Sunday, 20 April 2025
UNHCR

‘ยูเอ็น’ ชี้!! สงครามซูดาน ทำการแพทย์วิกฤต ขาดแคลนยา-จนท. หลังยอดเด็กเสียชีวิตจากโรคหัด-ขาดสารอาหาร ทะลุ 1,200 ราย

(20 ก.ย. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดร.อัลเลน ไมนา ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุขของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้กล่าวในการประชุมขององค์การสหประชาชาติที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ว่า มีเด็กมากกว่า 1,200 คนที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบได้เสียชีวิตลงจากโรคหัดและภาวะทุพโภชนาการในค่ายลี้ภัยที่ประเทศซูดาน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมแสดงความกังวลว่าตัวเลขดังกล่าวอาจเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้

การสู้รบระหว่างกองทัพซูดานและกองกำลัง Rapid Support Forces (อาร์เอสเอฟ) ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารที่ขณะนี้กินเวลาไปแล้วเกือบ 6 เดือน นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน ได้ทำให้ภาคสาธารณสุขในประเทศซูดานล่มสลายลง จากการโจมตีกันโดยตรงของทั้งสองฝ่าย รวมถึงเกิดปัญหาขาดแคลนเจ้าหน้าที่และยารักษาโรค

ด้านองค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) กังวลว่าทารกแรกเกิดจำนวนหลายพันคนจากทารกทั้งหมด 333,000 คนที่มีกำหนดจะคลอดลืมตาดูโลกก่อนสิ้นปีนี้จะเสียชีวิตลง

นายเจมส์ เอลเดอร์ โฆษกของ UNICEF กล่าวให้เหตุผลในที่ประชุมว่า “ทารกแรกเกิดและแม่ต้องการการดูแลที่มีทักษะในการคลอดบุตร อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่ประชากรหลายล้านคนต้องติดอยู่ท่ามกลางสมรภูมิรบหรือต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น รวมถึงมีการขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์อย่างหนัก การดูแลดังกล่าวนับวันจะยิ่งลดน้อยลง”

นายเอลเดอร์ยังกล่าวด้วยว่า ทุกๆ เดือนเด็กจำนวนราว 55,000 คนในประเทศซูดาน ต้องเข้ารับการรักษาจากภาวะทุพโภชนาการขั้นร้ายแรงที่สุด แต่กลับมีศูนย์โภชนาการที่ยังคงเปิดให้บริการในกรุงคาร์ทูมอยู่เพียงไม่ถึง 1 ใน 50 แห่ง ขณะที่เหลือศูนย์โภชนาการที่ยังคงเปิดให้บริการในภูมิภาคดาร์ฟูร์ตะวันตกเหลืออยู่เพียง 1 ใน 10 แห่ง

‘ยูนิโคล่-UNHCR’ เปิดตัวโครงการ ‘Hope Away from Home’ เสื้อยืดพิมพ์ลายการกุศล ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ลี้ภัย

(23 ก.พ.67) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าวว่า เสื้อยืดตามโครงการ ‘Hope Away from Home’ วางจำหน่ายที่ร้านยูนิโคล่ 12 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งทางยูนิโคล่นอกจากจะบริจาคเงินจำนวน 1 แสนดอลลาร์  (หรือประมาณ 3.54 ล้านบาท) ให้แก่ UNHCR แล้ว ยังบริจาคเงินอีก 3 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 106 บาท) จากทุกการจำหน่ายเสื้อยืดจากคอลเลกชันนี้ให้กับ UNHCR อีกด้วย เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไป

ซึ่งผลงานการออกแบบคัดสรรมาจากมากกว่า 4,000 ภาพ จากการประกวดภาพวาดศิลปะโดยเยาวชน และผู้ลี้ภัย เยาวชนผู้ออกแบบแสดงออกถึงใบหน้าแห่งความหวังเมื่อต้องถูกบังคับให้เผชิญกับการพลัดถิ่น โดยเสื้อยืดคอลเลกชันนี้พร้อมวางจำหน่ายที่ร้านยูนิโคล่พร้อมกันทั่วโลก ได้แก่ แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อังกฤษ, อเมริกา และประเทศไทย

