Tuesday, 22 April 2025
Turtle_Farm

'ตำรวจไซเบอร์' ขยายผลทลายเครือข่ายคดีหลอกลงทุน Turtle Farm จับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติม ตรวจยึดของกลางกว่า 100 ล้านบาท

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการชักชวนหลอกลวงให้ลงทุนออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าเป็นภัยออนไลน์ที่ได้สร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าความเสียหายจากการถูกหลอกลวงทั้งหมด 

วันนี้ (15 ก.ย. 65) เวลา 11.00 น. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร., พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.มนเทียร พันธ์อิ่ม รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผบก.สอท.1, พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง ผบก.สอท.3, นายปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการกองคดี 2 สำนักงาน ปปง. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการขยายผลทลายเครือข่ายหลอกลงทุน Turtle Farm จับกุมผู้ต้องหา และตรวจยึดของกลางเป็นจำนวนมาก มีรายละเอียดดังนี้

ตามที่เมื่อวันที่ (5 ส.ค. 65) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้แถลงผลการทลายเครือข่ายหลอกลงทุน Turtle Farm จับกุมผู้ต้องหาที่ได้หลอกลวงชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนปลูกเห็ด กัญชา พืชกระท่อม เลี้ยงผึ้ง ฯลฯ โฆษณาผ่านแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยอ้างว่าผู้ที่เข้าร่วมลงทุนจะได้ผลตอบแทนเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ต่อมาผู้ต้องหากับพวกอ้างเหตุขัดข้องต่างๆ ไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้เสียหายได้ ผู้เสียหายจึงแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย จากนั้นพนักงานสอบสวนปากคำผู้เสียหาย และรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 9 ราย 

ผลการปฏิบัติสามารถทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับได้ 4 ราย อยู่ระหว่างหลบหนี 5 ราย และสามารถอายัดเงินในบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องกว่า 72 บัญชี อายัดเงิน ได้กว่า 17.5 ล้านบาท นั้น ต่อมาในระหว่างเดือน ส.ค.65 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. สามารถทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับ ได้เพิ่มเติมอีก 2 ราย รวมจับกุมผู้ต้องหาได้ 6 ราย อยู่ระหว่างหลบหนี 3 ราย 

กระทั่งจากการสืบสวนขยายผลพบว่า บริษัท พี เอ็น ดิจิทัล มาเก็ตติ้ง ออนไลน์ จำกัด มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับบริษัท ไมน์นิ่งมายน์ เอ็กซ์ จำกัด และ หจก. สถานีหลักสี่ ของกลุ่มผู้ต้องหา โดยถูกว่าจ้างให้ทำการโฆษณา สร้างภาพลักษณ์ สร้างความน่าเชื่อถือ หลอกลวงประชาชนให้มาร่วมลงทุน โดยได้รับเงินจากกลุ่มผู้ต้องหากว่า 72 ครั้ง รวมเป็นเงิน 134 ล้านบาท พงส. จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญามีนบุรีขออนุมัติศาลออกหมายค้นสถานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 จุด คือ 
1. บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ ตรวจยึดของกลาง 57 รายการ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์, สมุดบัญชีธนาคาร, บัตรกดเงินอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องประดับทองคำ, นาฬิกา, โฉนดที่ดิน และเงินสด จำนวน 10.6 ล้านบาท
2. บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงคลองสามวา เขตสามวาตะวันตก กรุงเทพฯ ตรวจยึดของกลาง ตู้นิรภัยบรรจุเงินสด จำนวน 88 ล้านบาท รถยนต์ ยี่ห้อ ปอร์เช่ (Porsche) สีส้ม รุ่น Boxster PDK 1 คัน

ตำรวจไซเบอร์ ชี้แจงความคืบหน้าคดีหลอกลงทุน Turtle Farm ส่งสำนวนแล้ว 2 ครั้ง พบผู้เสียหายกว่า 2,000 ราย ความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอเรียนชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ บริษัท ไมน์นิ่งมายน์ เอ็กซ์ จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัดสถานีหลักสี่ โดยนางสาวฐานวัฒน์ กับพวก รวม 9 ราย ที่ได้ร่วมกันหลอกลวงชักชวนผู้เสียหายหลายรายให้ร่วมลงทุนเพาะเห็ด ปลูกพืชกระท่อม เลี้ยงผึ้ง หรือการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อประชาชนจากภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุน โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามการกระทำความผิด บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง    

เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับไปยัง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดทำการสืบสวนสอบสวน ขยายผลหาความเชื่อมโยงในดดี ปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

เมื่อประมาณเดือน พ.ย.64 - ก.ค.65 ผู้ต้องหากับพวกได้สร้างโรงเพาะเห็ดขึ้นมาหลายโรง ในพื้นที่ จว.สกลนคร ประกาศโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมลงทุนเพาะเห็ด ปลูกต้นกระท่อม และเลี้ยงผึ้ง โดยอ้างว่าผู้ที่เข้าร่วมลงทุนจะได้ผลตอบแทนเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยมีเงื่อนระยะเวลาในการลงทุน เช่น โครงการฝากเลี้ยงเห็ดเยื่อไผ่ ใช้เงินลงทุน 264,360 บาท ในเดือนที่ 3 จะได้รับเงินปันผล 108,640 บาทต่อเดือน หรือโครงการฝากเลี้ยงกระท่อม ใช้เงินลงทุน 275,000 บาท ในเดือนที่ 8 จะได้รับกำไร 150,000 บาทต่อเดือน โดยมีการสร้างความน่าเชื่อถือโดยการทำสัญญาระหว่างผู้ร่วมลงทุนกับผู้ต้องหา มีการใช้บุคคลสำคัญ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมโฆษณาชักชวน มีการสร้างภาพว่าฟาร์มดังกล่าวได้รับรางวัล ทำให้ผู้เสียหายรายหลายหลงเชื่อ และนำเงินมาร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหาไม่ได้มีการดำเนินการตามที่ชักชวนแต่อย่างใด กระทั่งเมื่อถึงกำหนดผู้ต้องหากับพวกอ้างเหตุขัดข้องต่างๆ ไม่สามารถจ่ายเงินผลตอบแทนได้ เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหายและมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย

คดีดังกล่าวพนักงานสอบสวน บก.สอท.3 ได้ดำเนินการสอบสวนสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานมาโดยตลอด ได้ขออนุมัติศาลขอออกหมายจับผู้ต้องหากับพวก รวม 9 ราย ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกง และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ปัจจุบันสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 7 ราย อยู่ระหว่างติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี 2 ราย และที่ผ่านมาสามารถทำการตรวจยึดทรัพย์สิน และอายัดเงินในบัญชีที่เกี่ยวข้องได้เป็นจำนวนมาก

ต่อมาเมื่อ 3 ต.ค.65 พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวน ครั้งที่ 1 มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ โดยมีผู้เสียหาย 119 ราย ความเสียหาย 60 ล้านบาท และเมื่อ 22 ธ.ค.65 ได้สรุปสำนวนการสอบสวน ครั้งที่ 2 มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ มีผู้เสียหาย 1,001 ราย ความเสียหายกว่า 703 ล้านบาท ทั้งนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างสรุปสำนวนการสอบสวน ครั้งที่ 3 ปัจจุบันมีผู้เสียหายอีกกว่า 1,000 ราย ความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถส่งสำนวนการสอบสวนได้ภายในเดือน เม.ย.66 เพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ ความเสียหายจากการหลอกลวงให้ลงทุนนั้นอยู่ในลำดับที่ 1 ของความเสียหายจากการหลอกลวงทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 25% โดยส่วนใหญ่เงินลงทุนของประชาชนบางรายเป็นเงินเก็บก้อนสุดท้ายของชีวิต หรือบางรายต้องเอาทรัพย์สินไปจำนองเพื่อให้ได้เงินมาลงทุน ถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ฝากเตือนไปยังมิจฉาชีพที่ยังคงหลอกลวงประชาชนในลักษณะดังกล่าว ให้หยุดการกระทำนั้นเสีย เพราะท้ายที่สุดก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตตามจับกุมมาดำเนินคดีทุกราย ไม่มีละลเว้น

ศาลสั่งจำคุก 5 จำเลย คดีฟาร์มเห็ด Turtle Farm พร้อมชดใช้เหยื่อ 1.1 พันคน กว่า 614 ล้าน

จากกรณีที่ศาลจังหวัดสกลนครนัดฟังคำพิพากษาคดีที่อัยการจังหวัดสกลนครเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง หจก.สถานีหลักสี่ กับพวก รวม 9 คน เป็นจำเลยใน คดีฟาร์มเห็ดทิพย์ Turtle Farm ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยมีกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 แต่เนื่องจากกระบวนการตรวจร่างคำพิพากษายังไม่แล้วเสร็จ ศาลจึงขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันนี้ 21 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 น.

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ศาลจังหวัดสกลนครมีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-5 ซึ่งประกอบด้วย หจก.หลักสี่ จำเลยที่ 1, บริษัท ไมน์นิ่ง มายน์ เอ็กซ์ จำกัด จำเลยที่ 2 และกรรมการอีก 3 คน (จำเลยที่ 3, ที่ 4, ที่ 5) มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตัดสินให้จำคุกกระทงละ 5 ปี ซึ่งคดีนี้มีผู้เสียหาย 1,117 คน รวมความผิด 1,117 กระทง รวมโทษจำคุก 5,585 ปี แต่ตามกฎหมายจำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี

และพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึง 5 คืนค่าเสียหายให้ผู้เสียหายรายละ 550,000 บาท ผู้เสียหาย 1,117 คน รวมเป็นเงิน 614,350,000 บาท ขณะที่จำเลยที่ 6-9 ศาลพิพากษายกฟ้อง

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 หลังจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้รับเรื่องที่มีผู้เสียหายจำนวนมากมาพบพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ และแจ้งความออนไลน์ thaipoliceonline.com ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับ หจก.สถานีหลักสี่ กับพวก ที่ได้โฆษณาของ Turtle farm เชิญชวนให้มาร่วมลงทุน โดยการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการด้วย มีการร้องทุกข์กว่า 2,000 ราย ความเสียหายมากกว่า 1,970 ล้านบาท

เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนำกำลังเข้าตรวจค้นและทลายเครือข่ายดังกล่าว และขออนุมัติออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการทั้งหมด 9 คน ต่อมาสามารถสืบสวนติดตามจับกุมได้ 7 คน ส่วนตัวการใหญ่ของขบวนการนี้คือ น.ส.ฐานวัฒน์ ชูเกียรติสกุลไกร และ น.ส.พลอยฐิตา นิรมิตบุญวัฒน์ ยังหลบหนีอยู่ต่างประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top