Wednesday, 26 June 2024
UN

‘นายกฯ’ พบ ‘เลขาฯ ยูเอ็น’ ย้ำ ไทยให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชน ยัน!! พร้อมดูแลผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาชายแดน ตามสิทธิ์ที่ควรได้รับ

(22 ก.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างการเดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 78 (UNGA 78) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ว่า เมื่อเวลา 17.10 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ซึ่งช้ากว่าไทย 11 ชั่วโมง) วันที่ 21 ก.ย. นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ถึงการพูดคุยกับนายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่า ได้กำชับว่าไทยต้องดูแลสถานการณ์เมียนมา ต้องพูดคุยสนทนากัน และเห็นว่าการพูดคุยกันเป็นเรื่องสำคัญ

นายเศรษฐา กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ในอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ก็โตมาจากสายงานผู้ลี้ภัย ท่านเคยมาอยู่เมืองไทยและทำงานใกล้ชิด ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนสูงอยู่แล้ว และเป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศ ทั้งนี้ หน้าที่ของตน คือสานต่อเท่านั้นเอง และยึดหลักตามที่กระทรวงการต่างประเทศประสาน

“ขอย้ำว่า เราสนับสนุนให้มีการพูดคุยและเจรจากันอย่างสันติสุข ถ้าหากมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในแง่ของชายแดน หรือเรื่องการเข้า และออก เราช่วยดูแลตามสิทธิ์ที่ทุกคนควรได้ ส่วนประเทศเขาก็เป็นเรื่องของเขา” นายเศรษฐา กล่าว

เมื่อถามว่า ได้พูดคุยบทบาทกับกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่ว่า ปัญหาที่มีอยู่บริเวณชายแดนจะทำอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้รับฟังโจทย์จากเลขาฯ ยูเอ็น ไปก็จะทำให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

เมื่อถามถึงวันสันติภาพโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ก.ย.ของทุกปี นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องที่เราพูดในเชิงสัญลักษณ์มากเกินไป ส่วนการปฏิบัติ ตนอยากให้เราปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นวันไหนแล้วค่อยมาทำกัน พอทำแล้วก็ลืมกันไป จากนั้นก็มาจับอาวุธห้ำหั่นกัน

“ความจริงแล้วการประชุม UNGA 78 ในครั้งนี้ เราทราบดีว่ามีหลายประเทศ มีภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่จับคู่ทะเลาะกัน ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เราหาข้อตกลงกันไม่ได้ ซึ่งเลขาฯ ยูเอ็น มีความสามารถสูงที่จะหาจุดร่วม ให้ทุกประเทศอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข โดยดึงเรื่องอากาศสะอาดเข้ามา ซึ่งเลขาฯ ยูเอ็นรู้อยู่แล้วว่าทุกประเทศ ให้ความสนใจเหมือนกัน จึงสามารถช่วยได้ และหล่อหลอมจิตใจกัน ความจริงเรื่องวันสันติภาพโลกกับเรื่องนี้ไม่ได้ห่างไกลกัน เป็นเรื่องที่เรามองเห็นตรงกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ” นายเศรษฐา กล่าว

นายริยาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ ประจำสหประชาชาติ (UN) ได้กล่าวเรียกร้องให้มีการหยุดยิง

