Tuesday, 22 April 2025
กรมประมง

กรมประมงฯ ยันนำเข้ากุ้งจาก 'อินเดีย-เอกวาดอร์' เป็นมติร่วมกันของบอร์ดกุ้งภายใต้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย

กรมประมง สมาคมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและภาคเอกชนร่วมแถลงยืนยันการนำเข้ากุ้งจากอินเดียและเอกวาดอร์เป็นมติร่วมกันของบอร์ดกุ้งภายใต้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย มั่นใจไม่กระทบผลผลิตและราคาเพราะมีระบบประกันราคากุ้งโดยภาคเอกชนเป็นโมเดลแรกของประเทศ

(8 ส.ค.65) นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมงแถลงวันนี้ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ว่า จากการที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้จับมือร่วมกันเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ผลผลิต 400,000 ตัน ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp board ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ได้แก่ กรมประมง และกรมการค้าภายใน ผู้แทนผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล รวม 21 ท่าน ร่วมกันวางแผนเพื่อบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ การดำเนินงานต้องสร้างความมั่งคงด้านการตลาดตามนโยบายการตลาดนำการผลิตของรัฐบาล ซึ่งภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของ Shrimp Board ได้มีการดำเนินการรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งขาวแวนนาไม โดยมีระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2565 ทำให้ราคาจำหน่ายกุ้งขาวฯ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา

พันธกิจที่สำคัญ คือ กรมประมงจัดทำแผนการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล โดยในปี 2565 มีเป้าหมาย 320,000 ตัน และ ปี 2566 มีเป้าหมาย 400,000 ตัน ภายใต้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย 11 แนวทาง โดยมีแนวทางหลัก ดังนี้  การบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ผ่านกลไกคณะทำงานแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเล ระดับพื้นที่ ๓๕ จังหวัด การแก้ไขปัญหาด้านโรคกุ้งทะเล ซึ่งเป็นปัญหาหลักและเป็นต้นทุนแฝงของการเลี้ยงกุ้ง มีการจัดคลินิกเคลื่อนที่ (Mobile clinic) และสายด่วนปรึกษาปัญหาโรคสัตว์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที  การจัดการการเลี้ยง มีการถอดบทเรียนและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมให้มีปราชญ์เลี้ยงกุ้งหรือฟาร์มเลี้ยงกุ้งต้นแบบในแต่ละพื้นที่ มีการสนับสนุนการใช้จุลินทรีย์และส่งเสริมให้ชมรมหรือกลุ่มเกษตรกรผลิตจุลินทรีย์ ปม.๒ การปรับปรุงพันธุ์กุ้งทะเล กรมประมงได้พัฒนาพันธุ์กุ้งขาวฯ สายพันธุ์สิชล 1 ผลิตและจำหน่ายเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร  การจัดหาแหล่งทุน โดยการจัดทำโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 เพื่อเป็นแหล่งสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานข้างต้นมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย กรมประมงจึงกำหนดให้มีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลเป็นประจำทุกเดือน  

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2565 ประเทศไทยมีผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงรวมทั้งสิ้น 138,733.18 ตัน จำแนกเป็นกุ้งขาวแวนนาไม 129,100.44 ตัน (ร้อยละ 93.06) และกุ้งกุลาดำ 9,632.74 ตัน (ร้อยละ 6.94) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. - ก.ค. 64) ผลผลิตลดลงร้อยละ 3.09 ซึ่งถึงแม้ว่ากรมประมงจะมีนโยบายในการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล และลงพื้นที่ดูแลพี่น้องเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แต่การขาดความเชื่อมั่นด้านราคาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไม่ปล่อยกุ้งลงเลี้ยงอย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลในภาพรวมลดลง ดังนั้น เพื่อรักษาตลาดและผู้ประกอบการส่งออกสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ Shrimp Board จึงมีข้อตกลงร่วมกันในการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรโดยประกันราคาซื้อ - ขายขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งทะเลภายในประเทศไว้ โดยเริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ส่งผลให้ราคากุ้งทะเลภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ผลการดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไม่ประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

โดยในปี 2565 Shrimp Board กำหนดแผนการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย ปริมาณรวม 10,501 ตัน ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการอนุญาตให้นำเข้าฯ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำเข้ากุ้งขาวฯ จากสาธารณรัฐเอกวาดอร์ในเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 41.95 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10.24 ล้านบาท แต่ยังไม่พบการนำเข้ากุ้งขาวฯ จากสาธารณรัฐอินเดีย

