Tuesday, 22 April 2025
Ukriane

สหรัฐสั่งปิดสถานทูตในกรุงเคียฟ หลังยูเครนยิงขีปนาวุธอเมริกันใส่รัสเซีย

(21 พ.ย. 67) สหรัฐอเมริกาสั่งปิดสถานทูตอเมริกันในกรุงเคียฟ เมื่อช่วงเช้าวันพุธ (20 พ.ย.67) นี้ หลังกองทัพยูเครนใช้ขีปนาวุธของอเมริกันโจมตีรัสเซีย หวั่นเป็นเป้าหมายการโจมตีกลับจากฝ่ายรัสเซีย

แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งกล่าวว่า ทางสถานทูตในกรุงเคียฟจำเป็นต้องปิดทำการ (ชั่วคราว) เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีทางอากาศจากรัสเซีย ด้านกรีซ สเปน และ อิตาลี ก็ได้สั่งให้ปิดสถานทูตของตนเช่นกัน ส่วนสถานทูตฝรั่งเศสยังคงเปิดทำการตามปกติ แต่ได้ออกประกาศเตือนภัยพลเมืองฝรั่งเศสในยูเครนถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจยกระดับกลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ได้ 

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ถูกยกระดับขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ออกคำสั่งทิ้งทวนก่อนลาตำแหน่ง อนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธระยะไกลของอเมริกันโจมตีเข้าไปในพรมแดนรัสเซียได้ 

โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการตอบโต้ที่ รัสเซียได้ขอกองกำลังเสริมจากเกาหลีเหนือกว่า 10,000 นายเข้าไปช่วยรบในยูเครน อีกทั้งยังเป็นการครบรอบ 1,000 วัน สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่เห็นหนทางยุติ  ด้านกองทัพยูเครนก็ไม่รอช้า จัดการยิงขีปนาวุธ  ATACMS  6 ลูกข้ามฝั่งไปยังแคว้นเบรียนสค์ ชายแดนทางภาคตะวันตกของรัสเซียในทันที

ด้านโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครน กล่าวว่า เมื่อเรามีประเทศเพื่อนบ้านที่บ้าคลั่ง ก็ต้องคุยกันด้วยขีปนาวุธเท่านั้น

แต่หลังจากที่กองทัพยูเครนใช้ขีปนาวุธของสหรัฐ โจมตีดินแดนรัสเซียแล้ว โฆษกประจำตัว วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียก็ได้ออกมากล่าวว่าสหรัฐอเมริกากำลังราดน้ำมันลงในเปลวไฟ ซึ่งรัสเซียก็พร้อมที่จะตอบโต้ด้วยกำลังเช่นกัน

จึงทำให้ช่วงค่ำคืนที่ผ่านมาในกรุงเคียฟ มีแต่สัญญาณเตือนภัยการโจมตีทางอากาศดังสนั่น และข่าวลือเรื่องการใช้ขีปนาวุธร้ายแรงของรัสเซียแพร่สะพัดไปทั่วโลกโซเชียลในยูเครน 

ประกอบกับคำสั่งปิดสถานทูตอเมริกันในกรุงเคียฟในวันนี้ ยิ่งสร้างความหวั่นวิตกว่า สงครามขีปนาวุธระหว่างรัสเซีย-ยูเครนมาแน่ แม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะยืนยันว่าเป็นเพียงการปิดทำการชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะกลับมาเปิดได้ตามปกติภายในสัปดาห์นี้ก็ตาม 

"การโจมตียูเครนไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือของ วลาดิมีร์ ปูติน ตามที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้"

ศ.เจฟฟรี่ แซคส์ ศาสตราจาร์ยด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

(21 พ.ย. 67) ศ.เจฟฟรี่ แซคส์ ศาสตราจาร์ยด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้กล่าวในตอนหนึ่งของงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยสมาคมโต้วาที Cambridge Union Society ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีตอนหนึ่งที่ศ.แซคส์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในยูเครนว่า การโจมตีที่เกิดขึ้นในยูเครนทุกวันนี้ ไม่ใช่ฝีมือของวลาดิมีร์ ปูติน ในแบบที่เราได้ยินกันมา

แซคส์ อธิบายว่า ย้อนกลับไปในยุคสงครามเย็นช่วงที่เยอมนีตะวันออกและตะวันตกยังคงแบ่งแยก นายมิคฮาอิล กอบาชอฟ ผู้นำโซเวียตในเวลานั้นเห็นพ้องที่จะยุติ ภาวะตึงเครียมของชาติมหาอำนาจสองฝ่าย จึงยอมให้มีการควบรวมชาติเยอรมนีขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า สหรัฐและชาติพันธมิตรจะไม่ขยายขอบเขตอิทธิพลของตนในยุโรปมากขึ้น 

กระทั่งในช่วงยุคปี 1994 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ได้ลงนามคำสั่งขยายอิทธิพลของนาโต้ในยูเครนหรือที่เรียกว่าคำสั่ง 'neocons took power' 

หลังจากนั้นในปี 1999 นาโต้เริ่มขยายตัวมากขึ้นผ่านการเริ่มเข้าไปมีบทบาทในโปแลนด์ ซึ่งในปีเดียวกันนี้ โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และฮังการี เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ จากนั้นสหรัฐเริ่มเข้าไปมีบทบาททางการเมืองในเซอร์เบียปี 1999 ส่งทหารเข้าไปเซอร์เบียเพื่อจัดการความขัดแย้งภายใน แสดงให้เห็นถึงการรุกคืบของอิทธิพลของสหรัฐผ่านนาโต้ที่ค่อยๆประชิดยุโรปตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ

ศ.แซคส์ อธิบายต่อว่า ปูตินเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกช่วงปี 2000 ในขณะนั้นเขายังมีจุดยืนสนับสนุนนาโต้และสนับสนุนสหรัฐ ถึงขึ้นที่อาจจะนำรัสเซียร่วมเป็นพันธมิตรนาโต้ กระทั่งปี 2002 ถึงจุดที่ทำให้ปูตินต้องเปลี่ยนความคิด หลังจากที่สหรัฐถอนตัวออกจากสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธ ซึ่งทำให้สหรัฐสามารถนำขีปนาวุธเข้าไปในยุโรปตะวันออกมากขึ้น ซึ่งรัสเซียมองว่าเป็นภัยคุกคาม

ในปี 2009 วิกเตอร์ ยานูโควิช ขึ้นเป็นประธานาธิบดียูเครน เขามีนโยบายเป็นกลางที่ทำให้ยูเครนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งมีส่วนบรรเทาความตึงเครียดในยุโรปตะวันออกลงเนื่องจากชาวยูเครนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการให้เข้าร่วมนาโต้

ต่อมาในปี 2014 สหรัฐมีความพยายามอย่างหนักในการแทรกแซงยูเครนเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดียานูโควิช เพื่อหวังขยายอิทธิพลของนาโต้ในยุโรปตะวันออก ซึ่งในเวลานั้นเป็นผลให้รัสเซียตัดสินใจรุกคืบยุโรปกลับด้วยการประกาศผนวกคาบสมุทรไครเมียในปีเดียวกัน

แซคส์อธิบายต่อว่า ในวันที่ 15 ธันวาคม 2021 ปูตินได้ร่างข้อตกลงความมั่นคงรัสเซีย-สหรัฐ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหรัฐกับรัสเซียจะให้คำมั่นว่าต่างฝ่ายจะไม่ขยายอิทธิพลของตนในยุโรปตะวันออก เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามในยูเครน แต่ทำเนียบขาวภายใต้การนำของรัฐบาลโจ ไบเดน ปฏิเสธการเจรจาข้อตกลงดังกล่าว 

ศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ดอธิบายว่า ที่ผ่านมาผู้นำรัสเซียพยายามหลีกการเผชิญหน้าของสองมหาอำนาจ แต่สหรัฐกลับเป็นฝ่ายขยายอิทธิพลในยุโรปตะวันออกเสียเองโดยผ่านทางนาโต้ ซึ่งผลสุดท้ายคือการบีบให้ผู้นำรัสเซียต้องทำสงครามกับยูเครนในที่สุด

ฮิวแมนไรท์วอชประณามสหรัฐฯ ส่ง 'ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล' ให้ยูเครน ละเมิดสนธิสัญญาห้ามใช้ทุ่นระเบิดปี 1997

(21 พ.ย. 67) แหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐ 2 รายเผยกับวอชิงตันโพสต์ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้อนุมัติการส่งมอบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลไปยังยูเครน ซึ่งการอนุมัติดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาห้ามใช้กับระเบิด ปี 1997 

แมรี่ วาเรแฮม รองผู้อำนวยการฝ่ายวิกฤตความขัดแย้งและอาวุธ ของฮิวแมนไรท์วอช กล่าวว่า “การตัดสินใจของประธานาธิบดีไบเดนในการมอบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลนั้น มีความเสี่ยงต่อชีวิตพลเรือน และขัดขวางความพยายามของนานาชาติในการกำจัดอาวุธเหล่านี้... สหรัฐฯ ควรทบทวนการส่งมอบดังกล่าว ซึ่งรั้งแต่จะเพิ่มความเสี่ยงให้พลเรือนได้รับลูกหลงจากกับระเบิดและต้องทนทุกข์ทรมาณในระยะยาว"

แหล่งข่าวยังเผยว่า รัฐบาลสหรัฐคาดหวังให้ยูเครนใช้อาวุธนี้ เฉพาะในเขตเเดนยูเครนที่ไม่มีพลเรือนอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม ฮิวแมนไรท์วอช มองว่าไม่มีอะไรการันตีได้ว่า กองทัพยูเครนจะใช้ทุ่นระเบิดดังกล่าวในพื้นที่ไร้พลเรือนตามที่สัญญา

“การยอมรับและใช้ทุ่นระเบิดต่อต้านบุคคล ถือเป็นความเสี่ยงที่ยูเครนจะละเมิดสนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิดเพิ่มเติม” แถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอชระบุ  

ด้านโฆษกทำเนียบเครมลิน ดมิทรี เปสคอฟ กล่าวว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ารายงานเกี่ยวกับการอนุมัติของไบเดนในการส่งกับระเบิดไปยังเคียฟเป็นความจริงหรือไม่ แต่ไม่ได้ตัดความเป็นว่ารัฐบาลสหรัฐที่ใกล้หมดวาระกำลังรีบเร่งดำเนินการบางอย่าง

ที่ผ่านมา ทางการรัสเซียย้ำหลายครั้งว่าการส่งอาวุธให้ยูเครนเป็นการขัดขวางการยุติความขัดแย้ง และถือเป็นการที่ประเทศในนาโต้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง

สำหรับสนธิสัญญาห้ามใช้ทุ่นระเบิด ได้รับการลงนามในปี 1997 ที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา โดยปัจจุบันมีชาติที่ร่วมลงสัตยาบันไม่ใช่ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลแล้วกว่า 164 ชาติทั่วโลก 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top