“เสื้อแต่ละตัวบอกเล่าเรื่องราวแห่งความหวังอันทรงพลังอย่างสร้างสรรค์ การเลือกสวมเสื้อยืดคอลเลกชันนี้ คุณถือเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนงานของ UNHCR ที่กำลังดำเนินการในพื้นที่ทั่วโลกกว่า 135 ประเทศ และหน่วยงานปฏิบัติการ 550 แห่งทั่วโลก เพื่อช่วยเหลือผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะสงคราม ความขัดแย้ง และการประหัตประหาร การสนับสนุนของคุณมีความสำคัญ!” เคลลี่ เคลเมนตส์ รองข้าหลวงใหญ่ UNHCR กล่าว

5 ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบเสื้อยืดคอลเลกชันนี้ ได้แก่

- Asifiwe, อายุ 14 ปี ย้ายจากค่ายลี้ภัยในบุรุนดีมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐ
- Virag อายุ 28 ปี เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมจากประเทศฮังการี
- Mawardi อายุ 20 ปี ผู้ลี้ภัยชาวเอธิโอเปียที่ลี้ภัยไปยังโซมาเลีย
- Afya, อายุ 14 ปี เยาวชนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐ
- Georgette อายุ 14 ปี ผู้ลี้ภัยจากสาธารณรัฐคองโก ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในแทนซาเนีย

ทั้งนี้ UNHCR และ ยูนิโคล่ มีความร่วมมือกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ผ่านการให้ความช่วยเหลือมอบเสื้อผ้าสำหรับผู้ลี้ภัย โครงการพึ่งพาตนเอง การจ้างงานผู้ลี้ภัย และการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ คอลเลกชันเสื้อยืดนี้ใช้ชื่อตามแคมเปญ Hope Away from Home ของ UNHCR เพื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน และความร่วมมือด้านมนุษยธรรมเพื่อปกป้องสิทธิของผู้ลี้ภัยทั่วโลก

เสื้อยืดคอลเลกชันพิเศษนี้จะวางจำหน่ายในร้านสาขายูนิโคล่ประเทศไทย ที่ยูนิโคล่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ให้บริการ UTme!  ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป 

ไทย ได้เป็นสมาชิก ‘คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN’ คว้าคะแนนสูงสุดในกลุ่มประเทศเอเชีย – แปซิฟิก

(10 ต.ค.67) ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2568-2570 จากการลงคะแนนเลือกตั้งในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ด้วยคะแนนสูงสุดถึง 177 คะแนน ในกลุ่มประเทศเอเชีย – แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นคะแนนสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในภูมิภาค

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิก UNHRC ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 โดยจะมีวาระ 3 ปี ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับเลือก รวมทั้งสิ้น 18 ประเทศ ได้แก่ ไทย เบนิน โบลิเวีย โคลอมเบีย ไซปรัสเช็ก คองโก เอธิโอเปีย แกมเบีย ไอซ์แลนด์ เคนย่า หมู่เกาะมาร์แชลล์ เม็กซิโก มาเซโดเนียเหนือ กาตาร์ สเปน เกาหลีใต้ และสวิตเซอร์แลนด์

“รัฐบาลเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมในฐานะสมาชิก UNHRC จะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ พร้อมเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยการได้รับเลือกครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน ร่วมกันต่อไป” นายจิรายุ กล่าว

ในอดีตประเทศไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิก UNHRC ระหว่างปี 2553 -2556 โดยประเทศไทย ได้ดำรงตำแหน่งประธาน UNHRC ระหว่างเดือนมิถุนายน 2553 ถึงเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทบทวนสถานะ และการทำงานของ UNHRC ซึ่งประเทศไทย ในฐานะประธานฯ ได้นำการหารือ และเจรจาจนสามารถบรรลุฉันทามติในเรื่องดังกล่าวได้