ถึงแม้ว่ากรมประมงจะมีการอนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย แต่กรมประมงให้ความสำคัญกับการควบคุมโรค โดยดำเนินการอย่างรัดกุมก่อนการอนุญาตให้นำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย โดยได้ประเมินระบบการควบคุมโรคของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีข้อกำหนดในการพิจารณาหลายมิติครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลแช่แข็งสำหรับการส่งออกมายังประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดนผ่านการนำเข้ากุ้งทะเลแช่แข็งอย่างเด็ดขาด ซึ่งประเทศต้นทางที่ไทยจะนำเข้าสินค้ากุ้งทะเลนั้นจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมประมงกำหนดอย่างเข้มงวด และและเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย จะต้องถูกดำเนินการควบคุมโรคภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยสินค้าจะต้องเข้าสู่ระบบการกักกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงดำเนินการสุ่มตรวจเชื้อก่อโรคกุ้งทะเลที่สำคัญ ได้แก่ โรคไอเอ็มเอ็น (IMN) โรคตัวแดงดวงขาว (WSD) โรคหัวเหลือง (YHD) โรคทีเอส (TS) โรคไอเอชเอชเอ็น (IHHN) โรคเอ็นเอชพี (NHP) และโรคดีไอวี วัน (DIV 1) ตามบัญชีรายชื่อของ OIE รวมทั้งมีการสุ่มตรวจสารตกค้าง เช่น Chloramphenicol Nitrofurans และ Malachite green ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยการสุ่มตัวอย่างทั้งหมดสอดคล้องตามหลักการสากลตามที่ OIE และ CODEX กำหนดไว้ และหากมีการตรวจพบเชื้อก่อโรคและ/หรือตรวจพบสารตกค้างเกินเกณฑ์มาตรฐาน สินค้าเหล่านั้นจะถูกทำลายหรือตีกลับประเทศต้นทางทันที จึงมั่นใจได้ว่าสินค้ากุ้งทะเลที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศไทยนั้น ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดทั้งจากต้นทางและเมื่อถึงประเทศไทย อีกทั้งสินค้าเหล่านั้นจะถูกนำไปแปรรูปเพื่อการส่งออกเท่านั้น

นายครรชิต เหมะรักษ์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวถึง ความร่วมมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปผ่านกลไก Shrimp Board ว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลประสบปัญหาทั้งด้านราคาตกต่ำและต้นทุนการผลิตที่สูง ส่งผลให้ประสบปัญหาภาวะขาดทุน แรงจูงใจที่สำคัญของเกษตรกรในการประกอบอาชีพการเลี้ยงกุ้งทะเล คือ ปัจจัยด้านราคา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เกษตรกรต้องแก้ไขปัญหาด้านราคาตกต่ำด้วยวิธีการของตนเอง ผ่านกลไกการร้องขอจากรัฐบาล ซึ่งการจัดตั้ง Shrimp Board ในครั้งนี้ เป็นการจับมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ของอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทย

การผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ผลผลิตต้องเพียงพอเพื่อสามารถต่อรองในตลาดโลกได้ จากการหารือร่วมกันใน Shrimp Board การนำเข้ากุ้งขาวฯ เพื่อมาทดแทนในช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณลดน้อยลงเพื่อรักษาตลาดมีความจำเป็น และขณะเดียวกันทำอย่างไรเกษตรกรภายในประเทศต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้า Shrimp Board จึงตกลงร่วมกันให้มีการรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อไม่ให้เกษตรกรภายในประเทศประสบปัญหาราคาตกต่ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา และยังเป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการเลี้ยงกุ้งทะเลต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการตอบโจทย์ที่แท้จริง เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพการผลิตกุ้งทะเลของเกษตรกรไทย ว่า ปัจจุบันผลผลิตกุ้งทะเลของไทยอยู่ในปริมาณ 250,000 ถึง 350,000 ตัน เท่านั้น ผลผลิตที่ได้ไม่แน่นอน ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความพร้อมของเกษตรกรไม่เท่ากัน และมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศ ซึ่งจากข้อมูลของกรมประมงพบว่า มีเกษตรกรผู้ประกอบกิจการการเลี้ยงกุ้งทะเลประมาณ 30,000 กว่าราย โดยมีพื้นที่ประมาณ 600,000 กว่าไร่ ซึ่ง Shrimp Board ร่วมกันคิดเพื่อให้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 400,000 ตัน ในปี 2566 บรรลุเป้าหมาย โดยหลักการที่สำคัญ คือ เกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้งได้ตามศักยภาพของตัวเองในแต่ละพื้นที่ ผ่านกลไกการสร้างปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้รู้ในพื้นที่ โดยสรรหาผู้ที่สามารถเลี้ยงกุ้งได้ในภาวะวิกฤตหรือในภาวะที่เกษตรกรรายอื่นเลี้ยงกุ้งไม่ได้

