DSI ลงพื้นที่สอบการสร้างรีสอร์ตรุกป่า ที่ดินและลำน้ำสาธารณะ ในพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
(วันที่ 14 ธันวาคม 2565) เวลา 14.00 น. นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการให้ นายวรพจน์ ไม้หอม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค นายไกรศรี สว่างศรี ผู้อำนวยการส่วนแผนที่และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 5 บูรณาการร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเขตพื้นที่ 5 (ปปท.เขต 5) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน ฝ่ายปกครองอำเภอบ่อเกลือ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่13 สำนักงานที่ดินจังหวัดน่าน เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดน่าน (กอ.รมน.จว.น่าน) เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรบ่อเกลือ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาแพร่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงพญา และเครือข่ายภาคประชาชนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI Station Nan) ลงพื้นที่บ้านสว้าเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน กรณี ประชาชนร้องขอให้ตรวจสอบโดยอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนจากการที่มีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ บุกรุกเข้าครอบครองที่ป่า บุกรุกที่สาธารณะและเปลี่ยนแปลงเส้นทางลำน้ำว้า การถมที่ดินริมน้ำ ขยายพื้นที่ทับลำน้ำ หวงกันพื้นที่ริมน้ำไว้เป็นของตนเอง จนทำลายแหล่งพันธุ์ปลา ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิม รวมทั้งปิดทางเดินสาธารณะเข้าออกหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนไม่สามารถใช้ลำน้ำได้อย่างปกติ
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิ์ มีการแบ่งพื้นที่ให้เช่าสร้างรีสอร์ต จำนวน 2 แห่ง สร้างโรงเรือนที่พักส่วนตัวและที่พักคนงาน บริเวณก่อสร้างอยู่ใกล้กับฝายชลประทาน ทำให้เสี่ยงต่อการพังทลายในช่วงน้ำหลากอย่างมาก มีการใช้แรงงานต่างด้าวขนหินมาสร้างเนินดิน เพื่อเจตนาให้เป็นที่งอกมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเส้นทางลำน้ำว้า ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาแพร่ นอกจากนี้ ได้มีประชาชนในพื้นที่และผู้ครอบครองพื้นที่เดิม เข้าให้ข้อมูลประกอบพยานหลักฐานยืนยันแนวเขตว่ามีการล่วงล้ำลำน้ำ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 และยังพบว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิ์ จึงอาจจะเป็นพื้นที่ป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 อีกด้วย ซึ่งหากผู้ใดบุกรุกอาจจะเป็นความผิดฐานบุกรุกป่า การก่อสร้างโรงเรือน และการประกอบกิจการโรงแรมไม่พบว่ามีการขออนุญาตตามกฎหมาย
