Sunday, 20 April 2025
กมลาแฮร์ริส

เว็บไซต์ข่าวเอพี รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐจะไม่มาร่วมประชุมผู้นำเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เนื่องจาก ‘นาโอมิ ไบเดน’ หลานสาวคนโตของประธานาธิบดีจะจัดงานแต่งงาน

เว็บไซต์ข่าวเอพี รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐจะไม่มาร่วมประชุมผู้นำเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เนื่องจาก ‘นาโอมิ ไบเดน’ หลานสาวคนโตของประธานาธิบดีจะจัดงานแต่งงานกับนายปีเตอร์ นีล คู่หมั้น ที่ทำเนียบขาว ในวันที่ 19 พ.ย. ซึ่งตรงกับวันประชุมผู้นำเอเปคในกรุงเทพฯ ที่กำหนดจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.นี้

ขณะที่ ไทยพีบีเอสเวิลด์รายงานว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา จะไม่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากเหตุผลทางด้านครอบครัว

ทั้งนี้ ทำเนียบขาวเพิ่งมีการแจ้งเรื่องดังกล่าวให้กับสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทราบว่ารองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐในการเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวแทน โดยนางแฮร์ริสจะบินตรงมายังกรุงเทพฯเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเปคเป็นเวลา 2 วันดังกล่าว

ไทยพีบีเอสเวิลด์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ไบเดนจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอด จี20 ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน จากนั้นจะบินตรงกลับไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยก่อนหน้านี้ผู้นำสหรัฐมีแผนที่จะเดินทางมายังกรุงเทพฯเป็นเวลา 1 วัน เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเปค

‘นันทิวัฒน์’ ชื่นชม ‘กลมา แฮร์ริส’ ตัวแทนสหรัฐฯ ไม่ยก ม.112 กดดันไทยช่วงประชุมฯ อย่างที่หลายฝ่ายหวัง

(22 พ.ย. 65) นายนันทิวัฒน์ สามารถ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ว่า อเมริกามหามิตร การประชุมเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ถูกบางคนค่อนแคะว่า ไบเดน ผู้นำใหญ่ของโลกประชาธิปไตยไม่มาร่วม จะทำให้การจัดงานประชุมเอเปคครั้งนี้กร่อยแน่นอน

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า… ในฐานะเจ้าภาพ ไทยอยากให้ผู้นำเอเปคทุกคนมาร่วมประชุมให้ได้ คุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกและรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้เดินสายมอบหนังสือเชิญด้วยตนเอง แต่เราก็ต้องเข้าใจบริบทในความจำเป็นของผู้นำต่างๆ ที่ติดธุระสำคัญ ไม่สามารถมาร่วมงานได้ และมีอย่างน้อย 4 เขตเศรษฐกิจที่ส่งผู้แทนมาร่วมประชุม

กรณีอเมริกา แม้ไบเดนจะมาไม่ได้ แต่ก็ส่งกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีมาแทน ซึ่งไม่ได้ด้อยค่าอะไรต่อไทยแต่อย่างใด

‘กรณ์’ ชี้ ‘ไบเดน’ ตัดสินใจถอนตัว พลิกเกม ดึงเงินบริจาค กลับมาเข้าพรรค มอง!! ‘กมลา แฮร์ริส’ เก่ง-ฉลาด สามารถแข่งกับ ‘ทรัมป์’ ได้แต่ยังเสียเปรียบ

(22 ก.ค.67) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ ไบเดนถอนตัว…แล้วไงต่อ? ระบุว่า ไบเดน เสนอรองประธานาธิบดี Kamala Harris เป็นผู้สมัคร แต่ยังสรุปไม่ได้ อาจจะต้องเปิดให้มีการแข่งขันในที่ประชุมพรรคที่เรียกว่า ‘Open Convention’ (หลายชั่วโมงที่ผ่านมา คลินตั้นสนับสนุน Harris แต่โอบาม่า โน้มเอียงไปทาง Open Convention) ตัวเต็งคือ Harris ส่วนตัวผมว่าเธอโอเค เก่ง ฉลาด แข่งกับ Trump ได้ แต่ในขณะนี้เสียเปรียบอยู่แน่นอน

ส่วนตัวผมไม่แปลกใจที่ไบเดนถอนตัว ก่อนหน้านี้ที่หลายคนลุ้นอยู่คือไบเดนจะแค่ถอนตัวจากการเป็นผู้สมัคร หรือจะถอยให้ Harris เป็นประธานาธิบดีด้วยเลย ผมคิดว่าแค่นี้ดีแล้ว ดีสำหรับไบเดน ดีสำหรับ Harris ดีสำหรับการเมืองอเมริกัน

ผมว่าการตัดสินใจครั้งนี้อยู่ในระดับเปลี่ยนเกมส์ได้เลย เงินบริจาคเข้าพรรคน่าจะกลับมา

'โพลมะกัน' ชี้!! 'แฮร์ริส' ยังเป็นรอง 'ทรัมป์' อยู่หลายขุม เพราะถูกมองเป็นเพียงภาพเงาสะท้อนไบเดน-ไร้บารมี

ข่าวใหญ่ที่สุดของวันนี้ หนีไม่พ้นการยอมสละตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครต ในการชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ 2024 ของ 'โจ ไบเดน' และขอส่งไม้ต่อให้กับ 'กมลา แฮร์ริส' รองประธานาธิบดีคู่หูของเขา ขึ้นไปแข่งขันกับ 'โดนัลด์ ทรัมป์' แทน  

