Tuesday, 22 April 2025
ก.แรงงาน

ก.แรงงาน ผนึกกำลัง สถาบันฯ จิตรลดา เอ็มโอยูปั้นกำลังคนคุณภาพ ป้อนตลาดงานในอนาคต

ที่ห้องประชุมเทพรัตนพิทยากร ชั้น 4 อาคาร 605 สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนากำลังคนด้านพัฒนาฝีมือแรงงานและการส่งเสริมการมีงานทำระหว่างสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กับกระทรวงแรงงาน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมลงนาม นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ 

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันทนีย์ ผาสุข รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.สุรพันธ์ ตันศรีวงษ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ดร.นวลอนงค์ ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมด้วย การลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากำลังคนด้านฝีมือแรงงานให้กับประชากรในวัยทำงานให้มีความรู้ความสามารถ ทักษะและทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการทำงานเพื่อเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีทักษะฝีมือแรงงานที่สูงขึ้น รองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต ภายใต้ภารกิจการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนและนักศึกษาได้มีงานทำที่เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถ และความถนัดให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

นายสุชาติ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานขอขอบคุณสถาบันเทคโนโลยีจิตรดาที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังแรงงานและการส่งเสริมการมีงานทำ โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนากำลังคนด้านฝีมือแรงงานและการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดากระทรวงแรงงานได้สนองรับนโยบายของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างแรงงานที่มีสมรรถนะสูง ให้เป็นแรงงานที่สามารถปรับตัวรับมือกับการทำงาน งานใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นใช้ดิจิทัลในการทำงาน ยกระดับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน Up– skill, Re-skill, New – skill โดยบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน รวมถึงสถานประกอบการในการผลิตแรงงานที่สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน

“กระทรวงแรงงาน พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การประเมินความรู้ ความสามารถ และแลกเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร เช่น ครู อาจารย์ วิทยากร เครื่องมืออุปกรณ์ เป็นต้น เพื่อยกระดับทักษะและศักยภาพฝีมือแรงงานให้ทัดเทียมกับนานาชาติ รวมทั้งให้การสนับสนุนและส่งเสริมการให้บริการจัดหางาน การประกอบอาชีพอิสระ การแนะนำแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ เพื่อให้นายจ้าง สถานประกอบการได้พนักงานที่มีฝีมือ มีความรู้ ความสามารถ ที่ตรงต่อความต้องการ ลดการขาดแคลนแรงงาน และรองรับการขยายระบบเศรษฐกิจในอนาคตได้ การลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น”

 

ก.แรงงาน ประชุมหารือติดตามความคืบหน้าส่งแรงงานไทยไปทำงานซาอุดีอาระเบีย

วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.30 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับ ดร.อับดุลลาห์ อะบู ธีนีน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม

ซาอุดีอาระเบีย ประเด็นความคืบหน้ากระชับความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยมี นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน 
 

ก.แรงงาน ติวเข้มเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รุ่นที่ 1 ผนึกกำลังทีมสหวิชาชีพ ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ มุ่งไทยสู่เทียร์ 1

วันที่ 24 เมษายน 2566 เวลา 09.30 น. นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน 
เป็นประธานพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับปี พ.ศ. 2565) รุ่นที่ 1 โดยมี นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางโสภา เกียรตินิรชา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ร่วมพิธีเปิดการฝึกอบรมด้วย 
ณ โรงแรมพาลาซโซ่ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร 

นายบุญชอบ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านความมั่นคง โดยรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงแรงงาน “MOL พลิกโฉมตลาดแรงงานไทย”ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566  ได้กำหนดให้ “เร่งรัดการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและป้องกันการค้ามนุษย์ เพื่อมุ่งสู่การเป็น Tier 1” ซึ่งนโยบายดังกล่าวหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้นำมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน และการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งการปฏิบัติงานดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มศักยภาพด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทีมสหวิชาชีพ ให้มีความความรู้ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน และได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ก.แรงงาน มอบประกาศนียบัตรเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รุ่นที่ 5 นำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

