Tuesday, 22 April 2025
True

กฎหมายปวกเปียก!! ‘ศิริกัญญา’ ชี้ กรณีควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ สำเร็จ สะท้อน 'กฎหมาย-กลไกป้องกันผูกขาด' ล้มเหลว

‘ศิริกัญญา’ ชี้ ควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ สำเร็จ สะท้อนกฎหมาย-กลไกป้องกันผูกขาดล้มเหลว แนะ ฝ่ายการเมืองต้องถือธงนำ ดึงระบบขออนุญาตรวมธุรกิจกลับมา ยกเครื่อง กขค. เรียกร้องความกล้าหาญ-ซื่อตรงหลักการสู้ทุนผูกขาด

(2 มี.ค.66) ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคเสร็จสมบูรณ์ และมีการตั้งบริษัทใหม่ ใช้ชื่อว่า ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ รวมถึงกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษายกฟ้อง คดีที่มีการยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติรับทราบการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค เข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ศิริกัญญา กล่าวว่า ทั้ง 2 กรณี ทำให้ประเทศไทยเหลือผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเพียง 2 เจ้าอย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการเบอร์หนึ่งทันที มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% เรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของกฎหมายและกลไกการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม

ผลกระทบจากการควบรวมที่จะเกิดขึ้น คงไม่จำเป็นต้องพูดซ้ำ เพราะผลการศึกษาจากทั้งสถาบันวิชาการ และผลการศึกษาจากทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยืนยันว่าจะส่งผลต่อค่าโทรศัพท์ที่จะเพิ่มขึ้น 10-200% สุ่มเสี่ยงต่อการฮั้วราคา และคุณภาพการให้บริการอาจจะด้อยลงจากการแข่งขันที่ลดลง และตลาดมือถือจะอยู่ในจุดที่สภาวะการแข่งขันตกต่ำ ยากเกินจะฟื้นฟูให้กลับมาอยู่ในจุดเดิม

ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ปัญหาจึงอยู่ที่กฎหมายที่ กสทช. ใช้ในการกำกับดูแลตลาดที่อ่อนปวกเปียก นำไปสู่ช่องโหว่รูใหญ่ที่ภาคเอกชนมองเห็นลู่ทางที่จะสามารถควบรวมกันได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใครทั้งสิ้น และศาลอาญาคดีทุจริตฯ เองก็ใช้บรรทัดฐานเดียวกัน

โดยช่องโหว่รูใหญ่ เริ่มจากการแก้ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม เมื่อปี 2561 โดย กสทช. ตัดอำนาจการอนุญาตควบรวมธุรกิจออกไป เหลือไว้แค่การรับทราบและแค่กำหนดมาตรการเยียวยา แม้จะมีประกาศอีกฉบับเพื่อป้องกันการผูกขาดที่ให้อำนาจอนุญาตไว้ แต่ถ้าเอกชนยืนยันว่านี่คือการควบรวม ไม่ใช่การเข้าซื้อธุรกิจโดยผู้ถือใบอนุญาต ก็จะไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องขออนุญาต ซึ่งก็คือกรณีนี้ที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น (เดิม) เลือกที่จะไม่เทคโอเวอร์ดีแทค แต่ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่เพื่อซื้อหุ้นต่อจากบริษัททั้ง 2 เพียงเท่านี้ก็หลุดพ้นจากขั้นตอนการขออนุญาต แล้วค่อยเปลี่ยนชื่อบริษัทที่ตั้งใหม่เป็น ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ อย่างที่ทำไปเมื่อวานนี้ (1 มีนาคม)

“เพื่อเช็กว่าเรื่องนี้ขัดกับสามัญสำนึกแค่ไหน ลองจินตนาการว่าในอนาคต หากทรู และเอไอเอส จะควบรวมธุรกิจกันจนค่ายมือถือเหลือ 1 เจ้า ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตใครทั้งสิ้น” ศิริกัญญาระบุ

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวต่อว่า แนวทางที่จะขันน็อตปิดรูรั่วช่องโหว่ทางกฎหมาย คือการสังคายนากฎหมายแข่งขันทางการค้าครั้งใหญ่ เพื่อให้ทุกกฎหมายอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เพราะอย่างน้อยในกรณีนี้ ถ้าใช้มาตรฐานเดียวกับ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ยังจำเป็นต้องขออนุญาตเพื่อควบรวมกิจการก่อน

