Monday, 21 April 2025
TOYOTA

BZ4X รถ EV คันแรกจากค่ายโตโยต้า พร้อมบุกตลาดไทย ในราคาเปิดตัว 1,836,000 บาท

โตโยต้า ไม่ยอมน้อยหน้าค่ายอื่น เปิดศึกชิงพื้นที่รถอีวี ด้วยการเปิดตัว Toyota bZ4X รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าล้วน 100 % คันแรกของค่าย 

BZ4X เป็นรถแนว SUV ขับเคลื่อน 4 ล้อ 4WD กับขุมกำลัง 218 แรงม้า แรงบิดสูงสุดอยู่ที่ 337 นิวตันเมตร ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าคู่ของรถ เร่งแรงได้ดั่งใจ เหยียบ 0-100 กม. ได้ภายใน 6.9 วินาที วิ่งได้ระยะทางสูงสุด 411 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง กับแบตเตอรี่ Lithium-ion ความจุ 71.4 kWh รองรับการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ AC สูงสุด 6.6 kW และการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง DC สูงสุด 150 kW นั่นทำให้การใช้ Fast Charge อัดประจุจาก 0 – 80% ได้ภายในเวลา 30 นาที  

แบตเตอรี่ลูกนี้ ทางค่ายโตโยต้า ก็ได้เคลมไว้ว่า สามารถเก็บประจุไฟได้มากถึง 90% แม้จะใช้งานไปแล้วมากกว่า 10 ปีก็ตาม นอกจากนี้แบตเตอรี่ก็ยังมีฉนวนหุ้มระบบไฟฟ้าแรงดันสูงกันน้ำถึง 3 ชั้น และระบบล็อคที่ข้อต่อสายไฟ 2 ชั้น ทำให้ผู้ขับขี่สามารถขับลุยไปได้อย่างปลอดภัย

พวงมาลัยเป็นพาวเวอร์ไฟฟ้าหุ้มหนัง EPS (Electric Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวแคบสุดที่ 5.7 ม. ปรับระดับได้ 4 ทิศทาง สูง-ต่ำ และใกล้-ไกล รวมทั้งเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ขับขี่ด้วย ปุ่มควบคุมเครื่องเสียงที่พวงมาลัย

โตโยต้า ซุ่มพัฒนาแบตฯ อีวีใหม่วิ่งไกล 1,000 กม. คาดเริ่มใช้กับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ในปี 2027

โตโยต้า ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแบตเตอรี่ขั้นสูงใหม่ที่จะจ่ายให้กับรถยนต์ Next-Gen EV โดยแบตเตอรี่ในเจเนอเรชั่นถัดไปจะมี 4 ประเภท โดย 3 ประเภทมีเทคโนโลยีแบตเตอรี่อิเล็กโทรไลต์เหลวแบบใหม่และอีก 1 ประเภทเป็นแบตเตอรี่โซลิดสเตต 

รายละเอียดแบตเตอรี่ทั้ง 4 ประเภทของโตโยต้า

📌แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนประสิทธิภาพสูงที่จะมาในปี 2026 จะสามารถวิ่งได้ 800 กม./ชาร์จ 

โดยแบตเตอรี่สมรรถนะสูงแบบลิเธียมไอออนมีแผนจะเปิดตัวในรถ BEV Next-Gen ของโตโยต้าตั้งแต่ปี 2026 ทำให้ระยะการวิ่งกว่า 800 กม./ชาร์จ โตโยต้าอ้างว่า แบตเตอรี่ใหม่นี้จะช่วยลดต้นทุนลง 20% เมื่อเทียบกับ Toyota bZ4X ในปัจจุบัน และเวลาในการชาร์จที่รวดเร็ว ชาร์จ 10 ถึง 80% ในเวลาต่ำกว่า 20 นาที

