Sunday, 20 April 2025
Volkswagen

‘Volkswagen’ พ่าย 'BYD' รถยนต์ขายดีในจีน แต่ยังครองแชมป์ 'แบรนด์รถยนต์ต่างชาติ’ ยอดนิยม

แม้ว่าปี 2023 ที่ผ่านมาจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่ Volkswagen ไม่ใช่แบรนด์รถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดในจีนแล้วก็ตาม และยังต้องสูญเสียตำแหน่งนี้ให้กับ BYD แบรนด์รถยนต์ของจีนเอง แต่ Volkswagen ก็ยังคงเป็นแบรนด์รถยนต์ต่างชาติอันดับหนึ่งของจีน โดยยอดขายทิ้งห่าง Toyota แบรนด์รถยนต์ต่างชาติอันดับสองถึงกว่า 500,000 คัน และหากรวมเอายอดขายของ Audi แบรนด์รถยนต์ต่างชาติในเครือของ Volkswagen แล้วยอดขายของสองแบรนด์รถยนต์จะพุ่งขึ้นเฉียดสามล้านคัน ยังไม่รวมแบรนด์รถยนต์อื่น ๆ ภายใต้ Volkswagen Group China อันได้แก่ Škoda , Bentley และ Lamborghini ซึ่งจะทำให้ยอดขายโดยรวมมากกว่าสามล้านคันเลยทีเดียว

28 มีนาคม 1937 'Gesellschaft zur Vorbereitung des Deutschen Volkswagens GmbH' ก่อตั้งขึ้นในประเทศเยอรมนี ต่อมาในวันที่ 16 กันยายน 1938 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น 'Volkswagenwerk GmbH' ปัจจุบัน Volkswagen เป็นบริษัทรถยนต์นานาชาติรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งผลิตและจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก บริษัทเยอรมันแห่งนี้เป็นเจ้าของรถยนต์แบรนด์ดังระดับโลกหลายยี่ห้อ เช่น Audi, Skoda, Lamborghini, Bentley, Porsche, Bugatti, Seat และ Scania

ในจีน Volkswagen ดำเนินการภายใต้บริษัท Volkswagen Group China โดยตลาดรถยนต์จีนเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของ Volkswagen โดยคิดเป็นประมาณ 50% ของยอดขายทั่วโลกของ Volkswagen การดำเนินงานของ Volkswagen ในประเทศจีน ได้แก่ การผลิต การขาย และการบริการรถยนต์ทั้งคัน ชิ้นส่วนและส่วนประกอบ เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง และ จำหน่ายและบริการรถยนต์นำเข้า ยานพาหนะที่ผลิตในประเทศและนำเข้าของบริษัทจำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ต่าง ๆ ในประเทศจีน โดย Volkswagen Group China เป็นบริษัทร่วมทุนระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุด เก่าแก่ที่สุด และประสบความสำเร็จมากที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน บริษัทเริ่มเข้ามาบุกเบิกในจีนตั้งแต่ช่วงต้นปี 1978 และเป็นผู้นำในตลาดยานยนต์ของจีนมายาวนานหลายทศวรรษ จีนเป็นตลาดเดียวที่ใหญ่ที่สุดสำหรับ Volkswagen 

การเข้าสู่ประเทศจีนของ Volkswagen เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 1985 เมื่อก่อตั้ง Shanghai Volkswagen โรงงานแห่งแรกในเซี่ยงไฮ้ เป็นบริษัทร่วมทุน โดยจีนและเยอรมนีต่างถือครองเงินลงทุนเริ่มแรกฝ่ายละครึ่ง ปัจจุบันเป็นฐานการผลิตรถยนต์สมัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ภายใต้แบรนด์หลักสองแบรนด์ Volkswagen และ Skoda ครอบคลุม ตลาด A0, A, B และ SUV แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากบริษัทผลิตรถยนต์ต่างประเทศรายอื่น อาทิ Santana Motor บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติสเปน และแน่นอนในปัจจุบันยังต้องเผชิญกับคู่แข่งซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่น เช่น BYD (ซึ่งสามารถแซงหน้า Volkswagen ได้แล้ว) Geely หรือ Changan ฯลฯ