กรมประมงโชว์ผลงานเด่นเพิ่มปูทะเลสำเร็จ 4 ปี 400% 'เฉลิมชัย' เร่งขยายผลปล่อยพันธุ์ปูทะเลอีก 1.3 ล้านตัวลงทะเลประจวบคีรีขันธ์ หวังเพิ่มทรัพยากรประมงให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานพิธีปล่อยพันธุ์ปูทะเล 'โครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงบริเวณแหล่งก่อเกิดทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประจำปีงบประมาณ 2566' โดยมีนายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง นายมานพ หนูสอน รองอธิบดีกรมประมง นายมนตรี ปาน้อยนนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนสมาคมประมงประจวบคีรีขันธ์เข้าร่วม ณ คลองเขาแดง (บริเวณวัดเขาแดง) อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยกรมประมงร่วมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จัดขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พื้นที่บริเวณป่าชายเลนในเขตจังหวัดมีฐานทรัพยากรเพื่อการผลิต ทั้งในมิติของความหลากหลายของชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้บริเวณพื้นที่ป่าชายเลนทำหน้าที่นิเวศบริการที่ดีแก่ชุมชน และเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของจังหวัดอย่างยั่งยืน รวมถึงเพิ่มผลผลิตปูทะเล สัตว์น้ำเศรษฐกิจในธรรมชาติ อันเป็นกลุ่มสัตว์น้ำที่มีบทบาทสำคัญในการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ อีกทั้งเป็นการขานรับนโยบายและข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มผลผลิตปูทะเลให้ได้ปริมาณ 5,000 ตัน ในปี 2566 โดยจากข้อมูลเดิมปี พ.ศ. 2561 มีผลผลิตปูทะเล เพียง 1,600 ตัน ปี พ.ศ. 2562 มีผลผลิต 3,000 ตัน ปี พ.ศ. 2563 มี 3,000 ตัน และในปี พ.ศ. 2564 ผลผลิตปูทะเลในภาพรวมทั้งประเทศ มีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 ตัน หรือ4ปีเพิ่ม400%โดยเป็นผลผลิตปูทะเลจากการเพาะเลี้ยง จำนวน 3,400 ตัน และจากผลผลิตการจับจากธรรมชาติ 2,800 ตัน ซึ่งเกินเป้าหมายที่กรมประมงคาดการณ์ไว้

‘บิ๊กป้อม’ ถก คกก.ประมง จัดการทรัพยากรทะเลแบบยั่งยืน กำชับ ‘กรมประมง’ เข้มข้อกฎหมาย - โปร่งใส - ยึดหลักสากล

(27 ม.ค. 66) มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 (ผ่านระบบ Video Conference) เพื่อกำหนดแนวทางการทำประมงพื้นบ้านและการนำเรือประมงออกนอกระบบ โดยที่ประชุมรับทราบ ความเห็นของคณะกรรมาธิการยุโรป (DG-MARE) ถึงความพยายามของไทย ต่อพัฒนาการติดตาม เฝ้าระวังและควบคุมการทำประมงภาพรวม โดยขอให้เพิ่มการตรวจสอบดำเนินคดีอย่างเต็มประสิทธิภาพตามขั้นตอนกฎหมายกับเรือที่มีข้อมูลจากศูนย์ FMC เรือเข้าออกท่าที่ผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำผิดกฎหมาย เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารหรือส่งออกต่างประเทศ และรับทราบการขยายเวลายกเว้นบังคับใช้กฎหมาย MMPA ของสหรัฐฯ ออกไปอีก 1 ปี จนถึง 31 ธ.ค.66 

พร้อมกับรับทราบความก้าวหน้า นโยบายและแผนบริหารจัดการประมง และแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา ปี 66-70 รวมทั้งผลการประเมินประเทศไทย ต่อสถานการณ์การขจัดแรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายที่สุดของ สหรัฐฯ ปี 64 โดยเสนอให้ความสำคัญกับ การควบคุมบังคับใช้อายุขั้นต่ำของการจ้างแรงงานให้ครอบคลุมการจ้างแรงงานนอกระบบ การกำหนดอาชีพและกิจกรรมเสี่ยงที่อันตรายต่อเด็กให้ครอบคลุมมากขึ้น และการเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพผู้ตรวจแรงงานนอกระบบในพื้นที่ห่างไกล

‘กรมประมง’ ชวนเจ้าของเรือโหลดแอปพลิเคชัน ‘Fisheries Touch’ ชี้ สามารถติดตามเรือได้ทุกที่ทุกเวลา ล่าสุดเข้าระบบแล้ว 3,000 ลำ

(2 ต.ค. 66) นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาชื่อว่า Fisheries Touch ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่กรมประมงทำขึ้นเพื่อให้ชาวประมงใช้สำหรับติดตามแสดงตำแหน่ง ทิศทาง ความเร็ว และสถานะของเรือได้อย่าง Real-Time ตลอด 24 ชั่วโมง บนแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ทางทะเลก่อนเข้าเขตห้ามทำการประมงต่าง ๆ

เช่น เขตทะเลชายฝั่ง เขตปิดอ่าว เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตน่านน้ำประชิดประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น ระบบจะแสดงแนวกันชน (Buffer Zone) หรือแนวแจ้งเตือนในระยะ 0.5 ไมล์ทะเลด้านนอกของเขตที่ห้ามทำการประมงดังที่กล่าวมา

โดยชาวประมงสามารถเรียกดูเส้นทางการเดินเรือของตัวเองในตลอดเวลาย้อนหลังได้ตามช่วงเวลาที่ต้องการ หากชาวประมงที่มีเรือในกรรมสิทธิ์อยู่หลายลำ และมีการติดตั้งระบบติดตามเรือประมงกับบริษัทผู้ให้บริการต่างบริษัทกัน ก็สามารถดูเรือทุกลำภายในบัญชีผู้ใช้งานเดียวกันได้ ช่วยให้ชาวประมงสามารถติดตามเรือของตนเองผ่านทางออนไลน์ได้จากทุกที่ทุกเวลา

และสามารถแจ้งเตือนไปยังผู้ควบคุมเรือเพื่อแก้ไขปัญหาความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดการทำประมงผิดกฎหมายได้อีกด้วย ถือเป็นการลดการกระทำผิดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้อย่างมากซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาล

ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) ที่พยายามผลักดันการฟื้นฟูชีวิตอุตสาหกรรมประมงให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ ด้วยการอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการทำการประมง

สำหรับปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กันยายน 2566) มีเรือประมงที่ได้เข้าใช้งานแอปพลิเคชัน Fisheries Touch จำนวน 3,323 ลำ จากเรือประมงที่ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือทั้งหมด 5,082 ลำ และมีเรือที่ยังไม่ได้ใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวนี้อีกมากถึงจำนวน 1,759 ลำ ประกอบกับในห้วงที่ผ่านมา กรมประมงพบว่ามีการรายงานข้อมูลที่มีชาวประมงมีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าไปทำการประมงในเขตห้ามทำการประมงต่าง ๆ

ดังนั้น กรมประมงจึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เรือประมงที่ยังไม่ได้เข้าใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวให้ดาวน์โหลดและลงทะเบียนเข้าใช้งาน เพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน Fisheries Touch สามารถใช้งานบน Smart Phone ทั้งระบบ IOS ของ iPhone และ iPad ที่ใช้ Version IOS ขั้นต่ำ 5.0 และระบบ Android ของ Smart Phone และ Tablet ใช้ Version ขั้นต่ำ 4.0.3 ซึ่งใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยชาวประมงสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ App Store หรือ Play Store และติดต่อขอรหัสใช้งานได้ที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ VMS โทร. 0-2561-3132, 0-2561-2296, 0-2561-2297 หรือทาง Line ID : @114velss

‘กรมประมง’ จัดอบรมผู้ควบคุมเรือไทย ในโครงการ ‘ไต๋รักษ์ชาติ’  หวังยกระดับความรู้-เพิ่มพูนทักษะ-สร้างการยอมรับในระดับสากล

(20 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมประมง ได้จัดโครงการ ‘ฝึกอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมเรือประมงไทย เพื่อการจัดการประมงที่ยั่งยืน (ไต๋รักษ์ชาติ) รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม คามิโอ แกรนด์ จังหวัดระยอง เป็นโครงการนำร่อง

ทั้งนี้ กรมประมงในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลทรัพยากรทางด้านการประมงของประเทศไทย ตระหนักถึงบทบาทและคุณค่าของ ‘ผู้ควบคุมเรือ’ หรือ ‘ไต๋’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำประมง เป็นผู้หาปลา และเป็นหนึ่งในผู้สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ให้แก่มวลมนุษยชาติ ‘ไต๋’ เป็นอาชีพที่มีคุณค่า มีเกียรติและศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับอาชีพอื่น และในขณะเดียวกันยังเป็นอาชีพที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผู้จัดการเรือประมง ที่จะพาภาคประมงไทยพัฒนาไปสู่เจ้าสมุทรอีกครั้งหนึ่ง

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เจ้าของเรือประมงพาณิชย์กว่าร้อยละ 90 จ้าง ‘ไต๋’ เป็นผู้ควบคุมเรือเพื่อออกทำการประมง ในแต่ละปี ‘ไต๋’ สามารถทำการประมงมีผลจับกว่า 1.3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 71,500 ล้านบาท 

ดังนั้น ‘ไต๋’ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการประมง การบริหารจัดการทรัพยากรประมง รวมถึงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำ

เพื่อให้ภาคการประมงไทยบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นจึงเป็นการติดอาวุธความรู้ให้แก่ ‘ไต๋’ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ ทั้งองค์ความรู้ด้านมาตรการการจัดการทรัพยากรประมง ด้านการจัดการประมงทะเล ด้านกฎหมายประมง ด้านกระบวนงานที่สำคัญในภาคการทำประมง รวมถึงกฎหมายประมงระหว่างประเทศ กฎหมายในระดับภูมิภาค และพันธสัญญากับองค์กรต่างๆ (RFMO) ให้แก่ ‘ไต๋’ ล้วนแล้วเเต่จะสร้างประโยชน์ให้กับไต๋เรือ เพิ่มพูนทักษะ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

สำหรับโครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมเรือประมงไทย เพื่อการจัดการประมงที่ยั่งยืน (ไต๋รักษ์ชาติ) รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม คามิโอ แกรนด์ จังหวัดระยอง เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรองรับ ‘ไต๋’ เรือประมงพาณิชย์ นายท้ายเรือ และชาวประมง ที่ทำการประมงในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 50 คน

โครงการฯ ได้เชิญวิทยากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน และคณะทำงานร่วมเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล (sea food task force) มาร่วมบรรยายในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีการฝึกปฏิบัติภาคสนามการปฐมพยาบาลและการใช้เวชภัณฑ์สำหรับใช้ในเรือ ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม และยังมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม Environmental Justice Foundation หรือ EJF เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการฝึกอบรมในครั้งนี้อีกด้วย

อธิบดีกรมประมงกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร ‘ไต๋รักษ์ชาติ’ แล้ว ‘ไต๋’ และผู้เข้ารับการอบรม จะมีความรู้และความเข้าใจในการบริหารจัดการภาครัฐ กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างถูกต้อง จะสามารถลดข้อผิดพลาดและป้องกันการกระทำความผิดในภาคการประมงที่ไม่ได้ตั้งใจได้อย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรของไทยให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตได้ การจัดฝึกอบรมในรูปแบบเช่นนี้ จะมีการขยายขอบเขตไปอบรมให้แก่ผู้ทำการประมงพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง ตอนล่างและฝั่งทะเลอันดามัน โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามกำหนดการจัดฝึกอบรมในครั้งต่อไป จากทุกช่องทางสื่อสารของกรมประมง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ หรือกองบริหารจัดการเรือประมงและทำการประมง กรมประมง เบอร์โทรศัพท์ 02-562-0600

‘กรมประมง’ ชี้!! ‘ไข่ปลาหมอคางดำ’ ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ไม่ถึง 2 เดือน ยัน!! หากนำไข่ขึ้นจากน้ำแล้วทิ้งไว้จนแห้ง จะไม่สามารถฟักเป็นตัวได้อีก

(24 ก.ค. 67) นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยพบการแพร่ระบาดแล้ว 16 จังหวัด กรมประมงได้เร่งดำเนินการตามนโยบายของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 5 มาตรการสำคัญ แต่ในขณะนี้ มีข้อสงสัยของสังคม เรื่อง ไข่ปลาหมอคางดำสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมนอกปากปลาหมอคางดำได้ถึง 2 เดือน และยังฟักเป็นตัวได้

ทั้งนี้จากหลักวิชาการด้านประมง พบว่า พฤติกรรมของปลาหมอคางดำเป็นปลาที่พ่อปลาอมไข่ไว้ในปาก เพื่อฟักไข่ในปากไข่ปลาต้องได้รับความชุ่มชื้นและออกซิเจนอย่างเพียงพอ จึงจะเป็นสภาพที่พร้อมในการฟักลูกปลา ดังนั้น ไข่ปลาหมอคางดำจึงไม่สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ หากนำไข่ปลาหมอคางดำขึ้นมาจากน้ำแล้วทิ้งไว้จนแห้งจะกลายเป็นไข่เสียทันที ไม่สามารถฟักเป็นตัวได้อีก และในปัจจุบันยังไม่พบรายงานวิจัยว่าไข่ปลาหมอคางดำสามารถทนอยู่ในสภาพแห้งแล้ง ได้ถึง 2 เดือน แล้วกลับมาฟักเป็นตัวได้อีกอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำปลาหมอคางดำขึ้นจากน้ำแล้ว ไข่ปลาที่อยู่ในปากของพ่อปลาที่ตายแล้ว จะสามารถทนอยู่ได้ในปากประมาณ 10-15 นาที และไข่ที่ออกจากปากปลาสามารถอยู่ในน้ำที่ไม่มีออกซิเจนได้นานถึง 1 ชั่วโมง ในกรณีไข่ปลาหมอที่ตกค้างบริเวณพื้นบ่อที่ตากไว้ และโรยปูนขาวแล้ว ไข่ปลาหมอไม่สามารถฟักเป็นตัวได้

สำหรับไข่ปลาที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งพบได้ในปลาบางชนิด เช่น ปลาคิลลี่ (Killifish) ที่เป็นปลาขนาดเล็ก มีวงจรชีวิตสั้น ซึ่งตามสัญชาตญาณเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ ทำให้ไข่ปลาชนิดนี้มีความทนทานต่อสภาพที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ โดยในฤดูที่แห้งแล้งปลาคิลลี่จะวางไข่ไว้บนพื้นดิน และเมื่อได้รับน้ำในฤดูฝนก็จะสามารถฟักออกมาเป็นตัวได้ ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับปลาหมอคางดำ

นอกจากนี้ กรมประมงยังมีการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ เกษตรกรชาวประมง และประชาชน จับปลาหมอคางดำขึ้นจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อระบบปิด ซึ่งเมื่อจับขึ้นมาแล้วจำเป็นต้องนำไปใช้ประโยชน์ และกรมประมงเองก็มีการตั้งจุดรับซื้อทุกจังหวัดที่พบการแพร่ระบาด โดยตั้งราคาไว้ที่กิโลกรัมละ 15 บาท

>> ดังนั้น จึงขอแนะนำข้อปฏิบัติในการขนย้ายปลาหมอคางดำ ดังนี้

1.การขนส่งปลาหมอคางดำ ควรทำการขนส่งแบบแห้ง เพื่อไม่ให้มีไข่ปลารอดชีวิต

2.การนำปลาหมอคางดำไปเป็นเหยื่อหรืออาหารสัตว์แบบสด ควรใช้ปลาตายและเช็คให้แน่ใจว่าไม่มีไข่อยู่ในปาก

3.การทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของปลาหมอคางดำ เช่น การนำไปทำปุ๋ยชีวภาพหรือทำเป็นอาหารสัตว์ ควรอยู่ห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อน้ำทิ้ง เพื่อป้องกันการหลุดรอด

4.การขนส่งปลาสดในน้ำแข็ง ควรนำปลาใส่ถุงก่อน เพื่อไม่ให้สัมผัสกับน้ำแข็งที่อาจละลายในระหว่างการขนส่ง

>> สำหรับเกษตรกรที่เตรียมบ่อสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมงมีข้อแนะนำ ดังนี้

