Tuesday, 22 April 2025
กรมอุทยานแห่งชาติ

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดพระแก้ว พระอารามหลวง จังหวัดเชียงราย

วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2565) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทอดถวาย ณ วัดพระแก้ว พระอารามหลวง ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

โดยมี นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายวราดิศร อ่อนนุช​ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย​ นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง นายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดีฯ คณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมปฏิบัติหน้าที่การจัดพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ตลอดจนพุทธศาสนิกชนและผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมพิธีฯ

'อรรถพล' ลุยงานทันที เน้นโปร่งใส ตรวจสอบได้ ยืนยันทำงานเต็มที่

26  มกราคม 2566 เวลา 08.30 น. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าสักการะสิ่งศักดิ์และถวายเครื่องราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 5 เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเข้ารับตำแหน่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 

เวลา 9.00 น. นายอรรถพล เจริญชันษา ได้ ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนถึงการเข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นายอรรถพล กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้มอบหมายให้มาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่สามารถทำงานได้เลย จึงใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและต่อเนื่องในการทำงาน 

กรมอุทยานแห่งชาติฯ แถลงข่าวจับกุมขบวนการลักลอบทำไม้กฤษณาข้ามชาติ หลังติดตามนาน ๒ เดือน

 วันที่ 22 มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา 10.30 น. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แถลงข่าวการจับกุมขบวนการลักลอบทำไม้กฤษณาข้ามชาติ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวจังหวัดชัยภูมิ ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 


 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดี
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 เวลาประมาณ 21.30 น. เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ ได้ทำการจับกุมกลุ่มขบวนการต่างชาติลักลอบทำไม้กฤษณา ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

ผู้ต้องหาเป็นชายชาวเวียดนามจำนวน 6 คน ประกอบด้วย 1. นาย Dang Hiep 2. นาย Tran Cao Cuong 3. นาย Nguyen Van Binh4. นาย Hoang Van Ba 5. นาย Hoang Van An 6. นาย Hoang Xuan Van ของกลางเป็นชิ้นไม้กฤษณาจำนวน 171 กิโลกรัม รถยนต์ 2 คัน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำผิดที่เกี่ยวข้อง ในฐานความผิด 9 ข้อหา ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการสืบสวนและขยายผลการจับกุมเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 โดยเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ได้ออกปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนในพื้นที่ ตามที่ได้รับการข่าวว่ามีกลุ่มบุคคลชาวเวียดนามเข้ามาลักลอบหาไม้กฤษณาในพื้นที่ ซึ่งเป็นการทำลายความมั่นคงทางระบบนิเวศ จากการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบกลุ่มชายจำนวน 4 คน เจ้าหน้าที่ได้แสดงตัวเข้าตรวจค้นกลุ่มชายดังกล่าว แต่ผู้ต้องสงสัยได้หลบหนี เจ้าหน้าที่จึงร่วมกันตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ พบชิ้นไม้กฤษณาจำนวน 64.8 กิโลกรัม และหนังสือเดินทางของชาวเวียดนาม จากจังหวัดก๋วงบินห์ 1 เล่ม และเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนฯ ได้ลาดตระเวนในพื้นที่พบแคมป์ที่พักและร่องรอยการทำไม้กฤษณา จึงได้ทำการดักซุ่มรอจนพบกับกลุ่มชายจำนวน 4 คน และสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ได้ 1 คน ที่เหลืออีก 3 คน หลบหนีไปได้ พร้อมชิ้นไม้กฤษณาจำนวน 20 กิโลกรัม และหนังสือเดินทาง พบว่าเป็นชาวเวียดนามจากจังหวัดก๋วงบินห์เช่นกัน เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนฯ จึงได้เพิ่มการลาดตระเวนให้ครอบคลุมในพื้นที่มากขึ้น เพื่อติดตามกลุ่มชายดังกล่าว และรายงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชทราบ 


