Tuesday, 22 April 2025
กรีนแลนด์

ย้อนประเด็น 'กรีนแลนด์-ปานามา-แคนาดา' 'ทรัมป์' หมายตาคิดผนวกดินแดน

(24 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังไม่ทันเข้าสาบานตนรับตำแหน่งสมัยสอง ก็ออกมาพูดหลายครั้งถึงประเด็นอธิปไตยในต่างแดนหลายต่อหลายครั้ง ที่แม้ฟังดูเป็นเรื่องติดตลก แต่ทรัมป์ก็ให้เหตุผลที่น่าคิดอยู่ไม่น้อยเลยที่เดียวตามแนวคิด 'อเมริกามาก่อน'  

เริ่มตั้งแต่ประเด็นกับชาติเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา โดยทรัมป์ได้กล่าวเมื่อ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา ระหว่างการหารือมื้อค่ำกับ นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ที่มาร์อาลาโก้ บ้านพักตากอากาศของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในรัฐฟลอริด้า 

การเยือนครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาขู่ว่าแคนาดาอาจจะโดนกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% เมื่อกลับเข้าสู่ทำเนียบขาว เพื่อบีบบังคับให้เร่งจัดการกับปัญหายาเสพติดและผู้อพยพที่เข้ามาในสหรัฐ โดยเรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าสงครามการค้าในภูมิภาคอาจจะเกิดขึ้น นายกทรูโดจึงรีบรุดหารือเป็นการส่วนตัวกับทรัมป์

ในระหว่างการหารือมื้อค่ำของสองผู้นำ นายกแคนาดาได้รับปากว่าจะแก้ปัญหาเรื่องภาษีศุลกากรแต่ก็อาจมีข้อจำกัดบางประการในประเด็นที่รัฐบาลท้องถิ่นในบางแคว้นของแคนาดาที่มีอาณาเขตติดกับพรมแดนสหรัฐฯ สามารถกำหนดอัตราภาษีศุลกากรได้ด้วยตนเอง

ทรูโดกล่าวกับทรัมป์ว่า เขาไม่สามารถเรียกเก็บภาษีนำเข้าได้เพราะจะทำลายเศรษฐกิจของแคนาดาอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งเป็นสิทธิ์ของรัฐบาลแคว้นท้องถิ่น ซึ่งทรัมป์ตอบเชิงติดตลกว่า

"ถ้าแคนาดาไม่สามารถจัดการปัญหาภาษีศุลกากรได้ ประเทศคุณก็คงไม่สามารถเลี่ยงกำแพงภาษีสหรัฐได้ เว้นเสียแต่บางแคว้นของแคนาดาจะเข้าร่วมเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ"

ต่อมา 20 ธันวาคม ทรัมป์ โพสต์ลงในแพลตฟอร์ม ทรูธ โซเชียล (Truth Social) แซวว่าเป็นความคิดที่ดี หากแคนาดาเข้าเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐอเมริกา และชาวแคนาดาเองก็เห็นด้วยกับไอเดียนี้ ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมีใจความว่า "ไม่มีตอบได้ว่าทำไมเราต้องจ่ายเงินช่วยแคนาดาปีละ 100 ล้านล้านดอลลาร์ ไม่สมเหตุสมผล! ชาวแคนาดาอยากให้แคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ เพราะคงช่วยประหยัดภาษีไปได้มากและได้ความคุ้มครองทางทหาร ผมคิดว่ามันเป็นไอเดียที่ดี รัฐที่ 51!"

ในประเด็นเรื่องคลองปานามา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้วิจารณ์รัฐบาลปานามาอย่างรุนแรง หลังจากที่เขาขู่ว่าจะยึดคลองปานามาคืน หากปานามาไม่สามารถแก้ไขปัญหาค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นที่เรียกเก็บจากเรือสินค้าของสหรัฐฯ ที่แล่นผ่านคลองดังกล่าว

ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ทรูธ โซเชียล ว่า “กองเรือและการค้าของเราได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ค่าธรรมเนียมที่ปานามาเรียกเก็บนั้นไร้เหตุผลจริง ๆ” พร้อมทั้งระบุว่า การเอาเปรียบสหรัฐฯ “ต้องยุติลงทันที”

ประธานาธิบดียังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากปานามาไม่สามารถรับประกันความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือของคลองปานามาได้ "สหรัฐฯ จะขอเรียกคืนคลองปานามากลับมาเป็นของเราอย่างเต็มรูปแบบ"