ถึงจะเป็นข่าวดังทั่วโลก แต่ไม่ได้สร้างความประหลาดใจเท่าใดนัก หากได้ติดตามข่าวการเดินสายหาเสียง และปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้นำสหรัฐฯ ของไบเดน ในปีที่ผ่านมาก็สามารถจับสัญญาณถึงความร่วงโรยสังขารของผู้นำวัย 81 ปีได้ และจากผลงานการดีเบตระหว่างเขา และ โดนัลด์ ทรัมป์ ล่าสุดที่ผ่านมา เป็นการตอกตะปูย้ำอย่างชัดเจนเป็นประจักษ์ว่า ไบเดนควรถอยให้คนรุ่นใหม่จะดีกว่า

โดย โจ ไบเดน ประกาศสนับสนุน กมลา แฮร์ริส ให้ขึ้นมาทำหน้าที่ตัวแทนพรรคเดโมแครตแทนที่เขาอย่างสุดกำลัง เพื่อหวังที่จะดึงคะแนนเสียงทั้งกลุ่มสตรี กลุ่มคนผิวสี กลุ่มชาวเอเชีย หรือแม้แต่กลุ่มผู้สนับสนุนไบเดนเดิม ด้วยการชูประเด็นที่จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการเลือกประธานาธิบดีหญิงคนแรก และ ประธานาธิบดีผิวสีคนที่ 2 ให้กับสหรัฐฯ

แม้จะได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีในตำแหน่งคนปัจจุบัน แต่ กมลา แฮร์ริส ก็ยังไม่ถือว่าเป็นตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะมีการลงมติโดยผู้แทนในการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้เสียก่อน ที่ไม่รู้ว่าจะพลิกโผหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ในวันนี้คือ โพลมาแล้ว 

โดยสำนักโพล Decision Desk HQ (DDHQ) ร่วมกับสำนักข่าวสายการเมือง The Hill ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ ว่าระหว่าง กมลา แฮร์ริส และ โดนัลด์ ทรัมป์ ใครนำ? ใครตาม? อย่างไร?

จากผลโพลจาก DDHQ ชี้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ยังนำ กมลา แฮร์ริส ในสัดส่วน 47% ต่อ 45%  ซึ่งแทบไม่ต่างจากผลโพลล่าสุดระหว่างทรัมป์ และ ไบเดน เลย ที่ทรัมป์ ยังนำ ไบเดน ด้วยคะแนน 46% ต่อ 43.5%

นี่เป็นคะแนนสูงสุดที่ กมลา แฮร์ริส ทำได้ในเวลานี้ ที่ยังไม่ประกาศว่าใครจะมาเป็นคู่หูของเธอในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ แต่จากผลสำรวจล่าสุดพบว่า ถ้า โรเบิร์ต เคนเนดี จูเนียร์ กระโดดเข้าร่วมการแข่งขันอีกคนในฐานะผู้สมัครอิสระ จะยิ่งฉุดคะแนนของ กมลา แฮริส และทรัมป์ มีโอกาสนำผู้สมัครของเดโมแครตสูงถึง 6% เลยทีเดียว 

ส่วนโพลด้านคะแนนความนิยมส่วนตัวของกมลา แฮร์ริส ก็ดูยังน่าเป็นห่วง 

จากโพลสำรวจกว่า 102 สำนักพบว่าแฮร์ริสมีคะแนนความนิยมอยู่ที่  37.7% แต่คะแนนความไม่นิยมในตัวเธอกลับสูงกว่าเกือบเท่าตัวที่ 55.5% 

สก็อต แทรนเตอร์ ผู้อำนวยการสำนักโพล DDHQ กล่าวว่า ความนิยมในตัวแฮร์ริสนั้นเป็นเพียงภาพเงาสะท้อนตัวตนของไบเดน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเธอเท่าไหร่ เพราะ โจ ไบเดน ออกจากสนามแข่งด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก และ กมลา แฮร์ริส ก็ยังไม่มีบารมีเทียบเท่าไบเดน ซึ่งสิ่งที่ผู้ลงคะแนนเสียงอยากจะเห็นคือ เธอมีอะไรสดใหม่มานำเสนอให้กับชาวอเมริกันบ้าง

แต่ก็มีผลสำรวจของบางสำนักที่สนับสนุน กมลา แฮร์ริส ด้วยเช่นกัน อาทิ โพลของ Economist/YouGov ที่ชี้ว่า 8 ใน 10 ของชาวเดโมแครตสนับสนุน แฮร์ริส และมีโอกาสที่จะเอาชนะทรัมป์ได้ ในขณะที่โพลจากสำนักข่าว CBS และ CNN เผยว่า ทั้งไบเดน และ แฮริส ล้วนมีคะแนนตามหลังทรัมป์ แต่ แฮร์ริส มีส่วนต่างของคะแนนที่ตามหลังทรัมป์น้อยกว่าไบเดน และยังมีโอกาสได้เงินสนับสนุนหาเสียงมากกว่าผู้สมัครคนอื่น ๆ ของพรรค 

แต่เมื่อมองมาที่ฟากฝั่งของพรรครีพับลิกัน ต่างมองว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ยังมีภาษีเหนือกว่า กมลา แฮร์ริส อยู่มาก และสามารถเอาชนะได้ง่ายกว่าแข่งกับไบเดนเสียอีก  