วันที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 11.00 น.นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีปิดและมอบใบประกาศนียบัตรโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับปี พ.ศ. 2565) รุ่นที่ 5 (พนักงานเจ้าหน้าที่ รุ่นที่ 64) เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามหลักกฎหมายและหลักสากล รวมทั้งมีคุณสมบัติตามกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมี นางสาวโสภณา บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กล่าวรายงานผลการฝึกอบรม และนายพฤกษ์ พรหมพันธุม เลขานุการกรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในครั้งนี้ ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

นายบุญชอบ กล่าวว่า ตามที่ได้รับทราบการกล่าวรายงานจาก ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ถึงผลการฝึกอบรมฯ หลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้ง
เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รุ่นที่ 5 (พนักงานเจ้าหน้าที่ รุ่นที่ 64) ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้ง 40 คน ได้รับความรู้จากวิทยากร
ผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการป้องกันการค้ามนุษย์ทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) โดยได้ทำการทดสอบทั้งทฤษฎีและปฏิบัติตามหลักสูตรที่กำหนด ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้ง
เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ต่อไป 

 
“ผมขอให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกท่านได้นำความรู้ความสามารถที่ได้รับจากการอบรมในครั้งนี้ รวมทั้งการใช้อำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในการปฏิบัติงานป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายบุญชอบ กล่าวท้ายสุด

ก.แรงงาน ติวเข้มเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ มุ่งไทยสู่เทียร์ 1

วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 น.นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ รุ่นที่ 4 ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร และอบรมทางไกลผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี นายพงศ์ธร ศุภการ ผู้แทนสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการ

นายวรรณรัตน์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2566 (TIP Report 2023) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยประเทศไทยได้รับการจัดระดับให้อยู่ใน Tier 2 ติดต่อเป็นปีที่ 2 ซึ่งรายงานดังกล่าวยังคงมีข้อเสนอแนะให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถนำแนวปฏิบัติตามมาตรา 6/1 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปใช้ในการคัดแยกผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดให้ทีมสหวิชาชีพประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์เพียงพอในการปฏิบัติงานด้านการค้ามนุษย์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหาย และเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์ เช่น การบังคับทำงานใช้หนี้ การทำงานเกินเวลามากเกินจำเป็น การยึดเอกสารของลูกจ้างและการทำงานโดยไม่จ่ายผลตอบแทน

นายวรรณรัตน์ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านความมั่นคง โดยรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนำมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน และการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ซึ่งเป็นการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานขั้นต่ำในกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ค.ศ. 2000 (TVPA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา

“กระทรวงแรงงาน พร้อมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าร่วมการอบรมจากหน่วยงานทีมสหวิชาชีพจากส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด 

ทั้ง 19 จังหวัด ในการขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์ ขจัดการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์
ในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และได้รับการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 ต่อไป”นายวรรณรัตน์ กล่าวท้ายสุด

ก.แรงงาน คว้ารางวัลสุดยอดหน่วยงานภาครัฐด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ รางวัล “สำเภา – นาวาทอง” ปี 2566 

วันที่ 13 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน รับมอบรางวัลสุดยอดหน่วยงานภาครัฐระดับกระทรวง ด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ  รางวัล “สำเภา – นาวาทอง”ประจำปี 2566 พร้อมด้วยนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ร่วมรับมอบรางวัลสุดยอดหน่วยงานภาครัฐระดับกรม โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิชัยพัฒนา เป็นประธานการมอบรางวัล ณ หอประชุม ชั้น 7 อาคาร 23 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถนนวิภาวดี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