📌แบตเตอรี่ LFP ที่ให้ระยะทางมากกว่า bZ4X ถึง 20% 

สำหรับแบตเตอรี่ LFP จะเป็นตัวเลือกที่ต้นทุนต่ำกว่า สร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีไบโพลาร์ที่โตโยต้าเป็นผู้บุกเบิกสำหรับแบตเตอรี่นิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ (NiMH) โดยคาดว่าแบตเตอรี่จะออกสู่ตลาดในปี 2026 – 2027 และเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่จะให้ระยะการขับขี่เพิ่มขึ้น 20% และลดต้นทุนลง 40 % เมื่อเทียบกับ Toyota bZ4X และจะมีเวลาในการชาร์จ 10 ถึง 80 % ใน 30 นาทีหรือน้อยกว่า

📌แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนประสิทธิภาพสูงระยะทาง 1,000 กม./ชาร์จ ในปี 2027 – 2028 

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนประสิทธิภาพสูง ใช้เคมีลิเธียมไอออนร่วมกับแคโทดนิกเกิลสูงเพื่อทำให้ EV วิ่งได้ 1,000 กม./ชาร์จ เมื่อรวมกับการออกแบบ Next-Gen EV ที่จะมี Aerodynamic ที่ดีขึ้นและน้ำหนักที่ลดลง และเวลาในการชาร์จ DC 10 ถึง 80% ในเวลาต่ำกว่า 20 นาที

📌แบตเตอรี่โซลิดสเตทที่มีระยะทาง 1,000 กม./ชาร์จ ในปี 2027 – 2028 

โตโยต้าอ้างว่าลิเธียมไอออนโซลิดสเตต มีอิเล็กโทรไลต์แข็งที่ช่วยให้ไอออนเคลื่อนที่เร็วขึ้น และทนทานต่อแรงดันไฟฟ้าและอุณหภูมิสูงได้มากขึ้น แบตเตอรี่เหล่านี้เหมาะสำหรับการชาร์จ การคายประจุ และการจ่ายพลังงานอย่างรวดเร็วในขนาดที่เล็กลง แต่มีข้อเสียคืออายุการใช้งานของแบตจะสั้นลง แต่โตโยต้ายังเชื่อว่าจะสามารถเอาชนะข้อจำกัดนี้ได้ภายในปี 2027

ตอนนี้ทางฝั่งจีนไม่ว่าจะเป็น CATL หรือ BYD ต่างก็ทยอยปล่อยแบตเตอรี่เทคโนโลยีใหม่มาอยู่เรื่อย ๆ ทั้งในแง่ระยะทางที่เพิ่มขึ้น ระยะเวลาชาร์จที่ลดลง ก็ต้องมาดูกันแล้วหล่ะครับว่า Toyota จะทำตาม Roadmap ได้ไหมในปี 2026 แล้วมันจะช้าไปไหม จะแซงจีนได้หรือเปล่า อันนี้ก็น่าคิด🤩🤩

Toyota ประกาศศักดา!! ผลิตรถยนต์ครบ 300 ล้านคันทั่วโลก ตอกย้ำความยิ่งใหญ่ 9 ทศวรรษ ชู Corolla เรือธงเบอร์หนึ่ง

(7 พ.ย. 66) จากเว็บไซต์ 'Headlightmag' ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จของแบรนด์ Toyota ที่บัดนี้มียอดผลิตรวมตั้งแต่ปี 1935 แล้วถึง 300 ล้านคัน ว่า...

จุดเริ่มต้นของการผลิตรถยนต์ Toyota ต้องย้อนกลับไปในปี 1935 เมื่อครั้ง Toyota ได้ผลิตรถกระบะคันแรกในชื่อรุ่น G1 ซึ่งถูกประกอบขึ้นโดยส่วนงาน automotive ที่ยังคงเป็นแผนกที่อยู่ภายใต้บริษัทแม่ Toyoda Automatic Loom Works, Ltd ซึ่งเป็นชื่อบริษัทที่ Sakichi Toyoda ตั้งขึ้นเมื่อปี 1926 เพื่อทำธุรกิจเครื่องทอผ้าอัตโนมัติ ที่มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมในครัวเรือนในสมัยนั้น และเมื่อมีกำลังการผลิตและความต้องการที่เพียงพอและสอดรับกัน ทำให้ Toyota ตัดสินใจตั้งบริษัทผลิตรถยนต์แยกต่างหากในชื่อว่า Toyota Motor Corporation เมื่อปี 1937 โดยที่ยังคงดำเนินธุรกิจเครื่องทอผ้าอัตโนมัติภายใต้ชื่อ Toyoda Automatic Loom Works จวบจนถึงปี 2023 ในปัจจุบัน