คลองปานามาได้รับการขุดเสร็จสมบูรณ์โดยสหรัฐฯ ในปี 1914 ก่อนที่จะส่งคืนให้กับปานามาภายใต้สนธิสัญญาในปี 1977 ที่ลงนามโดยอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ และปานามาได้รับการควบคุมคลองนี้อย่างสมบูรณ์ในปี 1999

ในด้านของปานามา ประธานาธิบดีโฮเซ่ ราอูล มูลิโน ได้ตอบโต้ทรัมป์ในวิดีโอว่า “ทุกตารางเมตรของคลองปานามาคือของปานามาและจะเป็นเช่นนั้นต่อไป” ขณะที่ทรัมป์ได้โพสต์ตอบกลับในสื่อสังคมออนไลน์ของเขาว่า “เดี๋ยวได้รู้กัน”

ส่วนเรื่องกรีนแลนด์ ย้อนกลับไปในปี 2019 ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก ทรัมป์เคยพูดเรื่องการซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก โดยทรัมป์กลับมาฟื้นประเด็นนี้อีกครั้งหลังจากที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้เสนอชื่อนาย เคน ฮาวเวอรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวีเดนและนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเดนมาร์กคนใหม่ โดยทรัมป์เชื่อมั่นว่าฮาวเวอรีจะ "ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ"

โดนัลด์ ทรัมป์  กล่าวผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล Truth Social โดยยืนยันถึงการฟื้นแนวคิดการเป็นเจ้าของพื้นที่กรีนแลนด์ ซึ่งทรัมป์มองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง

"เพื่อความมั่นคงและส่งเสริมเสรีภาพทั่วโลก สหรัฐอเมริกาเห็นว่าการเป็นเจ้าของและควบคุมพื้นที่กรีนแลนด์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง"

ย้อนไปในปี 2019 สื่อหลายแห่งรายงานว่าทรัมป์มีความสนใจที่จะซื้อกรีนแลนด์ ซึ่งต่อมาเขาเองยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าเป็นความสนใจเชิงยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกรีนแลนด์ย้ำว่ากรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่จะขายได้ ขณะที่รัฐบาลเดนมาร์กแสดงความหวังว่าทรัมป์กำลังพูดเล่น และเรียกแนวคิดการขายกรีนแลนด์ว่า 'ไร้สาระ'

สำหรับกรีนแลนด์ปัจจุบันถือเป็นดินแดนอาณานิคมของเดนมาร์กถึงปี 1953 แม้ว่าจะยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดนมาร์ก แต่ในปี 2009 กรีนแลนด์ได้รับสิทธิ์ปกครองตนเองและสามารถตัดสินใจเรื่องนโยบายภายในประเทศได้อย่างอิสระ

จากประเด็นทั้งหมด ด้านสตีเฟน ฟาร์นสเวิร์ธ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก University of Mary Washington ในรัฐเวอร์จิเนีย บอกว่า ทรัมป์ใช้แนวทางอันก้าวร้าวแบบนักธุรกิจในการหยิกแกมหยอกประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ และมองว่าทั้งกรณีของแคนาดาและกรีนแลนด์ ทรัมป์เพียงแค่ต้องการเอาชนะ ไม่ว่าจะในเรื่องการค้า พรมแดน หรือในประเด็นอื่น ๆ กับประเทศพันธมิตร

ย้อนเปิดยุทธศาสตร์จากยุคปธน.ทรูเเมน 'เเปซิฟิกมีอะเเลสกา เเอตเเลนติกก็ควรมีกรีนเเลนด์'

(26 ธ.ค. 67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 เคยเสนอให้สหรัฐฯ ซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์กในช่วงปี 2019 ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก แต่แนวคิดดังกล่าวถูกปฏิเสธจากเดนมาร์ก โดยชี้ว่า "กรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่สามารถขายได้" ล่าสุดในปี 2024 ทรัมป์ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเสนอชื่อนายเคน ฮาวเวอรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวีเดน และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเดนมาร์กคนใหม่ โดยทรัมป์มั่นใจว่าฮาวเวอรีจะทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ

ทรัมป์ยังได้ย้ำผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล Truth Social โดยระบุถึงความสำคัญของการเป็นเจ้าของกรีนแลนด์ โดยมองว่าเพื่อเสริมความมั่นคงและเสรีภาพทั่วโลก สหรัฐฯ ควรมีอำนาจในการครอบครองและควบคุมพื้นที่กรีนแลนด์

