Monday, 21 April 2025
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เปิดอบรมเสริมความรู้คดีค้ามนุษย์กับพนักงานสอบสวนและทีมสหวิชาชีพ

วันนี้ (15 ส.ค. 65) เมื่อเวลา 11.00 น. พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร.พร้อมด้วย พล.ต.ต.วันไชย เอกพรพิชญ์ รอง ผบช.ภ.8 , พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย รอง ผบช.ทท. พนักงานสอบสวนและทีมสหวิชาชีพ ร่วมพิธีเปิดการโครงการอบรมสัมมนา พนักงานสอบสวนและทีมงานสหวิชาชีพจากกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคุ้มครองแรงงานแก่คนต่างด้าวและป้องกันการละเมิดสิทธิตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ รุ่นที่ 2 ระยะที่ 2  ณ โรงแรมเครปพันวา จ.ภูเก็ต

การอบรมสัมมนาในครั้งนี้เป็นนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ที่ให้ความสำคัญในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย อยู่ในระดับมาตรฐานสากล หลังจากประเทศไทยได้รับการปรับระดับในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์  (TIP) ประจำปี 2022  เมื่อวันที่ 19 ก.ค.65 จากระดับ “เทียร์ 2 ที่ต้องถูกจับตามอง (Tier 2 Watch List) ขึ้นมาเป็น เทียร์ 2 (Tier 2) ส่งผลให้เศรษฐกิจในภาคประมงและแรงงานของไทยเป็นไปอย่างยั่งยืน

‘อภิสิทธิ์’ อดีตนายกฯ ปาฐกถาพิเศษ “สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี...”   เสนอแนวคิด 5 ข้อ “ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อก้าวทันโลก”

 กระทรวง พม. /  การจัดงานสถาปนากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี “20 ปี พม. เสริมพลัง  สร้างโอกาส  พัฒนาคนทุกช่วงวัย” ระหว่างวันที่ 29 กันยายน-3 ตุลาคม ที่กระทรวง พม.  

โดยในวันนี้ (1 ตุลาคม)  เป็นการจัดงานวันที่  3  พอช. และเครือข่ายองค์กรชุมชนได้จัดเวที “พัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสวัสดิการชุมชน”  ที่ห้องประชุมประชาบดี  มีนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  อดีตนายกรัฐมนตรี  ปาฐกถาพิเศษ  หัวข้อ  “สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยพลังชุมชนและเครือข่ายภาคีพัฒนา”  โดยมีผู้บริหารกระทรวง พม.  พอช.  และผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

ย้อนจุดกำเนิด พอช.

 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  ขอแสดงความยินดีการครบรอบ 20 ปีกระทรวง พม. และ 22 ปี พอช.   ส่วนที่มาของ พอช.นั้น  ในช่วงปี 2540 – 2544   ในสมัยนั้นประเทศไทยประสบวิกฤตต้มยำกุ้ง  ถ้าเราย้อนกลับไปก็จะทราบว่าในหลวงรัชกาลที่ 9  มีพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ในขณะที่คนไทยเดือดร้อนมาก  
ต้นเหตุของวิกฤตคือความไม่พอเพียงของการกู้ยืมเงินในระบบทุน  ไม่สามารถสร้างรายได้  สูญเสียความเชื่อมั่น  วิกฤตเงินทุนสำรอง  สถาบันการเงิน  ฯลฯ   และมีกระแสราชดำรัส  ทำให้เราย้อนมาดูตนเอง  การสร้างหลักประกัน  ความมั่นคง  มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการเร่งรัดการเจริญเติบโต   เริ่มจากใกล้ตัวเราในชุมชน  จากทรัพยากร   สินทรัพย์ต่างๆ  บางครั้งมองข้ามเพราะเป็นสิ่งใกล้ตัว