‘พิธา’ ขอยกเครื่องกฎหมายต่อต้านผูกขาด ปิดช่องโหว่ กสทช. เปลี่ยนจาก ‘รบ.เกรงใจกลุ่มทุน’ เป็น ‘รบ.ที่เกรงใจประชาชน’

‘พิธา’ ชี้ ค่ามือถือ-เน็ตบ้านเสี่ยงแพงขึ้น จากบรรทัดฐานที่เลวร้ายของ กสทช. เผย ‘ก้าวไกล’ เป็นรัฐบาล พร้อมยกเครื่องกฎหมายต่อต้านผูกขาด ปิดช่องโหว่ กสทช. ปฏิเสธอำนาจตัวเอง เปลี่ยน ‘รัฐบาลเกรงใจกลุ่มทุน’ เป็น ‘รัฐบาลเกรงใจประชาชน’

(21 เม.ย.66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นชอบหลักการกรณี AIS เข้าซื้อหุ้น JAS และ 3BB ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ TRUE-DTAC ว่า ในข่าวไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดมากนัก ยิ่งทำให้ประชาชนเป็นกังวลว่า ‘หลักการ’ ทิศทางเดียวกับ TRUE-DTAC หมายความว่า กสทช.จะยอมให้ควบรวมแบบไม่ต้องขออนุญาตเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะ กสทช. ได้สร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายว่าการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม มีช่องโหว่ให้สามารถรวมกันได้ โดยไม่มีหน่วยงานใดในประเทศนี้สามารถยับยั้งได้ และกำลังจะใช้บรรทัดฐานนี้กับการควบรวมครั้งใหม่ของ AIS และ 3BB หรือไม่

นายพิธากล่าวว่า การควบรวมครั้งใหม่นี้จะส่งผลต่อค่าอินเทอร์เน็ตบ้านอย่างไร อธิบายง่ายๆ ก็คือการที่บริษัท AIS ที่ขาหนึ่งทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน จะเข้าซื้อบริษัท 3BB ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านอีกราย ทำให้ AIS จะกลายเป็นบริษัทที่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจนอาจมีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งในระยะยาวจะลดการแข่งขันลงและทำให้ค่าเน็ตบ้านที่ประชาชนต้องจ่ายแพงขึ้น

อธิบายให้ละเอียดกว่านั้น คือในขณะนี้ตลาดของอินเทอร์เน็ตบ้าน มีผู้แข่งขันอยู่ 4 ราย ได้แก่ TRUE ครอบครองส่วนแบ่งตลาด 36%, 3BB ครองส่วนแบ่งตลาด 28%, NT (TOT เดิม) ครองส่วนแบ่งตลาด 20% และ AIS ครองส่วนแบ่งตลาด 13% การที่ AIS จะเข้าซื้อ 3BB จะทำให้ AIS+3BB ครองส่วนแบ่งตลาด 41% มากเป็นอันดับหนึ่ง แทนที่ TRUE ถ้าเรายังจำกันได้ ก่อนที่จะมี AIS Fiber และมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านแค่ 3 ราย ค่าบริการสูงกว่าในปัจจุบัน และคุณภาพการให้บริการก็แย่กว่าในปัจจุบัน

นายพิธากล่าวต่อว่า เราคงต้องจับตากันว่ากรณีนี้ กสทช. จะมีมติออกมาเร็ว ๆ นี้หรือไม่ แต่หลังเลือกตั้งหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะต้องมีการยกเครื่องกฎหมายต่อต้านการผูกขาดใหม่ทั้งหมด ให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อปิดช่องโหว่ที่ กสทช.จะปฏิเสธอำนาจตัวเอง แล้วปล่อยปละละเลยหน้าที่การกำกับดูแลของตัวเอง ให้เกิดการควบรวมที่จะลดการแข่งขัน สร้างภาระค่าครองชีพให้ประชาชนด้วยราคาสินค้าค่าบริการที่แพงขึ้น

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่ง ศาลปกครองชั้นต้น ให้รับฟ้องคดีควบรวม TRUE-DTAC ชี้!! เข้าข่ายผูกขาด

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอถอนมติ กสทช. เรื่องการควบรวม TRUE-DTAC ชี้ การควบรวมส่งผลกระทบวงกว้าง - เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ขณะที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีลักษณะกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ

(30 ต.ค. 66) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงาน กสทช. กรณีขอให้เพิกถอนมติ กสทช.ในการประชุมนัดพิเศษครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ต.ค. 65 ที่รับทราบเรื่องการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน)และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) รวมทั้งประกาศ และนิติกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 65

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิ์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

ส่วนระยะเวลาการฟ้องคดี แม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 66 จะเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ที่ศาลปกครองไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ แต่ บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยรายจึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้างจึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามมาตรา 3 แห่งกฎหมายเดียวกัน 

ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 42 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป

ผลสำรวจชี้ ‘เน็ตช้าลง’ หลังทรูควบรวมดีแทค ผู้บริโภควอน!! ได้เท่าก่อนควบรวมกิจการก็ยังดี

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน หลัง ‘ทรู’ ควบรวม ‘ดีแทค’ พบว่า ผลกระทบที่ผู้บริโภคสะท้อนเป็นอันดับ 1 คือ ‘อินเทอร์เน็ตลดสปีด’ ผิดเงื่อนไข ร้อยละ 81 ทางมูลนิธิฯ เตรียมนำผลสำรวจนี้เสนอให้ ‘กสทช.’ เร่งดำเนินการตรวจสอบผู้ประกอบการเพื่อแก้ไขปัญหา

(15 ธ.ค. 66) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นผลกระทบของผู้บริโภค หลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมระหว่าง ทรูกับดีแทค (TRUE-DTAC) โดยสำรวจตั้งแต่วันที่ 9-23 พ.ย.2566 มีผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 3,000 คน พบว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดถึงร้อยละ 81 คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า, สัญญาณหลุดบ่อย, โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก, และ คอลเซ็นเตอร์โทร.ติดยาก
.
ผู้บริโภคที่ตอบแบบสำรวจกลุ่มนี้ มีข้อเสนอแนะไปยังผู้ให้บริหารโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ต้องปรับปรุงคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ดีกว่าเดิม หรือ ดีเท่ากับช่วงก่อนควบรวมกิจการ และสัญญาณความเร็วต้องใช้ได้จริงตามแพ็กเกจที่ลูกค้าซื้อ ส่วนเพดานค่าบริการต้องลดเฉลี่ยลงร้อยละ 12 ทันที รวมทั้งเสาสัญญาณควรนำไปติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล เพื่อขยายจุดรับสัญญาณ

จากผลสำรวจนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะนำไปเสนอต่อผู้ให้บริการและ ‘กสทช.’ ให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา 

ด้าน ‘นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา’ อดีตกรรมการ กสทช. ระบุว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนปัญหาจากผู้ใช้บริการจริง ทาง กสทช.ควรเร่งตรวจสอบศึกษาผลกระทบ การควบรวมเครือข่ายมือถือ กำหนดบทลงโทษจริงจังกับผู้ประกอบการ รวมทั้งต้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการเอาผิดผู้ประกอบการ

อดีตกรรมการ กสทช. ระบุว่า กรณีมีผู้ร้องเรียนเรื่องการลดจำนวนเสาสัญญาณที่อยู่ใกล้กัน เพื่อบริหารต้นทุน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ของเสาสัญญาณทรูและดีแทค แต่จำนวนผู้ใช้สัญญาณมาจาก 2 โครงข่ายจึงแย่งกันใช้มากขึ้น ทำให้ความเร็วสัญญาณลดลง ซึ่ง กสทช. ควรเข้าไปตรวจสอบ เพราะการลดจำนวนเสาสัญญาณ ต้องขออนุญาต กสทช. หากไม่ขออนุญาตถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุว่า การพักหรือหยุดให้บริการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนจะต้องขอความเห็นชอบก่อน

‘กสทช.’ ยัน!! ตรวจผลทำงาน ‘ทรู-ดีแทค’ ละเอียดยิบ พบ ‘คุณภาพสัญญาณ-ค่าบริการ’ ยังทำตามเงื่อนไข

