Oxfam เผย 5 อภิมหาเศรษฐีโลก รวยขึ้น 2 เท่า สวนทางประชากรอีก 5 พันล้านคน กลับจนลง
Oxfam องค์กรการกุศลเพื่อสังคมได้เปิดเผยข้อมูลความเหลื่อมล้ำล่าสุดในที่ประชุม World Economic Forum ประจำปี 2024 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เมื่อวันจันทร์ (15 มกราคม 2024) พบว่า มีอภิมหาเศรษฐีโลกระดับโลก 5 คน ที่มีทรัพย์สินเพิ่มจากเดิมถึง 2 เท่า ในรอบเพียง 4 ปี ขณะที่ชาวโลกจนกระจายนับพันล้านคน
โดยอภิมหาเศรษฐี ที่รวยแล้ว รวยอยู่ และยังคงรวยต่อ ในรายงานของ Oxfam ได้แก่...
- เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าของแบรนด์ดัง LVMH หรือ หลุยส์ วิตตอง มีทรัพย์สิน 1.91 แสนล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากปี 2020 111%
- เจฟฟ์ เบโซส์ แห่ง Amazon มีทรัพย์สิน 1.67 แสนล้านเหรียญ รวยขึ้นกว่าเดิม 24%
- วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนรายใหญ่ มีทรัพน์สิน 1.19 แสนล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 48%
- ลาร์รี เอลลิสัน ผู้ก่อตั้ง Oracle มีทรัพย์สิน 1.45 แสนล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 107%
- อีลอน มัสก์ CEO ของ Tesla มีทรัพย์สิน 2.24 แสนล้านเหรียญ เพิ่มจากที่เขาเคยมีในปี 2020 ถึง 737%
โดยเมื่อเทียบกับปี 2020 อภิมหาเศรษฐีทั้ง 5 คนนี้มีทรัพย์สินงอกเงยขึ้นในช่วงเวลาเพียง 4 ปีรวมกันถึง 8.69 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านล้านบาท) ติดเป็นอัตราความร่ำรวยเพิ่มขึ้น 14 ล้านเหรียญต่อชั่วโมง
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ กลับมีผู้คนกว่า 5 พันล้านคน หรือคิดเป็น 60% ของประชากรโลก ที่อยู่ในกลุ่มฐานะยากจนอยู่แล้ว กลับยิ่งจนลงไปเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างคนรวย และคนจนในโลก นับวันจะยิ่งขยายกว้างขึ้น
Oxfam ชี้ว่า หากอัตราความมั่งคั่ง และความยากจนยังคงดำเนินไปในลักษณะนี้ โลกเราจะมีคนที่รวยถึงระดับล้านล้านเหรียญเป็นคนแรกในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า แต่ทว่าปัญหาความยากจนจะฝังรากลึก จนอาจต้องใช้เวลานานถึง 229 ปี ถึงสามารถกำจัดความยากจนให้หมดไปได้
อบิตาภ บีฮาร์ ผู้อำนวยการองค์กร Oxfam International กล่าวในแถลงการณ์ที่ดาวอสว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของทศวรรษแห่งความแบ่งแยก ที่ผู้คนนับพันล้านต้องแบกรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภัยโรคระบาด อัตราเงินเฟ้อ และสงคราม ในขณะที่ความมั่งคั่งไปตกอยู่กับกลุ่มมหาเศรษฐีเพียงไม่กี่คน และความไม่เท่าเทียมกันนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
โดยกลุ่มชนชั้นนำจะทำทุกทางเพื่อรักษา และครอบครองความมั่งคั่งเหล่านั้นให้เพิ่มพูนมากขึ้น โดยให้ประชาชนรากหญ้าเป็นผู้จ่าย และแบกรับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่พวกเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
รายงานของ Oxfam ยังชี้ว่า ต้นตอของปัญหาเหล่านี้เกิดจากอำนาจผูกขาดขององค์กรยักษ์ใหญ่ที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน อาทิ ปัญหาการกดขี่แรงงาน การหลบเลี่ยงภาษี การแปรรูปรัฐ และทำให้เกิดความเสียหายของสภาพภูมิอากาศ
องค์กรผูกขาดเหล่านี้เองที่ส่งความมั่งคั่งอันไม่มีที่สิ้นสุดให้กับเจ้าขององค์กรที่ร่ำรวยล้นฟ้า แต่ลดทอนอำนาจของแรงงาน บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยและสิทธิของประชาชนทั่วไป
Oxfam มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชากรโลก และได้นำเสนอข้อมูลรายงานปัญหาช่องว่างทางสังคมให้เห็นเป็นประจักษ์เป็นประจำทุกปี
ซึ่งประเด็นที่ Oxfam ต้องการผลักดันคือการจำกัดเงินค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูง, การสลายการผูกขาดขององค์กรยักษ์ใหญ่ และเสนอให้เก็บภาษีความมั่งคั่งในกลุ่มมหาเศรษฐี องค์กรใหญ่มากขึ้นเพื่อสร้างรายได้ 1.8 ล้านเหรียญต่อปี
Oxfam เชื่อว่าอำนาจสาธารณะสามารถควบคุมอำนาจขององค์กรยักษ์ใหญ่ได้ แต่ทั้งนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงเพื่อสลายการผูกขาด เพิ่มอำนาจให้กับคนงาน เก็บภาษีจากกำไรมหาศาลขององค์กรเหล่านี้ นำมาสนับสนุนสวัสดิการแรงงาน และบริการสาธารณะยุคใหม่เพื่อความเท่าเทียมทางสังคมมากขึ้น
แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นงานยากสำหรับ Oxfam ในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม ตราบใดที่โลกขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม ที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุนมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลได้ ช่องว่างทางโอกาสสำหรับชาวรากหญ้าก็ยิ่งห่างไกลมากขึ้นเท่านั้น
