Tuesday, 22 April 2025
UK

นายกอังกฤษไม่ขอวิจารณ์จีน หลังฮ่องกงจำคุก แก๊งโจชัว หว่อง หวั่นกระทบเศรษฐกิจ

(21 พ.ย. 67) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคียร์ สตาร์เมอร์ ปฏิเสธที่จะกล่าววิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 45 คนในฮ่องกง ที่ศาลฮ่องกงมีคำตัดสินเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยผู้นำอังกฤษให้เหตุผลว่าการแสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมาควรเกิดขึ้นในที่ส่วนตัว เพื่อไม่ให้กระทบต่อเป้าหมายการสร้าง "ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิด" กับจีน  

รายงานระบุว่าสตาร์เมอร์ อยู่ระหว่างการร่วมประชุม G20 ที่ประเทศบราซิล และได้มีโอกาสหารือกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง โดยนายกอังกฤษยอมรับว่า เขาได้พูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับผู้นำจีน เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง อย่างไรก็ตาม เขาเลือกที่จะไม่กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวต่อสาธารณะ

ในระหว่างการแถลงข่าว เมื่อถูกถามโดย Financial Times ว่าจะประณามการกวาดล้างผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำ "การล้มล้าง" ในหมู่นักวิชาการ นักข่าว และนักการเมืองในฮ่องกงหรือไม่ สตาร์เมอร์ปฏิเสธและกล่าวว่า

"ในประเด็นที่เรามีความเห็นต่าง เราได้พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับที่เราทำเมื่อวานเกี่ยวกับฮ่องกง สิ่งงที่ผมไม่ทำคือสูญเสียโอกาสสำหรับเศรษฐกิจของเราในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่ดีขึ้น ผมต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพราะจีนเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่พูดถึงความแตกต่างเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา นั่นคือแนวทางที่ผมใช้ และจะใช้ต่อไป"  

การประชุมแบบตัวต่อตัวระหว่างสตาร์เมอร์และสีในริโอเดจาเนโรเมื่อวันจันทร์ ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำอังกฤษได้พบกับประธานาธิบดีจีนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งสะท้อนถึงท่าทีของอังกฤษที่เปิดกว้างมากขึ้นต่อปักกิ่ง  

ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับจีนเย็นชาลง ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ พบกับสีในปี 2018 ต่อมาภายใต้การนำของริชี ซูนัค ความสัมพันธ์ยังคงตึงเครียด โดยสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวต่อจีน 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่พรรคแรงงานเข้ามาบริหารในเดือนกรกฎาคม รัฐบาลใหม่ได้มุ่งเน้นความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับจีนมากขึ้น โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ เดวิด แลมมี ได้เดินทางเยือนจีนแล้ว และมีแผนที่ทั้งสตาร์เมอร์และรัฐมนตรีการคลังราเชล รีฟส์ จะเดินทางไปในปีหน้า    

สตาร์เมอร์ยังเน้นย้ำว่าความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและจีนควรปราศจาก "ความคลางแคลงใจ" และกล่าวถึงการเปิด "บทสนทนาใหม่" กับปักกิ่งในเรื่องอื่นที่ท้าทายร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เซอร์เอียน ดันแคน สมิธ อดีตหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม ได้วิจารณ์ท่าทีของสตาร์เมอร์ที่ไม่แสดงจุดยืนวิพากษ์วิจารณ์จีนในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า "เขาและรัฐบาลของเขาหมกมุ่นกับการค้าเสียจนพร้อมจะมองข้ามความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น"

อังกฤษอาศัยช่วงเปลี่ยนขั้วรัฐบาล กล่าวหา 'หยาง เติ้งป๋อ' นักธุรกิจจีนเป็นสายลับให้ปักกิ่ง เอี่ยวโยงเจ้าชายแอนดรูว์

(17 ธ.ค.67) กลายเป็นเรื่องใหญ่ของสหราชอาณาจักร เมื่อมีรายงานข่าวว่า ศาลอังกฤษได้สั่งห้ามบุคคลต้องสงสัยชาวเอเชียที่ชื่อ หยาง เติ้งป๋อ เข้าประเทศ โดยอังกฤษอ้างว่านายหยางมีพฤติการณ์ต้องสงสัยแฝงตัวเป็นสายลับในคราบนักธุรกิจโปรไฟล์ดี สามารถเข้าถึงใกล้ชิดบุคคลระดับสูงทั้งในระดับรัฐบาลอังกฤษจนถึงพระราชวงศ์ระดับสูง

จากการเปิดเผยข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงอังกฤษได้กล่าวหาว่านาย หยาง เติ้งป๋อ วัย 50 ปี หรือที่รู้จักภายใต้โค้ดเนมว่า H6 เป็นสายลับจีนที่มีความใกล้ชิดต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน เคยปรากฏภาพเข้าร่วมประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงปักกิ่ง อังกฤษกล่าวหาว่านายหยางมีความเกี่ยวข้องกับแนวร่วม United Front Work Department (UFWD) ซึ่งเป็นหน่วยงานลับของรัฐบาลจีนที่จัดการกับการเผยแพร่อิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีนในต่างประเทศ

สำหรับประวัติของ หยาง เติ้งป๋อ หรือชื่อที่รู้จักกันในนาม 'คริส หยาง' เกิดที่ประเทศจีนในปี 1974 เขามาอังกฤษครั้งแรกในปี 2002 และศึกษาที่กรุงลอนดอนเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านการบริหารราชการและนโยบายสาธารณะที่มหาวิทยาลัยยอร์ก

ในปี 2005 เขาก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Hampton Group International ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจดทะเบียนบริษัทในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าบริษัทที่เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในสหราชอาณาจักร 

ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2013 เขาได้รับการอนุญาตให้ถือวีซ่าพำนักถาวรในสหราชอาณาจักร ช่วงที่โควิดระบาดใหญ่เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการทำธุรกิจที่อังกฤษ กระทั่งเมื่อการระบาดเริ่มลดน้อยลง จึงเดินทางไป-มา ระหว่างลอนดอนกับประเทศจีน

6 พฤศจิกายน 2021 หยางถูกเจ้าหน้าที่ตม.อังกฤษไม่อนุญาตเข้าประเทศ พร้อมกับถูกควบคุมตัว อีกทั้งเขายังถูกยึดและตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดที่พกติดตัว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 หยางยื่นคำร้องต่อรัฐบาลอังกฤษเพื่อขออนุญาตเข้าประเทศ ซึ่งเขาเคยชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่ต่อมาแพ้ในการอุทธรณ์

ในคำตัดสินของศาลอุทธรณ์อังกฤษอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ยืนยันตามคำสั่งของกระทรวงกิจการภายในสั่งห้ามหยางเข้าประเทศ โดยชี้ว่าพบหลักฐานจากอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือของหยางที่มีการยึดในปี 2021 ตลอดจนเอกสารบางส่วนที่ชี้ว่าเขามีส่วนเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน โดยอัยการอังกฤษชี้ว่า หยางมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีความพยายามส่งต่อข้อมูลบางประการต่อรัฐบาลปักกิ่ง 

ในการพิจารณาคดีหยางได้ปฏิเสธในทุกข้อกล่าวหา พร้อมทั้งยืนยันว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดใดๆ โดยว่าสหราชอาณาจักรเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเขา เขาเดินทางเข้าออกสหราชอาณาจักรมานานกว่า 20 ปีตั้งแต่เรียนหนังสือจนถึงตั้งตัวทำธุรกิจจนมีหน้ามีตาทางสังคม 

หยางปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและกล่าวว่าเขาไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองในจีน เขายืนยันว่าไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ ให้กับ UFWD ทั้งยังบอกว่า 'เขากลายเป็นเหยื่อของการเมืองอังกฤษ ที่มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจากพรรคอนุรักษ์นิยมมาสู่พรรคแรงงานซึ่งมีจุดยืนแข็งกร้าวต่อจีน เขาจึงถูกเพ่งเล็งทางการเมือง'

ด้านความเชื่อมโยงกับเจ้าชายแอนดรูว์ ฝ่ายสืบสวนของอังกฤษพบหลักฐานที่เชื่อมโยงเขากับเจ้าชาย คือจดหมายระหว่างเขากับโดมินิก แฮมป์เชียร์  ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของเจ้าชายแอนดรูว์ ซึ่งระบุว่าหยางสามารถทำหน้าที่แทนเจ้าชายในการติดต่อกับนักลงทุนชาวจีน โดยมีภาพถ่ายปรากฏเจ้าชายแอนดรูว์ดยุกแห่งยอร์กและนายหยางถูกรายงานผ่านสื่อ 

ต่อมาเลขาของเจ้าชายแอนดรูว์ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า พระองค์ทรงตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับนักธุรกิจจีนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับให้ปักกิ่งหลังได้รับคำแนะนำจากรัฐบาลอังกฤษ โดยสำนักพระราชวังกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า เจ้าชายแอนดรูว์ทรงพบกับชายผู้นี้ผ่าน 'ช่องทางการ'และไม่มีการหารือในประเด็นอ่อนไหวด้านความมั่นคง

จากการขุดคุ้ยของสื่ออังกฤษ ยังเผยอีกว่า นายหยาง เคยได้รับเชิญให้ร่วมงานเลี้ยงฉลองวันตรุษจีนในทำเนียบถนนดาวนิง ทั้งยังมีความใกล้ชิดกับ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคอนุรักษ์นิยม อีกทั้งยังเคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงภายในพระราชวังบักกิ้งแฮมในหลายครั้ง

นอกจากนี้หยางยังดำรงตำแหน่งระดับสูงในกลุ่มธุรกิจอังกฤษ-จีน ได้รับการยกย่องให้เป็นประธานบริหารของ China Business Council ในสหราชอาณาจักร และเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมธุรกิจจีน-อังกฤษที่เรียกว่า 48 Group Club ซึ่งมีบุคคลสำคัญชาวอังกฤษหลายคนเป็นสมาชิก ทางการอังกฤษมองว่า หยางอยู่ในตำแหน่งที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสำคัญของสหราชอาณาจักรกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน สามารถถูกนำไปใช้เพื่อแทรกแซงทางการเมือง จนสั่งห้ามเขาเดินทางเข้าประเทศตามรายงานข้างต้น  

อย่างไรก็ตาม ทางด้านโฆษกจากกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ออกมาตอบโต้ประเด็นนี้แล้วโดยกล่าวว่า "บางคนในอังกฤษมักจะสร้างเรื่องราว 'สายลับ' ที่ไม่มีมูลความจริงเพื่อโจมตีจีน มันไม่คุ้มค่าเลยที่จะสร้างข่าวลืออันไม่เป็นธรรมเหล่านี้เพื่อทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ" 

ทางการจีนยังตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินดดีของหยางมีความคืบหน้าผิดปกติในช่วงที่อังกฤษเปลี่ยนขั้วรัฐบาล อีกทั้งหน่วยราชการลับอังกฤษเพิ่งมาเปิดเผยรายละเอียดของหยางในช่วงที่อังกฤษมีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคแรงงานที่มีจุดยืนแข็งกร้าวต่อปักกิ่ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top