1.ลงปูนขาว หรือ กากชา เพื่อฆ่าศัตรูปลา ในการเตรียมบ่อก่อนลงลูกปลาที่เลี้ยงทุกครั้ง

2.ใช้ถุงกรองเพื่อกรองน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าสู่บ่อ ป้องกันไม่ให้ปลาหมอคางดำ ปลาผู้ล่าอื่น ๆ รวมถึงศัตรูปลาเข้าสู่บ่อเลี้ยง

3.หากพบปลาหมอคางดำในบ่อต้องรีบดำเนินการจับขึ้น โดยใช้แห อวน ลอบ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อควบคุมและกำจัดไม่ให้แพร่ระบาดจำนวนมาก

4.หากพบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำใกล้เคียงบ่อเลี้ยงให้รีบกำจัด และแจ้งกรมประมงเพื่อหาทางควบคุมและกำจัดออกจากแหล่งน้ำทันที

5.หากบ่อเลี้ยงเคยพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมาแล้ว ควรทำการตากบ่อ จนกว่าดินจะแห้งสนิทก่อนสูบน้ำเข้าบ่อ เพื่อเพาะเลี้ยงใหม่อีกครั้ง

‘ปลาหมอคางดำ’ กับ การรับมือสถานการณ์วิกฤต ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กรมประมง ต้องหาความจริง!! ดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้ที่สร้างความเสียหาย

(27 ก.ค.67) ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Sarotherodon melanotheron Rüppell เป็น ปลาหมอ (ปลานิล) สายพันธุ์พื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งแอฟริกาตะวันตก มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันตกตั้งแต่มอริเตเนียไปจนถึงแคเมอรูน มีสีค่อนข้างซีดแตกต่างกัน เช่น ฟ้าอ่อน ส้ม และเหลืองทอง โดยปกติจะมีจุดสีเข้มตรงคางของปลาที่โตเต็มวัย จึงถูกเรียกว่า ‘ปลาหมอคางดำ’

‘ปลาหมอคางดำ’ สามารถทนต่อความเค็มสูงได้ และพบได้มากในบริเวณป่าชายเลน และสามารถอพยพไปยังน้ำจืด เช่น ลำธารตอนล่าง และน้ำเค็ม ในแอฟริกาตะวันตก ปลาชนิดนี้จะอาศัยอยู่ใน ทะเลสาบ น้ำกร่อยและปากแม่น้ำเท่านั้น และพบมากในป่าชายเลน ซึ่งจะรวมฝูงกันและหากินเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะหากินในเวลากลางวันแต่ก็ไม่บ่อยนัก อาหารส่วนใหญ่จะเป็นหอยสองฝาและแพลงก์ตอนสัตว์ โดยจะกินอาหารด้วยการกัดกลืน 

การวางไข่จะเกิดขึ้นใกล้ชายฝั่งในน้ำตื้น ตัวเมียจะเกี้ยวพาราสีตัวผู้ ขุดหลุม และนำในการผสมพันธุ์ ในที่สุดตัวผู้จะตอบสนองในลักษณะค่อนข้างเฉื่อยชา แล้วคู่จะผสมพันธุ์กัน เป็นปลาที่ฟักไข่โดยใช้ปากของปลาตัวผู้ แต่ปลาตัวเมียสายพันธุ์หนึ่งในกานาก็สามารถฟักไข่โดยใช้ปากได้เช่นกัน ปัจจุบัน ‘ปลาหมอคางดำ’ ถูกจัดเป็นปลาพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive alien species) ในหลายพื้นที่อาทิ มลรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ดูเหมือนว่า ‘ปลาหมอคางดำ’ จะถูกนำเข้ามาโดยอาศัยการลักลอบนำเข้าจากการค้าสัตว์น้ำ มีข้อสงสัยว่ามีการปล่อยปลาเหล่านี้โดยเจตนา ในบางพื้นที่พบ ‘ปลาหมอคางดำ’ คิดเป็น 90% ของค่าชีวมวลของปลาทั้งหมด ในมลรัฐฮาวายเรียกปลาชนิดว่า "ปลาหมอน้ำเค็ม" เนื่องจากปลาชนิดนี้สามารถอยู่รอดและขยายพันธุ์ได้ในน้ำทะเลได้ ตามเกาะต่าง ๆ จะพบ ‘ปลาหมอคางดำ’ บริเวณชายหาดและในทะเลสาบรอบเกาะโออาฮูและรวมถึงเกาะอื่น ๆ ด้วย ‘ปลาหมอคางดำ’ ถือเป็นศัตรูพืชในคลองและอ่างเก็บน้ำในฮาวาย เพราะขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