จากวันนั้น ถึงวันนี้ จึงเป็นที่มาของการประกาศยอดผลิตรถยนต์ถึงคันที่ 300 ล้าน ในประวัติศาสตร์ของแบรนด์สามห่วง โดยตลอดระยะเวลา 88 ปีที่ผ่านมา Toyota ได้สร้างแนวคิดด้านการผลิตไว้จำนวนมาก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินธุรกิจ โดยได้นับจำนวนรถยนต์ที่ออกจากสายพานการผลิตคันที่ 300 ล้าน นับตั้งแต่สิ้นเดือนกันยายน 2023

สำหรับการแยกภูมิภาคในการผลิตรถยนต์ของแบรนด์ตลอดระยะเวลาดังกล่าว จะพบว่า Toyota แยกการผลิตรถยนต์จำนวน 180 ล้านคัน ให้อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่อีก 120 ล้านคันที่เหลือถูกผลิตขึ้นในประเทศอื่นๆ นอกประเทศญี่ปุ่น โดยรถยนต์รุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดจนสร้างยอดการผลิตเบอร์หนึ่ง จะเป็นรุ่นใดไปไม่ได้นอกจาก Corolla ด้วยจำนวนการผลิตกว่า 53.39 ล้านคัน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 6 ของยอดขายทั้งหมด โดยนับตั้งแต่วางจำหน่ายรุ่นแรกในปี 1966 เป็นต้นมา

สำหรับผลประกอบการตลอดปี 2022 ทาง Toyota ได้ส่งมอบรถยนต์จำนวนกว่า 10.5 ล้านคัน ขึ้นแท่นผู้จำหน่ายรถยนต์เบอร์ 1 ของโลก พร้อมด้วยรางวัลรถยนต์ยอดนิยมสูงสุดในโลกจากรุ่น RAV4 อ้างอิงจากสถิติของสถาบัน JATO Dynamics และยังได้ขยายไลน์อัปโมเดลรถที่วางจำหน่ายให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ Crown ทั้ง 4 รูปแบบตัวถัง และ Century SUV

ส่วนรุ่นที่เตรียมจะเปิดตัวในอนาคต จะประกอบไปด้วย รถกระบะขุมพลังไฟฟ้าล้วน, รถ SUV และรถสปอร์ตที่ได้ทยอยเปิดตัวในรูปแบบรถต้นแบบหลากรุ่นในงานมหกรรมยานยนต์ 2023 Japan Mobility Show ที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อย

‘โตโยต้า’ เล็งหนุน ‘ไทย’ ศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หลัง ‘รบ.ไทย’ ตั้งเป้าผลิต EV เกินครึ่งในปี 2573

(20 พ.ย. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘AEC Connect’ โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘โตโยต้า’ จ่อหนุนไทยเป็นเมืองหลวง EV ความว่า…

ในเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยออกนโยบายจูงใจใหม่เพื่อกระตุ้นให้คนเปลี่ยนมาใช้รถ EV โดยตั้งใจเปลี่ยนการผลิตรถยนต์กว่าครึ่งหนึ่งของไทยให้เป็นรถ EV ภายในปี 2573

จากงานวิจัยของ Counterpoint Research พบว่า ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนมีอิทธิพลต่อตลาดรถ EV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งเกือบ 79% ของจำนวนรถ EV ทั้งหมดที่ถูกขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาสแรกของปี 2566

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าตลาดรถ EV ของไทยจะใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ก็ยังคงมีการแข่งขันว่าแบรนด์รถ EV ใดจะขายได้มากสุดในประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน แบรนด์รถ EV ที่ขายดีที่สุดในไทยคือ BYD ของจีน แต่แบรนด์รถสัญชาติจีนอื่น ๆ ก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ที่หวังว่าจะสร้างผลกระทบในตลาดรถ EV ในไทยอีกหนึ่งแบรนด์คือ โตโยต้าจากญี่ปุ่น ซึ่งเรียกว่าเป็นแบรนด์ประจำบ้านในไทยไปแล้ว โดยได้รับความนิยมจากรถเก๋งและรถกระบะ