นอกจากนั้น ประเทศไทยในฐานะสมาชิก UNHRC เมื่อปี 2554 ยังได้ริเริ่มการเสนอข้อมติรายปีหลายเรื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ และการเพิ่มขีดความสามารถในด้านสิทธิมนุษยชน (Enhancement of Technical Cooperation and Capacity Building in the Field of Human Rights) ในกรอบ HRC ซึ่งไทยยังคงเป็นผู้ยกร่าง (penholder) ของข้อมติดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิฯ UN เรียกร้องไทยยกเลิกมาตรา 112 อ้างทำให้เกิดบรรยากาศความกลัวในการแสดงออกทางการเมือง

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิฯ จาก UN เรียกร้องไทย ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิฯ สากล ลั่น‘กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ต้องไม่มีที่ยืนในประเทศประชาธิปไตย’

เมื่อวันที่ (29 ม.ค. 68) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เผยแพร่ข่าวกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติ ประกอบด้วย ผู้รายงานพิเศษด้านต่าง ๆ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตั้งขึ้น แสดงความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ยังคงใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง จนไปสู่การคุมขังนักกิจกรรม และผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิก หรือทบทวนประมวลกฎหมายอาญา ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน

“ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ บุคคลต้องมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ รวมถึงพระมหากษัตริย์ และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันสาธารณะ รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์”

“กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของไทยมีทั้งโทษที่รุนแรง และกำกวม ส่งผลให้ศาลและเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจตีความผิดได้อย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่การคุมขัง ดำเนินคดี และลงโทษ จำนวนกว่า 270 คนตั้งแต่ปี 2563 หลายรายได้รับโทษคุมขังติดต่อกันหลายคดี” ผู้เชี่ยวชาญระบุ

สำหรับมาตรา 112 ระบุว่าผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ซึ่งกฎหมายดังกล่าวถูกวิจารณ์จากหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายครั้ง เนื่องจากขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล 

“เราพบบ่อยครั้งว่า การคุมขังภายใต้กฎหมาย 112 ต่อบุคคลใดก็ตามที่ออกมาใช้เสรีภาพการแสดงออก ถือเป็นการกระทำโดยพลการ” กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าวย้ำ

ย้อนไปเมื่อ ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญา ตัดสินให้อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกมีความผิดในมาตรา 112 และมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) จากการปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการชุมนุมประท้วงเมื่อ ส.ค. 2563 ศาลพิเคราะห์ว่า อานนท์ กล่าวหาพระมหากษัตริย์ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม และให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี

นี่เป็นคดี 112 ของอานนท์ คดีที่ 6 ที่ศาลมีคำตัดสินลงโทษจำคุก ปัจจุบัน อานนท์ มีโทษจำคุกสูงสุดกว่า 18 ปี และยังมีคดี 112 ที่รอมีคำตัดสินอีก 8 คดี

คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมโดยพลการแห่งสหประชาชาติ (UNWGAD) เคยให้ความเห็นก่อนหน้านี้ว่า การคุมขังอานนท์ นำภา ถือเป็นการคุมขังโดยพลการ และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหลายคน ยังคงแสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีอาญากับอานนท์ นำภา และคนอื่นๆ ในประเทศไทย 

“กฎหมายหมิ่นประมาทต้องไม่มีพื้นที่ในประเทศประชาธิปไตย” ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว

“การบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง เพื่อลงโทษนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สมาชิกของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน นักกิจกรรมทางสังคม นักข่าว และบุคคลทั่วไปที่ออกมาแสดงออกอย่างสันติ ทำให้เกิดบรรยากาศของความกลัวในการแสดงออกทางการเมือง”

"รัฐบาลไทยต้องทำให้ประมวลกฎหมายอาญาสอดคล้องกับกฎหมายนานาชาติ และเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน" ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว และเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีและการคุมขังภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยทันที

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บันทึกไว้ว่า ตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน (30 ม.ค.) มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 277 คน จากจำนวน 309 คดี

ขณะที่แกนนำนักกิจกรรมการเมืองถูกดำเนินคดี เป็นจำนวนทั้งหมด ดังนี้ 

‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมการเมือง 25 คดี
อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 14 คดี
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมการเมือง 10 คดี
ภาณุพงศ์ จาดนอก นักกิจกรรมการเมือง 9 คดี
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมการเมือง 9 คดี
เบนจา อะปัญ นักกิจกรรมการเมือง 8 คดี
ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมการเมือง 6 คดี
พรหมศร วีระธรรมจารี นักกิจกรรมการเมือง 6 คดี
ชูเกียรติ แสงวงค์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ, มงคล ถิระโคตร 4 คดี

ขณะที่ข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุด้วยว่า ปัจจุบัน (30 ม.ค.) มีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทั้งคดีเด็ดขาด และที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดี จำนวนอย่างน้อย 42 คน เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 28 คน 

'สุทิน วรรณบวร' ลากไส้ UNHCR เตรียมทิ้งค่ายผู้ลี้ภัย หลัง 'ทรัมป์' รู้ทันตัดงบช่วยเหลือแบบฟ้าผ่า

(6 ก.พ. 68) - จากกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีนโยบายตัดเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลของผู้อพยพในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบถึงค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน ต้องปิดให้บริการทำให้ผู้ป่วยอาจต้องไปรักษาต่อที่อื่น

นายสุทิน วรรณบวร อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ถ้าเราเป็นแพทย์อยู่โรงพยาบาลชายแดนแล้วถูกสั่งให้ไปดูแลคนป่วยในค่ายผู้ลี้ภัยที่ ICRC กับ UNHCR สร้างภาระ (ขี้) ทิ้งไว้ เราจะลาออกทันที เนื่องจากว่าตามกฎหมายประเทศไทยไม่มีค่ายผู้ลี้ภัย ไม่มีค่ายผู้อพยพ ประเทศไทยมิได้ลงนามในอนุสัญญา 151 ว่าด้วยผู้อพยพ

แต่ที่เรารับผู้ที่อ้างว่าลี้ภัยสงครามมาไว้ในค่ายต่างๆกว่า 40 ปีนั้น เป็นความหน้าใหญ่ใจโตของอเมริกาที่เสนอเงินช่วยเหลือผู้ที่อ้างว่าลี้ภัยมาไว้ในค่าย โดยสมคบกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้อพยพ UN ที่รู้จักกันว่า UNHCR ซึ่งรับอาสาจะดูผู้ที่อ้างว่าลี้ภัยเพื่อได้เงินทอนก้อนใหญ่ เพราะนอกจาก UHNCR ได้รับเงินช่วยเหลือจาก USAID แล้วยังรับบริจาค จากทั่วโลก ซึ่งปัจจัยหลั่งไหลเข้ามาสู่ UNHCR ปีละมหาศาล

พวกลูกจ้าง UHNCR ผลาญกันสำราญใจ จึงไม่แปลกใจลูกจ้าง UNHCR ปลุกระดมสร้างกระแสให้ชาติพันธุต่างๆแห่เข้ายังค่ายผู้อพยพ

UNHCR มีระเบียบประหลาด คือเมื่อผู้ลี้ภัยไปถึงประเทศไหน และ UNHCR รับรู้แล้วว่าผู้ลี้ภัยไปถึงประเทศนั้น ให้ประเทศที่ผู้ลี้ภัยไปถึงเป็นประเทศแรกรับจะผลักดันกลับไม่ได้เพราะถือว่าอยู่ภายใต้คุ้มครองของ UHNCR จนกว่าจะหาประเทศที่สามรับไปตั้งรกรากหรือมั่นใจว่าผลักดันกลับไปแล้วปลอดภัย