ฟิลิปปินส์ ซึ่งเรียกปลาชนิดนี้อย่างไม่เป็นทางการว่ากลอเรียหรือติลาเปียง อาร์โรโย ตามชื่อของอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย เนื่องจากปลาชนิดนี้มีขนาดเล็ก และมีเม็ดสีเข้มคล้ายไฝใต้ขากรรไกรล่าง ซึ่งคล้ายกับรูปร่างเตี้ยและไฝที่แก้มซ้ายของอดีตประธานาธิบดี เชื่อกันว่าในช่วงต้นปี 2015 มีลักลอบนำเข้า ‘ปลาหมอคางดำ’ เพื่อการค้า และแอบปล่อยสู่ธรรมชาติในแหล่งน้ำใกล้จังหวัดบาตานและบูลากัน ‘ปลาหมอคางดำ’ ถือเป็นภัยคุกคามต่อบ่อปลาเนื่องจากขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วและกินพื้นที่รุกล้ำปลาชนิดอื่นโดยเฉพาะปลากะพงเลี้ยง ถูกพบในอ่าวมะนิลาเช่นกัน

สำหรับบ้านเรา ‘ปลาหมอคางดำ’ กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงที่มีการกล่าวถึงในสังคมโซเชียล ปลาชนิดนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำเข้า ไม่ว่าการหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจะเกิดจากใครก็ตาม กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่สืบสวนหาความจริง และดำเนินการตามกฎหมาย โดยการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อเจ้าพนักงานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้จะต้องมีผู้กระทำผิดที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทางแพ่งและอาญา เนื่องจากพบการระบาดรุนแรงในหลายพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ผู้เลี้ยงปลาและกุ้งจำนวนมากได้รับความเสียหาย รัฐบาลโดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศว่าจะกำจัด ‘ปลาหมอคางดำ’ ให้หมดสิ้น โดยมาตรการการกำจัดอย่างหนึ่งคือ การปล่อยปลาล่าเหยื่อ เช่น ปลากะพงขาวสู่ธรรมชาติเพื่อควบคุมจำนวนประชากรของ ‘ปลาหมอคางดำ’ ซึ่งต้องติดตามผลการดำเนินการดังกล่าวต่อไป

สำหรับประเทศที่ประสบปัญหาลักษณะนี้มากที่สุดในโลกได้แก่ สหรัฐอเมริกา เพราะชาวอเมริกันจำนวนมากที่นิยมเลี้ยงสัตว์แปลกๆ สัตว์หายาก แต่เมื่อเบื่อหรือเลี้ยงไม่ไหวแล้วแทนที่จะกำจัดทิ้ง กลับแอบปล่อยสู่แหล่งธรรมชาติ ทำให้ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะมลรัฐฟลอริดา มีสัตว์พันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานสัตว์พื้นถิ่นในระบบนิเวศอยู่มากมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้คือ ‘สำนักงานบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐ’(United States Fish and Wildlife Service : USFWS หรือ FWS) หน่วยงานรัฐบาลกลางในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จึงมีมาตรการต่าง ๆ ที่มีความทันสมัยในการจัดการกับทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ตัวอย่างของสัตว์พันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในสหรัฐฯ ได้แก่ หอยแมลงภู่ Quagga และ Zebra สัตว์ฟันแทะ (Rodents) ปลาคาร์พหัวโต, สีเงิน, สีดำ และปลาคาร์พหญ้า (Bighead, Silver, Black และ Grass Carp) ซึ่งเป็นอันตรายต่อการประมง การพักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ โดยมูลค่าความเสียหายสูงถึงหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี ปลาพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานเหล่านี้เข้ายึดครองแหล่งที่อยู่อาศัยและคุกคามปลาสายพันธุ์พื้นเมือง และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชุมชนหลายแห่ง  

‘สำนักงานบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐ’ จัดการกับปลาคาร์พพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานเหล่านี้ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญทำการวิจัยและให้ความช่วยเหลือด้านกลยุทธ์ ด้วยการพัฒนา “แผนการจัดการและการควบคุมสำหรับปลาคาร์ปหัวโต เงิน ปลาดำ และปลาคาร์พหญ้า ในสหรัฐอเมริกา” ซึ่งสามารถใช้เป็นพิมพ์เขียวระดับชาติในการจัดการปลาคาร์พพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานได้ ทั้งยังได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามที่เกิดจากช่วงชีวิตของปลาคาร์พพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในทุกช่วง (ไข่ ตัวอ่อน ลูกปลา และปลาตัวเต็มวัย) และปรับปรุงการตรวจจับตั้งแต่เนิ่น ๆ และมีกระบวนการตอบสนองที่รวดเร็ว

ปัญหาการระบาดของ ‘ปลาหมอคางดำ’ คนไทยทุกคนต่างมีส่วนเกี่ยวข้องได้รับผลกระทบทั้งสิ้น การป้องกันเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการระบุชนิดของสัตว์พันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานจึงเป็นสิ่งสำคัญ การช่วยเหลือในการตรวจจับตั้งแต่เนิ่น ๆ การตอบสนองอย่างรวดเร็ว และความตระหนักรู้ของคนไทยทุกคนก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะเมื่อสัตว์สายพันธุ์ที่รุกรานระบาดแล้ว ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกำจัดให้สิ้นซาก วิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากสัตว์สายพันธุ์ที่รุกรานคือการป้องกันไม่ให้พวกมันเข้ามาในประเทศ เราท่านสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันสัตว์สายพันธุ์ที่รุกรานได้หลายวิธี อาทิ งดเว้นการเลี้ยงสัตว์แปลก ๆ สัตว์หายาก แต่เมื่อเลี้ยงแล้วต้องระวังไม่ปล่อยให้พวกมันหลุดหนีไป เพราะสัตว์สายพันธุ์ที่รุกรานสามารถสร้างความเสียหายให้กับสัตว์พื้นเมืองและถิ่นที่อยู่ได้ เมื่อพวกมันหลบหนีหรือถูกปล่อยออกไป ต้องยอมมอบสัตว์เลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่สามารถดูแลมันได้อีกต่อไป ให้ทำอย่างมีความรับผิดชอบ แหล่งข้อมูลที่ดีเยี่ยมอื่น ๆ สำหรับวิธีป้องกันการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์รุกราน 