แม้ว่าตลาดรถยนต์ของจีนอยู่ในช่วงการเติบโตที่ลดลง สืบเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลง และกำลังเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตที่สูงของตลาดรถ SUV (Sport Utility Vehicle) ได้ดึงดูดความสนใจจากผู้ผลิตรถยนต์หลายราย ตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2017 ยอดขายรถ SUV เติบโตอย่างรวดเร็วในจีน โดยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 27% ส่วนแบ่งของ SUV ในตลาดจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยอดขายรถยนต์ SUV รุ่น Teramont และ Phideon ของ Volkswagen สะท้อนถึงแนวโน้มสำคัญในตลาดรถยนต์จีน Teramont ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับรถยนต์ SUV ปัจจุบันรถยนต์จดทะเบียนใหม่ในจีนประมาณ 40% เป็นรถยนต์ SUV และตัวเลขดังกล่าวก็กำลังเพิ่มขึ้น เฉพาะแบรนด์ Volkswagen เพียงแบรนด์เดียวก็มีรถยนต์ SUV มากกว่า 10 รุ่นในตลาด SUV ภายในสิ้นปี 2020 ในปี 2018 มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่น Tharu, Tayron, Touareg และ T-Roc ในปี 2564 Volkswagen ได้ลงทุนมากกว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มรถ SUV ให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้

ปัจจุบันจีนมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำเทรนด์ของโลกและเป็นตลาดด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นร้อยละ 60 ของความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริดทั่วโลกในปี 2018 และมียอดขายรถยนต์โดยสารระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าประมาณหนึ่งล้านคันในจีน โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 50% ในปี 2019 รัฐบาลจีนให้ความสนใจอย่างมากต่อรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ในปี 2020 ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยของยานพาหนะอยู่ที่ 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร เพื่อพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น รัฐบาลจีนจึงกำหนดโควตารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้บริษัทผู้ผลิตในจีนที่ขายรถยนต์มากกว่า 30,000 คันในจีนต้องผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 10% 

Volkswagen กับตลาดรถยนต์สีเขียวของจีน โดย Volkswagen Anhui (ชื่อเดิม JAC-Volkswagen) เป็นการร่วมทุนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 ระหว่าง JAC Motors กับ Volkswagen ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองเหอเฟย มณฑลอานฮุย โดยเริ่มแรกเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ แบรนด์ SEAT และต่อมาคือแบรนด์ Sehol ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Volkswagen Anhui หลังจากที่ Volkswagen เข้าถือหุ้นใหญ่ (75%) ในบริษัทในปี 2020 พร้อมกับถือหุ้น 50% ใน JAG (บริษัทแม่ของ JAC) ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของในข้อตกลงมูลค่าหนึ่งพันล้านยูโร บริษัทจะมุ่งเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้า โดยมีศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา e-Mobility ที่จะให้บริการแก่ Volkswagen Group ทั้งหมดในประเทศจีน Volkswagen กำลังสร้างโรงงานแห่งใหม่สำหรับ รถยนต์ไฟฟ้า แพลตฟอร์ม MEB ของ Volkswagenโดยมีกำลังการผลิต 350,000 คันต่อปีภายใต้บริษัท ควบคู่ไปกับโรงงานระบบแบตเตอรี่ภายใต้บริษัท VW Anhui Components ที่ถือหุ้นทั้งหมด 

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2023 Volkswagen ได้ประกาศการลงทุนเพิ่มอีก 23.1 พันล้านหยวน (3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใน Volkswagen Anhui ซึ่งประกอบด้วย 14.1 พันล้านหยวนสำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนา และเกือบ 9.1 พันล้านหยวนในระยะแรกของฐานการผลิตในเหอเฟย ทั้งนี้ในเดือนเมษายน ปี 2023 Volkswagen ได้ประกาศการลงทุนมูลค่า 1 พันล้านยูโร (1.1 พันล้านดอลลาร์) ในศูนย์กลางแห่งใหม่ของจีนที่เรียกว่า 100% TechCo เพื่อการพัฒนา นวัตกรรม และการจัดหารถยนต์ไฟฟ้าที่เชื่อมต่ออย่างเต็มรูปแบบ โรงงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ในเมืองเหอเฟย ใกล้กับ Volkswagen Anhui ด้วยจำนวนพนักงาน 2,000 คน โดย Volkswagen มีแผนที่จะผสานการวิจัยและพัฒนายานยนต์และส่วนประกอบเข้ากับการจัดซื้อ ซึ่งจะทำให้วงจรการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่สั้นลงประมาณ 30% คาดว่าจะ "มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโมเดลแบรนด์ Volkswagen ในอนาคตที่จะเปิดตัวในปี 2567

หลายสิบปีมาแล้วที่ Volkswagen เป็นรถ Taxi ยอดนิยมในจีน

กลับมาดูบ้านเราแม้จะเป็นฐานการผลิตของรถยนต์มากมายหลายแบรนด์ทั้งค่ายตะวันตกและตะวันออก ทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศรองรับเป็นจำนวนมาก และแนวโน้มรถยนต์ของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงจากพลังงานสันปดาบมาเป็นพลังไฟฟ้าแล้ว แต่จนทุกวันนี้บ้านเราก็ยังไม่มีวี่แววที่จะได้เห็นแบรนด์รถยนต์แห่งชาติเลย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าที่สุดแล้วจะมีนักลงทุนชาวไทยได้คิดที่จะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แบรนด์ไทยให้ได้ใช้กันในอนาคต
 

