Tuesday, 22 April 2025
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

'พาณิชย์' ปลื้ม ผัก-ผลไม้ไทยครองตลาดจีน มันสำปะหลังแชมป์ผัก-ทุเรียนแชมป์ผลไม้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผักและผลไม้ไทย ครองส่วนแบ่งตลาดในจีนเป็นอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนสูงถึง 45% ส่วนยอดส่งออก 11 เดือนปี 64 มีมูลค่า 6,013.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 81% เกินดุลการค้า 5,180.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ระบุ “มันสำปะหลัง” นำโด่งส่งออกผัก “ทุเรียน” อันดับหนึ่งส่งออกผลไม้

27 ธ.ค. 64 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถิติการค้าสินค้าผักและผลไม้ไทยของไทยในตลาดจีน พบว่า ในช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) จีนมีการนำเข้าผักและผลไม้จากไทยสูงเป็นอันดับหนึ่ง โดยไทยครองส่วนแบ่งตลาดผักและผลไม้สูงถึง 45% ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน ส่วนชิลีเป็นอันดับ 2 มีส่วนแบ่ง 14.01% และเวียดนามอันดับ 3 มีส่วนแบ่ง 6.45% แคนาดา อันดับ 4 มีส่วนแบ่ง 4.14% และนิวซีแลนด์อันดับ 5 มีส่วนแบ่ง 3.75%

ทั้งนี้ ส่วนแบ่งตลาดผักและผลไม้ของไทยในจีนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสถิติการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยตัวเลขล่าสุด 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) ทำได้มูลค่า 6,013.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 81% และนำเข้าจากจีน มูลค่า 832.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.2% เกินดุลการค้า 5,180.99 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 105%

โดยในการส่งออกไปจีน เป็นการส่งออกผัก มูลค่า 1,199.70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 96% โดยมันสำปะหลังส่งออกอันดับหนึ่ง มูลค่า 1,145.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 90% รองลงมา คือ พริกสดและแช่เย็น มูลค่า 36.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 157,369% และถั่วเขียวและถั่วทองแห้ง มูลค่า 6.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 131% และผลไม้ มูลค่า 4,813.32 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 78% โดยทุเรียนสด ส่งออกอันดับหนึ่ง มูลค่า 3,054.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 105% รองลงมา คือ มังคุดสด มูลค่า 506.00 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 39% และลำไยสด มูลค่า 472.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 64% ส่วนการนำเข้าจากจีน มีสินค้าผัก เช่น เห็ดแห้ง แคร์รอตสด แช่เย็น กะหล่ำปลีสด แช่เย็น และผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิล องุ่นสด ลูกแพร์ และส้ม เป็นต้น

ปิดดีล 'FTA ไทย–ศรีลังกา' เตรียมลงนามเดือน ก.พ.67 มั่นใจ!! 'ทรัพยากรสมบูรณ์-ขนส่งทางเรือแกร่ง' เอื้อประโยชน์ไทย

(28 ธ.ค. 66) น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา รอบที่ 9 ระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา ณ กรุงโคลัมโบ โดยมีนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าคณะเจรจา FTA นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ว่า ที่ประชุมสามารถสรุปผลการเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา ได้ตามเป้าหมาย โดยครอบคลุมการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และหลังจากนี้ แต่ละฝ่ายจะดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การลงนามความตกลงฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของไทย กระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอผลการเจรจาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบให้มีการลงนามความตกลงฯ ในช่วงการเดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ตามคำเชิญของประธานาธิบดีศรีลังกาในช่วงต้นเดือน ก.พ.2567

“การสรุปผลการเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win ที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 99 วันเเรกของรัฐบาล โดยเป็น FTA ฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้ และนับเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย”น.ส.โชติมากล่าว