ในฐานะศูนย์กลางรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก ไทยเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ส่งออกรถยนต์โตโยต้าและฮอนด้า แต่เพื่อเปลี่ยน 1 ใน 3 ของยอดการผลิตรายปีจำนวน 2.5 ล้านคันให้เป็นรถ EV ภายในปี 2573 ระบบนิเวศทางที่ถูกต้องจะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลง

โดยรัฐบาลไทยมีความต้องการที่จะทำงานร่วมกับโตโยต้าเพื่อพัฒนารถ EV ในประเทศ ซึ่งรวมถึงการพัฒนารถยนต์ Eco Car และรถกระบะด้วย ทั้งนี้มาจากการที่โตโยต้าวางแผนทดสอบรถกระบะไฟฟ้าครั้งแรกในไทย เพื่อจะกระตุ้นยอดขายรถ EV ภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยก็ออกแผนลดหย่อนภาษี 3 ปีให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ที่ลงทุนในระบบ Automation และ Robotics หลังมีการลดเงินอุดหนุนผู้บริโภคสำหรับการซื้อรถ EV ลง

‘เศรษฐา’ นำ 2 ค่ายยักษ์ยานยนต์บิน ‘ญี่ปุ่น’ ช่วยเจรจาการค้า เชื่อ ฟรีวีซ่าเพิ่มความสะดวก ช่วยเศรษฐกิจไทยส่องแสงสว่าง

(14 ธ.ค. 88) ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคาดหวังในการปฏิบัติภารกิจที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้ ว่า เป็นการเยือนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก มีเรื่องที่ต้องพูดคุยกันเยอะ และจะมีการพบปะกับ ‘ฮุน มาเนต’ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ ‘เจ้าชายอับดุล มาทีน’ มกุฏราชกุมารลำดับที่ 4 ของราชวงศ์บรูไนที่จะอภิเษกสมรสในเดือนหน้านี้ การเดินทางเป็นการไปล่วงหน้าก่อน 2 วัน ไปเจรจาเรื่องการค้าญี่ปุ่น ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับยานยนต์ที่จะมีการพูดคุยกัน จะเจอรายใหญ่หลายราย เช่น พานาโซนิค และมีอีกหลายนัด และพยายามให้บริษัทยานยนต์ของญี่ปุ่นมาพบมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้นายกฯ ระบุว่า การเดินทางไปต่างประเทศจะชักชวนนักธุรกิจไทยไปด้วย เพื่อพูดคุยถึงการลงทุนที่จะดึงต่างประเทศเข้ามาในไทย รอบนี้มีนักธุรกิจกลุ่มไหนบ้างที่ไปด้วย นายเศรษฐา กล่าวว่า คราวนี้มี แต่เขาเดินทางไปเอง คือ นายพรวุฒิ สารสิน ประธานบริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะไปช่วยเจรจาให้ และนายกลินท์ สารสิน ประธานบริษัทโตโยต้า ที่จะเดินทางไปด้วย และยังมีอีกหลายท่านที่จะไปช่วยเจรจาเพื่อนำผลประโยชน์กลับมาสู่ประเทศ

เมื่อถามว่า จะทำให้เกิดความมั่นใจทางด้านเศรษฐกิจ และมีแสงสว่างมากขึ้นใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า อย่างไรแสงสว่างก็มีอยู่แล้ว แต่เรื่องความหนักใจ การแบกความหวังเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน 68 ล้านคน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำต่อไป คงจะไม่เพียงพอ ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อถามว่า การเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ ซึ่งจะมีเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นด้วย ในส่วนของไทยมีการเตรียมความพร้อมอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นมาลงทุนสูงสุดในประเทศไทยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้น เราพยายามทำให้ความสัมพันธ์นี้เข้มแข็งมากขึ้นในเรื่องการลงทุนของทั้งสองฝ่าย และเราได้มีการประกาศจะให้วีซ่าฟรีกับธุรกิจญี่ปุ่นด้วยที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งจะทำให้การเดินทางเข้าออกทั้งสองทางสะดวกสบายยิ่งขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวกซึ่งกันและกัน