‘Volkswagen’ อาจต้องปิดโรงงานในเยอรมนีเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท หลังสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง-คู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งมากขึ้น

ทีมผู้บริหาร Volkswagen ออกมายอมรับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในวันนี้ กำลังตกอยู่ในสภาวะยากลำบากมาก ที่อาจทำให้หนึ่งในค่ายรถยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมนีแห่งนี้ ต้องตัดสินใจปิดโรงงาน 2 แห่งในบ้านเกิดตัวเองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาในปี 1937

โดยบอร์ดผู้บริหาร ที่นำโดย โอลิเวอร์ บลูม CEO คนปัจจุบันของ Volkswagen ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (2 กันยายน 67) ที่ผ่านมาว่า ทางบริษัท ไม่สามารถตัดทางเลือกในการปิดโรงงานในเยอรมันออกไปได้ และได้พิจารณามาตรการอื่น ๆ เพื่อรองรับอนาคตไว้แล้ว นั่นรวมถึงความพยายามในการเจรจายุติข้อตกลงคุ้มครองการจ้างงานกับสหภาพแรงงาน ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1994

โอลิเวอร์ บลูม กล่าวว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของยุโรปกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตลาดมีความต้องการที่จริงจัง และ ยากลำบากมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ในขณะเดียวกัน สภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง และมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดยุโรปมากขึ้น ทำให้เยอรมัน ในฐานะฐานการผลิตรถยนต์กำลังเสียเปรียบในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน  

ผู้บริหาร Volkswagen ยอมรับด้วยว่า VW กำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในจีนให้กับแบรนด์รถยนต์ EV เจ้าถิ่นอย่าง BYD จนทำให้ยอดขายลดลงในช่วงครึ่งปีแรก 7% ส่งผลต่อกำไรที่ลดลง 11.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และนอกจากผลประกอบการในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Volkswagen จะไม่ดีแล้ว ยังถูกแบรนด์รถยนต์สัญชาติจีนข้ามมาตีตลาดในยุโรปอีกด้วย 

ปัจจัยเหล่านี้ บีบให้ทีมบริหารของ Volkswagen จำเป็นต้องลดต้นทุน และได้เริ่มกระบวนการลดต้นทุนถึง 1 หมื่นล้านยูโรไปเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา และตอนนี้กำลังจะกลายเป็นแนวทางหลักในการกอบกู้ผลประกอบการโดยรวมของบริษัท ซึ่งแผนการลดต้นทุน จะรวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านโรงงาน ห่วงโซ่อุปทาน และค่าจ้างแรงงาน 

และแน่นอนว่า แผนการลดต้นทุนของ Volkswagen ถูกต่อต้านอย่างหนักจากตัวแทนสหภาพแรงงาน ซึ่งครองที่นั่งเกือบครึ่งหนึ่งในคณะกรรมการกำกับดูแลของบริษัท 

โดยกลุ่ม IG Metall หนึ่งในสหภาพที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเยอรมนี โจมตีการบริหารจัดการที่ผิดพลาดทีมผู้บริหาร Volkswagen จนอาจนำไปสู่แผนการปิดโรงงาน และเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก ว่าเป็นการตัดสินใจที่ขาดความรับผิดชอบ ไร้วิสัยทัศน์ สั่นคลอนรากฐานของ Volkswagen ที่จะส่งผลกระทบต่อระดับการจ้างงาน และ เขตอุตสาหกรรมที่ตั้งโรงงานอย่างรุนแรง พร้อมยืนยันจะต่อสู้เพื่อปกป้องตำแหน่งงานของชาวสหภาพอย่างสุดกำลัง

Volkswagen ถือเป็นหนึ่งผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่มีพนักงานเกือบ 683,000 คนทั่วโลก เฉพาะในเยอรมนี ก็มีการจ้างงานถึง 295,000 ตำแหน่ง ซึ่งนอกเหนือจากแบรนด์ Volkswagen แล้ว ทางบริษัทยังผลิตรถยนต์แบรนด์อื่น ๆ อีก อาทิ Audi, Porsche, Seat, Škoda และอื่น ๆ 