อธิบดีอรรถพล รรท.ออส.กล่าวต่อว่า การจับกุมขบวนการลักลอบค้าไม้กฤษณาในครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงมีนโยบายในการยกระดับการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรด้านป่าไม้และสัตว์ป่า โดยตั้งชุดปฏิบัติการร่วมกัน ระหว่างสำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ) โดยการสนับสนุนจากกรมบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำและสัตว์ป่า สหรัฐอเมริกา (United States Fish and Wildlife Service หรือ FWS) สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (wcs) ประเทศไทย และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมประชุมการตรวจพื้นที่โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ จ. เพชรบุรี 

15 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น. พลอากาศเอกสถิตพงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประธาน การประชุมตรวจติดตามพื้นที่โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ โดยมีร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นายพงษ์ศักดิ์ ด้วงโยธา ผู้ตรวจราชการกรม ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักสนองงานพระราชดำริ นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สาขาเพชรบุรี) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

ในการนี้ ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลอากาศเอกสถิตพงษ์ สุขวิมล พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมโครงการน้ำบาดาลในพื้นที่โครงการชั่งหัวมัน ฯ บริเวณพื้นที่โรงคัดบรรจุผลิตภัณฑ์การเกษตร โรงงานแปรรูปนม บ้านเลขที่ 1 บ่อน้ำบาดาล บริเวณทางเข้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขากระปุก-เขาเตาหม้อ และชมศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยาม มินทราธิราชบรมนาถบพิตร

ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปกท.ทส. มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดทำท่อเพื่อเชื่อมโยงระบบน้ำบาดาลเข้าสู่ระบบกรองน้ำและปรับปรุงระบบกรองน้ำ เพื่อให้สามารถนำน้ำบาดาลที่มีอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 11 บ่อ มาใช้ให้เต็มศักยภาพ และได้ทำการสำรวจพื้นที่พร้อมขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มหากปริมาณน้ำยังไม่เพียงพอ และให้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ทำโครงการร่วมกับ โครงการชั่งหัวมันตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.

‘กรมอุทยานฯ’ สั่งลงโทษ ‘เรือนำเที่ยว’ หลังผูกโยงเรือกับปะการัง จ่อถกมาตรการกลุ่มผู้ประกอบการเรือ ป้องกันการทำลายธรรมชาติ

(18 ก.พ.67) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กรณีเพจ ‘ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND’ โพสต์ข้อความ และรูปภาพเรือนำเที่ยวผู้ประกอบการ ผูกเชือกท้ายเรือกับโขดหินติดปะการัง จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ กรณีดังกล่าวอย่างกว้างขวาง

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ตนได้รับรายงานจาก นายแสงสุรีย์ ซองทอง ห้วหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ว่าจากการตรวจสอบภาพและคลิปวิดีโอ เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จม.3 (เกาะกระดาน) ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และทราบชื่อเรือลำดังกล่าวชื่อเรือ ‘ลิบงทราเวิล’

ขณะนี้ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและหลักฐาน พร้อมดำเนินการทางกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการเรือลำดังกล่าว ทั้งนี้ อุทยานฯ หาดเจ้าไหม จะประชุมกับกลุ่มผู้ประกอบการเรือที่เข้ามาในเขตอุทยานฯ เพื่อหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่มีลักษณะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ”

อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้กำชับให้ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาด ตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 การลงโทษสามารถปรับทางพินัย และสามารถออกประกาศห้ามเรือเข้าบริเวณดังกล่าว โดยมีเหตุผลที่เสี่ยงต่อการทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย

ตลอดจนการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในระดับพื้นที่ หรือ ‘PAC’ และการประชุมผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้ทราบโดยทั่วกัน เกี่ยวกับมาตรการในการคุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และบทกำหนดโทษเมื่อมีการฝ่าฝืน เกิดการกระทำผิดขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติ

กรมอุทยานฯ เคาะมาตรการเยียวยา หากถูกลิงทำร้าย ตายได้ 1 แสน บาดเจ็บได้ไม่เกิน 3 หมื่น