ดินแดนกรีนแลนด์ ถูกจัดว่าเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่เหนือสุดของโลกในแถบขั้วโลกเหนือ มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลถึง2,175,900 ตารางกิโลเมตร และมีสถานะเป็นดินแดนในคุ้มครองของเดนมาร์ก มีประชากรอยู่ราว 57,000 คน กรีนแลนด์เพิ่งมีสถานะเป็นดินแดนเอกราชปกครองตนเองในปี 2009 ประชาชนมีการเลือกรัฐบาลท้องถิ่นเป็นของตนเอง พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรีนแลนด์เต็มไปด้วยน้ำแข็งและดินแดนอันเวิ้งว้างที่หนาวเหน็บ แต่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย

ข้อมูลจากรายงานที่มีชื่อว่า "The Greenland Gold Rush: Promise and Pitfalls of Greenland’s Energy and Mineral Resources" ระบุว่า ในขณะที่โลกกำลังเผชิญสภาวะโลกร้อน แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อกรีนแลนด์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ .. การละลายของน้ำแข็งในอาร์คติกส่งผลให้ทรัพยากรอันมีค่าหลากหลายชนิดของกรีนแลนด์ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดเพราะเข้าถึงได้ง่าย อาทิ แร่เหล็ก ตะกั่ว สังกะสี เพชร ทองคำ องค์ประกอบธาตุหายาก (แรร์เอิรธ์) ยูเรเนียม และน้ำมัน

การที่กรีนแลนด์สามารถมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อปกครองตนเอง ที่เป็นอิสระจากรัฐบาลกลางเดนมาร์ก ส่งผลให้กรีนแลนด์สามารถแสวงหาผลประโยชน์เหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้นเช่นกัน .. แต่ก็ใช่ว่ากรีนแลนด์จะขุดทุกอย่างออกมาขาย ด้วยวิถีการดำเนินเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง กรีนแลนด์จึงระมัดระวังอย่างมากในการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ 

แม้ทรัมป์จะไม่เคยกล่าวถึงเหตุผลชัดเจนว่าทำไมเขาต้องการกรีนแลนด์ แต่สามารถคาดเดาได้ว่าเพราะเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมายรอการขุดค้น ขณะที่ยังมีอีกเหตุผลด้านความมั่นคง  

แนวคิดการซื้อกรีนแลนด์ด้านความมั่นคงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์เท่านั้น เพราะในปี 1946 สมัยประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 33 ก็เคยเสนอซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์กด้วยจำนวนเงิน 100 ล้านดอลลาร์ ภายใต้แนวคิด "หากทางแปซิฟิกมีอะแลสกา ทางแอตแลนติกก็ควรมีกรีนแลนด์" แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธทั้งจากเดนมาร์กและประชาชนในกรีนแลนด์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงจากสหรัฐฯ 

แม้การซื้อกรีนแลนด์จะไม่สำเร็จ แต่สหรัฐฯ ยังคงรักษาอิทธิพลในกรีนแลนด์ผ่านข้อตกลงการตั้งฐานทัพทูล (Thule Air Base Agreement) เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงทางยุทธศาสตร์จ  ให้ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังคงมีฐานทัพอากาศ Thule Air Base ประจำการในกรีนแลนด์มาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเป็นฐานทัพอากาศสำคัญในการป้องกันการรุกรานจากสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น และยังเป็นฐานทัพอากาศสหรัฐที่ตั้งอยู่ในบริเวณเหนือสุดของโลกอีกด้วย

'เดนมาร์ก' ทุ่มงบกลาโหม หลังทรัมป์เปรยอยากผนวกดินแดน

(25 ธ.ค. 67) รัฐบาลเดนมาร์กประกาศเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมสำหรับเกาะกรีนแลนด์อย่างมาก หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความต้องการซื้อเกาะแห่งนี้เป็นครั้งที่สอง นักวิเคราะห์มองว่า นี่เป็นการเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาดของทรัมป์

รายงานจากบีบีซีระบุว่า รัฐบาลเดนมาร์กประกาศเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันสำหรับเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรัมป์แสดงความต้องการซื้อเกาะแห่งนี้อีกครั้ง

โทรลส์ ลุนด์ พูลเซ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเดนมาร์กกล่าวว่า งบประมาณด้านกลาโหมสำหรับเกาะกรีนแลนด์จะมีมูลค่าหลายพันล้านโครน ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 51,000 ล้านบาท) โดยจะใช้ในการซื้อเรือลาดตระเวน 2 ลำ โดรนพิสัยไกล 2 ลำ และทีมสุนัขลากเลื่อนพิเศษ 2 ตัว รวมถึงการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ที่หน่วยบัญชาการอาร์กติกในเมืองนุก และการอัพเกรดสนามบินพลเรือนหนึ่งแห่งเพื่อรองรับเครื่องบินรบรุ่น F-35