จุดเสียเปรียบของแฮร์ริส คือ เธอต้องแข่งกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ใช่คนเดิมเมื่อ 4 หรือ 8 ปีก่อน แต่เป็นนักการเมืองที่ผ่านสนามรบมาอย่างหนักหน่วงทั้งนิติสงคราม และ การลอบสังหารอย่างจริงจังมาแล้ว

นอกจากนี้ เธอยังต้องต่อสู้กับค่านิยมการเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ และสีผิว ที่ยังฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน ในขณะที่เธอมีเวลาเหลือเพียง 4 เดือนสำหรับแคมเปญหาเสียงที่ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด 

ดังนั้น แฮร์ริส 2024 ไม่ใช่งานง่ายจริง ๆ 

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

‘แฮร์ริส’ ภูมิใจได้รับแรงหนุนจากคนในพรรค หลัง ‘ไบเดน’ ถอนตัว พร้อมลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สู้!! ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

(23 ก.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ‘กมลา แฮร์ริส’ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า เธอได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้แทนของพรรคเดโมแครตมากพอจะได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคฯ ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ใกล้จะเกิดขึ้น

โดยแถลงการณ์จากแฮร์ริสระบุว่า เธอภูมิใจที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางที่จำเป็นต่อการได้รับเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต และหวังว่าจะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้

อนึ่ง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (21 ก.ค.) ว่าเขาจะถอนตัวออกจากการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากภายในพรรคเดโมแครต โดยไบเดนยังแสดงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการเสนอให้แฮร์ริสเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของพรรคฯ

แฮร์ริสได้รับแรงหนุนจากบุคคลสำคัญของพรรคเดโมแครตหลายคน ซึ่งรวมถึงอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างแนนซี เพโลซี ที่เรียกร้องให้พรรคฯ รวมพลังและคว้าชัยเหนืออดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน

‘กมลา แฮร์ริส’ ขึ้นแท่นเจ้าแม่มีม 2024 หลังเปลี่ยน ‘มุกแป้ก’ กลายเป็น ‘ปัง’ พร้อมกวาดคะแนนเสียงชาว Gen Z ที่แม้แต่ ‘ไบเดน-ทรัมป์’ ก็ทำไม่ได้

‘กมลา แฮร์ริส’ กลายเป็นจุดสนใจของสื่ออเมริกันทันทีที่ ‘โจ ไบเดน’ ยอมถอนตัวออกจากสนามเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ เพื่อดัน กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคู่หูของเขาขึ้นชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ในสมัยหน้า 

แม้ แฮร์ริส อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดของพรรคเดโมแครต แต่เธอมีฐานเสียงสนับสนุนอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะ ‘กลุ่มสตรี’ และ ‘คนผิวสี’ ที่สร้างปรากฏการณ์ยอดบริจาค 81 ล้านเหรียญเข้าพรรคได้ภายใน 24 ชั่วโมง และยังทำให้คนในพรรคที่เคยเสียงแตกกลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อีกครั้ง ด้วยจุดประสงค์เดียวกัน คือ เอาชนะ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ให้ได้ 

และล่าสุด…ดูเหมือนว่าความนิยมของแฮร์ริส จะพุ่งสูงยิ่งขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น Gen Z ทั้ง ๆ ที่เธอยังไม่ทันได้เริ่มออกหาเสียงในฐานะแคนดิเดตเบอร์ 1 ของพรรคอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ 

เมื่อคลิปบางช่วงที่ตัดมาจากสุนทรพจน์ของเธอ ที่เคยกล่าวไว้ที่ทำเนียบขาวตั้งแต่ปี 2023 กลายเป็นไวรัลไปทั่ว โดยเธอได้ยกคำพูดของแม่มาเล่าให้ฟังว่า "ฉันไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเธอ หนุ่ม-สาวทั้งหลาย พวกเธอคิดว่าเพิ่งตกลงมาจากต้นมะพร้าวหรือไง"

และทำให้มุกต้นมะพร้าวที่เคยแป้กของเธอ กลายเป็นมุกปังไปทั่วโลกออนไลน์ ที่มีทั้งชาว X ชาว Tiktok ออกมาปล่อยมุกต้นมะพร้าวกันอย่างพร้อมเพรียงกัน ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่า ‘ต้นมะพร้าว’ ของ กมลา แฮร์ริส หมายถึงอะไร

ยิ่งพรรคคู่แข่งอย่าง ‘รีพับลิกัน’ พยายามโจมตีแฮร์ริส เรื่องมุกตลกฝืด ๆ ของเธอ ก็ยิ่งทำให้กระแสคลิปของเธอดังยิ่งขึ้นไปอีก จนสื่อมวลชนยกตำแหน่ง ‘เจ้าแม่มีม 2024’ ให้แก่ กมลา แฮร์ริส โดยพร้อมเพรียง

ข้อดีของกระแสมีมมุกแป้กของแฮร์ริสนั้น ทำให้เธอสามารถจับฐานเสียงกลุ่ม Gen Z ที่เป็น Young Voter ได้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งเป็นกลุ่มฐานเสียงที่ทั้งไบเดน และ ทรัมป์ เจาะไม่ถึง 

