Wednesday, 23 April 2025
กฎหมายสมรสเท่าเทียม

สภาฯ ฉลุย 400 เสียงผ่านร่าง ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ฟากโซเชียลเฮ ติด #สมรสเท่าเทียม ลุ้นต่อในชั้น สว. 

(27 มี.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แพ่งและพาณิชย์ หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ภายหลังใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ได้มีมติโหวตเห็นชอบ 400 ไม่เห็นด้วย 10 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3

ทั้งนี้ในการพิจารณากฎหมาย มีกรรมาธิการอภิปรายสงวนความเห็น โดยเฉพาะเสียงข้างน้อย จากพรรคก้าวไกล และภาคประชาชนที่มีความเห็นเพิ่มมาตราเกี่ยวกับกรณีบุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดามารดา หรือบุพการีลำดับแรก รวมถึงการอุปการะเลี้ยงดูให้เติบโต อำนาจปกครองบุตร

นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร กรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และเรื่องบุพการีลำดับแรก ยังไม่มีผลศึกษาผลกระทบอย่างเป็นทางการมารองรับ จึงกังวลว่ายังไม่ได้รับฟังความคิด เห็นจากทุกภาคส่วนตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และกระทบต่อกระบวนการตรากฎหมายฉบับนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญทำให้กฎหมายตกไปทั้งฉบับ

อีกทั้ง ‘บุพการีลำดับแรก’ เป็นคำใหม่ยังไม่มีในระบบกฎหมายไทย ยังไม่มีนิยามถ้อยคำในกฎหมายไทย อาจเกิดปัญหาในการตีความว่าเป็นใคร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกฎหมายทั้งประเทศ ที่เกี่ยวกับบิดามารดาหากเพิ่มเติมถ้อยคำลงไปก็จะต้องกระทบกับกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทย เชื่อว่าน่าจะมีอยู่มากกว่าหลาย 100 ฉบับ ซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรงพอสมควร

พร้อมแนะแนวทางออกว่าสามารถแก้ไขได้ โดยไปติดตามแก้ไขในกฎหมายที่จำเป็นแก้ไขเพื่อรองรับสิทธิ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎหมายการรับบุตรบุญธรรม กฎหมายการแก้ไขกฎหมายการคุ้มครองเด็ก ที่อาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

สำหรับสาระสำคัญกฎหมายฉบับนี้ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมมี 68 มาตรา เช่น กำหนดให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดหมั้นหรือสมรสกันได้ ให้การหมั้นจะทำได้เมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว, เพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทนเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมเมื่อฝ่ายหนึ่งไปมีสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้เมื่อมีผลบังคับใช้ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 47 ฉบับ

ขณะที่โซเชียลเคลื่อนไหวพากันติด #สมรสเท่าเทียม จนติดอันดับ 1 ในแอปพลิเคชัน X โดยพรรคก้าวไกล โพสต์ภาพคะแนนโหวตในสภา #สมรสเท่าเทียม ผ่านแล้ว!! ที่ประชุมสภาฯ โหวตผ่านวาระ 3 ด้วยคะแนนท่วมท้น เห็นด้วย 399 (+1) ไม่เห็นด้วย 10 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3

นายซูการ์โน มะทา เลขาธิการพรรคประชาชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา เขต 2 พรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุส่วนหนึ่งว่า ขอยืนหยัดจุดยืนทางการเมืองของผมและพรรคประชาชาติ ผมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ ขอชี้แจงให้ผู้ที่ให้การสนับสนุนพวกเรา และพรรคประชาชาติว่า ‘จุดยืนทางเมือง’ ของพวกเราคือ ไม่เห็นด้วย ตั้งแต่วาระที่ 1 คือ ไม่รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ…

เพราะเราเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ กระทบกับวิถีชีวิตของคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม เพราะกฎหมายฉบับนี้ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม และขัดแย้งกับคำสอนของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อันเป็นธรรมนูญชีวิตของพวกเรา

ดังนั้นวันนี้ผม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ ก็ยังคงนั่งอยู่ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่พวกเรามีมติของพวกเราว่า “พวกเราจะไม่ขอเป็นองค์ประชุมของกฎหมายฉบับนี้ทุกมาตรา และจะไม่ลงมติในวาระที่ 2 ทุกมาตรา แต่พวกเราจะลงมติในวาระที่ 3 คือ ไม่เห็นด้วย”

‘รัดเกล้า’ เผย ‘รทสช.’ ยินดี ร่าง กม.สมรสเท่าเทียม ฉลุย!! ดีใจที่ได้เป็นส่วนผลักดัน ความเท่าเทียมทางเพศในสังคม