นายพูลเซ่นกล่าวว่า การประกาศเพิ่มงบฯ กลาโหมในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมหลังจากที่ทรัมป์ประกาศว่า ความเป็นเจ้าของและการควบคุมเกาะกรีนแลนด์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสหรัฐฯ

เกาะกรีนแลนด์เป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์ก และเป็นแหล่งที่ตั้งของศูนย์อวกาศสำคัญของสหรัฐฯ โดยมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่ในเส้นทางที่สั้นที่สุดระหว่างทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป และเป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญ

การเพิ่มงบฯ กลาโหมนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของเดนมาร์กในการเสริมความแข็งแกร่งด้านการป้องกันในภูมิภาคอาร์กติก ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่าเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของสหรัฐฯ ที่อาจจะเพิ่มขึ้นหากเดนมาร์กไม่สามารถปกป้องพื้นที่ดังกล่าวจากการขยายอิทธิพลของจีนและรัสเซียได้

มูเต เอเกเด นายกรัฐมนตรีเกาะกรีนแลนด์กล่าวว่า เกาะของเราจะไม่ถูกขาย แต่เขายังเน้นว่า ชาวกรีนแลนด์ควรเปิดกว้างสำหรับความร่วมมือและการค้า โดยเฉพาะกับเพื่อนบ้าน

สำหรับข้อเสนอที่ทรัมป์ยื่นซื้อเกาะกรีนแลนด์ในปี 2019 ได้รับการตำหนิจากผู้นำเดนมาร์กในขณะนั้นอย่างรุนแรง จนกระทั่งทรัมป์ยกเลิกการเยือนเดนมาร์ก

ทั้งนี้ แนวคิดในการซื้อเกาะกรีนแลนด์ของสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยมีการพูดถึงครั้งแรกในยุคประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ในช่วงทศวรรษ 1860

ย้อนรอยการซื้อดินแดนของสหรัฐฯ หลังทรัมป์หวังผนวกกรีนแลนด์

(26 ธ.ค. 67) จากกรณีว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความสนใจอยากได้กรีนแลนด์มาเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ โดยทรัมป์มีแนวคิดยื่นข้อเสนอซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก ซึ่งแม้จะไม่ชัดเจนว่าเป็นมูลค่าเท่าใด แต่ดูท่าทางเดนมาร์กจะไม่มีวันยอมขายดินแดนกรีนแลนด์ให้สหรัฐอย่างแน่นอน

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เคยใช้วิธีการจ่ายเงินเพื่อซื้อดินแดนมาผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐมาแล้วในหลายครั้ง โดยมีเหตุการณ์สำคัญดังนี้

การซื้อดินแดนลุยเซียนา เมื่อปี 1803 ประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน ลงนามข้อตกลงกับฝรั่งเศส ซื้อดินแดนลุยเซียนา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.14 ล้านตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปีเริ่มต้นจากอ่าวเม็กซิโกจรดทางใต้ของแคนาดา ด้วยเงินจำนวน 15 ล้านดอลลาร์ในยุคนั้น พร้อมยกหนี้กว่า 3.7 ล้านดอลลาร์ให้ราชสำนักฝรั่งเศส หากคิดเป็นมูลค่าในปัจจุบัน ราคาดินแดนนี้จะสูงถึง 340 พันล้านดอลลาร์

การซื้ออะแลสกา ในปี 1867 สหรัฐฯ เคยซื้อดินแดนอะแลสกาจากจักรวรรดิรัสเซีย ในรัชสมัยของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ด้วยราคา 7.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันจะอยู่ที่กว่า 109 ล้านดอลลาร์ การซื้อครั้งนี้คุ้มค่าอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่สหรัฐขุดพบในห้วงเวลาต่อมา

สนธิสัญญากัวดาลูปอีดัลโก ในปี 1848 หลังสงครามเม็กซิโก-อเมริกา สหรัฐฯ และเม็กซิโกได้ลงนามในสนธิสัญญากัวดาลูปอีดัลโก ซึ่งระบุให้สหรัฐฯ จ่ายเงิน 15 ล้านดอลลาร์แก่เม็กซิโก เพื่อแลกกับการครอบครองดินแดนทางฝั่งตะวันตก เช่น แคลิฟอร์เนีย และรัฐอื่นๆ พร้อมกำหนดให้แม่น้ำริโอแกรนด์เป็นพรมแดนธรรมชาติ 

