Monday, 21 April 2025
WeRide

‘อเมริกา’ อนุญาต ‘จีน’ ทดสอบ ‘แท็กซี่ไร้คนขับ’ รับส่งผู้โดยสารในรัฐแคลิฟอร์เนีย เผย!! ทำงานผ่านระบบ AI ที่เชื่อมต่อ ‘รถ-คอมพิวเตอร์ส่วนกลาง’ ในระบบคลาวด์

(17 ส.ค.67) สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานว่า วีไรด์ (WeRide) สตาร์ตอัปแท็กซี่ไร้คนขับ (Robotaxi) สัญชาติจีน ได้รับอนุญาตจากทางการรัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกา ให้ทดสอบให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับโดยมีผู้โดยสารได้แล้ว โดยจะเริ่มทดสอบด้วยรถไร้คนขับจำนวน 12 คัน 

ข้อมูลแท็กซี่ไร้คนขับ WeRide
ตามข้อมูลจาก WeRide แท็กซี่ไร้คนขับจะใช้รถจากค่าย จีเอซี (GAC) หรือนิสสัน (Nissan) แล้วแต่พื้นที่ให้บริการ ซึ่งมาพร้อมกับการติดตั้งระบบไร้คนขับ ประกอบไปด้วยเรดาร์ เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวรอบคันรถ กล้องวัดระยะความลึกหรือไลดาร์ (LiDAR) และกล้องรอบคันแบบ 360 องศา สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โดยระบบต่าง ๆ จะทำงานร่วมกันผ่านระบบ AI ที่เชื่อมต่อระหว่างรถกับคอมพิวเตอร์ส่วนกลางในระบบคลาวด์ โดยทาง WeRide ระบุว่า ระบบไร้คนขับได้รับการฝึกในสถานการณ์จำลองต่าง ๆ ที่รวมปัจจัยนอกตัวรถ ทั้งทางเดินเท้า คน จักรยาน อาคาร แม้แต่สภาพอากาศกว่า 230,000 ครั้ง สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะมีจักรยานหรือรถยนต์ตัดหน้าด้วยความแม่นยำร้อยละ 97 กับ 98 ตามลำดับ และมีระยะเวลาตอบสนองที่ 10 มิลลิวินาที และความคลาดเคลื่อนในการกะระยะไม่เกิน 5 เซนติเมตร

การเติบโตของบริษัท WeRide
ทั้งนี้ จากรายงานข่าวระบุว่า WeRide ได้ยื่นคำร้องขอกับคณะกรรมการกำกับกิจการสาธารณะของรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือ CPUC (California Public Utilities Commission) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเป็นคำขอทดสอบแท็กซี่ไร้คนขับที่มีคนขับสำรองในตำแหน่งคนขับ และแบบไร้คนขับโดยไม่มีคนขับนั่งอยู่ภายในตัวรถ เป็นระยะเวลา 3 ปี นับจากที่อนุญาต โดยให้บริการเฉพาะกลุ่มทดลอง และไม่มีการเก็บค่าโดยสารใด ๆ 

การอนุญาตให้ WeRide ทดสอบแท็กซี่ไร้คนขับ ส่งผลให้มีการประเมินมูลค่าบริษัทสูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 175,000 ล้านบาท โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2017 WeRide ได้ให้บริการในบางเมืองของจีน รวมถึงในพื้นที่บางส่วนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอยู่ระหว่างการยื่นเรื่องขออนุญาตทดสอบในสิงคโปร์อีกด้วย

‘จีน’ ชี้ ‘อเมริกา’ คือ ‘ตัวอันตราย’ ใหญ่หลวง เป็น ‘เจ้าโลก’ ด้วยการข่มขู่ ประชาคมนานาชาติ

(18 ส.ค.67) อเมริกาคือตัวอันตรายใหญ่หลวงที่สุดของโลก เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเสี่ยงของความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ จากความเห็นของจาง เสี่ยวกัง โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน ระหว่างให้สัมภาษณ์กับพวกผู้สื่อข่าวในวันศุกร์ (16 ส.ค.) โดยปักกิ่งกล่าวหาวอชิงตัน ‘มักตัดสินใจต่าง ๆ โดยไร้ความรับผิดชอบ’ ในความพยายามรักษาไว้ซึ่งความเป็นเจ้าโลก ในนั้นรวมถึงผ่านการข่มขู่ประชาคมนานาชาติ ด้วยคลังแสงนิวเคลียร์

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการแถลงตอบโต้การตัดสินใจของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ที่จะยกระดับกองกำลังอเมริกาในญี่ปุ่น เป็นกองบัญชากองกำลังร่วม ซึ่งบังคับบัญชาของโดยพลระดับ 3 ดาวรายหนึ่งที่อยู่ภายใต้บัญชาการของกองบัญชาการอินโด-แปซิฟิก แห่งกองทัพสหรัฐฯ

ถ้อยแถลงดังกล่าวดำเนินการโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ตามหลังการพบปะหารือกันระหว่างเหล่าหัวหน้านโยบายกลาโหมและต่างประเทศของอเมริกาและญี่ปุ่น

