุนน้ำมันขาดเสถียรภาพ

‘จิราพร’ ชี้ ‘ประยุทธ์’ ติดกับดักกฎหมายสมัยรัฐประหาร ทำกองทุนน้ำมันขาดเสถียรภาพ คนไทยต้องใช้น้ำมันแพงเดือดร้อนถ้วนหน้า

นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 กล่าวถึง การพิจารณางบประมาณฯ เมื่อวันที่ (29 มิ.ย. 65) ว่าภายหลังการชี้แจงของกระทรวงพลังงาน  พบว่า ในสมัยรัฐบาล คสช. ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้ง ได้ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ซึ่ง มาตรา 26 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้กองทุนต้องมีเงินเพื่อใช้ในการบริหารจัดการอยู่ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ส่วนที่เก็บได้เกินจากจำนวนที่กำหนดต้องนำส่งเข้าคลัง ซึ่งการจำกัดเพดานวงเงินกองทุนน้ำมันเช่นนี้กลายเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานะกองทุนไม่แข็งแรงพอ เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ เมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมัน จึงส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของคนไทยทุกคน

'สันติ' ถามรัฐบาลออก พ.ร.ก.ค้ำเงินกู้กองทุนน้ำมัน เพิ่มหนี้สาธารณะ จำเป็นจริงหรือ? คาใจ 3 ปม แก้พลังงานแพงไร้คำตอบ ซัด ไร้ความสามารถบริหารประเทศ ปชช.ต้องทนรับสภาพอีกนานเท่าไหร่?

วันที่ 18 ส.ค. 65 ดร.สันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นที่คาใจต่อกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา มีการพิจารณาวาระลับที่มุ่งแก้ปัญหาฐานะกองทุนน้ำมัน ที่มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์รวมไปถึง 117,394 ล้านบาท (รายงานเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565) โดยมีมติอนุมัติการออก พ.ร.ก. เพื่อค้ำประกันการกู้ยืมของกองทุนน้ำมัน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และยังอนุมัติงบกลาง 5 หมื่นล้านบาท เพื่อบริหารสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน ในระหว่างรอการออก พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว

โดยระบุว่า เป็นที่เข้าใจได้ว่า ฐานะกองทุนน้ำมันมีปัญหาอย่างหนักในขณะนี้ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข แต่การออก พรก. ซึ่งจะสร้างภาระให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการค้ำประกันการกู้เงินดังกล่าวนั้น เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ และหากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ต้องนำพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว เข้าพิจารณาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ หากสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ความเห็นชอบ รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบในการออกพระราชกำหนด อย่างไรหรือไม่

การแก้ไขปัญหาราคาพลังงานที่ผ่านมานั้น มีคำถามที่ยังค้างคาในสังคมอีกมาก ที่รัฐบาลไม่เคยอธิบายให้เกิดความชัดเจนได้ เช่น

1. โครงสร้างราคาน้ำมันบิดเบี้ยว เพราะค่าการกลั่นที่ประหลาดมหัศจรรย์ อย่างน้อยที่สุด ถ้ายอมรับว่าต้องอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นที่สิงคโปร์ เพราะเป็นตลาดซื้อขายที่มีสภาพคล่องสูง (ซึ่งผมก็ยังไม่เห็นด้วยอย่างหมดใจ) แต่การบวก FIL (freight, insurance and loss) ซึ่งไม่เกิดขึ้นจริง เพราะไม่มีการขนส่งจากต่างประเทศ ทำไมไม่ลบออก ซึ่งสามารถทำได้ในระยะสั้น

2. กำไรโรงกลั่นที่เกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ชี้ให้เห็นได้ชัดเจนว่า การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่เป็นผลผลิตจากโรงกลั่น เป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนผู้บริโภคอย่างมากเกินกว่าสมควร ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนใจในการแก้ปัญหา แต่กลับไปอ้อนวอนขอร้องให้โรงกลั่นเสียสละกำไรบางส่วน (ซึ่งเล็กน้อยมาก) เพื่อมาช่วยชดเชยการขาดดุลของกองทุนน้ำมัน

‘พีระพันธุ์’ ยัน!! เร่งปรับปรุงกฎหมาย-โครงสร้างราคาน้ำมัน ชี้!! ต้องคุมให้ราคาน้ำมันนิ่ง-ไม่หวั่นต่อปัจจัยนอกประเทศ