แต่ด้วยสภาพการแข่งขันสูงในตลาดรถยนต์ และอุปสรรคหลายประการของการเปลี่ยนแปลงจากผู้ผลิตรถยนต์สันดาปแบบดั้งเดิมที่มีกำไรมากกว่า ไปสู่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดแต่กำไรน้อยกว่ามาก แถมยังต้องต่อสู้แข่งขันเรื่องราคากับรถยนต์ EV จากจีน ทำให้ Volkswagen กำลังประสบปัญหาเรื่องยอดขายและผลประกอบการที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

นั่นจึงเป็นที่มาของแผนลดต้นทุน และการประกาศจะปิดโรงงาน Audi ในเบลเยียม และล่าสุดอาจต้องถึงขั้นปิดโรงงานอย่างน้อย 1 แห่งในบ้านเกิดตนเองในเยอรมัน เป็นครั้งแรกในรอบ 87 ปี ของการก่อตั้งบริษัท 

ไม่เฉพาะแค่ Volkswagen เท่านั้น ค่ายรถยนต์ทั้งในสหรัฐอเมริกา และ ยุโรปต่างประสบปัญหาเดียวกัน จนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เช่น Ford ได้ประกาศยกเลิกแผนการพัฒนารถยนต์ SUV ไฟฟ้ารุ่นใหม่ และเลื่อนการเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้าออกไป รวมทั้งค่ายรถยนต์ General Motors, Mercedes-Benz และ Bentley ต่างก็เลื่อนแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกไปเช่นกัน ในขณะที่ Tesla ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้าก็กำลังเผชิญหน้ากับปัญหายอดขายตกต่ำทั้งในตลาดที่สหรัฐอเมริกา และต่างประเทศ

ถึงแม้ว่ารัฐบาลของสหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ต่างออกมาร่วมด้วยช่วยกันใช้มาตรการขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า และสินค้าจากจีน สกัดการไหลบ่าของสินค้าจีนเข้าประเทศ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ แต่ทว่ามาตรการทางภาษีของรัฐบาลจะได้ผลเร็วพอที่จะยับยั้งแผนการปิดโรงงานของ Volkswagen ได้ทันหรือเปล่าเท่านั้นเอง     

Volkswagen และ Audi สั่งเก็บรถยนต์ไว้ที่ท่าเรือสหรัฐฯ หลัง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประกาศเก็บภาษี 25% รถนำเข้าจากยุโรปและเม็กซิโก

(8 เม.ย. 68) บริษัท Audi ในเครือ Volkswagen กำลังเก็บรถยนต์ที่เดินทางมาถึงท่าเรือสหรัฐฯ หลังวันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการเก็บภาษี 25% กับรถยนต์ที่นำเข้า จากยุโรปและเม็กซิโก หลังการประกาศดังกล่าว บริษัทต่าง ๆ กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนและพยายามหาทางออกเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บภาษีนี้

Audi ระบุเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ว่ามีรถยนต์จำนวนหนึ่งถูกเก็บไว้ที่ท่าเรือของสหรัฐฯ เนื่องจากการนำเข้ารถยนต์ต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้ต้องพิจารณาถึงผลกระทบในระยะยาวต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ขณะที่หลายบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังพยายามหาทางออกว่าจะตอบสนองต่อภาษีใหม่อย่างไร

ส่วนของ Volkswagen แบรนด์อื่นๆ ในกลุ่มบริษัทได้แจ้งว่า มีรถยนต์กว่า 37,000 คัน อยู่ในคลังสินค้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพียงพอสำหรับการขายในตลาดประมาณ 2 เดือน ตามที่โฆษกของบริษัทกล่าว โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทในระยะเวลาอันใกล้ และยังต้องรอดูว่าจะมีมาตรการปรับตัวหรือการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การจัดจำหน่ายอย่างไรในอนาคต

โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์จะมีสินค้าคงคลังในสหรัฐอเมริกาประมาณ 3 เดือน ตามข้อมูลจาก Cox Automotive ผู้ให้บริการด้านยานยนต์ ซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตมีเวลาหายใจและรักษาอุปทานไว้จนกว่าจะกำหนดกลยุทธ์ในระยะยาวสำหรับการรับมือกับภาษีศุลกากร

ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารระดับสูงของอุตสาหกรรมยานยนต์จะเข้าพบกับ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานสหภาพยุโรปในช่วงบ่ายวันจันทร์เพื่อหารือถึงวิธีการตอบสนองต่อภาษีนำเข้า ขณะที่ หุ้นในยุโรป ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เนื่องจากนักลงทุนหวั่นเกรงว่าราคาสินค้าจะสูงขึ้น ความต้องลดลง และอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

ทั้งนี้ มาตรการเก็บภาษี 25% ของทรัมป์ เป็นการเพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการผลิตนอกสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการค้าที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในเวทีการค้าโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top