สำหรับการมอบรางวัลสุดยอดหน่วยงานภาครัฐด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ รางวัล “สำเภา – นาวาทอง”ประจำปี 2566 ในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อคัดเลือกส่วนราชการที่ปรับปรุงกระบวนงานและลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นผลเพื่อรับรางวัล เชิดชูเกียรติและประชาสัมพันธ์หน่วยงานที่ได้รับรางวัล และสร้างความร่วมมือและกระบวนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยโล่รางวัลแบ่งเป็นรางวัลหน่วยงานระดับกระทรวง รางวัลหน่วยงานระดับกรม รางวัลหน่วยงานเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนงาน(สำนัก/กอง) และรางวัลระดับภูมิภาค

ทั้งนี้กระทรวงแรงงานมีหน่วยงานในสังกัด 2 หน่วยงาน ร่วมรับมอบรางวัลสุดยอดหน่วยงานภาครัฐระดับภูมิภาคได้แก่ กรมการจัดหางาน และสำนักงานประกันสังคม รายชื่อผู้รับมอบดังนี้ นางธนพร สุวรรณโณ จัดหางานจังหวัดนครนายก และนางสาวนฤมล บุญมี ประกันสังคมจังหวัดนครปฐม ร่วมรับมอบ

ในส่วนของกระทรวงแรงงานคณะกรรมการตัดสินรางวัลฯ มีมติมอบรางวัลหน่วยงานระดับกระทรวงให้กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ได้ดำเนินการปลดล็อคกฎหมาย ระเบียบ ช่วยลดปัญหาอุปสรรคและอำนวยความสะดวกการดำเนินภาคธุรกิจจนเห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งรางวัลดังกล่าวถือเป็นการให้กำลังใจและเชิดชูหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

ก.แรงงาน ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2566 ณ วัดบางพระ วรวิหาร พระอารามหลวง จ.ชลบุรี

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้ากระกฐินให้กระทรวงแรงงาน นำไปถวายพระภิกษุสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของกระทรวงแรงงาน ประจำปี 2566 ณ วัดบางพระ วรวิหาร พระอารามหลวง ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้งเป็นการสนองสถาบันพระมหากษัตริย์ในการทำนุบำรุงและส่งเสริมพระพุทธศาสนา

ในการนี้มี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงภ์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดชลบุรี หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงแรงงานในจังหวัดใกล้เคียง และประชาชนชาวจังหวัดชลบุรี เข้าร่วมงานกว่า 10,000 คน ทั้งนี้ ได้มีผู้มีจิตกุศลร่วมถวายจตุปัจจัย บำรุงและบูรณะพระอาราม ทำบุญกฐินพระราชทาน ประจำปี 2566 รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 3,195,295 บาท (สามล้านหนึ่งแสนเก้าหมื่นห้าพันสองร้อยเก้าสิบห้าบาทถ้วน)
พร้อมกันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบทุนการศึกษาให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนในอุปถัมภ์จำนวน 2 แห่ง นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเปิดโรงทานให้ประชาชนที่มาร่วมทำบุญกฐินได้รับประทานอาหารร่วมกันอีกด้วย

สำหรับวัดบางพระ วรวิหาร พระอารามหลวง ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วัดบางพระวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดบางพระตั้งเมื่อ พ.ศ. 2440 แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ พระเจดีย์ และ หอสวดมนต์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 ปัจจุบันมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมเปิดสอน การก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2507 ตามแบบของกรมศิลปากร แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2510 ปัจจุบันมีพระธรรมวชิราลังการ เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี เป็นเจ้าอาวาส

ทั้งนี้ กฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้กราบบังคมทูล ขอพระราชทานเพื่อไปถวายยังวัดหลวงต่างๆ นอกจากวัดสำคัญที่ทรงกำหนดไว้ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง หรือจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรี หรือผู้ที่ทรงเห็นสมควรเป็นผู้แทนพระองค์ไปถวาย จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ตลอดจนคณะบุคคลหรือบุคลากรที่สมควรรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวายได้ โดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เนื่องจากเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชน ได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน เพื่อเป็นการอุปถัมภ์พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ตามพระวินัย และเป็นทุนในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม โดยเป็นการรวมพลังแห่งความสามัคคี ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจในการสร้างบุญกุศลสร้างความสุขของการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งเป็นการจรรโลงและส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มั่นคงดำรงอยู่เจริญวัฒนาสถาพรสืบไป