กระบวนการในการจัดการตาม “แผนการจัดการและการควบคุมสำหรับปลาคาร์ปหัวโต เงิน ปลาดำ และปลาคาร์พหญ้า ในสหรัฐอเมริกา” ของ ‘สำนักงานบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐ’ เป็นเรื่องที่กรมประมงสมควรได้เร่งนำมาพิจารณาและศึกษาเพื่อปรับใช้เป็นแนวทางและการปฏิบัติในการจัดการ การควบคุม และการกำจัด ‘ปลาหมอคางดำ’ ให้มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ เดินหน้าฟ้อง ‘กรมประมง-บิ๊กเอกชน’ ที่ศาลปกครองกลาง ชี้!! เป็น ‘อาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม’ ทำชาวประมงเสียหาย หลายหมื่นล้าน

(29 ก.ค. 67) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฎเป็นการทั่วไปว่ากรมประมง โดยคณะกรรมการ IBC อนุญาตให้บิ๊กเอกชนเพียงรายเดียวนำเข้าปลาหมอคางดำจากประเทศกานาเมื่อปี 53 แม้จะมีการอ้างว่าได้ทำลายหมดไปแล้ว แต่ทว่าปลาชนิดดังกล่าวกลับมาแพร่ระบาดทำลายสัตว์น้ำอย่างล้างผลาญไปทั่วกว่า 25 จังหวัด ชาวประมงเพาะเเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหายรวมนับหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวไทย-อันดามันในขณะนี้ ถือได้ว่าเป็น ‘อาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม’ ที่ร้ายแรงที่สุดของชาติ กรมประมงรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นแต่กลับไม่ดำเนินการเอาผิดบิ๊กนายทุนที่นำเข้าแต่อย่างใด แต่กลับนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาแก้ไขปัญหาตลอดมาหลายพันล้านบาทและจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ละอาย

องค์การรักชาติ รักแผ่นดิน และชาวประมงที่เดือดร้อนและเสียหาย จึงไม่อาจปล่อยให้กรมประมงและบิ๊กนายทุนลอยนวลไปได้ จึงจะนำความไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลออกคำบังคับใช้กฎหมายให้เอาผิดบิ๊กเอกชนต้นเหตุของปัญหาและให้รับผิดชอบต่อความเสียหายของชาวประมงทั้ง 25 จังหวัด และสั่งให้ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่สูญหายไปให้กลับมาดังเดิมต่อไป โดยจะไปยื่นฟ้องในวันอังคารที่ 30 ก.ค.67 เวลา 10.00 น. ณ ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ

สตูล หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะหลีเป๊ะ (สตูล) ตรวจยึดเครื่องมือทำการประมงอวนลากแผ่นตะเฆ่ในพื้นที่เขตทะเลชายฝั่ง

(11 ก.ย. 67) หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะหลีเป๊ะ (สตูล) ศูนย์ฯ กระบี่ กองตรวจการประมง กรมประมง โดยนายสุขเกษม ศรีงาม หัวหน้าหน่วยฯ และนายชัยวัฒน์ รุ่งแก้ว เจ้าพนักงานประมงปฏิบัติงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ นำเรือตรวจประมงทะเล 214 จำนวน 5นาย ออกปฎิบัติงาน ควบคุมการทำการประมง เมื่อมาถึงพื้นที่ ต.แหลมสน อ.ละงู จ.สตูล จากการสังเกตการณ์พบเห็นกลุ่มเรือประมงหางยาวกำลังลักลอบทำการประมงโดยใช้เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ในเขตทะเลชายฝั่ง ทางด้านทิศใต้ของเกาะกล้วย พื้นที่ ต.แหลมสน อ.ละงู จ.สตูล จึงได้นำเรือตรวจประมง 214 เข้าประชิดแต่กลุ่มเรือดังกล่าวได้ตัดอวนและทำการเร่งเครื่องหลบหนีการจับกุม จนไม่สามารถติดตามได้ทัน จึงทำการตรวจยึดของกลางอวนลากแผ่นตะเฆ่ จำนวน 4 ปาก สัตว์น้ำจำนวน 2 กิโลกรัม (ทำลายด้วยวิธีการฝังกลบ) ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 36 มาตรา 67(3) แห่ง พรก.ประมง 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และความผิดตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2566 ข้อ 2 (1) มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 129, 147, และ 169 แห่ง พรก. ประมง 2558  และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยได้ทำบันทึกตรวจยึดเครื่องมือทำการประมง นำส่ง สภ.ละงู อ.ละงู จ.สตูล เพื่อประกอบเป็นหลักฐานและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นิตยา แสงมณี // ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดสตูล


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top