Sunday, 20 April 2025
WHA

BYD ซื้อที่ดิน 600 ไร่จาก WHA ตั้งโรงงานผลิต EV เตรียมส่ง ATTO3 รถอีวีรุ่นแรกที่ผลิตและขายในไทย

บีวายดี (BYD) เผย ATTO3 จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่ผลิตและขายในไทย ตามแผนการลงทุนมูลค่า 17,891 ล้านบาท หลังซื้อที่ดิน 600 ไร่จาก WHA ตั้งโรงงานผลิต EV กำลังผลิต 150,000 คัน ดันไทยเป็นฮับส่งออกของอาเซียน

หลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด กล่าวว่า บีวายดีได้ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยเพื่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์และเป็นฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาของภูมิภาคอาเซียน โดยมีมูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาทตามที่นำเสนอผ่านบีโอไอของไทย

สำหรับการลงทุนครั้งนี้ เป็นการลงทุนของบีวายดี 100% ล่าสุดได้มีการลงนามเซ็นสัญญาซื้อที่ดินจำนวน 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง36 ของกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ WHAโดยไม่สามารถเปิดเผยมูลค่าได้ ส่วนการก่อสร้างคาดว่าจะเริ่มได้ในปีนี้และเริ่มผลิตในปี 2567 มีกำลังการผลิตสูงสุด 150,000 คันต่อปี

ดีลแห่งปี!! WHA&BYD จุดเริ่มจากความเชื่อมั่นที่ไทยต้องเป็นศูนย์กลาง EV สู่ดีลขายที่ผืนใหญ่ เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้าป้อนโลก

นับเป็นข่าวฮือฮาในช่วงสัปดาห์ เมื่อ WHA ปิดดีลขายที่ดินผืนใหญ่ 600 ไร่ให้ BYD ซึ่งเป็นย่างก้าวสำคัญที่จะดันไทยกลายเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ EV ได้อย่างจริงจัง จากการ BYD จะนำที่ดินผืนนี้มาตั้งเป็นโรงงานผลิตรถ EV รุกอาเซียน-ยุโรป

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เปิดเผยว่า บริษัทลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ 'บีวายดี' (BYD) จำนวน 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 11 ของ WHA ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เธอกล่าวอีกด้วยว่า การซื้อขายที่ดินกับ บีวายดี ครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี ของ WHA เน้นให้เห็นถึงกลยุทธ์ในการสนับสนุนโครงการอีอีซี และการดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve Industry) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) บริษัท บีวายดี (ประเทศไทย) จำกัด จะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 67 ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าจำนวน 150,000 คัน/ปี เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียนและยุโรป

บีวายดี ก่อตั้งในประเทศจีน โดยมีประสบการณ์ด้านการผลิตยานยนต์พลังงานใหม่มานานกว่า 20 ปี โดยเมื่อเดือน เม.ย.65 บริษัทได้หยุดผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในมาเน้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) แทน และเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา บีวายดี แต่งตั้งบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ให้เป็นผู้แทนจำหน่าย BYD แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย และตั้งเป้ายอดขายปีแรกกว่า 10,000 คัน

ด้านนายหลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด กล่าวว่า การเปิดโรงงานผลิตแห่งใหม่ในต่างประเทศที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการขยายบริษัทของเราอย่างแท้จริง พร้อมเสริมว่า หลังจากที่ได้ทำการค้นหาและคัดเลือกอย่างละเอียด ประเทศไทยและนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ได้กลายเป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากทำเลที่ตั้งและชื่อเสียงของบริษัทในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาค

“โครงการอีอีซีและนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 มีสิ่งที่เรามองหา ทั้งทำเลที่ตั้งอันโดดเด่น ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส รวมไปถึงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง นอกจากนั้นแล้ว ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังมีบทบาทสำคัญในการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนของบีวายดี และเราหวังว่าจะมีความสัมพันธ์ระยะยาวอันดีร่วมกับดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ต่อไปในอนาคต”ผู้บริหาร บีวายดี กล่าว

นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ล่าสุดของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 1,281 ไร่ ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ใกล้ทางหลวงหมายเลข 36 และ 3375 ในจังหวัดระยอง และห่างจากท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดเพียง 25 กม. ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง 31 กม. และสนามบินอู่ตะเภา 23 กม.

‘จรีพร-WHA’ ปลื้ม!! คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ชูศิษย์เก่าดีเด่นประจำปี 66 ยก!! ‘วิทยาศาสตร์’ คือพื้นฐานสำคัญ สร้างสรรค์ธุรกิจเติบโตยั่งยืน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ ‘WHA Group’ โพสต์ขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า…

“ขอกราบขอบพระคุณคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้มอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น คณะวิทยาสตร์ประจำปี 2566

ในชีวิตการทำงานกว่า 36 ปี ถึงจะไม่ได้ทำงานด้านวิชาการเหมือนที่เรียนมา ด้วยมาโลดแล่นในโลกของธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย และไม่มีในตำราเรียน แต่กลับได้ประยุกต์ใช้และต่อยอดในทุกวิชาที่เรียนมาตั้งแต่ละดับปริญญาตรีถึงปริญญาโท

อยากจะบอกว่า…

‘วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานของทุกอย่าง’ ทั้งหลักวิชาการ หลักการคิด หลักการวิเคราะห์ และหลักการวิจัย และตลอดการนำไปประยุกต์ใช้ ได้นำมาประยุกต์ใช้ในด้านธุรกิจ จนทำให้สามารถคิดค้นธุรกิจรูปแบบใหม่ ประยุกต์ใช้ด้านเทคโนโลยี จนสามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

ดังปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหิดล…

“ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อมวลมนุษยชาติ”