เมื่อวานนี้ (9 มี.ค.67) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีมีประชาชนในจังหวัดลพบุรีถูกลิงแสมทำร้ายจากการเข้าแย่งอาหาร จนประสบเหตุล้มลงได้รับบาดเจ็บ ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และได้ลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจหาผู้รับผิดชอบ ว่าได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมแล้ว เพื่อซักถามอาการบาดเจ็บและหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดแนวทางแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มให้ ลิง เป็นสัตว์ชนิดหรือประเภทสัตว์ป่าที่สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบเหตุได้ ตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าทำร้าย ซึ่งเดิมกำหนดให้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาได้เฉพาะกรณีที่ถูก ช้างป่า และ กระทิง ทำร้าย เพื่อให้สามารถนำเงินอนุรักษ์สัตว์ป่ามาช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกลิงทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ

หลักเกณฑ์ฯการช่วยเหลือเยียวยากรณีถูกสัตว์ป่าดังกล่าวทำร้าย หากเสียชีวิต หรือทุพพลภาพจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา 100,000 บาท กรณีบาดเจ็บให้จ่ายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท จ่ายค่าเสียโอกาสในการทำงานวันละ 300 บาท ไม่เกิน 180 วัน ตามความเห็นแพทย์

ซึ่งได้ให้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าดำเนินการโดยเร่งด่วนแล้ว ในส่วนการแก้ปัญหาเบื้องต้น แนะนำให้ติดไฟส่องสว่างมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกลิงทำร้าย เพื่อให้ประชาชนสังเกตเห็นลิงได้ชัดเจน และติดป้ายเตือนระวังลิงทำร้ายร่างกาย

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวต่ออีกว่า ลิงแสมตัวดังกล่าวคาดเป็นลิงในกลุ่มประชากรใหม่ที่แยกตัวออกมาจากฝูงลิงเดิมที่แออัดและอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ลิงออกมารวมฝูงใหม่ใกล้พื้นที่แหล่งอาหาร เช่น ตลาดนัด หรือในพื้นที่ชุมชน หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะเข้าติดตามและจัดการแก้ปัญหาให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ร่วมกับจังหวัด

'กรมอุทยานฯ' เปิดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การปรับปรุงแนวเขต 'อุทยานฯ ทับลาน' ตามมติ ครม.

ไม่นานมานี้ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 

โดยการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน (จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี) แจ้งมติคณะทำงานพิจารณาปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ภายใต้คณะอนุกรรมการการปรับปรุงแผนที่ แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เห็นชอบผลดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำเรื่องเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 

โดยให้ส่วนราชการดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่อไป สำหรับพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ที่จะผนวกเพิ่มประมาณ 110,000 ไร่ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป

โดยการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

สำหรับอุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,387,375 ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะมีผลทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ และแม้จะมีการเสนอผนวกพื้นที่ทางตอนเหนือในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 80,000 ไร่ ก็ยังไม่สามารถที่จะยืนยันว่าจะผนวกเพิ่มได้หรือไม่ 

เนื่องจากพบว่ามีราษฎรถือครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังอยู่ในขั้นตอนของการหาข้อยุติกับกรมป่าไม้ เนื่องจากมีแผนงานโครงการปลูกป่าที่มีงบประมาณต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดตั้งป่าชุมชนไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว 

ทั้งนี้ ในการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้สงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง และบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบในการกำหนดพื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน ในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว จึงขอเชิญชวนแสดงความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน - 12 กรกฎาคม 2567 ผ่านเว็บไซต์ https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=37163 

สำหรับการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว (ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566) สามารถอ่านรายละเอียดก่อนแสดงความคิดเห็นได้ทางลิงก์ด้านล่างนี้

*ข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วม
https://drive.google.com/file/d/1-2KFhTMMbPkXii1qYcuIAOR1Jfz1bHty/view?usp=sharing


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top