จึงไม่แปลกใจที่สื่อตะวันตกปลุกกระแสปั่นข่าวสงครามรุนแรงในพม่า เพราะ UNHCR ได้อ้างส่งพม่า (กะเหรี่ยง) กลับไม่ปลอดภัย

UNHCR กับ USIAD ย่ามใจกับเงินทอนมานาน จนนึกไม่ถึงว่า ทรัมป์จะรู้ทันตัดเงินช่วยเหลือแบบฟ้าผ่า เลยทิ้งขี้ไว้ให้แพทย์ไทยเช็ดล้าง

นี่คือความชอบที่แพทย์ไทยไม่ต้องไปช่วยผู้อ้างว่าลี้ภัยในค่าย แพทย์ไทยลาออกเสียดีกว่าไปล้างขี้ให้ UNHCR

เปิดโปงความเชื่อมโยง!! ‘USAID – CIA - UNHCR’ ปฏิบัติการลับ!! แทรกแซงทางการเมือง ในต่างประเทศ

หนังสือพิมพ์ The Express Tribune ได้เผยแพร่บทความเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2025 ซึ่งเขียนโดย อิมเตียซ กุล หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านความมั่นคงแห่งอิสลามาบัด โดยบทความดังกล่าวตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง USAID (องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ), CIA (หน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ) และ UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) โดยระบุว่าองค์กรเหล่านี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือแฝงสำหรับปฏิบัติการข่าวกรองและแทรกแซงทางการเมืองในต่างประเทศ

ข้อกล่าวหาต่อ USAID และ CIA

ตามรายงานของ The Express Tribune บทบาทของ USAID ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ยังเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของ CIA ในการดำเนินปฏิบัติการลับ โดยอ้างถึง ไมค์ เบนซ์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เปิดเผยว่า USAID ใช้งบประมาณกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และบางส่วนถูกนำไปใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับข่าวกรอง

บทความยังยกตัวอย่างกรณีของ โครงการ Population Profiling Vulnerability and Response (PPVR) ที่ได้รับเงินทุนจาก USAID ผ่านองค์กร BEFARe ในปากีสถาน ซึ่งเริ่มต้นในปี 2009 เพื่อสำรวจประชากรอัฟกันในพื้นที่ชายแดน แต่ภายหลังถูกปรับเปลี่ยนเป็น โครงการ PPV ในปี 2011 โดยขยายขอบเขตการเก็บข้อมูลไปยังพื้นที่สำคัญ เช่น อับบอตตาบัด ชิตรัล และสวัต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ โอซามา บิน ลาเดน ถูกลอบสังหารในปีเดียวกัน

มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่สำรวจได้ เก็บพิกัด GPS ของประชากรในพื้นที่ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และทำให้เกิดข้อสงสัยว่าโครงการนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการข่าวกรองของ CIA โดยบทความตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมโดย UNHCR ในโครงการนี้ ไม่ได้ถูกแบ่งปันให้กับรัฐบาลปากีสถานอย่างโปร่งใส

UNHCR กับบทบาทที่ถูกตั้งคำถาม

The Express Tribune ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับบทบาทของ UNHCR โดยระบุว่าองค์กรนี้ได้รับงบประมาณจำนวนมากจาก USAID และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยข่าวกรอง ตัวอย่างเช่น ในกรณีของปากีสถาน UNHCR ได้ดำเนินโครงการร่วมกับ BEFARe เพื่อสำรวจประชากร แต่ข้อมูลบางส่วนกลับ ถูกปิดกั้นจากรัฐบาลปากีสถาน ขณะที่ CIA อาจเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ บทความยังยกตัวอย่างกรณีของ โครงการฉีดวัคซีนปลอมของ Dr. Shakeel Afridi ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปฏิบัติการของ CIA ซึ่งใช้เครือข่ายด้านสาธารณสุขในการ รวบรวมข้อมูล DNA ของประชากรในพื้นที่ชนเผ่า (FATA) เพื่อติดตามเครือข่ายของโอซามา บิน ลาเดน โดยกรณีนี้สร้างความไม่ไว้วางใจต่อองค์กรช่วยเหลือต่างชาติในปากีสถาน