บิ๊กดีล!! WHA เซ็นขายที่นิคมฯ 250 ไร่ให้ ‘ฉางอาน ออโต้ฯ’ ตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรก เพื่อส่งออกทั่วโลก

(26 ต.ค. 66) บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่กับบริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด หนึ่งในกลุ่มยานยนต์ชั้นนำ 4 กลุ่มของจีน จำนวน 250 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า นับเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ครั้งสำคัญแห่งปี 2566 สะท้อนถึงศักยภาพและการบูรณาการด้านการส่งเสริมการลงทุนอันโดดเด่นของประเทศไทย และมาตรฐานการจัดการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป นับเป็นการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรชั้นนำของโลก

ในพิธีลงนามในสัญญาครั้งสำคัญนี้ ได้รับเกียรติจาก มิสจาง เซียว เซียว อัครราชทูตจีน ประจำแผนกพาณิชย์ สถานทูตจีนประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ลงนามในสัญญา

นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ใช้เงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 8,862 ล้านบาท เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) สำหรับจำหน่ายในไทยและส่งออกสู่ภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้ ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ 100,000 คันต่อปี รวมถึงจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในปี 2568 โดยบริษัทยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยมากกว่าการเป็นฐานการผลิต จึงมีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ในไทยในระยะต่อไปอีกด้วย

ด้วยทำเลที่ตั้งและชื่อเสียงของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 มีทำเลที่ตั้งอันโดดเด่นบนพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส รวมไปถึงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง และการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีด้วย

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนของฉางอานฯโดยเลือกดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งใหม่ในไทย ซึ่งการลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งปี ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ตลอดจนเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า ประเทศไทยคือจุดหมายด้านการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคจากต่างประเทศที่สำคัญของเอเชีย

ปัจจุบัน การเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์ ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทย ในการก้าวสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกต่อไป โดยที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 23 โครงการจาก 16 บริษัท และภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 725,000 คันต่อปี

นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 9 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 2,443 ไร่ (รวมพื้นที่ส่วนขยาย) ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ของอีอีซีที่เอื้อต่อการส่งออกสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ได้รับการออกแบบให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate)

โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานระดับโลก เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมล่าสุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัย การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผลิตและการบำบัดน้ำเสีย และมีการเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมส่วนกลางของดับบลิวเอชเอ (Unified Operation Center หรือ UOC) ทำให้บริษัทฯ สามารถตรวจสอบสภาวะด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน The Ultimate Solution for Sustainable Growth

“การตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบนเวทีโลก เพราะนอกจากแสดงถึงความเชื่อมั่นของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย ที่มีต่อประเทศไทยทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาด นโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ครบวงจรพร้อมรองรับการผลิต ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ชาติในการผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตลอดจนการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จ และการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร สู่การบรรลุเป้าหมายการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ภายในปี 2573 หรือ 2030 ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050” นางสาวจรีพร กล่าว

‘WHA’ ผนึก ‘บ.จีน’ ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มบนหลังคาโรงงาน จ.ชลบุรี ช่วยลดปล่อยคาร์บอน 3 หมื่นตัน-การใช้ถ่านหิน 1.5 หมื่นตัน/ปี

(27 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานจากจังหวัดชลบุรี ระบุว่าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของไทยตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ (WHA) ในจังหวัดชลบุรี ร่วมก่อสร้างโดยผู่หลิน เฉิงซาน บริษัทของจีน และดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป (WHA Group) นักพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทย

กำลังการผลิตติดตั้งของโครงการฯ ระยะที่ 1 อยู่ที่ 19.44 เมกะวัตต์ เริ่มต้นดำเนินงานเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2022 ส่วนระยะที่ 2 คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสิ้นภายในปีหน้า โดยกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดจะอยู่ที่ 24.24 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไฟฟ้ารายปีสูงเกิน 30 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ทั้งนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของไทยแห่งนี้จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 30,000 ตัน และการใช้ถ่านหินมาตรฐาน 15,000 ตัน ในแต่ละปี หลังดำเนินงานและเชื่อมต่อกับโครงข่ายการไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ

ก้าวต่อไป ‘WHA’ ผู้ช่วยสร้างมูลค่าจีดีพีไทยกว่า 2 ล้านล้านบาท เข้าสู่สนามพลังงานทดแทน เล็ง!! เทรดดิ้งไฟฟ้าเสรี-คาร์บอนเครดิต

(16 ม.ค. 67) 'ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป' เปิด 4 กลุ่มธุรกิจ 'โลจิสติกส์-นิคมฯ-สาธารณูปโภคฯ-ดิจิทัล โซลูชัน' ดำเนินงานมา 21 ปี ช่วยสร้างมูลค่าจีดีพีไทยกว่า 2 ล้านล้านบาท สร้างงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง 

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จัดกิจกรรม WHA: We Shape the Future Journey เปิดอาณาจักรครอบคลุม 4 กลุ่มธุรกิจหลัก โลจิสติกส์, นิคมอุตสาหกรรม, สาธารณูปโภค/พลังงาน และดิจิทัล โซลูชัน โดย นายไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เผยถึงรายละเอียด ดังนี้...

- กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ : นับเป็นจุดเริ่มต้นของดับบลิวเอชเอ ก่อนที่จะเริ่มขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ซึ่งดับบลิวเอชเอ เป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจนี้ ปัจจุบันมีพื้นที่รวมกว่า 2.9 ล้านตารางเมตร บนทำเลจุดยุทธศาสตร์ 52 แห่ง ทั่วประเทศ

- กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม : โครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณูปโภคครบวงจร ได้แก่ การผลิตน้ำประปา การบำบัดน้ำเสีย การทิ้งและฝังกลบขยะ และการผลิตพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 13 แห่ง บนพื้นที่กว่า 71,300 ไร่ ทั้งในประเทศไทย และประเทศเวียดนาม

- กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า : ให้บริการด้านสาธารณูปโภคแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ด้วยกำลังการผลิตน้ำรวมถึง 168 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์รวม 847 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังนำกระบวนการ 'Reverse Osmosis (RO)' มาประยุกต์ใช้ในโรงงานผลิตน้ำระบบอาร์โอ ผลิตน้ำ 2 ประเภท คือ Permeate น้ำที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตได้ และ Concentrate คือน้ำที่มีความเข้มข้นของสารละลายในน้ำสูง

รวมทั้งโครงการ 'Clean Water for Planet' การบำบัดและการจัดการน้ำเสีย ด้วยวิธีการทางชีวภาพมาปรับใช้ ขณะที่การผลิตไฟฟ้า บริษัทเริ่มจากการร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวม 847 เมกะวัตต์

"วันนี้เราขยับเข้าสู่การทำ Renewable Energy โดยเฉพาะ 'Solar Roof Top' ที่เราลงทุนเอง 100% ทั้ง Floating Solar บนทุ่นลอยน้ำของบ่อเก็บน้ำดิบ ภายในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ AAT กำลังผลิต 8 เมกะวัตต์

"คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 , Solar Carpark บนหลังคาที่จอดรถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) 59,000 ตารางเมตร ขนาดไฟฟ้ารวม 7.7 เมกะวัตต์

"และพร้อมเปิดดำเนินจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ในปีนี้เช่นเดียวกันและสุดท้าย Solar Rooftop ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 24.24 เมกกะวัตต์" นายไกรลักขณ์ กล่าวเสริม

- กลุ่มธุรกิจดิจิทัล โซลูชัน : ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมระดับโลก โดยพัฒนาธุรกิจและทางเลือกด้านข้อมูลที่ครอบคลุมเพื่อสนับสนุนลูกค้านิคมอุตสาหกรรมทั้งจากบริษัทในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจในช่วง 21 ปีที่ผ่านมาของ WHA ช่วยสร้างจีดีพีให้กับประเทศไทยแล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) กว่า 1.6 ล้านบาท และช่วยจ้างงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง

ฟังบอสใหญ่ 'WHA' เปิดอีกมุมเจ็บจาก Startup ไทย ไปไม่รอด เพราะฝันล้น พยายามต่ำ นำเงินไปใช้ผิดๆ

เรียกได้ว่าเป็นประเด็นร้อนไม่น้อย หลังจาก 'คุณจูน จรีพร จารุกรสกุล' ประธานกรรมการบริหารของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ที่ได้ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูบ ‘BT beartai’ เมื่อวันที่ 31 ก.ค.67 โดยหนึ่งในเรื่องที่ให้สัมภาษณ์เป็นประสบการณ์เจ็บ ๆ เมื่อได้ร่วมลงทุนใน Startup ไทย ซึ่งมีเนื้อหาที่ดุเดือด ดังนี้…

พี่มักพูดเสมอว่า สมัยที่ทําธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่ม ต้องหาทุนจากการกู้แบงก์ เพราะไม่มีทุนสนับสนุนใด

แบบปัจจุบัน โดยตัวแปรสำคัญที่ช่วยทำให้ธุรกิจเบ่งบานได้เช่นทุกวันนี้ ก็คือ เครดิต 

ถามว่าเครดิตเกิดจากอะไร?

เครดิตไม่ได้เกิดจากมีนามสกุลใหญ่โต ไม่ได้เกิดจากการที่มีเงินมากมาย แต่มันเกิดจากคําพูดของเรา หรือก็คือ เราต้องไม่ผิดคําพูดกับใครแม้แต่คําเดียว

อย่างการทำธุรกิจ ถ้าหากจะต้องพึ่งเงินทุนจากแบงก์ หรือต้องไปกู้เงิน เราต้องมีเครดิต เราต้องมีสินทรัพย์ค้ำ มีผลประกอบการ มีผลกำไรค้ำ แบงก์ถึงจะยอมให้กู้ พี่จึงต้องทําทุกอย่างด้วยความระมัดระวังทั้งหมดเลย หรือแม้แต่การใช้เงินทุกอย่างอย่างก็ต้องใช้อย่างมีคุณค่า เพื่อให้เครดิตตรงนี้เกิดขึ้น เหนื่อยมาก พยายามมาก และใช้เวลานานมาก

ดังนั้นภาพที่ว่ามาเหล่านี้ จึงแตกต่างกับการดำเนินธุรกิจแบบ Startup ในปัจจุบัน ซึ่งมีโอกาสได้เงินทุนจากนักลงทุนที่แค่เห็นโอกาส ภายใต้ภาพโมเดลธุรกิจในอนาคตที่ฉายออกมาให้เห็นถึงกําไร และความสำเร็จ เพียงแต่ก็ต้องไม่คิดว่านักลงทุนเหล่านี้ คือ มูลนิธิ

เพราะอันที่จริงบริษัทใหญ่ ๆ เฉกเช่นเดียวกันกับ WHA นั้น ล้วนสามารถทำ Startup เองได้ทั้งสิ้น แต่เหตุผลที่ไม่ทำเพราะเราอยากให้โอกาสธุรกิจที่เกิดจากไอเดียของคนรุ่นใหม่จริง ๆ ได้ฉายแสง เพราะพวกเขาจะเป็นอนาคตของประเทศต่อไป

นั่นคือ ความตั้งใจจากผู้ใหญ่ที่มีแต่โรยรา แต่ประเด็นคือ เมื่อสิ่งที่เราลงทุนไป และได้กลับมา มันสวนทาง ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก เช่น กรณีหนึ่งที่เราสนับสนุน คือ ได้เงินพี่ไปแล้ว และพี่ดันไปเห็นในเฟซบุ๊ก เขาไปเที่ยวต่างประเทศ ไปซื้อรถสปอร์ต โดยที่เราแทบไม่เห็นมุมการทำงานผ่านโลกโซเชียลเหล่านั้น ทำให้เราผิดหวังมาก