ก.แรงงานอัพสกิลผู้ฝึกสอนมวยไทย รองรับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพิ่มทักษะให้เป็นมืออาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้ชุมชนในท้องถิ่น

วันที่ 25 มิถุนายน 2567 นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานภายใต้การนำของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรสำหรับการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) เพื่อรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมวยไทยเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นับเป็นศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่งที่สร้างความภาคภูมิใจของประเทศไทย ด้วยเป็นกีฬาที่มีรูปแบบการต่อสู้ที่สวยงาม มีความโดดเด่น ด้านเทคนิคการกอดคอต่อสู้ ซึ่งเป็นการใช้ทั้งกายและใจ สำหรับการต่อสู้ที่ใช้ร่างกายเป็นอาวุธ โดยเป็นที่รู้จักว่าเป็นนวอาวุธ ซึ่งประกอบด้วย การโจมตีจากร่างกาย ทั้ง หมัด ศอด เข่า และเท้า ในมวยไทย ก่อให้เกิดอาวุธที่มีอานุภาพ  รูปแบบการไหว้ครูที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ท่วงท่าซึ่งประกอบไปด้วยแม่ไม้มวยไทยที่มีความหลากหลายและน่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ มวยไทยจึงเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในชาวต่างชาติในฐานะกีฬาและสื่อทางวัฒนธรรมที่สำคัญ โดยเหตุผลเหล่านี้อาชีพนักกีฬามวยไทยจริงสามารถสร้างอาชีพ และรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก ส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจ ในเขตพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีศิลปะการต่อสู้ประเภทมวยไทยที่มีชื่อเสียงโดนเด่นสวยงามในนาม “มวยไชยา” มีเอกลักษณ์พิเศษ 7 ด้าน คือ 1) การตั้งท่ามวยหรือการจดมวย 2) ท่าครูหรือท่าย่างสามขุม 3) การว่ายครูร่ายรำ 4) การคาดเชือก จะพันมือด้วยเชือกด้ายดิบหรือเชือกหลักแจวตั้งแต่ข้อมือจนถึงสันหมัด 5) การแต่งกาย 6) การฝึกซ้อมมวยไชยา 7) แม่ไม้มวยไชยา กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงเร่งพัฒนาหลักสูตรสำหรับการฝึกอบรมยกระดับฝีมือ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 เพื่อเพิ่มทักษะ (Up Skill) เสริมสร้างความรู้ พัฒนาการให้บริการ สร้างงานสร้างรายได้

นางสาวสุขศรี ไล่กสิกรรม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 11 สุราษฎร์ธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เล็งเห็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของผู้ให้บริการสนามมวยที่มีจำนวนมากและมีความสามารถในการให้บริการที่มีชื่อเสียงประดับประเทศทั้งพื้นที่เกาะสมุย และอำเภอไชยา อีกทั้งยังมีเอกลักษณ์มวยไทยไชยาที่มีความโด่ดเด่น จึงมอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 11 สุราษฎร์ธานีดำเนินการจัดฝึกอบรมหลักสูตร ผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 จำนวน 30 ชั่วโมง กำหนดการจัดฝึกอบรมระหว่าง 22 – 26 มิถุนายน 2567 ณ วิทยาลัยการอาชีพไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยวิทยากรวีรบุรุษเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ สาขามวยสากลสมัครเล่น ชาวสุราษฎร์ธานี ร้อยตรีวรพจ เพชรขุ้ม ทำหน้าที่วิทยากร ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับความรู้และพัฒนาทักษะ ด้านการสอนมวยไทย วิทยาศาสตร์การกีฬาสำหรับมวยไทย การสอนทักษะมวยไทย และองค์ความรู้เรื่องมวยไทยและแนวทางการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมให้แรงงานในท้องถิ่นเป็นแรงงานฝีมือ สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฝึกกีฬามวยไทยและนักท่องเที่ยว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top