(3 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึง การใช้เงินกองทุนน้ำมันมาสนับสนุนภาษีสรรพสามิต แก๊สโซฮอล์ลง 2.50 บาทต่อลิตร ว่า ไม่มีผลกระทบ ถ้ามีผลกระทบคงทำไม่ได้ แต่ถ้าสถานการณ์โลกทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งตนเคยพูดไปแล้วว่ามาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นมาตรการระยะสั้น ตนคิดว่า ต้องศึกษาปรับโครงสร้างแบบใหม่ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาว่าเวลาราคาน้ำมันโลกลดลง หรือเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ เราต้องเต้นตามกระแส เราควรหาทางทำให้ราคาพลังงานในประเทศนิ่งให้ได้ และทำให้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกลดลง ฉะนั้นการจะทำตรงนี้ได้ ต้องปรับปรุงกฎหมาย และรูปแบบการทำงาน หรือการกำหนดวิธีการดูแลระดับราคาพลังงานให้เป็นรูปแบบใหม่ ไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

รมว.พลังงงาน กล่าวถึงการสู้รบในประเทศอิสราเอลว่า ถ้ามีปัญหาแบบนี้ก็กระทบทั่วโลกอยู่แล้ว แต่คิดว่าทุกประเทศก็ต้องคิดเหมือนกันว่าเมื่อเจอปัญหาแบบนี้ จะดูแลและป้องกันคนของตัวเองอย่างไร ซึ่งประเทศไทยก็หนีไม่พ้น เราต้องมานั่งคิดว่าควรทำอย่างไร เมื่อเกิดเหตุต่าง ๆ เพื่อกำกับดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในหลักที่ประชาชนไม่เดือดร้อน ไม่ใช่ปล่อยนิ่งให้อยู่แบบที่เป็นมา ไม่เช่นนั้นเราจะเจอผลกระทบอีกแบบหนึ่ง

“ขณะนี้ผมกำลังศึกษารูปแบบต่าง ๆ เพื่อจะเร่งดำเนินการปรับปรุงอยู่ ส่วนจะเป็นแนวทางใดยังพูดไม่ได้ ยังไม่สรุปว่า จะเป็นแบบไหน หากพูดไปก่อนอาจทำให้ข้อมูลสับสน เอาเป็นว่าตอนนี้กำลังหาวิธีการใหม่ในการรักษาระดับราคาพลังงาน ไม่ให้กระทบปัจจัยภายนอก” รมว.พลังงานกล่าว

'พีระพันธุ์' จ่อเสนอ นายกฯ รื้อระบบกองทุนน้ำมัน เข้าใจทุกข์ประชาชน เจอราคาไม่นิ่ง 'ขึ้น-ลง' เหมือนตลาดหุ้น

(16 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความกังวลประชาชนที่ห่วงว่า ราคาอาจจะกลับไปอยู่ที่ราคาเดิมแม้รัฐบาลจะประกาศปรับลดราคาน้ำมันลงมาถึง 2 บาท ว่า เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาซึ่งต้องเข้าใจผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องเข้าใจประชาชนกับรัฐบาลด้วยคิดว่าราคาพลังงานตอนนี้ มันไม่ใช่หุ้นที่ปรับขึ้นลงทุกวินาที ปรับทุกวัน แต่ยอมรับว่า ราคาพลังงานโลกก็เป็นแบบเดียวกันมีขึ้นลงตามสถานการณ์ ตนเองคิดว่า จะให้ประชาชนมารับภาระราคาที่วิ่งขึ้นวิ่งลงทุกวันแบบนี้ก็ไม่ถูกต้องจึงควรต้องมีระบบมาวางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันที่ขายให้กับประชาชน

ส่วนการปรับราคาขึ้นลงเป็นเรื่องระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐจะต้องมาหารือกันจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ไม่ใช่ว่า ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นวิ่งลงอยู่ตลอดเวลาแบบนี้ แล้วรัฐก็คำนวณ และควบคุมไม่ได้ ตนเองจึงเห็นว่าเป็นระบบที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาแก้ไขปัญหานี้อยู่ จะทำยังไงให้ราคาซื้อขายน้ำมันที่ประชาชนซื้อจากปั๊มมีเสถียรภาพ มีราคาที่แน่นอน

ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นลงประจำวันแต่ละวันแต่ละนาทีก็ให้เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการไปว่ากัน ซึ่งตนเองกำลังคิดระบบนี้อยู่เพื่อประชาชนไม่ต้องมาแบกรับเหมือนอย่างที่ทุกวันนี้ พร้อมย้ำว่าทั้งหมดต้องศึกษาโครงสร้างกันใหม่ โครงสร้างที่มีก็ใช้มา 30 ปี จึงถึงเวลาต้องปรับปรุง