ประธาน TOYOTA ลั่น!! "รถ EV จะไม่มีวันครองโลก" เพราะคนเป็นพันล้านคนบนโลก ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เลย

(24 ม.ค. 67) Business Tomorrow เผย เมื่อไม่นานมานี้ Akio Toyoda ประธานบริษัทโตโยต้าได้กล่าวอ้างว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ครองตลาดโลก และยังกล่าวอ้างอีกว่าส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า EV จะมีไม่เกิน 30% ก่อนที่สิ่งนี้จะจุดชนวนให้เกิดบทสนทนาและข้อถกเถียงที่น่าสนใจเกี่ยวกับอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้า

📌 รถยนต์ EV อาจไม่ใช่อนาคต

ตามคำกล่าวของ Akio Toyoda (อากิโอะ โตโยดะ) ระบุว่าโลกใบนี้ไม่ควรพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า EV แต่ควรโฟกัสไปที่รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่บริษัท Toyota กำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้เขาเชื่อว่ารถยนต์ EV 100% จะสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้สูงสุดเพียง 30% ซึ่งน้อยกว่าส่วนแบ่งปัจจุบันในสหราชอาณาจักรเกือบ 2 เท่า และที่เหลืออีก 70% จะเป็นรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่เข้ามาครองส่วนแบ่งการตลาด

เหตุผลเนื่องจากผู้คนกว่า 1 พันล้านคนบนโลกที่ใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีไฟฟ้า แต่ใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าและขนส่ง สิ่งนี้ทำให้ประธาน TOYOTA มองว่า EV จะยังเข้าไม่ถึงกลุ่มคนเหล่านี้ที่มีอยู่ในปริมาณมาก แต่การใช้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนสามารถทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

📌 ทั่วโลกโต้แย้ง EV ยังเป็นทางออกสำหรับสิ่งแวดล้อม

ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและแรงจูงใจของรัฐบาลกำลังผลักดันให้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ความหลากหลายและราคาที่เพิ่มขึ้นจะดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น โดยเชื่อว่าปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงได้มากกว่า 15 ตันต่อคันต่อปี

หรือถ้าหากคิดว่าโลกใบนี้มีรถยนต์อยู่ราว ๆ 1.5 พันล้านคัน และมีอัตราการเปลี่ยนอยู่ที่ 30% จะสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้มากกว่า 6.75 หมื่นล้านตันต่อปี เลยทีเดียว

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ารถยนต์น้ำมันยังคงได้รับความนิยมมากกว่า แต่นั่นคือ #ตลาดเก่า ที่เกิดขึ้นมาก่อนการเปลี่ยนแปลง และหมายความว่าในอนาคตหากเทคโนโลยีด้านรถยนต์และแบตเตอรี่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับรถยนต์น้ำมัน ทั้งในแง่ระยะทาง ระยะเวลาการใช้งาน ราคาที่โดนใจผู้บริโภค และการซ่อมแซมที่รวดเร็ว ก็คงไม่มีเหตุผลอะไรที่ทำให้รถยนต์ EV ไม่เป็นที่นิยม

อย่างไรก็ตามระยะเวลาในการยอมรับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายและส่วนแบ่งตลาดที่พวกเขาจะคว้าได้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นโยบายของรัฐบาล ความชอบของผู้บริโภค และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ต้องมาติดตามกันว่าสุดท้ายแล้วรถยนต์ EV จะสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดโลกได้มากกว่ารถยนต์น้ำมันหรือไม่ ?