(19 ธ.ค.66) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า จากการติดตามตรวจสอบหลังการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ทางสำนักงาน กสทช. ยืนยันว่าคณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบและประเมินตามมาตรการเยียวยาของการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC ได้มีการดำเนินการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการตรวจสอบจะต้องเสนอรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. รับทราบก่อนจึงจะมีการเปิดเผยได้ หลังรวมธุรกิจฯ ทาง TRUE ก็ได้มีการส่งรายงานมาแล้วและมีการจัดทำรายงานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากคณะอนุกรรมการฯ หมดวาระลงในวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นพบว่า TRUE ยังคงยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขภายหลังการรวมธุรกิจ TRUE-DTAC มาโดยตลอด แต่ปัญหาอาจเกิดจากการสื่อสารที่ออกไปยังสาธารณะ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดก่อให้เกิดความสับสนของผู้ได้รับข้อมูล อาทิ ประเด็นการลดเสาสัญญาณ ทำให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง ซึ่ง TRUE ได้มีการชี้แจงข้อมูลในประเด็นที่มีการร้องเรียนเรื่องของเสาสัญญาณที่มีจำนวนมาก โดยภายหลังการรวมธุรกิจรวม TRUE-DTAC จะต้องมีการสำรวจพื้นที่จุดซ้ำซ้อน และทำการโยกย้ายสถานีฐาน ไปในจุดที่สัญญาณดีกว่าไปรวมไว้กับเสาที่คงไว้ ก่อนจะยุบเสาเปล่าออกไป เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษทางสายตา และยืนยันว่าคุณภาพการส่งสัญญาณยังคงเดิม แต่ได้มีการตำหนิ TRUE เกี่ยวกับการแจ้งดำเนินการยุบเสาสัญญาณและย้ายสถานีฐานให้ผู้ใช้บริการรับทราบก่อน

ทั้งนี้ ในส่วนของการประเด็นเกี่ยวกับอัตราค่าบริการที่เฉลี่ยลดลง 12% จะใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการแต่ละรายการส่งเสริมด้านการขายภายใน 90 วัน หลังจากที่ได้มีการรวมธุรกิจ ทาง TRUE ได้ส่งข้อมูลให้สำนักงาน กสทช.ตรวจสอบ โดย กสทช.ได้ทำการสุ่มตรวจสอบข้อมูล ซึ่งการลดราคาในการลดค่าเฉลี่ยว่าแพ็กเกจไหนประชาชนใช้เยอะ กสทช.จะนำมาเฉลี่ยผลลัพธ์ออกมา จากการตรวจสอบก็พบว่า TRUE ยังทำตามมาตรฐานที่ได้กำหนด

สำหรับการเฉลี่ยราคาโดยการถ่วงน้ำหนักจากแพ็กเกจที่มีผู้ใช้มาก ที่ว่าลดลง 12% นั้น ค่าเฉลี่ยนั้นคือราคาเท่าไหร่นั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ต้องเสนอ บอร์ด กสทช. รับทราบก่อน ขณะที่ประเด็นของแพ็กเกจราคา 299 บาท และมีแพ็กเกจอื่นๆ ที่หายไปยืนยันว่าปัจจุบันยังมีการให้บริการอยู่ เมื่อครบกำหนดใช้บริการ 30 วัน แพ็กเกจจะหมดอายุ ผู้ให้บริการจะให้ผู้บริโภคเลือกว่าจะต่อแพ็กเกจเดิม หรือใช้แพ็กเกจใหม่ที่กำหนดได้ไม่มีการบังคับการเลือกใช้แพ็กเกจ รวมถึงข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณที่ก่อนควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC มีจำนวน 944 เรื่อง แบ่งเป็นของ TRUE  637 เรื่อง และ DTAC 307 เรื่อง และหลังควบรวมธุรกิจมี 836 เรื่อง โดยมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณแค่ 17 เรื่อง

