ผลศึกษา ‘โมลนูพิราเวียร์’ ต้านได้ทุกสายพันธุ์ เปิดไทม์ไลน์เข้าไทย ได้ใช้เร็วที่สุด ธ.ค.นี้
สธ.เผยผลศึกษา ‘โมลนูพิราเวียร์’ ใช้ได้ผลดีในกลุ่มอาการเล็กน้อย-ปานกลาง ยับยั้งโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์ พร้อมเปิดไทม์ไลน์เข้าไทย ได้ใช้เร็วที่สุด ธ.ค.นี้
วันที่ 6 ต.ค. 64 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้ายาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ ระบุว่าการฉีดวัคซีนทำให้ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตลดน้อยลงได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ บางรายจึงอาจมีการติดเชื้อและมีอาการหนักได้ ซึ่งกรมการแพทย์ได้หารือกับบริษัทต่างๆ ที่ทำการทดลองยาต้านไวรัสในต่างประเทศมาโดยตลอด รวมถึงยาโมลนูพิราเวียร์ ด้วย
โดยยาต้านไวรัสตัวนี้ คือยาต้านไวรัสโดยการยับยั้งการจำลองตัวเองของเชื้อโควิด-19 เมื่อเชื้อไวรัสไปอยู่ในเซล เชื้อจะไปจำลองตัวเองเพื่อแบ่งตัว ทำให้ไวรัสมากขึ้น ทำให้ภูมิต้านทานร่างกายต่อสู้ไม่ได้ แต่ยาโมลนูพิราเวียร์จะไปยับยั้งการเพิ่มจำนวนตัวเองของไวรัส ซึ่งข้อมูล ณ ขณะนี้ยืนยันว่าสามารถใช้ได้กับโควิดเกือบทุกสายพันธุ์ที่มีในปัจจุบันทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม แกมมา เดลตา หรือมิว
ในการวิจัยของบริษัทผู้ผลิตเป็นแบบสุ่มระยะที่ 3 MOVe-OUT Trial ซึ่งการใช้ยาตัวนี้จะใช้ในผู้ป่วยอาการเล็กน้อย - ปานกลาง ยังไม่ได้รับวัคซีน และจะต้องเป็นผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงอย่างน้อย 1 ปัจจัย คือ ภาวะอ้วน, อายุ 60 ปีขึ้นไป, เบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคมะเร็ง ซึ่งจะให้ยาภายใน 5 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ
จากข้อมูลการวิเคราะห์เบื้องต้น ในผู้ที่ได้รับยา 775 คน แบ่งเป็นได้ยาโมลนูพิราเวียร์ 385 คน และยาหลอก 377 คน โดยยามีขนาดเม็ดละ 200 มิลลิกรัม ให้ครั้งละ 4 เม็ด 800 มิลลิกรัม เช้า - เย็น รวมวันละ 1,600 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วันรวม 40 เม็ด พบว่าลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิตประมาณ 50% ไม่พบผู้เสียชีวิตในผู้ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ และเสียชีวิต 8 รายในผู้ที่ได้รับยาหลอก อย่างไรก็ตาม ในการทดลองใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในผู้ป่วยที่มีอาการหนัก พบว่าไม่ได้ผล จึงได้เลิกการวิจัย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า แผนการดำเนินการของยาโมลนูพิราเวียร์นั้น บริษัท Merck ผู้ผลิตจะดำเนินการยื่นขอการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน ถ้าผ่านการขึ้นทะเบียนจะเป็นยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดตัวแรก ที่จะได้รับการรับรองจาก อย.สหรัฐฯ ซึ่ง Merck ตั้งเป้าผลิตให้ได้สำหรับ 10 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้ หรืออีก 3 เดือน โดย Merck มีแผนการทำสัญญากับฐานการผลิตยาหลายแห่งในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ในเอเชียมีการหารือร่วมกับประเทศอินเดีย 5 - 6 บริษัท