จากความเห็นบางส่วนของกลุ่ม Gen Z ที่ชื่นชอบ กมลา แฮร์ริส มองว่า เธอเป็นคนเข้าถึงง่าย มีความเป็นปุถุชนสูง ไม่ถือตัวที่จะปล่อยมุกตลก 5 บาท 10 บาท แม้ส่วนใหญ่จะเป็นมุกฝืด ๆ เพื่อเข้าถึงผู้ฟังทุกกลุ่ม ซึ่งต่างจากผู้นำคนอื่น ๆ ที่มักกล่าวสุนทรพจน์ที่ร่างขึ้นอย่างสวยหรู แต่ห่างไกลผู้ฟัง

และตอนนี้ คนรุ่นใหม่มีเกณฑ์ในการเลือกผู้นำของพวกเขาที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่า ๆ อย่างชัดเจน เน้นกระแสออร่าความเป็นเซเลป คนดังก่อน ค่อยพิจารณานโยบายทีหลัง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหลายปีที่ผ่านมาชาวอเมริกันไม่ได้เห็นความแตกต่างของการทำหน้าที่รัฐบาลของพรรคการเมืองมากนัก เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงขอเลือกคนที่ถูกใจตัวเองดีกว่า 

ไม่แน่ว่า…การเลือกตั้งผู้นำครั้งนี้ของสหรัฐ อาจตัดสินกันที่กระแสมีมก็เป็นได้ 

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

‘นิวยอร์กไทม์’ เผย!! 'ทรัมป์-แฮร์ริส' คะแนนนิยมกินกันไม่ลงก่อนดีเบตรอบใหม่ ภายใต้มุมมองอเมริกันชนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ 'จุดยืน-นโยบาย' ของ 'แฮร์ริส'

(9 ก.ย. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจของ ‘นิวยอร์กไทม์’ (New York Times/ Siena College) พบว่า ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคริพับริพัน มีคะแนนนิยมนำ รองประธานาธิบดี ‘กมลา แฮร์ริส’ จากพรรคเดโมแครต 1 แต้ม อยู่ที่ 48% ต่อ 47% ซึ่งเป็นส่วนต่างที่ไม่มีนัยสำคัญภายใต้ค่าความผิดพลาดของโพลซึ่งอยู่ที่บวกลบไม่เกิน 3% นั่นหมายความว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มีโอกาสมากพอๆ กันที่จะชนะศึกเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ย. 67

แม้แคมเปญหาเสียงของ ทรัมป์ จะซวนเซไปบ้างหลังจากที่ประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ ประกาศถอนตัว และส่ง ‘กมลา แฮร์ริส’ ขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิงพรรคเดโมแครตแทนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ผลสำรวจล่าสุดของหลายสำนักบ่งชี้ตรงกันว่ากลุ่มประชากรที่เป็นฐานเสียงหลักของ ทรัมป์ ยังคงเหนียวแน่นเหมือนเดิม

โพลฉบับนี้ยังพบด้วยว่า ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางส่วนยังไม่ค่อยเข้าใจจุดยืนและนโยบายต่างๆ ของแฮร์ริสเท่าไหร่นัก ขณะที่ความเข้าใจของพวกเขาต่อทรัมป์ นั้น ‘ชัดเจน’ อยู่แล้ว โดย 28% ยอมรับว่ายังต้องการข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครของเดโมแครตมากกว่านี้ แต่มีเพียง 9% ที่รู้สึกแบบเดียวกันกับทรัมป์

จากตัวเลขที่ออกมาทำให้เห็นได้ว่า ศึกดีเบตนัดแรกระหว่าง ทรัมป์ กับ แฮร์ริส ในวันพรุ่งนี้ (10 ก.ย. 67) อาจจะเป็นอีกหนึ่งจุดพลิกผันที่สำคัญของศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

โดย ‘แฮร์ริส’ จะได้มีโอกาสแจกแจงนโยบายต่างๆ ของเธอให้ชาวอเมริกันเข้าใจมากยิ่งขึ้นระหว่างที่ประชันวิสัยทัศน์กับ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเวลา 90 นาที และเนื่องจากคะแนนนิยมของทั้งคู่สูสีกันอย่างยิ่ง ศึกดีเบตครั้งนี้จึงอาจสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยสำคัญหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผลงานออกมาได้ดีกว่า

นับตั้งแต่ แฮร์ริส ก้าวเข้ามาถือตั๋วผู้แทนพรรคเดโมแครต เธอก็ตระเวนเดินสายพบปะประชาชนอย่างแข็งขัน แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการแสดงวิสัยทัศน์แบบ ‘อ่านบท’ ที่เตรียมเอาไว้แล้ว และยังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างๆ น้อยมากด้วย

ผลสำรวจครั้งนี้ออกมาคล้ายคลึงกับโพลของ ‘New York Times/ Siena College’ เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ที่พบว่า ทรัมป์ มีคะแนนนำแฮร์ริส อยู่ 1 แต้มเช่นกัน

สำหรับผลโพลใน 7 รัฐสมรภูมิสำคัญที่คาดว่าจะเป็นตัวตัดสินผลเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ย. 67 ก็พบว่าผู้สมัครทั้ง 2 รายยังคงมีคะแนนนิยมตีคู่สูสีกันอย่างมาก

เริ่มแล้ว!! ดีเบต ‘ทรัมป์ VS แฮร์ริส’ เลือกตั้งชิงผู้นำสหรัฐฯ มีแต่ 'ซัด-สวน-แขวะ' ปม 'การเมือง-เศรษฐกิจ-ความมั่นคง'