เมื่อไม่นานนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ได้มีการลงมติที่เป็นไปได้ ต่อข้อเรียกร้องให้ ‘หยุดยิงทันที’ ในตะวันออกกลางถูกเลื่อนออกไป เมื่อวันพฤหัสบดี Agencia Brasil รายงาน ร่างดังกล่าวจะกลับมาหารือกันอีกครั้งในวันศุกร์ เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มอิสลามิสต์ฮามาส ซึ่งควบคุมภูมิภาคฉนวนกาซา
.
หลังจากการหยุดชะงักหลายครั้งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประเทศต่างๆ ที่สนับสนุนการยุติสงครามในตะวันออกกลาง เรียกร้องให้มีการประชุมฉุกเฉินของสมัชชาใหญ่ เพื่อพยายามบรรลุข้อตกลงหยุดยิง
.
แม้ว่าในประเทศต่างๆ ของคณะมนตรีความมั่นคง เช่น สหรัฐอเมริกา หรือรัสเซีย มีอำนาจในการยับยั้งมติต่างๆ ได้ แต่ในสมัชชาใหญ่ การลงคะแนนเสียงข้างมากก็เพียงพอแล้วสำหรับข้อความที่จะได้รับการอนุมัติ
.
นายริยาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ ประจำสหประชาชาติ (UN) ได้กล่าวเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที เขาพูดถึงชาวปาเลสไตน์มากกว่า 7,000 คนที่ถูกสังหารนับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา และตั้งคำถามถึงความแตกต่างในการรักษาที่มอบให้กับเหยื่อชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์
.
“เหตุใดการเสียชีวิตของชาวอิสราเอลจึงเจ็บปวดมาก แต่ชาวปาเลสไตน์อย่างพวกเรากลับดูเจ็บปวดเพียงเล็กน้อย? อะไรคือปัญหา? เรามีความเชื่อที่ผิดหรือ? หรือผิดที่สีผิว? หรือผิดที่สัญชาติ? หรือผิดที่ที่มาของเรา? ตัวแทนของประเทศต่างๆ จะอธิบายได้อย่างไร ว่าการเสียชีวิตของชาวอิสราเอลนับพันนั้นช่างน่าสยดสยองเพียงใด และไม่รู้สึกแบบเดียวกันกับการตายของชาวปาเลสไตน์จำนวนหนึ่งพันคนที่กำลังจะเสียชีวิตในเวลานี้ทุกวัน”
.
ที่มา : 
https://en.mercopress.com/2023/10/27/un-general-assembly-evaluating-ceasefire-in-middle-east-war
.
https://www.facebook.com/100063765184493/posts/pfbid023pBjYkRYBJ7Fr8Wt8KKdxAhSAFEJVkP5Qqzw3TVuisms9NsVhFsruvtyj1Dh5CaSl/?mibextid=Nif5oz
.
Click on Clear >> 
.
------------------------------------------------
.
ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
TikTok > https://www.tiktok.com/@thestatestimes
.
#THESTATESTIMES
#World
#NewsFeed
#UN
#ปาเลสไตน์
#อิสราเอล
#สงคราม

‘ลาว’ วิกฤติ!! ‘ยาบ้า’ ทะลักเกลื่อนตลาด ราคาถูกยิ่งกว่าน้ำเปล่า หน่วยปฏิบัติงานหย่อนยาน มุ่งดักจับแค่เป็นรายกรณีเกินไป

‘องค์การสหประชาชาติ’ วิตก ปัญหายาเสพติด ประเภท ‘เมทแอมเฟตามีน’ แพร่ระบาดอย่างหนักในท้องตลาด ‘ลาว’ อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ราคาขายต่อเม็ดเหลือไม่เกินเม็ดละ 8 บาท ถูกยิ่งกว่าน้ำดื่มทั่วไป ดันยอดผู้เสพยาพุ่งเพราะเข้าถึงง่าย ซื้อขายคล่อง สวนกระแสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในลาว

ชาวลาวเรียก ‘เมทแอมเฟตามีน’ ว่า ‘ยาบ้า’ เช่นเดียวกับบ้านเรา ซึ่งเป็นสารเสพติดที่แพร่หลายอย่างในลาวมานานนับ 10 ปีแล้ว เนื่องจากลาวเป็นเส้นทางขนส่งยาบ้า จากรัฐฉานทางฝั่งพม่าข้ามรอยต่อชายแดนเข้ามาในลาว

แต่ทว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการแตกแยกทางการเมือง และสุญญากาศในการบังคับใช้กฎหมายในพม่า ส่งผลให้ขบวนการค้ายาเสพติดในพม่าเติบโตอย่างมาก การลักลอบขนยาเสพติดผ่านเข้ามาในลาวก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

เมื่อมีของเข้ามามาก ราคาก็ถูกลงตามกลไกตลาด ซึ่งสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับปัจจัยค่าเงินเฟ้อในลาว ในขณะที่สินค้าอุปโภค บริโภคพื้นฐานที่จำเป็นล้วนมีราคาสูงขึ้น มีแต่ยาบ้าเพียงเท่านั้น ที่นับวันราคายิ่งถูกลงไปเรื่อยๆ แม้จะมีฐานะยากดีมีจนขนาดไหนก็สามารถซื้อได้