ตรงนี้มันจึงย้อนกลับมาเรื่องเครดิต การที่คุณได้เงินไป เพราะเราเชื่อใจคุณ เชื่อว่าคุณจะสร้างผลประกอบการ สร้างกําไรในอนาคต เพราะว่ากันตามตรง จะเงินกู้ หรือเงินทุนที่ได้รับนั้น ผู้ให้ย่อมคาดหวัง ซึ่งอาจจะไม่ใช่หวังเงินที่ให้ไปคืน แต่หวังที่จะเห็นความตั้งใจของ Startup นั้น ๆ ก้าวไปสู่ความสำเร็จ

ทั้งนี้ คุณจูนเล่าด้วยว่า ตนได้มีการให้ทุนไป 60 ล้านบาท ใน Startup 5 รายที่มีความเกี่ยวเนื่องในการต่อยอดธุรกิจของ WHA ได้ แต่สุดท้ายผลลัพธ์ที่ลงเงินไป อาจจะดูผิดหวังพอสมควร เนื่องจากบางรายตอนมาขอทุน มาพร้อมคำมั่นสัญญามากมาย แต่สุดท้าย บางรายพอทำไม่สำเร็จ ก็ถอนตัว แถมบางรายก่อนถอนตัวก็มีการขอระดมทุนอีก บางรายตั้งทีมงานเพื่อมาทำงานแทนตน ทั้ง ๆ ที่หากต้องการได้ทีมหรือได้คำปรึกษา ขอจากตนได้ทันที นั่นจึงให้คุณจูนอดเกิดคำถามไม่ได้ว่า ได้ทุนไป สุดท้ายทำตัวลอย ๆ ทั้ง ๆ ที่ผู้ให้ทุนเชื่อใจ แบบนั้นเท่ากับอะไร หรือบางคนทำแล้วไม่มีความอดทนจะต่อยอดมันต่อไป แบบนั้นหมายถึงอะไร

คุณต้องเข้าใจถ้าคุณคิดจะโต คุณต้องมองภาพธุรกิจให้ได้ว่ามันคืออะไร มันต้องสู้ มันต้องอึด มันต้องอดทน ใคร ๆ ก็อยากรวยใช่ไหม แต่จะถึงจุดนั้นมีกี่คน มันไม่ได้ฟลุ้ก ตอนพี่เริ่มธุรกิจก็ต้องลงแรงอย่างมากเป็นหลายสิบปี ทำงานแบบที่เรียกว่า มุทะลุ เลยก็ว่าได้ จึงไม่แปลกที่ตรงนี้จะเป็นความรู้สึกผิดหวังในมุมผู้ลงทุน ที่เห็นผู้รับทุนไม่มีความผิดชอบเงินในเงินของพี่ 

อย่างไรก็ตาม คุณจูนก็ยังคงให้โอกาสกับ Startup ทุกคน แม้จะเกิดความรู้สึกที่ย่ำแย่ไปบ้าง แต่ก็ยังให้คำปรึกษา และชี้มุมมองที่ถูกต้องแก่ Startup ที่รับทุน ซึ่งใครที่รับไม่ได้ ก็จำใจต้องปล่อยมือ ส่วนบางรายที่เข้าใจ ก็ขอบคุณในการเตือนสติด้วยความเต็มใจ และกลับลำสร้างเครดิต สร้างความเชื่อมั่นผ่านการทำงานให้โมเดล Startup นั้น ๆ เดินหน้าต่อไป

>> เมื่อถามถึงนิยามของ Satrtup หรือผู้ที่จะการมาขอเงินลงทุนจาก WHA นั้น จะต้องไม่ขาดทุนเลยใช่หรือไม่? คุณจูน เผยว่า...

ขาดทุนได้ พี่ไม่ได้บอกว่าพี่ลงทุนพี่ต้องได้ผลกําไรเสมอ แต่พี่ต้องดูสิ่งที่คุณทํา ว่าเป็นการทำที่สุดความสามารถแค่ไหน ทำอย่างมีสติไหม ไม่ใช่ได้เงินไปแล้ว ก็ไปเพิ่มคนนู่นนี่ เอามานั่งทำงานแทนตัวเอง แล้วสุดท้ายอีกภายในไม่กี่เดือนคุณต้องลดคน เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ธุรกิจ เงินทุนเริ่มหาย ซึ่งพี่ก็งงกับการทํางานแบบนี้ ว่ามันคืออะไร 

เพราะอย่างที่บอก พี่ดูที่ประสิทธิภาพของธุรกิจ พี่กล้าลงทุนโดยมองกำไรเป็นเรื่องหลัง แล้วถ้าตั้งใจมุ่งมั่นทำ แต่ติดขัด เราก็พร้อมเข้าไปช่วยด้วยความเต็มใจ

>> เมื่อถามถึง Startup ไทยมักจะมองภาพความสำเร็จของอเมริกาโมเดล โดยเฉพาะเรื่องของการได้เงินทุนที่ง่ายดาย? คุณจูน มองว่า...

บางทีเรามองภาพความสําเร็จของอเมริกา ประเภทได้เงินทุนแล้วสามารถเบิร์นทิ้งได้ ทำแคมเปญ แจกนั่นนี่ ฟรีนั่นโน่น แต่สําหรับตลาดประเทศไทย

เมื่อหลายปีก่อนพี่ไปซิลิคอนวัลเลย์ ก็เห็นเด็กหนุ่ม ๆ Startup รุ่นใหม่ ๆ เขียน White Paper มาแผ่นหนึ่งแล้วก็ไปขอเงินทุนหลักร้อยล้าน แล้วก็ให้กันได้ง่าย ๆ ด้วย แม้บางรายจะไม่ได้สร้างโอกาสที่ดีเลยก็ตาม แต่คำถามคือ ระบบนิเวศของไทยเต็มไปด้วย Deep Technology หรือเต็มไปด้วยความคิดเชิงนวัตกรรมและสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ขนาดเขาหรือไม่?