(11 ก.ย. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ศึกดีเบตรอบแรกระหว่าง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ และ รองประธานาธิบดี ‘กมลา แฮร์ริส’ เริ่มเปิดฉากขึ้นในเวลา 21.00 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (ET) ที่เมือง ‘ฟิลาเดเฟีย’ รัฐ ‘เพนซิลเวเนีย’ โดยมีสถานีโทรทัศน์ ‘ABC News’ เป็นเจ้าภาพ ท่ามกลางคำถามว่า ทรัมป์และแฮร์ริส ซึ่งไม่เคยพบเจอกันตัวเป็นๆ มาก่อนจะทักทายกันอย่างไร? ซึ่งปรากฏว่าแฮร์ริสจบข้อสงสัยด้วยการเป็นฝ่ายเดินไปหาทรัมป์ที่โพเดียมของเขา และยื่นมือทักทายพร้อมแนะนำตัวเองว่า ‘กมลา แฮร์ริส’ ซึ่งถือเป็นการจับมือในศึกดีเบตระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา

รอยเตอร์ชี้ว่าท่าทีของแฮร์ริสเป็นการส่งสัญญาณ ‘ลดการ์ด’ ให้กับชายซึ่งใช้เวลาตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาดูหมิ่นเหยียดหยามเธอทั้งในแง่ของเพศและเชื้อชาติ

แฮร์ริส ซึ่งเป็นอดีตอัยการวัย 59 ปี พุ่งเป้าโจมตีจุดอ่อนต่างๆ ของทรัมป์ซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง จนทำให้ทรัมป์ในวัย 78 ปีออกอาการโมโหอย่างเห็นได้ชัด และพยายามตอบโต้ด้วยการอ้างข้อมูลบิดเบือนต่างๆ โดยในช่วงหนึ่งของการอภิปราย แฮร์ริสได้กล่าวถึงการปราศรัยหาเสียงของทรัมป์ โดยเยาะเย้ยว่าคนส่วนใหญ่ ‘มักจะกลับก่อน’ เพราะว่า ‘ทนความเบื่อไม่ไหว’

ทรัมป์ก็ตอกกลับทันควันว่า “ในการปราศรัยของผม เรามีการปราศรัยขนาดใหญ่ที่สุด และเหลือเชื่อที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ” พร้อมทั้งกล่าวหาว่า แฮร์ริส ‘จัดรถบัส’ ไปขนคนเข้ามาฟังการปราศรัยของตัวเอง

พร้อมกันนั้น ทรัมป์ยังอ้างทฤษฎีสมคบคิดไร้หลักฐานที่ระบุว่า ผู้อพยพผิดกฎหมายชาวเฮติในเมืองสปริงฟิลด์ รัฐโอไฮโอ ‘กินสัตว์เลี้ยง’ ของประชาชนในพื้นที่ โดยข้อมูลนี้ถูกแชร์กันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ และถูกนำมาโหมกระพือโดย ‘เจ. ดี. แวนซ์’ ซึ่งเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีของทรัมป์เอง

“ที่สปริงฟิลด์ คนพวกนั้นกินสุนัข พวกที่อพยพย้ายเข้ามา พวกเขากินแมว” ทรัมป์ กล่าว “พวกนั้นกินสัตว์เลี้ยงของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง”

เจ้าหน้าที่เมืองสปริงฟิลด์เคยออกมาชี้แจงแล้วว่าข้อครหาเหล่านั้นไม่เป็นความจริง และผู้ดำเนินรายการของ ABC ก็รีบโต้แย้งทันทีหลังจากที่ทรัมป์พูดเรื่องนี้ขึ้นมา ขณะที่แฮร์ริสแสดงออกด้วยการหัวเราะและเย้ยหยันอีกฝ่ายว่า “พูดจาสุดโต่ง”

แฮร์ริสซึ่งเป็นอดีตอัยการรัฐแคลิฟอร์เนีย ยังพยายามขุดคุ้ยพฤติกรรมในอดีตของทรัมป์ขึ้นมาโจมตี โดยเฉพาะเรื่องที่เขาพยายามล้มผลเลือกตั้งในปี 2020 ซึ่งตลอด 1 ชั่วโมงแรกของการดีเบตดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์นี้จะได้ผลไม่น้อย และบีบให้ ทรัมป์ต้องพยายามหาทางแก้ต่างให้กับตัวเอง

ทรัมป์กล่าวว่าตนเอง ‘ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง’ กับเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2021 นอกเหนือไปจาก “พวกเขาขอให้ผมขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์” และยังคงอ้างเหมือนเดิมว่าตนเองคือผู้ที่ชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020

แฮร์ริสยกพฤติกรรมในอดีตของทรัมป์มาเป็นเหตุผลว่าถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ จะต้องพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่

“โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกชาวอเมริกัน 81 ล้านคนไล่ลงจากเก้าอี้ ขอให้ทุกท่านเข้าใจชัดเจนตามนี้ด้วย และเห็นได้ชัดว่าเขามีปัญหาในการทำความเข้าใจข้อเท็จจริงข้อนี้ แต่เราไม่สามารถยอมให้สหรัฐฯ มีประธานาธิบดีที่พยายามล้มล้างเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นอย่างเสรีและเป็นธรรม อย่างที่เขาเคยพยายามทำมาในอดีตได้” แฮร์ริส กล่าว