ในตอนนั้น ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ยกย่องพัฒนาดังกล่าว ว่าเป็น ‘การปรับปรุงความสัมพันธ์ด้านการทหารระหว่างเรากับญี่ปุ่น ครั้งเข้มแข็งที่สุดในรอบกว่า 70 ปี’ เขายังบอกด้วยว่าทั้ง 2 ฝ่าย ได้จัดประชุมระดับรัฐมนตรีอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ในด้านการป้องปรามอย่างครอบคลุม ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ระหว่างการพบปะหารือ สหรัฐฯ ประกาศ "ปกป้องญี่ปุ่นด้วย: แสนยานุภาพต่างๆ ของเราอย่างเต็มพิกัด ในนั้นรวมถึง: แสนยานุภาพทางนิวเคลียร์" ออสติน กล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม

ในวันศุกร์ (16 ส.ค.) จาง เสี่ยวกัง ชี้ว่าวอชิงตันและโตเกียวเล่นไพ่ใช้คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านการทหารของจีน เป็นข้ออ้างสำหรับความเคลื่อนไหวของพวกเขา "พฤติกรรมต่าง ๆ เช่นนี้รังแต่ยั่วยุการเผชิญหน้าและบ่อนทำลายเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค" ทั้งนี้ในถ้อยแถลงเมื่อเดือนกรกฎาคมของเพนตากอน พวกเขายังได้พาดพิงถึงการ "ขยายคลังแสงนิวเคลียร์ของจีน" เช่นเดียวกับหัวข้ออื่นๆ ระหว่างประชุมเกี่ยวกับการขยายขอบเขตการป้องปราม

โฆษกของกระทรวงกลาโหมจีนบอกว่า "สหรัฐฯ เสี่ยงเป็นภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ใหญ่หลวงที่สุดต่อโลก เนื่องจากพวกเขาครอบครองคลังแสงนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในโลก และเดิมตามนโยบายหนึ่ง ๆ ซึ่งอนุญาตให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน"

ยุทธศาสตร์ป้องกันตนเองแห่งชาติสหรัฐฯ (NDS) ที่เผยแพร่โดยเพนตากอนเมื่อปี 2022 ระบุ รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ และอิหร่าน เป็น 4 ศัตรู สำหรับแผนอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมันเปิดประตูสำหรับการใช้นิวเคลียร์ชิงโจมตีก่อน โดยอนุญาตให้ใช้อาวุธดังกล่าวเล่นงานศัตรู เพื่อสกัดการโจมตี

เมื่อปี 2018 สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยปานกลาง (INF) ที่ทำไว้กับรัสเซีย ซึ่งแบนทั้ง 2 ฝ่ายจากการพัฒนาและประจำการขีปนาวุธศักยภาพติดอาวุธนิวเคลียร์ที่ประจำการบนภาคพื้นบางรุ่น ณ ตอนนั้น วอชิงตันอ้างว่าพวกเขาจำเป็นต้องมีอาวุธดังกล่าว เนื่องจากอย่างน้อย ๆ จีน ก็ไม่ได้เป็นหนึ่งในข้อตกลงทวิภาคี INF

ข้อตกลงทวิภาคีที่มีผลผูกพันฉบับสุดท้ายที่จำกัดคลังแสงนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และรัสเซีย คือข้อตกลง New START ซึ่งมีกำหนดหมดอายุลงในปี 2026 อย่างไรก็ตามเมื่อปีที่แล้ว รัสเซียระงับการมีส่วนร่วมในข้อตกลง New START อ้างถึงนโยบายที่เป็นปรปักษ์ของสหรัฐฯ แต่ประกาศว่าจะยังคงปฏิบัติตามเงื่อนไขหลักของมัน ซึ่งจำกัดอาวุธนิวเคลียร์และระบบปล่อยอาวุธนิวเคลียร์

ในเดือนตุลาคม 2023 เพนตากอนกล่าวหา จีน "ยกระดับขยายคลังแสงนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว" ในขณะที่คณะกรรมาธิการยุทธศาสตร์ของสภาคองเกรสสหรัฐฯ เรียกร้องวอชิงตันให้เตรียมพร้อมสำหรับทำสงครามกับทั้งปักกิ่งและมอสโก และต่อมาในเดือนเดียวกัน อเมริกายังได้แถลงแผนเกี่ยวกับการปรับปรุงระเบิดนิวเคลียร์ของพวกเขาให้มีความทันสมัย

การตัดสินใจและพฤติกรรมที่ไร้ความรับผิดชอบของสหรัฐฯ ก่อผลลัพธ์แผ่ขยายความเสี่ยงทางนิวเคลียร์ และความพยายามรักษาไว้ซึ่งความเป็นเจ้าโลก และข่มขู่โลกด้วยแสนยานุภาพทางนิวเคลียร์ถูกแฉออกมาเต็มตาแล้ว จางกล่าว พร้อมระบุว่าความเคลื่อนไหวล่าสุดในญี่ปุ่น รังแต่ซ้ำเติมความตึงเครียดในภูมิภาค และเพิ่มความเสี่ยงแพร่ขยายนิวเคลียร์และความขัดแย้งทางนิวเคลียร์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top