 “ท่านนายกฯ ชวน  (หลีกภัย) ให้ความสำคัญเรื่องสังคม  ทำอย่างไร  ไม่ให้วิฤตเศรษฐกิจลุกลาม  วิกฤตทางสังคมในหลายประเทศลุกลาม  แย่งชิงอาหาร  ท่านให้ความสำคัญกับสังคม   รัฐมนตรีที่มีบทบาท  คือคุณหญิงสุพัตรา  มาศดิตถ์   และตนได้รับมอบหมายให้ผลักดันการสร้างหน่วยงานรัฐรูปแบบใหม่  คือ ‘องค์การมหาชน’  ซึ่ง พอช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มาจากแนวคิดตรงนี้   ที่ท้าวความเพื่อย้ำเตือนว่า  งานที่พวกเราทำทั้งหลายยืนอยู่บนหลักคิด  หลักการที่สำคัญที่ต้องไม่ลืม  คือ ท่ามกลางความผันผวนของโลก  ซึ่งเรามีบทเรียนจากปี  2540  เราต้องมีระบบส่งเสริมกิจกรรม  เพื่อให้เกิดอาชีพรายได้  คือความมั่นคงของมนุษย์”  อดีตนายกฯ กล่าว

 จากแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง   หลักเศรษฐศาสตร์   การเตรียมความพร้อม  การออมเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริม   งานสวัสดิการชุมชนที่เกิดขึ้น  เกิดจากธรรมชาติของชุมชนต่างๆ  ‘ครูชบ  ยอดแก้ว’  นำเสนอใน  ครม.สังคม  ทำให้ราชการเริ่มขยับเข้ามา  เริ่มจากกองทุนผู้สูงอายุก่อน   ต่อมาในสมัยที่ตนดำเรงตำแหน่งนายกฯ  จึงขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการชุมชนอย่างจริงจัง  

อดีตนายกฯ กล่าวว่า  รัฐบาลทุกยุคมาทำงาน  มีโครงการไม่ให้คนเป็นหนี้   แต่มีน้อยที่ส่งเสริมเรื่องการออม   งานที่เริ่มจากปี 2540 อยู่บนหลักคิดที่สำคัญ  คือ  งานด้านนี้แม้ระบบราชการมีบทบาทสำคัญ  แต่ต้องพึ่งพลังชุมชน  พึ่งพาการทำงานของประชาชนเอง  ต้องอิงกับแนวคิดการกระจายอำนาจ  ทำอย่างไรให้เกิดระบบธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการด้วย ฯลฯ  อย่างไรก็ตาม  ความต้องการของประชาชน ยังไม่ได้รับการตอบสนอง   ยังติดขัดกฎหมาย  ระเบียบ  อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข 
“เรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน   ผมบอกว่าตอนทำไม่ได้คิดว่ารัฐสมทบแค่  3 ปี   คิดว่าสมทบตราบเท่าที่ประชาชนยังออมเงินอยู่   อยากเห็นท้องถิ่นเข้ามาสมทบอย่างเต็มรูปแบบ 100 เปอร์เซ็นต์  อยากให้ธุรกิจเอกชนเข้ามาร่วม  และเขาได้รับประโยชน์บางอย่างได้หรือไม่”   

อดีตนายกฯ ยกตัวอย่างเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชนซึ่งขณะนี้เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศเสนอให้รัฐสมทบเงินเข้ากองทุนมากกว่า 3 ปี  นอกจากนี้ยังมีเรื่องโฉนดชุมชนที่ประชาชนเรียกร้องแต่ขาดความต่อเนื่องเพราะเปลี่ยนรัฐบาล  และเรื่องบ้านมั่นคงที่ยังติดระเบียบ  ข้อกฎหมายต่างๆ

ความผันผวนของโลกที่สังคมไทยต้องรับมือ

อดีตนายกฯ  กล่าวถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่สังคมไทยต้องเผชิญ  โดยกล่าวว่า  จะต้องประเมินอนาคตข้างหน้า  โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี   ความมั่นคงของมนุษย์  งานด้านเศรษฐกิจฐานราก  เศรษฐกิจสร้างสรรค์   ล้วนแต่จะมีความสำคัญมากขึ้น 

 ยกตัวอย่างเรื่องโครงสร้างประชากร  ที่เห็นได้ชัดขณะนี้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย  และจะเร่งตัวอย่างต่อเนื่อง 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบด้านปัญหาเศรษฐกิจ  การขาดแคลนแรงงาน  โดยส่วนหนึ่งมีการทดแทนแรงงานโดยหุ่นยนต์  เครื่องจักร    และแรงงานต่างด้าวจะมีบทบาทสูง   เราต้องดูแลคนที่มาทำงานในประเทศไทย  ถ้าหากเขาไม่ได้รับการดูแล สุขภาพ  การศึกษาลูกหลานของเขา  จะเป็นปัญหาของสังคมเรา  