รองประธานาธิบดีหญิงผู้นี้ยังจิกกัดทรัมป์ด้วยการบอกว่าผู้นำทั่วโลกต่าง ‘หัวเราะเยาะ’ เขา และมองว่าเขา ‘สร้างความอับอาย’ ต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสำนวนภาษาเดียวกันกับที่ทรัมป์มักจะพูดเย้ยหยัน ‘โจ ไบเดน’ ระหว่างที่เดินสายหาเสียง

ด้านทรัมป์ก็หันมาเล่นงานแฮร์ริสด้วยการอ้างว่าเธอ ‘ไม่เคยได้รับคะแนนโหวต’ ในการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต และยังอ้างว่าเธอก้าวขึ้นมาแทนที่ไบเดน ตามแผน ‘รัฐประหาร’ (coup) ของคนในพรรค

“เขาเกลียดเธอ” ทรัมป์อ้างว่าไบเดนรู้สึกเช่นนั้น “เขาทนเธอไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม การโต้เถียงเช่นนี้ดูเหมือนจะยิ่งไปเพิ่มน้ำหนักให้กับคำพูดของแฮร์ริสที่ว่า ทรัมป์ขาดความสามารถในการ ‘ควบคุมอารมณ์’ ซึ่งประธานาธิบดีควรจะมี

ผู้สมัครทั้งสองยังแลกหมัดกันในประเด็นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า ทรัมป์มีคะแนนนิยมสูงกว่าแฮร์ริส ในด้านนี้

แฮร์ริสได้แจกแจงนโยบายต่างๆ ที่เธอได้นำเสนอตลอดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น การให้ประโยชน์ทางภาษีแก่ครอบครัวและผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น ขณะเดียวกันก็โจมตีแผนของทรัมป์ ในการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยบอกว่ามันไม่ต่างอะไรกับการรีดภาษีการขาย (sales tax) เอากับชนชั้นกลาง

“โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เราต้องเผชิญปัญหาการว่างงานรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)” แฮร์ริสกล่าว โดยอ้างถึงตัวเลขการว่างงานในสหรัฐฯ ซึ่งพุ่งสูงสุด 14.8% ในเดือน เม.ย. ปี 2020 และลงมาอยู่ที่ 6.4% ในขณะที่ทรัมป์พ้นตำแหน่ง

ด้านทรัมป์ก็วิพากษ์วิจารณ์แฮร์ริสเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในรัฐบาลไบเดน โดยระบุว่า “เงินเฟ้อถือเป็นหายนะสำหรับประชาชน สำหรับกลุ่มชนชั้นกลาง และคนทุกๆ กลุ่ม” จากนั้นก็รีบเปลี่ยนไปสู่ประเด็นเรื่องผู้อพยพ โดยอ้างแบบไร้หลักฐานยืนยันว่ามีผู้อพยพ ‘จากโรงพยาบาลบ้า’ (insane asylums) หลบหนีข้ามพรมแดนจากเม็กซิโกเข้ามายังสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก

ผู้สมัครทั้ง 2 รายยังแสดงมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับประเด็นการทำแท้ง ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นบ่งชี้ว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนแนวทางของแฮร์ริสมากกว่า

ทรัมป์อ้างไปถึงคำพิพากษาของศาลสูงสุดในปี 2022 ที่ยกเลิกสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการทำแท้ง และให้แต่ละรัฐมีอำนาจตัดสินใจในประเด็นนี้เอง โดยเขาอ้างว่า “ผมเองมีส่วนในการผลักดันเรื่องนี้ และใช้ความกล้าหาญในการทำสิ่งนี้”

ด้านแฮร์ริสแสดงความไม่พอใจต่อข้อกล่าวอ้างของทรัมป์ที่ว่าการที่สิทธิทำแท้งกลายเป็นเรื่องของแต่ละรัฐถือเป็นผลลัพธ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย

“นี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการงั้นหรือ? คนจำนวนมากถูกปฏิเสธรับเข้าห้องฉุกเฉิน เพราะพวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลัวว่าจะติดคุกเนี่ยนะ?” แฮร์ริสตั้งคำถาม

เมื่อถูกถามว่าจะใช้สิทธิ ‘วีโต’ หรือไม่หากสภาคองเกรสผ่านกฎหมายแบนการทำแท้ง? ทรัมป์ยืนยันว่า “สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้น” แต่ก็ปฏิเสธที่จะตอบอย่างตรงไปตรงมา

ทรัมป์และแฮร์ริสยังกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าพยายามใช้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เป็น ‘อาวุธ’ โจมตีฝ่ายตรงข้าม โดย ทรัมป์นั้นอ้างว่าการที่ตนถูกยื่นฟ้องฐานสมคบคิดล้มผลเลือกตั้งเมื่อปี 2020 และจัดการเอกสารชั้นความลับอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงเรื่องการจ่ายเงินปิดปากดาราหนังผู้ใหญ่ที่เคยมีสัมพันธ์สวาทด้วยนั้น ทั้งหมดเป็น ‘แผนสมคบคิด’ ที่ แฮร์ริสและไบเดนร่วมมือกันสร้างขึ้นมา ซึ่งก็เป็นการกล่าวหาแบบไม่มีหลักฐานตามเคย

ด้านแฮร์ริสฟาดกลับด้วยการชี้ว่า ทรัมป์ข่มขู่จะใช้กฎหมายเอาผิดกับบรรดาศัตรูทางการเมือง หากได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2

“โปรดเข้าใจด้วยว่า เขาคือคนที่เคยออกมาพูดอย่างเปิดเผยว่าจะฉีก --- นี่ดิฉันเอ่ยตามที่เขาพูดนะ --- จะฉีกรัฐธรรมนูญ” เธอกล่าว