แน่นอน!! ผู้ใหญ่ทุกคน อยากจะให้โอกาสอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยเรามีคนแบบนี้มากน้อยเพียงใด ซึ่งกลับกันกับที่นั่น มันคือความไว้ใจที่คนของเขา สภาพแวดล้อมของเขา สร้างขึ้นมาไว้มากมาย จนเกิดเป็นความเชื่อใจ แต่ไทยเราไม่ได้เป็นแบบนั้น

>> เมื่อถามถึงแนวทางในการ Set up มุมคิดที่ควรจะเป็นแก่ Startup ไทยต่อจากนี้? คุณจูน เผยว่า... 

วงการ Startup ต้องมองเงินลงทุนของนักลงทุนเป็นภารกิจในการที่จะทําให้ธุรกิจของคุณเข้าใกล้ความสําเร็จ ไม่ใช่มองเป็นเงินรางวัล และพยายามอย่าไปมองชัยชนะของคนที่นำเสนองานบนเวทีต่าง ๆ มาเป็นต้นแบบจนเกินไป เพราะชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่า Start และต้อง Up คุณต้องมองไปให้ไกลถึงตอนที่ลงสนามจริง ว่ามันจะมีความยากแค่ไหน อย่าขายไอเดียแล้วสุดท้ายเมื่อถึงเวลากลับปฏิบัติไม่ได้

คุณจูน เสริมอีกว่า เอาจริง ๆ พี่เป็นคนเชื่อมั่นในตัวเด็ก ๆ นะ แล้วพี่ก็เป็นคนเชื่อมั่นในเด็กไทย แล้วพี่เป็นคนเชื่อมั่นในคนไทย พี่เชื่อมั่นว่าคนเราสามารถคว้าทุกโอกาสที่มาถึงเราได้ อย่างพี่เองก็เติบโตจากที่ไม่มีอะไร แต่พี่มีความฝันอันยิ่งใหญ่ของพี่ที่ต้องการสร้างธุรกิจตามความฝัน เพียงแต่ความฝันของพี่อยู่บนความเป็นจริง ไม่ใช่ไปนั่งดูหนังไทยแล้วเจอเจ้าชายได้แต่งงานแล้วก็เลยรวยคือพี่ไม่เพ้อฝัน

ฉะนั้น สิ่งที่อยากฝากสำหรับคนที่ต้องการลุย Startup จริง ๆ คือ คุณต้องวางแผนชีวิตของคุณ บนพื้นฐาน 3 สิ่ง...

สิ่งแรก ต้องรู้ตัวคุณเองให้ได้ก่อนรู้ว่าคุณมีความสามารถกับอะไรและมากขนาดไหน

สิ่งที่สอง คุณมีความชอบอะไร เพราะพี่ขอบอกเลยว่า คนเราต้องทํางานด้วยความสุข ด้วยความรัก หากคุณทํางานทั้งวันแล้วคุณทุกข์กับมัน จะทําไปทำไม 

สุดท้าย เติมจุดอ่อนจากความสามารถและความชอบที่คุณมี หากมันยังไม่ดีพอ ก็เติมมัน เรียนรู้มัน ไม่รู้ก็ถาม ไม่รู้ก็ฝึก ยุคนี้ความรู้เข้าถึงง่ายมากกว่ายุคพี่ ข้อมูลทั่วโลกถูกเชื่อมมาอยู่ในมือเราแค่ค้นหา

'ไฮเออร์' ทุ่มงบหมื่นล้าน ผุด รง.ผลิตแอร์ ใน WHA เป้า 6 ล้านเครื่องต่อปี หนุนไทยฮับการผลิตใหญ่ในอาเซียน พร้อมจ้างงานเพิ่ม 3,000 ตำแหน่ง

(15 ส.ค. 67) มร.โจว หยุนเจี๋ย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ กรุ๊ป กล่าวว่า “นับเป็นก้าวสำคัญภายใต้วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ในการมุ่งขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของโลก การขยายการเติบโตในครั้งนี้ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่แห่งใหม่และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน

ซึ่งไทยนับเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ประกอบกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งไฮเออร์ยังคงเป็นผู้นำในตลาดโดยมีส่วนแบ่งกว่า 13% เป็นยอดขายอันดับ 1 ในกลุ่มเครื่องปรับอากาศแมส ในแง่ของจำนวนในช่องทางออฟไลน์

ไอเออร์มีฐานการผลิตที่ไทยก่อนหน้านี้คือโรงงาน ณ ปราจีนบุรี เป็นฐานการผลิตตู้เย็นและตู้แช่ และโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศของไฮเออร์แห่งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 324,000 ตร.ม. ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 (WHA ESIE 3) จ.ชลบุรี

โดยพื้นที่ดังกล่าวนับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทย ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังใน จ.ชลบุรี 49 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 131 กิโลเมตร

รวมถึงสามารถเชื่อมต่อด้านคมนาคมได้หลายเส้นทาง โดยโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศของไฮเออร์แห่งนี้ รองรับกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศสูงสุดถึง 6 ล้านเครื่องต่อปี โรงงานดังกล่าวมีแผนการดำเนินการก่อสร้างแบ่งเป็น 3 เฟส และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2570

-เฟสแรกจะเปิดในส่วนของการผลิต 3 ล้านเครื่องในเดือนกันยายน 2568
-เฟสที่สองและเฟสสามจะเสร็จสิ้นพร้อมเปิดดำเนินการในปี 2569 และ 2570 ตามลำดับ