ขณะการซื้อฟลอริดา หรือที่รู้จักกันในชื่อ สนธิสัญญาอดัมส์–โอนิส (Adams–Onís Treaty) เป็นข้อตกลงที่ลงนามในปี ค.ศ. 1819 ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสเปน สนธิสัญญานี้มีความสำคัญในการโอนดินแดนฟลอริดาจากสเปนมายังสหรัฐฯ  โดยสหรัฐจ่ายเงินมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์แก่ราชสำนักสเปนเพื่อโอนกรรมสิทธิ์การครอบครองดินแดนฟลอริด้า

ภายใต้สนธิสัญญานี้ สเปนได้ยินยอมสละสิทธิ์ในฟลอริดา พร้อมทั้งปรับปรุงขอบเขตของดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือเพื่อแก้ไขข้อพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างสองประเทศ การโอนดินแดนนี้ช่วยเสริมอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีป ในขณะที่สเปนเลือกที่จะมุ่งเน้นอำนาจไปที่ดินแดนในอเมริกาใต้แทน

แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีประวัติศาสตร์การซื้อดินแดนที่สำคัญหลายครั้ง แต่ในกรณีของกรีนแลนด์ ดูเหมือนว่าการเจรจานี้จะไม่ง่าย เพราะเดนมาร์กยังคงยืนกรานไม่ขายดินแดนดังกล่าวให้สหรัฐฯ อย่างชัดเจน

ทรัมป์ปิ๊งไอเดีย เปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' เผยฟังไพเราะดี แย้มแผนขยายดินแดนปานามา-กรีนแลนด์

(8 ม.ค.68) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างกระแสฮือฮาอีกครั้งเมื่อวันอังคาร (7 ม.ค.) ด้วยการประกาศแผนเปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' โดยถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เขาเสนอเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของสหรัฐฯ ก่อนเข้ารับตำแหน่งในปลายเดือนนี้ 

พร้อมกันนั้น ทรัมป์ยังเปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในการใช้กำลังทหารหรือมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อครอบครอง 'คลองปานามา' และ 'กรีนแลนด์' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์การขยายดินแดนที่เขาพยายามผลักดันตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พ.ย.  

ทรัมป์ยังกล่าวถึงแนวคิดการผนวก 'แคนาดา' ให้กลายเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ พร้อมระบุว่าจะกดดันพันธมิตรในองค์การนาโต (NATO) ให้เพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม และย้ำถึงความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก'  

แม้ยังมีเวลาอีกสองสัปดาห์ก่อนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่ทรัมป์ได้เริ่มร่างนโยบายต่างประเทศเชิงรุก โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักการทางการทูตหรือความกังวลจากประเทศพันธมิตร  

เมื่อถูกถามในงานแถลงข่าวที่รีสอร์ตในฟลอริดา ว่าจะรับประกันได้หรือไม่ว่าจะไม่ใช้กำลังทหารหรือมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อยึดคลองปานามาและกรีนแลนด์ ทรัมป์ตอบว่า  

“ผมรับประกันไม่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเรา”  

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังวิจารณ์การที่สหรัฐฯ ต้องสนับสนุนแคนาดาโดยไม่ได้รับผลตอบแทน พร้อมกล่าวถึงเส้นพรมแดนระหว่างสองประเทศว่าเป็นเพียง 'เส้นที่ใครบางคนขีดขึ้นมา'  

เขายังขู่จะตั้งกำแพงภาษีกับเดนมาร์ก หากเดนมาร์กไม่ยอมขายกรีนแลนด์ให้สหรัฐฯ โดยอ้างว่ากรีนแลนด์มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ขณะที่ก่อนการแถลงการณ์ ดอน จูเนียร์ บุตรชายของทรัมป์ได้เดินทางเยือนกรีนแลนด์เป็นการส่วนตัว  

ด้านเดนมาร์กแสดงจุดยืนชัดเจน โดยเมตเต เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ย้ำว่า 'กรีนแลนด์' ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองในราชอาณาจักรเดนมาร์ก ไม่ได้มีไว้ขาย  

“การใช้มาตรการทางการเงินมาต่อสู้กันไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม เมื่อเรายังเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด” เฟรเดอริกเซนกล่าวเพื่อตอบโต้แถลงการณ์ของทรัมป์ในคืนวันอังคารที่ผ่านมา

'ทรัมป์' ส่งลูกชายเยือนกรีนแลนด์ เชื่อหวังฮุบน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ

(8 ม.ค.68) โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางเยือนกรุงนุก เมืองหลวงของกรีนแลนด์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หนึ่งวันหลังจากบิดาของเขากล่าวย้ำถึงความสนใจในเกาะกึ่งปกครองตนเองแห่งนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของเดนมาร์ก

รายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่า ทรัมป์ จูเนียร์ ใช้เครื่องบินส่วนตัวเดินทางไปยังกรุงนุก โดยใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ราว 4-5 ชั่วโมงโดยไม่มีการเข้าพบเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นแต่อย่างใด เกาะแห่งนี้มีประชากรราว 57,000 คน และเป็นจุดหมายที่เขาเผยว่าตั้งใจจะเยี่ยมชมตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา

ทรัมป์ จูเนียร์ โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม X พร้อมวิดีโอจากห้องนักบิน ขณะเครื่องบินกำลังลงจอดบนดินแดนที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะว่า “กรีนแลนด์กำลังร้อน... แต่หนาวมาก!” เขาเสริมว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นการมาเยือนในฐานะนักท่องเที่ยว และพ่อของเขาก็ฝากคำทักทายมายังชาวกรีนแลนด์ด้วย

ความสนใจของทรัมป์ต่อกรีนแลนด์สร้างความฮือฮา เนื่องจากเขาเคยกล่าวไว้ว่า การที่สหรัฐเข้าควบคุมเกาะแห่งนี้เป็นสิ่งที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” พร้อมโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดียว่า “ทำให้กรีนแลนด์ยิ่งใหญ่อีกครั้ง!” แนวคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศที่ไม่ยึดติดกับกรอบทางการทูตแบบดั้งเดิม

ด้านนายกฯ เมตต์ เฟรเดอริกสัน ของเดนมาร์ก ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า เธอไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้กับพันธมิตรใกล้ชิดอย่างสหรัฐ และย้ำว่า “กรีนแลนด์ไม่ได้มีไว้ขาย” 

นายกฯ มิวต์ เอเกเด ของกรีนแลนด์เองก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า อนาคตของกรีนแลนด์ขึ้นอยู่กับชาวกรีนแลนด์ และการแสดงความคิดเห็นจากต่างชาติไม่ควรทำให้ดินแดนแห่งนี้เปลี่ยนทิศทางการพัฒนาของตัวเอง

กรีนแลนด์ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของกองทัพสหรัฐ และยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงพึ่งพาการประมงและการสนับสนุนจากเดนมาร์กเป็นหลัก

สมาชิกสภาจากกรีนแลนด์ อาจา เคมนิตซ์ กล่าวชัดเจนว่า เธอไม่ต้องการให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทะเยอทะยานทางการเมืองของทรัมป์ พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องดินแดนนี้จากอิทธิพลภายนอก

การเดินทางของทรัมป์ จูเนียร์ แม้จะถูกระบุว่าเป็นเพียงการเยือนส่วนตัว แต่ก็ยิ่งทำให้กรีนแลนด์กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามองอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในเวทีการเมืองโลก

เปิดแผนลับเพนตากอน แม้ทรัมป์พลาดซื้อกรีนแลนด์ แต่เล็งส่งยามฝั่งคุม หวังปิดทางรัสเซียสู่อาร์กติก

(13 ม.ค. 68) การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ สร้างความตะลึงไปทั่วโลกด้วยการป่าวประกาศว่าจะซื้อดินแดนกรีนแลนด์จากเดนมาร์กนั้น หากพิจารณาให้ลึกซึ้ง แนวคิดของทรัมป์แทบไม่ได้ต่างอะไรกับกลยุทธ์ของผู้นำสหรัฐคนก่อนหน้านี้ที่ให้ความสนใจในดินแดนกรีนแลนด์อยู่แล้ว

อิรินา สเตรลนิโควา นักวิเคราะห์ด้านการต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งมอสโก กล่าวกับ Sputnik ตามแนวทางกลยุทธ์อาร์กติกที่เพนตากอนเผยแพร่กลางปี 2024 ระบุถึงบทบาทสำคัญของกรีนแลนด์ในแผนการของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ โดยการออกมาประกาศความสนใจซื้อดินแดนของทรัมป์ต่างเพียงบางจุดจากแผนการของเพนตากอนเพียงเท่านั้น

“กลยุทธ์ใหม่นี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขยายศักยภาพของสหรัฐฯ สำหรับการดำเนินการในเขตอาร์กติก โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร การข่าว การสอดแนม และความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วน” เธอกล่าว  