ทรัมป์ยังคงอ้างซ้ำๆ เหมือนเดิมว่าการที่ตนแพ้ศึกเลือกตั้งในปี 2020 ก็เพราะ ‘ถูกโกง’ พร้อมทั้งกล่าวหาแฮร์ริสว่าเป็นพวก ‘มาร์กซิสต์’ และอ้างด้วยว่าผู้อพยพเป็นต้นเหตุทำให้สถิติอาชญากรรมในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้น

ในประเด็นสงครามอิสราเอล-กาซา แฮร์ริสประกาศว่า “สงครามจำเป็นต้องยุติลงทันที และมันจะยุติลงได้ก็ต่อเมื่อเรามีข้อตกลงหยุดยิง และเราจำเป็นต้องช่วยตัวประกันทั้งหมดออกมา” ขณะที่ทรัมป์ระบุว่าแฮร์ริส “เกลียดชังอิสราเอล ถ้าเธอได้เป็นประธานาธิบดี ผมเชื่อว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าจะไม่มีชาติอิสราเอลเหลืออยู่แน่นอน”

แฮร์ริสเถียงกลับทันควันว่า “นี่ไม่ใช่ความจริงเลยแม้แต่น้อย ตลอดชีวิตและการทำงานของดิฉันสนับสนุนอิสราเอลและประชาชนชาวอิสราเอลเรื่อยมา”

'ผลสำรวจ' ชี้!! 'มะกัน' ยังเชื่อมั่นใน ‘ทรัมป์’ แม้ ‘กมลา’ ดีเบตได้ดีกว่า แต่ผิดหวัง!! ทั้งคู่ยังพูดถึง 'แผน-นโยบาย' พัฒนาประเทศได้ไม่ชัดนัก

(12 ก.ย. 67) หลังการดีเบตยกแรกของ ‘ทรัมป์-แฮร์ริส’ ผู้สื่อข่าวพีพีทีวีในสหรัฐฯ ได้สำรวจความเห็นประชาชนในวอชิงตันดีซีและรัฐแมรีแลนด์ พบชาวอเมริกันยังเชื่อมั่นในตัว ‘ทรัมป์’ มากกว่า

จากการลงพื้นที่สำรวจความเห็นประชาชนหลังการดีเบตครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 67 ชาวอเมริกันมองว่า พวกเขาต้องการแผนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากกว่าการโต้เถียงเรื่องอื่น ๆ

ด้านผลโพลล่าสุดชี้ การดีเบตในครั้งนี้ ‘กมลา แฮร์ริส’ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำผลงานได้ดีกว่าคู่แข่งอย่างอดีตประธานาธิบดี ‘โดนัล ทรัมป์’ แต่หากเจาะลึกความเชื่อมั่นแล้ว ชาวอเมริกันยังเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของทรัมป์มากกว่า

การพบกันครั้งแรกในศึกดีเบตระหว่างแฮร์ริสจากพรรค ‘เดโมแครต’ และทรัมป์จากพรรค ‘รีพับลิกัน’ ทั้งสองได้แสดงวิสัยทัศน์ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจที่เน้นเรื่องภาษี สิทธิการทำแท้งในผู้หญิง และบทบาทของสหรัฐฯ ในด้านการต่างประเทศ จุดยืนในการช่วยเหลือสงครามในตะวันออกกลางหรือสงครามยูเครน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการจัดการแนวชายแดน และแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทรัมป์เลือกที่จะโจมตีแฮร์ริส ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในตอนนี้และรับผิดชอบโดยตรงแต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ด้านนางกมลาก็หันไปโจมตี โดนัล ทรัมป์กลับ ว่าเป็นผู้ที่มีคดีความติดตัวและโกหก

จากการลงพื้นที่สำรวจความเห็นประชาชนในกรุงวอชิงตันดีซีและรัฐแมรีแลนด์ พบว่า ชาวอเมริกันต้องการเห็นแผนการบริหารงานที่ชัดเจน มากกว่าการโจมตีกัน 

ไมค์ ซี จากรัฐแมรีแลนด์ กล่าวว่า การดีเบตครั้งนี้ มองโดยรวมแล้วไม่สามารถโน้มน้าวให้เปลี่ยนการตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีในวันที่ 5 พ.ย. 67 นี้ได้ เพราะต่างคนต่างเลี่ยงตอบคำถามและไม่มีแผน หรือแนวทางที่ชัดเจน

ไมค์ ซี ชาวอเมริกัน บอกว่า “ผมคาดหวังให้ทั้งคู่พูดถึงแผนการ และนโยบายให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะพวกเขาไม่ได้ตอบคำถามมากนัก หรือให้ข้อมูลตามจริงในสิ่งที่พวกเขาวางไว้”

ก่อนจะเสริมว่า “ผมไม่คิดว่าการอภิปรายครั้งนี้จะทำให้สามารถเปลี่ยนผลการลงคะแนนเลือกตั้งของใครได้”

ด้านลูเซียร์ วัย 29 ปี ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางมาเที่ยวที่กรุงวอชิงตัน ดีซี มองว่า การดีเบตครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีแต่การโจมตีกันเป็นส่วนใหญ่ โดยส่วนตัวเธอมองว่า การดีเบตมุ่งแต่ถกเถียงเรื่องการต่างประเทศ โดยไม่ได้มีแผนในการดำเนินงาน หรือแก้ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ

ลูเซียร์บอกว่า “ฉันคิดว่าพวกเขาโฟกัสปัญหาต่างประเทศ และอภิปรายแผนแบบนามธรรม ฉันอยากรู้แผนการพัฒนาด้านประกันสุขภาพ หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับรุ่นลูก ฉันยังไม่เห็นแผนการพัฒนาประเทศในการดีเบต”

สอดคล้องกับผลการสำรวจจาก ‘CNN Polls’ ในผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เข้ารับการลงทะเบียนชมการถ่ายทอดสดศึกดีเบต ระหว่าง ทรัมป์และแฮริส ได้มองว่า หากเลือกถึงผลงานการอภิปรายบนเวทีดีเบต กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี จากเดโมแครต ทำผลงานได้ดีกว่าทรัมป์ ถึง 63% โดยหลังจากนั้น ทีมหาเสียงของแฮร์ริสได้เรียกร้องให้มีการจัดดีเบตผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง แต่ทรัมป์ปฏิเสธและอ้างว่า การดีเบตครั้งนี้เป็นชัยชนะของเขา 

ศึกดีเบตที่มีหัวข้อที่โจมตีทั้งสองฝ่าย โดยทรัมป์เลือกเลี่ยงตอบคำถามในหลายประเด็น ขณะที่แฮร์ริสเลือกที่จะตอบคำถามอย่างมั่นใจมากกว่า หากแตกประเด็นลงไปดูการสำรวจความเชื่อมั่นด้านการแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ แล้วนั้น ด้านปัญหาการป้องกันชายแดนและแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย  ทรัมป์ยังเอาชนะแฮร์ริสได้กว่า 56%

รวมถึงประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ ทรัมป์ยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่า ทางด้านแฮร์ริส ได้รับความเชื่อมั่นในด้านการปกป้องประชาธิปไตย และการดูแลสิทธิสตรีให้เข้าถึงการทำแท้งถูกกฎหมาย

‘ทรัมป์’ ยัน!! ไม่ดีเบต 'กมลา' อีกรอบ ลั่น!! มีแต่ผู้แพ้เท่านั้นที่ขอโอกาสล้างตา

(13 ก.ย. 67) อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โพสต์ข้อความลงบน ทรูธ โซเชียล ระบุว่า การประชันวิสัยทัศน์หรือดีเบตครั้งที่ 3 กับตัวแทนพรรคเดโมแครตจะไม่เกิดขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ได้ขึ้นเวทีมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน มิ.ย.67 กับประธานาธิบดี โจ ไบเดน และครั้งล่าสุดกับรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส เมื่อวันที่ 10 ก.ย.67 ที่ผ่านมา

ในโพสต์ดังกล่าว ทรัมป์ยืนยันว่าตนเองเป็นฝ่ายเอาชนะแฮร์ริส และมีเพียงผู้แพ้เท่านั้นที่เรียกร้องขอโอกาสแก้มือหรือล้างตากันอีกรอบ โดยทรัมป์แนะนำว่าแฮร์ริสควรมีสมาธิกับการทำหน้าที่รองประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะเปลี่ยนใจ เพราะก่อนการดีเบตกับแฮร์ริส ทรัมป์แทบไม่เคยให้ความชัดเจนเลยว่าจะขึ้นเวทีประชันวิสัยทัศน์หรือไม่ ขณะที่แกนนำพรรครีพับลิกันหลายคนต้องการให้ทรัมป์ขึ้นดีเบตกับแฮร์ริสอีกครั้ง โดยมีรายงานว่า สถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ได้เชิญทรัมป์และแฮร์ริสขึ้นเวทีดีเบตกันในเดือน ต.ค. 67 นี้

ส่วนความเคลื่อนไหวการหาเสียงเลือกตั้งภายหลังการดีเบต  เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้เลือกลงพื้นที่เมือง ‘ทูซอน’ รัฐ ‘แอริโซนา’ 1 ใน 6 รัฐสำคัญที่คะแนนเสียงสูสีและจะเป็นปัจจัยชี้ขาดผลแพ้ชนะ โดยทรัมป์ได้ย้ำถึงปัญหาการควบคุมพรมแดนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันปล่อยให้ผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากและก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น

ด้านแฮร์ริสเดินทางไปยังเมือง ‘ชาร์ลอต’ รัฐ ‘นอร์ทแคโรไลนา’ โดยระหว่างการปราศรัย แฮร์ริสระบุว่า เธอและทรัมป์ยังต้องทำหน้าที่รับใช้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วยการขึ้นเวทีดีเบตกันอีกครั้ง เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย. 67 นี้ คือเดิมพันครั้งสำคัญที่สุดของสหรัฐฯ 

ขณะที่ทีมหาเสียงของแฮร์ริสเปิดเผยว่า ยอดเงินบริจาคในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ภายหลังจากการดีเบต มีตัวเลขอยู่ 47 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,500  ล้านบาท จากจำนวนผู้บริจาคเกือบ 600,000 คน ทำให้ขณะนี้ แฮร์ริสมียอดเงินบริจาคสะสมสำหรับการหาเสียงเพิ่มเป็น 360 ล้านดอลลาร์ หรือ 12,000 ล้านบาท ส่วนทรัมป์มียอดบริจาคสะสมอยู่ที่ประมาณ 130 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4,500 ล้านบาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top