ทั้งนี้หลังจากดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นโรงงานแห่งนี้จะกลายเป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไฮเออร์

การเติบโตของตลาดแอร์ในไทยที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท โดยไฮเออร์กินมาร์เก็ตแชร์เบอร์ 1 ที่ 13% ตลอดทั้งปี โฟกัสเจาะตลาดกลุ่ม Mid to High ตั้งเป้าสิ้นปี 67 กวาดรายได้ 11,000 ล้าน ซึ่งผ่านมาครึ่งปีแรกกวาดรายได้ทะลุ 6,600 ล้านบาท

โดยไอเออร์เป็นแบรนด์มีจุดแข็งเรื่องช่องทางจำหน่ายออฟไลน์ที่มีสัดส่วนกว่า 90% ช่องทางออนไลน์ 10% ทางแบรนด์มองเห็นโอกาสในการขยายช่องทางออนไลน์ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 15-20% ภายในปีหน้า

พร้อมกันนี้ ไฮเออร์ยังมุ่งส่งเสริมการกระจายความรู้ทางด้านเทคโนโลยีอันโดดเด่นเฉพาะตัวของแบรนด์ทั้งด้านการวิจัย การผลิต และการขาย แก่บุคลากรเพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพ ผ่านความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชนท้องถิ่น โดยในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า

เมื่อโรงงานดำเนินการสร้างเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะกระตุ้นตลาดแรงงาน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกระจายรายได้สู่ชุมชน พร้อมสามารถสร้างงานให้ผู้คนในจังหวัดชลบุรีได้กว่า 3,000 ตำแหน่ง นับเป็นการส่งเสริมการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกหนึ่งช่องทาง

‘ไทย’ ทำเลดีที่สุดในอาเซียน ต่างชาติแห่เข้ามาตั้ง นิคมโรงงานอุตสาหกรรม ดัน!! ราคาที่ดินพุ่ง 30% สะท้อนไทยยังเนื้อหอม ในสายตานักลงทุน

(12 ต.ค. 67) ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 6 เดือนแรก ปี 2567 มากถึง 1,412 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และชิ้นส่วน เกษตร และแปรรูปอาหาร เป็นภาพสะท้อนสำคัญที่ทำให้เห็นว่าไทยยังเนื้อหอมเพียงใดในสายตานักลงทุน

และยิ่งล่าสุดการปักหมุดลงทุนของบิ๊กเทคจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ Google ที่เลือกนิคม WHA ยิ่งทำให้เห็นภาพความคึกคักในพื้นที่เมืองหลวงของการลงทุนอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร้อนถึงบิ๊กธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของไทยต้องควานหาที่ดินกันจ้าละหวั่นเพื่อรองรับความต้องการของต่างชาติโดยเฉพาะ 'จีน' ซึ่งขยายการลงทุนมาเป็นอันดับ 1

โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ได้เคยออกมาสะท้อนภาพว่า นิคมไทย-จีน ที่บริษัทได้มีการพัฒนาพื้นที่ 15,000 ไร่ 'ขายหมดแล้ว' และมุ่งขยายพื้นที่เพิ่มอีกประมาณ 2,000 ไร่ เพื่อรองรับนักลงทุนจีน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

กระทั่งล่าสุด นายโอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การตลาด AMATA เปิดเผยว่า ทิศทางยอดขายที่ดินในนิคม ในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้ยังมีการจองที่ดินของนักลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและเวียดนาม จากการย้ายฐานการผลิตและขยายโรงงาน

ดังนั้น เชื่อว่ายอดรับรู้รายได้จากการโอนที่ดินจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยอดโอนที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มียอดรอการรับรู้รายได้จากการโอน หรือแบ็กล็อก อยู่ที่ 16,939 ล้านบาท คาดว่าปี 2567 จะทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 50% และในปี 2568 อีก 50%

น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินกับทาง Google ไปเรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ WHA ที่ จ.ชลบุรี เพื่อสร้าง Data Center แห่งแรก

การเซ็นสัญญาครั้งนี้ รวมอยู่ในเป้าหมายใหม่ที่เราได้เพิ่มเป้าหมายในปี 2567 นี้ไปแล้ว ที่ 2,500 ไร่ โดยมูลค่าสัญญาขายที่ดินคาดว่าจะเติบโต 18% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีนิคมอุตฯอยู่ 12 นิคมในไทย และอีก 1 นิคมอุตฯในเวียดนาม และแผนในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 6 โครงการ โดยเป็นโครงการพัฒนาใหม่ 4 แห่ง และขยายพื้นที่โครงการเดิมอีก 2 แห่ง โดยมีที่ดินรอพัฒนาอีกเกือบ 10,000 ไร่ในไทย

ด้านราคาที่ดิน น.ส.จรีพร ระบุว่า ได้มีการปรับขึ้นราคาที่ดิน โดยปี 2566 ปรับขึ้นไป 2 ครั้ง ปี 2567 ปรับอีก 1 ครั้ง รวมแล้วปรับขึ้นไปเฉลี่ยเกิน 20%

นายสุจินต์ เรียนวิริยะกิจ กรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาที่ดินในนิคมปรับขึ้น 30% จากปี 2566 ราคาที่ดินเปล่าในตลาดปรับขึ้น ประมาณ 5 ล้านบาท/ไร่ บางพื้นที่ราคา 7-8 ล้านบาทไร่ หรือสูงสุดถึง 12 ล้านบาท/ไร่ ปัจจัยสำคัญจากปัจจุบันเหล่านักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจีน และไต้หวัน แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก ด้วยเสียงสะท้อนว่า ไทยมีจุดเด่นเรื่อง ‘อยู่แล้วปลอดภัย’ ในทุกอย่างทั้งชีวิตและทรัพย์สินในระยะยาว

นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ทางรัฐบาลมอบให้แล้วนั้น เหล่านักลงทุนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันคือเรื่องของพลังงานสะอาดในทุกรูปแบบ และระบบการคมนาคม คืออีกปัจจัยในการตัดสินใจเลือกพื้นที่ลงทุน การอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ใกล้สนามบินอู่ตะเภา และสุวรรณภูมิ ทำให้พื้นที่ ‘อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี’ คือโลเกชั่นที่ดีที่สุดในอาเซียน เป็นมุมมองของเอกชนที่พัฒนาที่ดินได้กล่าวไว้ พื้นที่แห่งนี้ยังคงเหลืออีกจำนวนมาก บริษัทจำเป็นต้องเร่งมือกว้านซื้อที่ที่ดีที่สุด ราคาที่ดินกำลังขาขึ้น การพัฒนาต้องรวบรวมพื้นที่ให้ได้ผืนใหญ่ที่สุด ที่ไม่ต่ำกว่า 1,500 ไร่ จึงเป็นขนาดที่ที่เหมาะสมและคุ้มค่าในการลงทุน

ในครึ่งปีหลัง 2567 นี้ ความคึกคักจะไม่ใช่แค่ภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เม็ดเงินที่จะเกิดจากการลงทุนจะมหาศาลตามที่บีโอไอได้เคยประกาศไว้ว่า ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจะไม่ต่ำกว่า 800,000 ล้านบาท เพราะประเทศไทยยังคงได้เปรียบในทุกอย่าง แม้จะเสียเปรียบในเรื่องของสิทธิประโยชน์เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม แต่ท้ายที่สุดแล้วไทยจะได้สิทธิในเรื่องของการถือครองที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมตลอดชีพและสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ ขณะที่เวียดนามยังไม่สามารถให้สิทธิตรงนี้ได้เต็มที่ ความได้เปรียบตรงนี้ทำให้นักลงทุนตัดสินใจไม่ยาก อีกทั้งไทยยังมีข้อได้เปรียบจากความคล่องตัวในระบบการเงินระหว่างประเทศที่มากกว่าประเทศคู่แข่ง

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยอมรับว่า ปัจจัยสำคัญอย่างสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้มีนักลงทุนย้ายฐานการผลิตมายังประเทศแถบอาเซียน รวมถึงประเทศไทยมากขึ้น เฉพาะที่ดินของ กนอ. ตลอดช่วง 9 เดือน ของปีงบประมาณ 2567 มียอดขายพุ่งสูงถึง 5,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอด 4,943 ไร่ เหลือเวลา 3 เดือนปลายปีงบประมาณ เชื่อว่าจะมียอดขายแตะที่ 7,000 ไร่ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5,693 ไร่

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีความได้เปรียบเรื่องโลเกชั่น แต่ก็ยังมีความท้าทายจากโจทย์ใหม่ของนักลงทุน ที่ต้องการที่ดินที่มี ‘การบริหารจัดการน้ำ’ และ ‘พลังงานสะอาด’ เพียงพอรองรับการผลิต จึงเป็นหน้าที่ของ ‘ผู้พัฒนานิคม’ ที่ไม่ใช่เพียงแค่เตรียมพื้นที่ แต่ยังต้องมองข้ามชอตถึงการเตรียมสาธารณูปโภค อำนวยความสะดวกตอบโจทย์นักลงทุนในอุตสาหกรรม S-curve รวมไปถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Data Center และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย

WHA ประกาศแผน Spin-off WHAID บริษัท Flagship ในธุรกิจกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เตรียมเดินหน้า!! เข้าจดทะเบียนใน ‘ตลาดหลักทรัพย์ฯ’ พร้อมมุ่งขยายธุรกิจทั้ง 5 กลุ่ม

(24 ก.พ. 68) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“WHA” หรือ “บริษัทฯ”) แจ้งมติคณะกรรมการบริษัทฯ เดินหน้าแผนเตรียมการออกและเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (“WHAID”) ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (“IPO”) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“SET”) โดยจำนวนหุ้นสามัญที่จะเสนอขายในครั้งนี้คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 22.73 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) ซึ่ง บริษัทฯ จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ WHAID โดยจะถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75.95 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO)

กลุ่มบริษัทฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผ่านแผนการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในระยะยาวสำหรับทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ซึ่งได้แก่ 

1) ธุรกิจโลจิสติกส์ 

2) ธุรกิจโมบิลิตี้ (ภายใต้แบรนด์ Mobilix) 

3) ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม 

4) ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน 

5) ธุรกิจดิจิทัล โดยแผนการเสนอขายหุ้น IPO ของ WHAID จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงโอกาสในการสร้างการเติบโตของทุกธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ คณะกรรมการของบริษัทฯ และของ WHAID ยังมีมติอนุมัติการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (“WHAUP”) ผ่านการขายหุ้น WHAUP ในสัดส่วนร้อยละ 10.00 โดย WHAID และบริษัทย่อยของ WHAID ให้แก่ WHA เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มความยืดหยุ่นและเสริมสร้างความสามารถเชิงกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจของ WHAUP และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นของทั้ง WHA, WHAID และ WHAUP โดยภายหลังการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ WHA และ WHAID จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน WHAUP ที่ร้อยละ 10.00 และร้อยละ 61.59 ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าธุรกรรมการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จก่อนการเสนอขายหุ้น IPO ของ WHAID

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า WHAID ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งประกอบธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยปัจจุบัน WHAID มีนิคมอุตสาหกรรมกว่า 15 แห่ง และมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกว่า 78,500 ไร่ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 13 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 2 แห่ง (และส่วนขยายของนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 2 แห่ง) นอกจากนี้ ยังมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหม่และส่วนขยายของนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่รอการพัฒนาอีกจำนวน 7 โครงการ โดย WHAID ได้มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) อย่างต่อเนื่อง พร้อมเป็นพันธมิตรที่ให้บริการโซลูชั่นแบบครบวงจรแก่ลูกค้า