นายบุญมี ผู้ช่วยผู้อำนวยการของ ‘Transformation Center’ หนึ่งในศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดเอกชน ที่มีเพียง 2 แห่งในลาว ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ช่วง Covid-19 เป็นต้นมา ค่าครองชีพในลาวเพิ่มสูงขึ้น ข้าวของทุกอย่างล้วนขึ้นราคา แต่ยาบ้ากลับมีราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ ทุกวันนี้ คนลาวสามารถซื้อยาบ้า 1 เม็ดได้ในราคาเม็ดละ 5,000 - 7,000 กีบ (8.50-12 บาท) แต่ถ้าซื้อยกแพ็ก 200 เม็ด หารเฉลี่ยจะตกเหลือเม็ดละ 2,500 กีบ (4.30 บาท) เท่านั้น

นายแก้ว หนึ่งในผู้บำบัดยาเสพติดในศูนย์ ‘Transformation Center’ วัย 37 ปี เล่าว่า เขาเป็นหนึ่งในผู้เสพติดยาบ้า และเสพต่อเนื่องมานานกว่า 17 ปี ราคายาบ้าที่ถูกลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เขาเสพหนักกว่าเดิมถึงวันละ 10 เม็ด บางครั้งนำไปผสมกินคู่กับกาแฟด้วย เสพหนักจนหลอน จำลูก-เมียไม่ได้ ประสาทตื่นตัวตลอดเวลา กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนครอบครัวต้องจับมาส่งศูนย์บำบัดในกรุงเวียงจันทน์

‘เจเรมี ดักลาส’ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ยอมรับว่าหลังเหตุการณ์รัฐประหารในพม่า ทำให้เกิดการไหลทะลักของยาเสพติดข้ามชายแดนเขตรัฐฉาน ตามแนวพรมแดนแม่น้ำโขงเข้ามาในฝั่งลาว

อย่างไรก็ตาม ทางการลาวได้เร่งแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มมาตรการตรวจสอบและจับกุม โดยยาเสพติดล็อตใหญ่ล่าสุด จับกุมได้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 จากการสกัดจับรถบรรทุกขนเบียร์ในจังหวัดบ่อแก้ว ซึ่งพบว่ามีการลักลอบขนยาบ้ามากถึง 55 ล้านเม็ด และยาไอซ์อีก 1.5 ตันในคราวเดียว

จากรายงานล่าสุดของ UNODC พบว่า ยอดการจับกุมยาเสพติดในลาวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปี พ.ศ. 2562 ยึดได้ 17.7 ล้านเม็ด และเพิ่มขึ้นเป็น 18.6 ล้านเม็ดในปีต่อมา แต่ทว่าตัวเลขล่าสุดของปี 2563 ยึดของกลางได้ถึง 144 ล้านเม็ด

แต่ถึงตัวเลขการจับกุมจะสูงขึ้นแค่ไหนก็ตาม หากไม่มีการรื้อถอนขบวนการขนส่ง ที่เป็นต้นตอของปัญหาของการลำเลียงยาเสพติดผ่านเข้ามาในดินแดนลาว การไหลบ่าของยาเสพติดก็ยังคงอยู่

ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศ ได้ชี้ถึงข้อบกพร่องในการปราบปรามยาเสพติดของเจ้าหน้าที่ลาวว่า จะเป็นการปฏิบัติงานในรูปแบบเฉพาะกิจ ดักจับเป็นรายกรณีไป ซึ่งหลายครั้งพบการเพิกเฉยในการจับกุมคนขับรถขนยา ละเลยการสาวลึกลงไปในขบวนการลักลอบขนสินค้าข้ามชาติอย่างผิดกฎหมาย ตลอดจนการสมรู้ร่วมคิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด

ดังนั้น จะมองเพียงตัวเลขการจับกุมและของกลางที่ยึดอย่างเดียวไม่ได้ เพราะนั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของปริมาณยาเสพติดที่ขนเข้ามาในฝั่งลาว สังเกตได้จากยาบ้าที่ล้นตลาด จนทำให้มีราคาถูกลงมากอย่างน่าใจหายนั่นเอง

ซึ่งปัญหาของยาบ้าล้นตลาดในลาว ก็สะท้อนถึงปัญหาของไทยเช่นกัน เนื่องจากไทยก็เป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งยาบ้าจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ไหลเข้ามาฝั่งไทยจำนวนมหาศาล ท่ามกลางปรากฏการณ์ ‘ยาบ้าถูกกว่าน้ำเปล่า’ เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรต้องตระหนักว่า เราควรหาทางป้องกันสังคมของเราอย่างไรต่อภัยยาเสพติดราคาถูกเช่นนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top