ผู้เขียน : กิตตินันท์ จอมประเสริฐ

‘โตโยต้า’ ร่วมต้อนรับ ‘วิว กุลวุฒิ’ กลับบ้านด้วยความอบอุ่น พร้อมชวนคนไทย ขับเคลื่อนสู่ทุกความเป็นไปได้ ไปด้วยกัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายณัทธร ศรีนิเวศน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และคณะผู้บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมแสดงความยินดี ต้อนรับ ‘วิว กุลวุฒิ’ นักกีฬา Global Team Toyota Athlete (GTTA) / ทัพนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทย และโค้ช กลับสู่ประเทศไทยด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น 

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีความยินดีอย่างภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน และพัฒนาวงการกีฬาแบดมินตันในประเทศไทย ผ่านการเป็นการเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันแบดมินตันระดับนานาชาติในประเทศไทย สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้แฟนกีฬาแบดมินตันไทยได้ชม และเชียร์ทัพนักกีฬาไทย พร้อมสร้างผลงานให้กับนักกีฬาระดับโลกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสานต่อแนวคิด Start Your Impossible ชวนคนไทยขับเคลื่อนสู่ทุกความเป็นไปได้ไปด้วยกัน

Start Your Impossible หรือ ‘เมื่อเริ่มลงมือทำ ทุกสิ่งก็เป็นไปได้’ คือจิตวิญญาณอันแน่วแน่ของโตโยต้าที่ประกาศจุดยืนเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2560 เพื่อแสดงถึงความตั้งใจในการมุ่งมั่นจากบริษัทยานยนต์ สู่การเป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อนสังคมในทุกแง่มุม โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนที่สร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนบนพื้นฐานความเชื่อว่า ร่างกายและจิตวิญญาณของมนุษย์คือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

ในประเทศไทย โตโยต้าได้ส่งต่อแนวคิดดังกล่าวผ่านเส้นทางสู่การประสบความสำเร็จของ นักกีฬาทีมชาติไทย โดยเริ่มต้นจากการแข่งขันโอลิมปิก และพาราลิมปิกที่โตเกียว โดยมี น้องเทนนิส เทควันโด (เหรียญทอง) / น้องเมย์ รัชนก แบตมินตัน / โปรเมย์ กอล์ฟ / คุณประวัติ วะโฮรัมภ์ วีลแชร์ เรซซิ่ง (เหรียญเงิน) / น้องปิ่น อัญชญา ว่ายน้ำพาราลิมปิก

และล่าสุด สำหรับการแข่งขันโอลิมปิก และพาราลิมปิกที่ปารีส น้องวิว - กุลวุฒิ วิทิตศานต์ (เหรียญเงิน) และคุณกร - พงศกร แปยอ วีลแชร์ เรซซิ่ง ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน Global Team Toyota Athlete หรือ GTTA ซึ่งเป็นผลมาจากการทุ่มเทแรงกาย และแรงใจในการก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง พร้อมทั้งเริ่มต้นทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้… ให้เป็นไปได้

28 สิงหาคม พ.ศ. 2480 วันก่อตั้ง ‘โตโยต้า’ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น สู่ก้าวสำคัญแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ที่ทั่วโลกต่างรู้จัก

แบรนด์รถยนต์อันดับต้น ๆ ที่ครองใจคนไทยและทั่วโลกปฏิเสธไม่ได้เลยว่าย่อมมีชื่อของ ‘โตโยต้า’ (Toyota) อยู่ด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกคนทราบหรือไม่ว่า วันนี้เมื่อ 87 ปีก่อน หรือวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2480 คือวันก่อตั้ง ‘โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน’ บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับการก่อตั้งโดย ‘คิอิจิโร โทโยดะ’

โตโยต้า มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโทโยตะ จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 โดยมีพนักงานในเครือบริษัททั่วโลกรวมแล้วกว่า 338,875 คน และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 12 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกวัดตามรายได้ และตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 เป็นต้นมา โตโยต้ายังเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (วัดตามจำนวนคันผลิต) แซงหน้า ‘โฟล์กสวาเกน กรุ๊ป’ และ ‘เจเนรัลมอเตอร์’ ซึ่งในปีนั้นโตโยต้ารายงานว่าได้ผลิตรถยนต์คันที่ 200 ล้าน นับแต่ก่อตั้งบริษัท 