ด้าน พ.ต.อ. ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำประธาน กสทช. ด้านกฎหมาย กล่าวว่า หลังการรวมธุรกิจของ TRUE-DTAC นั้น จากข้อมูลได้มีการตรวจสอบที่ชัดเจนเริ่มที่กระบวนการติดตามการดำเนินการเรื่องควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC ตามเงื่อนไขหลังควบรวมทั้งสิ้น 19 ข้อ ซึ่งที่ผ่านมา TRUE ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขในระยะเวลาที่กำหนด มีเพียงเรื่องการว่าจ้างคณะที่ปรึกษามาประเมินเรื่องราคาและคุณภาพ ตามเงื่อนไข ซึ่งติดที่คณะอนุฯ หมดวาระและได้ขยายระยะเวลาการทำงานของคณะอนุฯ นี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้เป็นข้อมูลของประธานอนุกรรมการผู้บริโภค ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการติดตามฯ เป็นเหตุที่ทำให้บอร์ด กสทช.ทั้ง 4 ท่าน ทำเรื่องเสนอประธาน กสทช. นำเรื่องเข้าที่ประชุม โดยเรื่องการติดตามหลังควบรวมธุรกิจฯ ได้ถูกบรรจุในวาระการประชุมมาโดยตลอด แต่การประชุมครั้งที่ผ่านๆมา ยังไม่มีการพิจารณา ซึ่งในการประชุมบอร์ด กสทช. ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ จะมีการนำเรื่องนี้มาหารือ

เปิดคำพิพากษา จำคุก 2 ปี ‘ดร.พิรงรอง’ อดีตกรรมการ กสทช. ผิด!! ‘อาญา 157’ ฐานรายงานประชุมเท็จ ทำเอกชนเสียหาย

(9 ก.พ. 68) เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง’ ได้มีคำพิพากษาในคดีสำคัญ ซึ่งถือเป็นกรณีตัวอย่างในการยกระดับมาตรฐานของคณะกรรมการกำกับดูแล หรือ Regulator ของประเทศไทย ในการใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างระมัดระวัง โดยจะต้องดำเนินการตามหลักความโปร่งใส ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตใจ หลีกเลี่ยงผลประโยชน์ที่ทับซ้อน 

โดย ‘ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง’ ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ ‘บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด’ เป็นโจทก์ ฟ้อง!! ‘นางสาวพิรงรอง รามสูต’ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 

การกระทำของ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อดีตกรรมการ กสทช. ในการออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่า โจทก์เป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่าง ๆ ที่บริษัทส่งไปออกอากาศ ส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย 

โดยศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่สั่งการให้ส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 127 ราย เพื่อชะลอหรือขยายระยะเวลาเข้าทำนิติกรรมกับโจทก์นั้น เป็นการกระทำโดยมิชอบ ไม่ผ่านมติที่ประชุม  และมีการแก้ไขรายงานการประชุมเพื่อปกปิดความจริง  รวมถึงการใช้ถ้อยคำที่สื่อความหมายถึงการต้องการให้ธุรกิจของโจทก์ได้รับความเสียหาย เช่น  ‘ต้องเตรียมตัวจะล้มยักษ์’ ซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่า คำว่า ‘ยักษ์’ นั้นหมายความถึงโจทก์ ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการสื่อความหมายชัดเจนว่า ประสงค์ให้กิจการของโจทก์ได้รับความเสียหาย ศาลจึงเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์

ประเด็นสำคัญที่ศาลได้ยกขึ้นพิจารณาก็คือ ‘กสทช.’ ไม่เคยกำหนดให้ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันประเภท ‘โอทีที’ ต้องขอใบอนุญาต  และการกระทำของจำเลยถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด  ส่งผลให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จากการที่ผู้ประกอบการหลายรายชะลอการทำนิติกรรมกับโจทก์

คำตัดสินของศาล

พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ โดยมีเจตนามุ่งประสงค์กลั่นแกล้งโจทก์ และใช้อำนาจหน้าที่ของตนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย 

เพราะภายหลังจากมีหนังสือดังกล่าวแจ้งไปยังผู้ประกอบการรวม 127 รายแล้ว มีผู้ประกอบกิจการหลายรายได้ชะลอหรือขยายระยะเวลา ในการเข้าทำนิติกรรมกับโจทก์ 

เมื่อศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของ ‘จำเลย’ ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของ ‘โจทก์’ ได้  

ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต อดีตกรรมการ กสทช. ได้กระทำความผิดจริงตามที่โจทก์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด (ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน True ID) ได้ยื่นฟ้อง 

จึงได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก จำเลย ‘นางสาวพิรงรอง’ เป็นเวลา 2 ปี ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 

นอกจากนี้ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 120,000 บาท และมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

คดีนี้ถือเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ ในการใช้อำนาจของทางภาครัฐ ผิดก็ว่ากันไปตามผิด ถูกก็ว่ากันไปตามถูก พิจารณากันอย่างเป็นธรรม    

ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย!! 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top