(27 มี.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ และอดีตโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เปิดเผยว่า ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (27 มี.ค.) ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระที่ 2 และ 3 ด้วย 400 เสียงต่อ 10 เสียง หลังจากนี้คือการนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งหากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยจะมีผลบังคับใช้ 120 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญในการให้สิทธิแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การให้บุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดก็ตามสามารถสมรสกันได้ การเรียกค่าทดแทนและเหตุฟ้องหย่าระหว่างคู่สมรส การให้สิทธิคู่สมรสตามกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ไขอายุของผู้มีสิทธิหมั้นหรือสมรสต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งจากเดิมกำหนดไว้ที่ 17 ปี 

พรรครวมไทยสร้างชาติมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญที่จะเป็นจุดเริ่มในการสร้างครอบครัวที่แข็งแรง สร้างความสมดุลระหว่างสิทธิและศักดิ์ศรี และยังเป็นการปกป้องค่านิยม ความเชื่อ ความศรัทธา และวัฒนธรรมของไทย และยังเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จะได้รับสิทธิและสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรครวมไทยสร้างชาติเห็นด้วยและผลักดันมาโดยตลอด

“จากที่ได้เจอตัวแทนทูตหลาย ๆ ประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย จะเห็นได้เลยว่าทั่วโลกจับตาดูประเทศไทยอยู่ การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีภาคประชาชนและภาคการเมืองเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญ

ขอแสดงความยินดีกับ LGBTQIA+ ในประเทศไทยทุกคน ที่ใกล้ที่จะสามารถสมรสกันได้อย่างเท่าเทียมแล้ว การผ่านกฎหมายนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การผ่านกฎหมาย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์ว่าประเทศไทยพร้อมที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และยอมรับความแตกต่างหลากหลายซึ่งเป็นเสน่ห์ของค่านิยมที่ถูกปลูกฝังในวัฒนธรรมของคนไทย นอกเหนือจากเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมายและสังคมแล้ว ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยนำไปสู่ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้ในอนาคต” นางรัดเกล้ากล่าว

‘สว.กมธ.’ ชี้ จ่อพิจารณา ‘กม.สมรสเท่าเทียม’ 18 มิ.ย.นี้ ยืนยัน!! สาระสำคัญไม่ได้หายไป พร้อมทันใช้ปีนี้แน่นอน

(31 พ.ค. 67) ที่รัฐสภา น.ส.ปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม สว.ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วุฒิสภา กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (กฎหมายสมรสเท่าเทียม) ว่า พิจารณาครบหมดแล้วทั้ง 69 มาตรา ซึ่งในชั้นกมธ.ฯ ไม่ได้มีการแก้ไขมาตราใด แต่มีผู้แปรญัตติเพียง 2 คน คือ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร สว. ที่มีการเสนอแปรญัตติขอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วน พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร สว.ของแปรญัตติแก้ไข ถ้อยคำเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่ได้ทำให้สาระสำคัญหายไป

“กมธ.ฯ ส่วนใหญ่ยังเห็นว่าควรบังคับใช้หลังจาก 120 วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องด้วยเป็นช่วงเวลาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ได้มีเวลาเตรียมการ เช่น เตรียมทะเบียนสมรสที่จะใช้ และออกระเบียบให้สอดคล้องกับ หลักศาสนาของเจ้าหน้าที่ที่เป็นมุสลิมเพื่อง่ายต่อการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น” น.ส.ปิยฉัฏฐ์ กล่าว

น.ส.ปิยฉัฏฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการพิจารณาเบื้องต้นจะมีการบรรจุระเบียบวาระในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาวิสามัญ ซึ่งในประเด็นที่มีการแปรญัตติ ก็ให้ที่ประชุมลงมติชี้ขาด ทั้งนี้ยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้พร้อมบังคับใช้ภายในปีนี้แน่นอน

'จิรายุ' แนะ!! ส่วนราชการ เร่งทำความเข้าใจกฎหมายสมรสเท่าเทียม เหตุเกี่ยวพัน 'แพ่ง-อาญา' มีผลต่อชีวิตคู่ทั้ง 'สินสมรส-บุตรบุญธรรม'

(25 ก.ย. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ส่งผลให้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน ในวันที่ 22 มกราคม 2568 นั้น

นายจิรายุกล่าวว่า ตามกรอบกฎหมาย 120 วันที่จะบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2568 โดยระหว่างนี้ ให้ส่วนราชการทำความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะรายละเอียดกฎหมายที่ผูกพัน ทั้งอาญา และแพ่ง เพื่อให้ประชาชนจะได้เข้าใจถึงสิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิรับบุตรบุญธรรม สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย เป็นต้น

“พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเป็นอีกก้าวของความสำเร็จของรัฐบาลไทย เป็นเครื่องตอกย้ำความพยายามของรัฐบาลที่ดำเนินการด้านความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันตลอดมา และเชื่อว่ารัฐบาลจะผลักดันความเท่าเทียมอย่างต่อเนื่องเพื่อประชาชนไทย” นายจิรายุกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top