สำหรับแผนของทรัมป์นั้น “ถ้าพิจารณาว่าแผนนี้เป็นอะไรที่ใหม่หรือไม่คาดคิด คำตอบคือไม่ นี่เป็นเพียงวิธีการแสดงออกที่มีเอกลักษณ์ในแแบบเฉพาะตัวของทรัมป์เท่านั้น” สเตรลนิโควาอธิบาย  
 
นักเคราะห์จากมอสโกยังกล่าวว่า เหตุผลหลักเนื่องจากกรีนแลนด์เป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ซึ่งเป็นไปตามที่ระบุในแผนกลยุทธ์แอตแลนติกเหนือที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐเผยแพร่เมื่อช่วงกลางปี 2024 โดยเพนตากอนมีแผนจะปรับปรุงยกระดับฐานทัพ Thule Air Base อย่างครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม รัสเซียรับรู้ถึงแผนของสหรัฐฯ ล่วงหน้าก่อนที่ทรัมป์จะมีบทบาท ซึ่งมอสโกได้เตรียมมาตรการเพื่อจัดการกับความเสี่ยงต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว

สเตรลนิโควาเชื่อว่าทรัมป์ไม่น่าจะประสบความสำเร็จในการซื้อกรีนแลนด์ แต่หากสำเร็จ สิ่งที่รัสเซียต้องกังวลอย่างยิ่งคือการลาดตระเวนของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ในพื้นที่ใกล้เคียงกรีนแลนด์ซึ่งจะทวีความถี่บ่อยขึ้น

“การส่งกำลังของสหรัฐฯ เพิ่มเติมในกรีนแลนด์จะลดศักยภาพการปฏิบัติการของกองเรือเหนือของรัสเซีย (Northern Fleet) และทำให้ฐานทัพเรือในเขตอาร์กติกของรัสเซียมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ แต่เราพร้อมรับมือ อย่างไรก็ตามที่สำคัญคือ จะไม่มีใครยอมขายกรีนแลนด์” เธอกล่าว  

สเตรลนิโควาชี้ว่า “หากสหรัฐไม่สามารถซื้อกรีนแลนด์ได้สำเร็จ สหรัฐจะใช่วิธีการส่งหน่วยยามฝั่ง (United States Coast Guard) เข้ามาลาดตระเวนในพื้นที่่แทน ซึ่งการกระทำนี้จะเป็นตัวกระตุ้นความตึงเครียดหลัก เพราะจากประสบการณ์และการกระทำของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้และเอเชียตะวันออก หน่วยยามฝั่งเป็นเครื่องมือกดดันที่ถูกใช้งานบ่อยกว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ และมีความก้าวร้าวในการสร้าง ‘พื้นที่สีเทาทางทะเล’ มากกว่า เนื่องจากมีต่อการเผชิญหน้าน้อยกว่า 

หน้าที่หลักของรัสเซียคือป้องกันไม่ให้หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นความตึงเครียดหลัก เข้าใกล้กรีนแลนด์ 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ จะมีศักยภาพในการเข้ามาในพื้นที่อาร์กติกได้เมื่อใด เนื่องจากโครงการต่อเรือตัดน้ำแข็งของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ นั้นประสบปัญหาล่าช้ามาตลอด จึงทำให้หน่วยยามฝั่งฯ ยังไม่มีเรือที่พร้อมจะเข้ามายังพื้นที่ตอนในของกรีนแลนด์ได้

เปิดแคมเปญซื้อแคลิฟอร์เนีย ตอบโต้ข้อเสนอฮุบกรีนแลนด์

(13 ก.พ.68) เดนมาร์กเปิดแคมเปญประชดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยข้อเสนอซื้อรัฐแคลิฟอร์เนียจากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ความพยายามของทรัมป์ที่ต้องการให้เกาะกรีนแลนด์กลายเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกา

แคมเปญนี้ใช้สโลแกน 'Make California Great Again' หรือ "ทำให้แคลิฟอร์เนียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง" ซึ่งตั้งใจล้อเลียนคำขวัญหาเสียงของทรัมป์ โดยเสนอว่าหากรัฐแคลิฟอร์เนียอยู่ภายใต้การดูแลของเดนมาร์ก ชาวเมืองจะได้สัมผัสกับค่านิยมแบบสแกนดิเนเวีย ไม่ว่าจะเป็นระบบสุขภาพถ้วนหน้า นโยบายการเมืองที่อิงข้อเท็จจริง รวมถึงวิถีชีวิตที่มี 'ฮุกกะ' ปรัชญาแห่งความสุขแบบเดนิช