กลุ่มบริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจากแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตจากผู้ลงทุนต่างชาติ โดยทั้งประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ถือเป็นพื้นที่ตั้งยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์รวมของห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจร อีกทั้งมีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค และมีความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบริษัทฯ จึงได้พิจารณาให้ WHAID ซึ่งประกอบธุรกิจหลักในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รองรับการเติบโตของธุรกิจด้วยโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสม รวมถึงจะช่วยเพิ่มช่องทางการระดมทุนให้ WHAID สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วยตนเองมากขึ้นในอนาคต การระดมทุนของ WHAID ครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงของธุรกิจพัฒนานิคมและที่ดินอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทฯ ในระยะยาว ทั้งจากการเติบโตจากภายใน (Organic Growth) และการสร้างความพร้อมเพื่อคว้าโอกาสจากการเติบโตจากภายนอกผ่านการเข้าซื้อกิจการ รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ (Inorganic Growth) ในอนาคต

ในการ IPO ของ WHAID ในครั้งนี้ WHAID และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ร่วมเสนอขายหุ้น จะเสนอขายหุ้นสามัญรวมเป็นจำนวนไม่เกิน 970,518,600 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 22.73 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) ซึ่งจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนของ WHAID คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 9.09 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) และ 2) หุ้นสามัญเดิมของ WHAID คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 13.64 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) ทั้งนี้ ภายหลังการ IPO WHAID ยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะถือหุ้นใน WHAID ทั้งทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75.95 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการ IPO ทั้งนี้ WHAID ร่วมกับคณะที่ปรึกษาอยู่ระหว่างการจัดเตรียมแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนเพื่อยื่นให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีแผนที่จะปรับโครงสร้างการถือหุ้นใน WHAUP โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความสามารถเชิงกลยุทธ์ของ WHAUP ในการขยายธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนสูง โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะส่งผลให้ ทั้งบริษัทฯ และ WHAID เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงของ WHAUP  จะเพิ่มความยืดหยุ่นสำหรับ WHAUP ในกรณีที่จำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายธุรกิจในอนาคต 

การเดินหน้าแผน Spin-off WHAID และปรับโครงสร้างการถือหุ้นใน WHAUP ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ขับเคลื่อนทุกธุรกิจหลักของบริษัทฯ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยแต่ละธุรกิจจะมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง และสามารถนำเงินจากการเสนอขายหุ้นสามัญเดิมของ WHAID ไปสนับสนุนแผนการเติบโตเพื่อสร้างมูลค่าระยะยาวแก่ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีเป้าหมายและงบประมาณการลงทุนในระยะ 5 ปี (2568-2572) สำหรับแต่ละธุรกิจ ดังนี้

1) ธุรกิจโลจิสติกส์ บริษัทฯ มีเป้าหมายภายในปี 2568 ที่จะเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการเป็นประมาณ 3,309,000 ตารางเมตร มีโครงการให้เช่าพื้นที่ใหม่ประมาณ 200,000 ตารางเมตร โดยคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปีที่ 19,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมขยายธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งในไทยและเวียดนาม 

2) ธุรกิจโมบิลิตี้ (ภายใต้แบรนด์ Mobilix) ตั้งเป้าหมายให้มีผู้ใช้บริการเช่าแล้ว 1,700 คันภายในปี 2568 และ 20,000 คัน ภายในปี 2572 โดยบริษัทฯ ได้กำหนดงบลงทุนภายใน 5 ปี ที่ 30,000 ล้านบาท ธุรกิจโมบิลิตี้เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ซึ่งในปัจจุบันประกอบไปด้วย 3 บริการหลัก ได้แก่ บริการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV Rental Service) บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (On Premise & Public EV Charging Solution) และโมบิลิกส์ซอฟต์แวร์โซลูชัน (Mobilix Software Solution) ซึ่งตั้งเป้าให้บริการทั้งในกลุ่ม B2B และ B2C  

3) ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินเป็นจำนวน 2,350 ไร่ ในปี 2568 และคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปี ที่ 37,000 ล้านบาท โดยธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะมุ่งรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย และการเร่งขยายการเติบโตในประเทศเวียดนาม เพื่อเน้นดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค อิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซนเตอร์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ คลาวด์เซอร์วิส  

4) ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน สำหรับธุรกิจสาธารณูปโภค ตั้งเป้าการจำหน่ายน้ำในปี 2568 ที่ 173 ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านการขยายธุรกิจน้ำอุตสาหกรรมและบำบัดน้ำเสียทั้งในไทยและเวียดนาม สำหรับธุรกิจพลังงานจะขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนทั้งในไทยและเวียดนาม โดยตั้งเป้าหมายสำหรับปี 2568 ในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเป็น 1,185 เมกะวัตต์ โดยคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปีที่ 29,000 ล้านบาท 

5) ธุรกิจดิจิทัล ตั้งเป้าหมายพัฒนา 5 แอปพลิเคชันใหม่ ภายในปี 2568 และคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปี ที่ 4,000 ล้านบาท สำหรับการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ โดยธุรกิจดิจิทัลนั้นเป็นแกนกลางในการช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เช่น AI และ IoT มาประยุกต์ใช้ในแต่ละธุรกิจภายในกลุ่มบริษัทฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงาน 

สุดท้ายนี้ กลุ่มบริษัทฯ ขอตอกย้ำความมั่นใจ ว่าการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการขยายการลงทุนในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ ตลอดจนสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียในทุกส่วน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจ “WHA: WE SHAPE THE FUTURE” ในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับผู้คน สังคม และประเทศไทยต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top