 แนวคิดเรื่องแรงงานต่างด้าว   จะต้องมีการรื้อครั้งใหญ่  แต่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย  เพราะทุกคนบอกว่าจะเป็นปัญหาของความมั่นคง  แต่ตนคิดว่าหากมีปรับเปลี่ยนแนวคิด  ดูแลแรงงานต่างด้าวเหมือนกับที่คนไทยไปแสวงหาโอกาสในการทำงานต่างประเทศ  จะทำให้คนเหล่านี้ผูกพันกับประเทศของเรา  แต่หากไม่ทำ  เขาก็มาทำงานเพื่อหาเงินอย่างเดียว
 นอกจากนี้ที่เห็นชัดเจนคือ  เรื่องความไม่แน่นอน  ความผันผวน  ความแปรปรวนในโลก  ปัจจุบัน  3 ปีทีผ่านมา    ใครจะคิดว่าโรคระบาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีจะเกิดขึ้นอีก  ทั้งที่โลกเรามีเทคโนโลยีถอดรหัสยีนได้  แต่โควิดก็ยังไม่หายไป   แสดงว่าเรายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน   ส่วนหนึ่งมาจากภาะโลกร้อน  มาเปลี่ยนแปลงการผลิต  อุตสาหกรรมบริการ  การเดินทางได้รับผลกระทบจากโลกร้อน
“ความผันผวนเหล่านี้แปลว่า  คนไทยต้องแสวงหาความมั่นคง   เสียงเรียกร้องที่สำคัญคือ  การมีสวัสดิการถ้วนหน้า คาดว่าปีหน้าพรรการเมืองต่างๆ  มีการแข่งขันเรื่องนี้สูง  ทั้งที่ยังไม่เห็นว่ามีข้อเสนอในการระดมทรัพยากรมาสนับสนุนเรื่องนี้ได้อย่างไร ?”  อดีตนายกฯ กล่าว

'ครูธัญ' ร้อง พม.รับผิดชอบกรณีมูลนิธิทำร้ายเด็ก ดักคอ!! อย่าอ้างเป็นมูลนิธิที่เปิดมายาวนานและมีประวัติดี

ธัญวัจน์ ก้าวไกล เรียกร้อง พม.รับผิดชอบกรณีมูลนิธิทำร้ายเด็ก ทำร้ายร่างกาย บังคับทำงาน และใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก 

(4 พ.ย. 65) ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นข่าวของมูลนิธิเด็กแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีการนำเสนอข่าวประเด็นการร้องเรียน มีเด็กในความดูแลของมูลนิธิถูกทำร้ายร่างกาย เช่น ต่อยตี ใช้ไม้ไผ่ฟาด ไม้ม็อบฟาด จนเลือดออก บางรายโดนจับกดน้ำ และให้อาบน้ำคลอง รวมถึงการนำเด็กไปทำงานในรีสอร์ทแห่งหนึ่งโดยให้ค่าแรงวันละ 10 บาท รวมถึงคลิปที่มีการถือไม้เรียว ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก 

เมื่อมีภาพเหล่านี้ออกไปพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสงครามได้ให้ความเห็นต่อสื่อมวลชนว่า เป็นมูลนิธิที่เปิดมายาวนานและมีประวัติดี เพราะได้เข้ามาตรวจสอบ พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ และมีการสุ่มการพูดคุยกับเด็ก 

ธัญวัจน์ กล่าวว่า "ตนมีความสงสัยอย่างมากว่าท่านมีการวิธีการ ระเบียบวิธีปฏิบัติ และขั้นตอนตรวจสอบคุณภาพอย่างไร และไม่ว่าขั้นตอนจะเป็นอย่างไรคงต้องถึงเวลาทบทวนและพิจารณาระเบียบวิธีปฏิบัติในการตรวจสอบดังกล่าวทั้งหมด 