บทบาทของทรัมป์และอีลอน มัสก์ในการเปิดโปงเครือข่ายนี้

The Express Tribune รายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ SpaceX และ X (Twitter) ได้มีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงความสัมพันธ์ระหว่าง USAID และ CIA โดยเฉพาะการแฉว่า USAID ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนปฏิบัติการข่าวกรองและการแทรกแซงการเมือง

ล่าสุด มีรายงานว่า โครงการของ USAID หลายโครงการถูกยุติ หรือถูกลดงบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการระงับเงินทุนของสื่อบางสำนัก เช่น BBC, Reuters และ Politico ที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจาก USAID

บทสรุปของรายงาน 

บทความของ The Express Tribune ชี้ให้เห็นว่า

1. USAID อาจมีบทบาทมากกว่าการเป็นองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของ CIA

2. UNHCR อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยข่าวกรอง โดยเฉพาะในประเทศเป้าหมายที่สหรัฐฯ มีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์

3. CIA ใช้โครงการช่วยเหลือเป็นฉากบังหน้าในการดำเนินปฏิบัติการลับ ซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลประชากร การแทรกแซงทางการเมือง และการติดตามบุคคลเป้าหมาย

4. โดนัลด์ ทรัมป์ และอีลอน มัสก์ เป็นบุคคลสำคัญที่เปิดโปงความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรเหล่านี้ นำไปสู่การลดบทบาทของ USAID ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

ข้อกล่าวหาเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า องค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลอย่าง USAID และ UNHCR เป็นเพียงองค์กรด้านมนุษยธรรมหรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองของสหรัฐฯ กันแน่?

จับโป๊ะ UNHCR เคยปฏิเสธช่วยเหลือชาวอุยกูร์เมื่อปี 63 หวั่นส่งผลต่อ UNHCR ในจีน ที่อาจสูญเงินบริจาค 7.7 ล้านดอลลาร์

เมื่อวันที่ (28 ก.พ. 68) นายธีรภัทร เจริญสุข นักเขียนชื่อดัง และประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Theerapat Charoensuk ระบุว่า เรื่องน่าสนใจมาก เมื่อไปเจอข่าวเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว (2024) ของ The New Humanitarian และมีลงใน Bangkok Post อีกต่อ

มีนักข่าวสืบสวน ไปค้นเจอเอกสารภายในว่า UNHCR สนง.ไทย ปฏิเสธคำร้องขออย่างไม่เป็นทางการของทางการไทย ว่าให้หาทางช่วยเหลือชาวอุยกูร์ ตั้งแต่ช่วงปี 2020 แต่ UNHCR สำนักงานกรุงเทพ ไม่ยอมทำอะไร แล้วมีข้อความว่า การช่วยอุยกูร์อาจจะเป็นผลเสียต่อการทำงานของ UNHCR ในจีน และทำให้ถูกลดเงินบริจาค ถูกลดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ 10 คน และอาจถูกตัดโครงการ 7.7 ล้าน $

รอง ผอ. Human Rights Watch สาขาเอเชียในตอนนั้น รีวิวเอกสาร แล้วบอกว่า น่าช็อกมากที่ได้รู้ว่าทางการไทยพยายามแก้ไขปัญหานี้ผ่าน UNHCR แล้ว แต่ฝ่าย UNHCR กลับปฏิเสธเอง โดยมองว่าไทยจะใช้ UNHCR ช่วยคุ้มครองจากความไม่พอใจของจีน (อ้าว แล้วจะมี UNHCR ไว้ทำหอกรึ) 

สำนักข่าวได้ติดต่อขอข้อมูลจาก UNHCR สาขาไทย แต่ได้คำตอบแบบทั่วไปๆ และปฏิเสธจะให้ความเห็นอื่นๆ

ความน่าเชื่อถือของข่าวนี้เป็นอย่างไร ก็คงต้องพิจารณากันดู


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top