น.ส.โชติมา กล่าวว่า แม้ศรีลังกาจะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 22 ล้านคน แต่มีจุดเด่นด้านที่ตั้ง ซึ่งเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย โดยเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งทางเรือ และมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่น แร่รัตนชาติ แร่แกรไฟต์ และสัตว์ทะเล โดยสินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ ยานยนต์  สิ่งทอ อัญมณี โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์เหล็ก กระดาษ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง อาหารสัตว์ เมล็ดข้าวโพด ภาคบริการที่ได้รับประโยชน์ เช่น การเงิน ประกันภัย คอมพิวเตอร์ ก่อสร้าง ท่องเที่ยว และวิจัยและพัฒนา และด้านการลงทุนที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ สาขาการผลิตอาหารแปรรูป การผลิตรถยนต์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การแพทย์

ในช่วง 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) การค้าระหว่างไทยและศรีลังกา มีมูลค่า 320.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา มูลค่า 213.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากศรีลังกา มูลค่า 106.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยางพารา ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเคมีภัณฑ์

‘สุชาติ’ เผย!! 'อาเซียน - แคนาดา’ เร่งขับเคลื่อนเจรจา FTA ตั้งเป้า!! ปิดดีล ขยายโอกาสทางการค้า ภายในปี 2568

(18 ม.ค. 68) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แคนาดาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-แคนาดา (ACAFTA TNC) รอบที่ 11 ระหว่างวันที่ 15-17 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาในประเด็นต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2568 สำหรับการประชุม ACAFTA TNC ในรอบนี้ยังได้มีการจัดการประชุมของคณะทำงานเจรจาอีก 7 กลุ่ม ได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า แนวปฏิบัติที่ดีด้านการออกกฎ การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายและสถาบันควบคู่ไปด้วย  

"ไทยพร้อมสนับสนุน FTA อาเซียน-แคนาดา ให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2568 ซึ่งจะเป็น FTA แรกของไทยกับประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ รวมถึงขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงทั้งสองภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน แคนาดาก็ให้ความสำคัญกับการสรุปผลการเจรจา ACAFTA โดยเร็ว เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสองฝ่าย โดยเฉพาะการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มพูนโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน" นายสุชาติ กล่าว 

ด้านนางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการประชุมครั้งนี้ว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการติดตามความคืบหน้าการเจรจาของคณะทำงานภายใต้ ACAFTA ทั้ง 19 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังมีความล่าช้าและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงเรื่องการค้าสินค้าที่จะต้องเร่งเจรจารูปแบบการลดภาษี (modality) ระหว่างประเทศสมาชิก การค้าบริการและการลงทุนที่จะต้องเร่งสรุปเรื่องโครงสร้างของข้อบทและรูปแบบการเปิดตลาด และเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งอาเซียนจะต้องพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้าแบบเฉพาะ (Product Specific Rule: PSR) ที่แคนาดาเสนอมาทั้งหมด 5,612 รายการ รวมทั้งเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนที่อาเซียนจะต้องเร่งสรุปร่างข้อเสนอของอาเซียนให้แคนาดาพิจารณาเพื่อจัดทำร่างข้อบทร่วมในการเจรจาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้แนวทางขับเคลื่อนการเจรจากับคณะทำงานกลุ่มต่างๆ อาทิ เร่งหาข้อสรุปในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่คล้ายคลึงกัน สำหรับประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่แตกต่างกันมาก ให้เน้นการหารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและแสดงความยืดหยุ่นเพื่อหาแนวทางที่ยอมรับร่วมกันได้ และหยิบยกประเด็นที่ติดขัดให้คณะกรรมการ TNC ให้แนวทางแก้ไข พร้อมทั้งผลักดันให้มีการประชุมทั้งในรูปแบบออนไลน์ และ in-person เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้ทันตามเป้าที่กำหนดไว้ 

สำหรับในปี 2566 การค้ารวมของไทยและแคนาดา มีมูลค่า 2,933.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.41 โดยไทยส่งออกไปยังแคนาดา มูลค่า 1,903.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.07 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่ไทยนำเข้าจากแคนาดา มูลค่า 1,030.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 11.03 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ

ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือน (ม.ค. –พ.ย.) ของปี 2567 การค้ารวมของไทยและแคนาดา มีมูลค่า 2,955.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออก 1,946.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้า 1,008.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 937.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top