"อย่างอื่นยังปรับปรุงได้แล้วเรื่องนี้ทำไมไม่ปรับปรุง เอะอะก็มาอ้างเรื่อง เรื่องการค้าเสรีแต่ประชาชนมีปัญหาคิดว่ามันไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นแบบนี้ก็อย่ามีรัฐจะดีกว่า ผมเห็นว่าควรจะมานั่งคิดระบบที่จะให้ประชาชนมีความเดือดร้อนน้อยลงและปัญหาก็ให้เป็นเรื่องระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐ"

ส่วนจะใช้เวลานานหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า จะพยายามทำให้เร็วที่สุดเพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อนตนเองคิดเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันก็เห็นว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันประจำวันแบบนี้เหมือนราคาหุ้น แล้วกองทุนน้ำมันก็มานั่งประชุมกันทุกวันแบบนี้ ก็ไม่ต้องทำอะไรกันเลย วัน ๆ มานั่งประชุมคิดแต่ว่าต้องปรับราคาขึ้นกี่สตางค์ งานก็มีตั้งเยอะ ไม่ใช่มานั่งคิดแต่เรื่องเดียว ซึ่งไม่ใช่วิธีการบริหารจัดการที่ถูกต้องแบบนี้ต้องปรับปรุงแก้ไข

ขณะเดียวกันก็ได้รายงานปัญหาทั้งหมดให้กับนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ รวมถึงปัญหาเรื่องไหนบ้างที่ต้องแก้ไข ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็แสดงความคิดเห็นมา และก็สนับสนุนทุกเรื่อง เพราะทุกเรื่องที่ตนเองทำล้วนเป็นเรื่องที่ทำเพื่อประชาชนซึ่งตรงกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล จึงคิดว่าไม่มีปัญหาอะไรเพียงแต่ว่าทุกอย่างต้องคิดด้วยความรอบคอบ มันไม่ใช่คิดแล้วทำทันที แต่ต้องเริ่มคิด เพราะประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการที่เคยมีระบบแบบนี้มานาน รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เคยชินกับระบบแบบนี้ถ้าจะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงก็ค่อย ๆ ดูรูปแบบว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเองเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน จะให้นั่งเฉย ดูประชาชนเดือดร้อน ซึ่งแบบนี้ทำไม่ได้

‘พีระพันธุ์’ เล็ง ‘รื้อระบบพลังงานไทย’ หลังวางแผนผิดมาหลาย 10 ปี

อยากรู้ อยากเคลียร์เบื้องลึก ว่าทำไม ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ถึงกล้าที่จะประกาศ ‘รื้อ’ โครงสร้างพลังงานทั้งระบบอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน!! ติดตามต่อเต็ม ๆ ได้ที่ >> ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ 👉 https://youtu.be/WoVPPtVOM0c 

กองทุนน้ำมันแบกหนี้อ่วม 'ทุกยุค-ทุกรัฐบาล' เพื่อช่วยคนไทย ทางแก้!! ต้องกล้าทำระบบ SPR สำรองเชื้อเพลิงให้ประเทศ

วิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นรอบนี้เกิดขึ้นเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2022 ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 2 ปีแล้ว ประจวบกับการปะทะกันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ปาเลสไตน์ ซ้ำบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและอิสราเอลเพิ่มขึ้น 

เงื่อนไขปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกเมื่อปลายปี 2021 ที่เคยอยู่ที่บาร์เรลละ 75-78 ดอลลาร์ ขยับขึ้นมาเป็นบาร์เรลละ 90-122 ดอลลาร์ในปี 2022 และบาร์เรลละ 75-91 ดอลลาร์ในปี 2023 ส่วนในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบของโลกเฉลี่ยอยู่ที่บาร์เรลละ 80-90 ดอลลาร์ 

จากวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานในครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยต้องใช้เงินจาก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เพื่ออุดหนุนชดเชยเพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ซึ่งถือเป็นน้ำมันเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรถโดยสารและรถบรรทุกขนส่งส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงทั้งสิ้น

โดย ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มาจาก 3 ส่วน คือ...
- ส่วนของภาษีสรรพสามิตที่กรมสรรพสามิตเรียกเก็บจากผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ
- ส่วนของภาษีศุลกากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บจากผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
- ส่วนของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้รับสัมปทานที่ทำธุรกิจก๊าซ ซึ่งต้องนำส่งเงินให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มีบทบาทและภารกิจที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ ในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวน เกิดสภาวะวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาระดับของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ให้สูงเกินไปจนเกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน และการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้กรอบการดำเนินงานของแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567 

โดย ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ได้กำหนดแนวทางสำคัญในการใช้เงินกองทุนฯ ไว้ 3 ประการ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดังนี้...