นอกจากนี้ โตโยต้ายังเป็นบริษัทแรกของโลกที่มีกำลังการผลิตรถยนต์เกิน 10 ล้านคันต่อปี และยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดทุนญี่ปุ่นที่ใหญ่และมีรายได้มากที่สุดของญี่ปุ่น ห่างจากอันดับสองคือ SoftBank กว่าสามเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน เป็นการแตกบริษัทออกมาจาก ‘โตโยต้า อินดรัสทรีส์’ ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดย ‘ซากิจิ โทโยดะ’ ซึ่ง 3 ปีก่อนหน้าในปีพ.ศ. 2477 ในช่วงที่ยังเป็นแผนกหนึ่งในโตโยต้า อินดรัสทรีส์ โตโยต้าก็ได้ผลิตสินค้าอย่างแรกเป็นของตนเองคือ เครื่องยนต์ Type A และในปีพ.ศ. 2479 ก็ได้ทำการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันแรกคือ Toyota AA ในปัจจุบัน โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ผลิตรถยนต์ภายใต้ 5 เครื่องหมายการค้า อันประกอบด้วย Toyota, Hino, Lexus, Ranz และ Scion และยังถือหุ้น 51.2% ในไดฮัทสุ, ถือหุ้น 16.66% ในฟุจิเฮวี่อินดรัสทรีส์, ถือหุ้น 5.9% ในอีซูซุ และ ถือหุ้น 0.27% ในเทสลา

รวมทั้งยังดำเนินกิจการร่วมค้าผลิตรถยนต์กับอีกสองบริษัทในจีน (GAC Toyota และ Sichuan FAW Toyota Motor), กับหนึ่งบริษัทในอินเดีย (Toyota Kirloskar), กับหนึ่งบริษัทในสาธารณรัฐเช็ค (TPCA) และบริษัทผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่อื่น ๆ อีกมากมาย

Toyota ขยายการผลิตในจีน ตั้งเป้า 2.5 ล้านคันต่อปี สะท้อนตลาดรถแดนมังกรโตสูง

(11 พ.ย.67) รอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าว 3 แหล่งว่า โตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น วางเป้าหมายผลิตรถยนต์ให้ได้อย่างน้อย 2.5 ล้านคันในจีนภายในปี 2573 ซึ่งนับเป็นการปรับกลยุทธ์ครั้งสำคัญที่จะเพิ่มความใกล้ชิดระหว่างการขายและการผลิตในจีน และเปิดโอกาสให้ผู้บริหารในจีนมีอิสระในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น

รายงานระบุว่า แผนดังกล่าวสะท้อนกลยุทธ์ของโตโยต้าต่อจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเน้นย้ำถึงความพยายามที่จะฟื้นฟูธุรกิจหลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับบีวายดี (BYD) และผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในจีนช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แผนของโตโยต้าแตกต่างจากผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น รวมถึงผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นที่เลือกจะลดกำลังการผลิตหรือถอนธุรกิจออกจากจีน

แหล่งข่าวเผยว่า โตโยต้าตั้งเป้าเพิ่มการผลิตในจีนให้ได้ถึง 3 ล้านคันต่อปีภายในสิ้นทศวรรษนี้ แต่ยังไม่มีการประกาศเป้าหมายอย่างเป็นทางการ

เป้าหมายนี้ถือเป็นการเพิ่มขึ้นจากสถิติการผลิตสูงสุด 1.84 ล้านคันในปี 2565 หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 63% โดยปีที่แล้ว โตโยต้าผลิตรถยนต์ในจีนได้ 1.75 ล้านคัน

โตโยต้าได้แจ้งแผนนี้ให้ซัพพลายเออร์บางรายทราบแล้ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความทุ่มเทของโตโยต้าต่อตลาดจีนและการรักษาซัพพลายเชนให้มั่นคง

ในแถลงการณ์ โตโยต้าตอบคำถามรอยเตอร์ว่า “ด้วยการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาดจีน เราจึงพิจารณาโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง” และยืนยันว่าจะเดินหน้าผลิตรถยนต์ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตลาดจีนต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top