ผู้สนับสนุนแคมเปญยังระบุว่า หากแคลิฟอร์เนียกลายเป็นของเดนมาร์ก ฮอลลีวูดอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่การเพิ่มเลนจักรยานในเบเวอร์ลีฮิลส์ ไปจนถึงการแพร่หลายของ 'สมอร์บรอด' หรือแซนด์วิชเปิดหน้าสไตล์เดนิช ตามท้องถนนของลอสแอนเจลิส

ข้อความประชาสัมพันธ์ของแคมเปญยังระบุอย่างติดตลกว่า “ลองมองแผนที่แล้วคิดดูสิ เดนมาร์กต้องการอะไร? เราต้องการแสงแดด ต้นปาล์ม และโรลเลอร์สเกต! นี่เป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะทำให้ฝันนั้นเป็นจริง”

เป้าหมายของแคมเปญคือรวบรวมรายชื่อให้ได้ 500,000 รายชื่อ และแม้จะมีการประกาศระดมทุน 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ในความเป็นจริง แคมเปญนี้ไม่ได้เปิดรับเงินบริจาคแต่อย่างใด ขณะนี้มีชาวเดนมาร์กมากกว่า 200,000 คนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุน

แนวคิดการซื้อแคลิฟอร์เนียมีขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างทรัมป์และผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เกวิน นิวซัม โดยเฉพาะในประเด็นนโยบายผู้อพยพ ซึ่งล่าสุด นิวซัมได้จัดสรรงบประมาณ 50 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการเนรเทศของรัฐบาลทรัมป์

ด้านทรัมป์เองเคยพยายามผลักดันแนวคิดซื้อเกาะกรีนแลนด์จากเดนมาร์กตั้งแต่ปี 2019 แต่ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด ล่าสุดเขายังระบุว่าอาจใช้มาตรการทางเศรษฐกิจหรือแม้แต่ทางทหารเพื่อกดดันให้เดนมาร์กยอมยกกรีนแลนด์ให้กับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม มุขมนตรีกรีนแลนด์ได้ย้ำชัดเจนว่ากรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่สามารถซื้อขายได้ และอนาคตของเกาะแห่งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนกรีนแลนด์เอง

‘ทรัมป์’ สนับสนุนผนวกกรีนแลนด์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ รัฐบาลกรีนแลนด์ลั่นไม่เห็นด้วย ขู่มะกันห้ามเข้ามาแทรกแซง

(14 มี.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของกรีนแลนด์ โดยระบุว่า กรีนแลนด์มีโอกาสสูงที่จะผนวกเข้ากับสหรัฐฯ ในอนาคต ภายหลังจากที่ในช่วงปี 2019 เขาเคยเสนอให้สหรัฐฯ ซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย

ทรัมป์กล่าวในการให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่า กรีนแลนด์เป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และตั้งอยู่ในตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคอาร์กติก ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางการทหารและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เขาชี้ว่า กรีนแลนด์มีทั้งทรัพยากรแร่ธาตุและการเข้าถึงเส้นทางการค้าทางทะเลที่มีมูลค่าสูงในอนาคต

ทรัมป์กล่าวเสริมว่า “ผมเชื่อว่ากรีนแลนด์มีโอกาสที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ ในอนาคต เพราะมันมีความสำคัญทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจอย่างยิ่ง ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงและมีการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นมากขึ้น”

แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวของทรัมป์ในอดีตจะไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลเดนมาร์กและประชาชนในกรีนแลนด์ แต่การพูดถึงความเป็นไปได้ในการผนวกกรีนแลนด์เข้ากับสหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากทั้งสื่อและนักการเมืองทั่วโลก

สำหรับกรีนแลนด์ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์ก และมีการปกครองตนเองในหลายๆ ด้าน แต่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดนมาร์ก โดยมีข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องอธิปไตยและการปกครอง

ขณะที่ ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมูเต เอเกเดแห่งกรีนแลนด์ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งได้ประกาศว่าจะเรียกประชุมผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ ในประเทศ เพื่อแสดงจุดยืนและความไม่เห็นด้วยต่อแผนการผนวกกรีนแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เราไม่สามารถยอมรับแผนการที่จะทำให้กรีนแลนด์กลายเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ โดยไม่มีการปรึกษาหารือกับประชาชนในกรีนแลนด์และรัฐบาลของเรา” เขายังเน้นย้ำว่า กรีนแลนด์มีความเป็นอธิปไตยและการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของประเทศต้องมาจากประชาชนและรัฐบาลของกรีนแลนด์เท่านั้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่า กรีนแลนด์ยังคงยืนหยัดในการรักษาความเป็นอิสระและอธิปไตยของตนเอง ไม่ให้มีการแทรกแซงจากภายนอก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top