"และคำถามต่อไปที่สังคมอยากรู้ว่าระเบียบวิธีการปฏิบัติและขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพนั้นเป็นเช่นเดียวกับมูลนิธิเด็กทั่วประเทศหรือไม่ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จุติ ไกรฤกษ์ ก็ควรออกมาตอบคำถามอย่างชัดเจน ว่ากระบวนการการช่วยเหลือและเยียวยาจะเป็นอย่างไรต่อไป

"สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจน คือ ความสัมพันธ์ทางอำนาจ เพราะเมื่อเด็กพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ในทางกลับกันการที่มีกลุ่มคนจิตอาสาเข้าไปทำกิจกรรมเด็กที่อยู่ในมูลนิธิกลับพูดคุยเรื่องราวอีกด้าน ที่เป็นความรุนแรงทั้งทางกายและจิตใจ นั่นหมายถึงว่า มีบางอย่างที่ปิดปากเด็กไม่ให้พูด หรือถ้าพูดไปก็กลัวที่จะถูกลงโทษซ้ำ จึงเลือกที่จะอยู่เงียบ ๆ และเลือกพูดกับคนที่เข้ามาทำงานจิตอาสาสมัครคิดว่าพวกเขาปลอดภัยและน่าจะให้การช่วยเหลือได้

'วราวุธ' เผย 'พม.' ส่งเสริมคนไทย 'ก้ม-กราบ-กอด' 14 ก.พ.นี้  แสดงความรักต่อผู้ใหญ่ แบบไม่ต้องสนใจสายตาต่างชาติ

(13 ก.พ.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการจัดงานวันวาเลนไทน์ในวันพรุ่งนี้ ว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสำนักงานเขตบางซื่อ จะร่วมกันจัดกิจกรรมให้คู่รักจดทะเบียบสมรส และจะมีของที่ระลึกมอบให้กับผู้มาร่วม ที่ลานกิจกรรมชั้น 1 ศูนย์การค้าเกทเวย์ บางซื่อ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ลดปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในสตรีและเด็ก โดยเฉพาะในเด็ก เพราะการที่แต่ละคนจะมีครอบครัวนั้น ต้องมาจากความรักและการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การใช้หลักในการครองเรือนกัน ในวันนี้เราไม่ได้พูดถึงแค่ชายหญิงแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศสภาพใด การมีหลักคิดที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ พม. จะแนะนำในวันแห่งความรัก ตนขอฝากว่า ไม่ว่าจะรักใครก็แล้วแต่ต้องรักตัวเองก่อน ดูแลตัวเองให้มาก และเอื้อเฟื้อความรักเหล่านั้นให้กับคนรอบข้าง 

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เรายังมีกิจกรรมที่จัดโดยกรมกิจการผู้สูงอายุ ชื่อว่า 'รักที่สื่อสารได้ในทุกวัน ด้วยการก้ม กราบ และกอด' เพราะเมื่อเวลาพูดถึงความรักเราไม่ได้พูดถึงแค่คนสองคน แต่เรายังพูดถึงการมีความรักต่อบุพการีหรือผู้ใหญ่รอบข้าง 

"การก้ม การแสดงตามวิถีไทย เวลาเด็กเดินผ่านผู้ใหญ่ ก็ต้องก้มโค้งตัวลง ซึ่งเป็นประเพณีที่ดีงามของคนไทย ท่ามกลางกระแสที่เปลี่ยนไป ต่างชาติจะเป็นอย่างไร ต้องเรียนว่าผมไม่สนใจ แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย เป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่นั้น เป็นสิ่งที่เราควรดำรงคงไว้คือการก้ม" นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า การกราบ เป็นอีกเรื่องที่แสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่อย่างดีที่สุด หากวันนี้ ยังมีญาติผู้ใหญ่กล่าวได้ก็อยากให้กราบท่าน เป็นการแสดงความเคารพสูงสุดต่อผู้มีพระคุณ ประเด็นสุดท้ายคือการกอด หากหลายคนยังมีคุณพ่อ คุณแม่ มีผู้ใหญ่ให้กอดได้ ขอให้กอดท่านไว้กล่าวว่าเป็นการแสดงความอบอุ่น รวมทั้งเป็นการดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นนโยบายรักที่สื่อสารได้ทุกวัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top