1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศสูงกว่า 30 บาท/ลิตร และราคาขายปลีก LPG เกิน 363 บาท/ถัง (15 กก.)

2. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง (1) ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นมากกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลใน 1 สัปดาห์ และส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกปรับขึ้นมากกว่า 1 บาท/ลิตร (2) ราคา LPG ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ เฉลี่ยมากกว่า 35 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือ ราคา LPG ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 1 บาท/กก.

3. สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ

ทั้งนี้ในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ จะมุ่งเน้นการอุดหนุนและชดเชยในระยะสั้นเพียงชั่วคราวโดยยึดถือระเบียบวินัยทางการเงินการคลังเป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันการณ์กลับกลายเป็นว่า ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ติดลบมหาศาลมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเดือนละ 200-250 ล้านบาท หมายความว่า ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มียอดติดลบมากกว่า 100,000 ล้านบาทแล้ว นับแต่วิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงจาดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปี 2022 ไทยได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการอุดหนุนน้ำมันดีเซล และ LPG มาโดยตลอด เพราะเชื้อเพลิงทั้งสองชนิดนี้เป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และมีผลกระทบโดยตรงต้องพี่น้องประชาชนคนไทยซึ่งต้องบริโภคใช้งานเชื้อเพลิงทั้งสองชนิดนี้ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม 

กรณีการติดลบมหาศาลของ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ นี้ มีความพยายามที่จะป้ายความผิดให้กับ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่า การเข้ามารับผิดชอบดูแลกระทรวงพลังงานระยะเวลา 9 เดือนทำให้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เกิดปัญหาใหญ่เช่นนี้ขึ้น หากแต่พิจารณาด้วยเหตุและผลอย่างเป็นธรรมและมีตรรกะแล้ว จะพบว่าที่ผ่านมาชั่วนาตาปี รัฐบาลทุกชุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทุกคนต่างก็ใช้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นเครื่องมือที่สามารถทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดเพียงเครื่องมือเดียวที่ภาครัฐมีอยู่ 

เพราะเครื่องมืออื่น ๆ ไม่ว่าจะ บทบาท อำนาจหน้าที่ และกฎหมาย ที่มีอยู่ไม่สามารถใช้งานแก้ไขปัญหาราคาเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพได้ รองฯ ‘พีระพันธุ์’ จึงต้องใช้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่มีอยู่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเป็นการลดทอนและบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG ของพี่น้องประชาชนคนไทยไปพลาง ๆ ก่อน พร้อมกับออกนโยบาย ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ นโยบาย ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของ รองฯ ‘พีระพันธุ์’ ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว มีทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ และอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อดำเนินการ

ดังนั้นในส่วนของ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เมื่อวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงได้เบาคลายลงแล้ว สถานการณ์การติดลบก็จะกลับมาดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แล้วจะค่อย ๆ ลดบทบาทลง โดยจะมี SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ของรองฯ ‘พีระพันธุ์’ เข้ามามีบทบาททำหน้าแทนที่มากขึ้น 

พูดง่าย ๆ ก็คือ ในอนาคตเมื่อรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้กลายเป็นผู้ถือครองปริมาณน้ำมันมากที่สุดในประเทศเพียงพอสำหรับการใช้งาน 50-90 วันแล้ว รัฐบาลย่อมสามารถนำปริมาณน้ำมันสำรองเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ หลังจากที่ผ่านมาปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากวิกฤตเชื้อเพลิงมีการใช้ ‘เงิน’ จาก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ในการแก้ไขปัญหา 

ทว่าเมื่อ SPR เกิดขึ้น ‘เงิน’ จากกองทุนน้ำมันก็จะถูกลดทอนบทบาทและต้องมาเป็นคำตอบหลักในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอีกไป เพราะในบางสถานการณ์ต่อให้มี ‘เงิน’ ก็อาจไม่สามารถหาซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่สามารถขนส่งมาประเทศไทยได้ 

ดังนั้น SPR ด้วยการถือครอง ‘น้ำเชื้อเพลิงสำรอง’ โดยรัฐที่มากพอ (สำหรับการใช้งาน 50-90 วัน) จนกระทั่งวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงคลายตัวลง จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดในยามนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top