Friday, 3 May 2024
Tokyorose

กุหลาบแห่งโตเกียว ‘Tokyo Rose’ อาวุธร้ายแห่งแดนอาทิตย์อุทัย ที่ใช้โจมตีขวัญกำลังใจของทหารสัมพันธมิตรใน WW II

ขึ้นชื่อว่าสงคราม หลายคนคงจะนึกถึงการใช้ความรุนแรง อาวุธ หรือกำลังเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่คาดหวังหรือมุ่งหมาย แต่จริงๆ แล้วในการทำสงคราม สิ่งที่สำคัญมากกว่าอาวุธและขาดไม่ได้เลยคือ ‘สงครามจิตวิทยา’ (Psychological warfare) 

‘สงครามจิตวิทยา’ คือการทำสงครามที่ใช้ทฤษฎีทางด้านจิตวิทยาที่มุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบต่อ ‘ความคิด’ และ ‘ความเชื่อ’ ของบุคคลและกลุ่มบุคคล โดยอาศัยการโฆษณาชวนเชื่อร่วมกับปฏิบัติการจิตวิทยา 

สงครามจิตวิทยานั้นสามารถทำได้ทั้งในยามสงบและยามสงคราม ทั้งฝ่ายข้าศึกและฝ่ายเดียวกัน รวมถึงฝ่ายเป็นกลาง ทั้งในด้านการเมืองและการทหาร ในระดับยุทธศาสตร์ ยุทธการ และระดับยุทธวิธี

เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เช่นกัน ในสมรภูมิตะวันออก (เอเชีย-แปซิฟิก) สงครามจิตวิทยาที่กองทัพญี่ปุ่นนำมาใช้กับกองกำลังสัมพันธมิตรคือ ‘การโฆษณาชวนเชื่อทางวิทยุ’ โดยหญิงที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีฉายาว่า ‘กุหลาบแห่งโตเกียว’ (Tokyo Rose) อันเป็นชื่อที่ทหารกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรที่ปฏิบัติการในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ใช้เรียกโฆษกหญิงโฆษณาชวนเชื่อของญี่ปุ่นที่พูดภาษาอังกฤษราว ๆ ๑๒ นาง

โฆษกหญิงโฆษณาชวนเชื่อของญี่ปุ่นมีเจตนาที่จะบ่อนทำลายขวัญและกำลังใจของกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรที่ฟังการแพร่สัญญาณ โดยเน้นย้ำถึงความยากลำบากในการทำสงครามและความสูญเสียทางทหารที่เกิดขึ้นมากมาย ผู้ประกาศหญิงหลายคนดำเนินการโดยใช้นามแฝงที่แตกต่างกัน และกระจายเสียงในเมืองต่าง ๆ ทั่วดินแดนที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครอง รวมถึง โตเกียว มะนิลา และเซี่ยงไฮ้ 

ทั้งนี้ ชื่อ ‘กุหลาบแห่งโตเกียว’ (Tokyo rose) ไม่เคยถูกใช้โดยฝ่ายญี่ปุ่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว

‘กุหลาบแห่งโตเกียว’ (Tokyo rose) ปรากฏเป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 1943 ทหารอเมริกันในแปซิฟิกมักฟังการแพร่สัญญาณโฆษณาชวนเชื่อเพื่อรับทราบถึงผลของการปฏิบัติทางทหารของพวกตน โดยจับความหมายโดยนัย นอกเหนือจากการปฏิบัติแล้ว ยังมีการขวัญในหมู่ทหารอเมริกันว่า เรื่องที่กุหลาบแห่งโตเกียวนำเสนอ มักมีความแม่นยำอย่างน่ากลัว สามารถกล่าวถึง หน่วยทหารและกระทั่งชื่อของทหารบางคนได้ แม้ว่าเรื่องที่กุหลาบแห่งโตเกียวนำเสนอเหล่านี้ไม่เคยมีเอกสารพิสูจน์ เช่น บทและการแพร่สัญญาณที่ถูกบันทึกเอาไว้ 

Iva Ikuko Toguri D'Aquino (4 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 – 26 กันยายน ค.ศ. 2006) เป็นนักจัดรายการและนักจัดรายการวิทยุชาวญี่ปุ่น-อเมริกัน ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ ‘กุหลาบแห่งโตเกียว’ (Tokyo rose) ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยร่วมจัดรายการวิทยุภาษาอังกฤษที่ส่งโดย Radio Tokyo ไปยังกองทหารสัมพันธมิตรในรายการวิทยุ The Zero Hour แม้ว่าเธอจะออกอากาศโดยใช้ชื่อ ‘Orphan Ann’ แต่ Iva Toguri ก็เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Tokyo Rose’ 

Iva Toguri เป็นพลเมืองอเมริกัน เกิดที่นครลอสแองเจลิส พ่อ-แม่ของเธอเป็นผู้อพยพชาวญี่ปุ่น จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตนครลอสแองเจลิส ในปี ค.ศ. 1940 ด้วยปริญญาตรีด้านสัตววิทยา 

ในวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1941 เธอต้องเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อเยี่ยมอาการป่วยของญาติ โดยพักอยู่กับครอบครัวของป้า ก่อนการโจมตีอ่าวเพิร์ลของกองทัพญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกใบรับรองประจำตัวให้เธอ เพราะเธอไม่มีหนังสือเดินทาง และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน Iva Toguri ได้ยื่นขอหนังสือเดินทางต่อรองกงสุลสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น โดยระบุว่า เธอต้องการกลับบ้านในสหรัฐฯ 
 

คำขอของเธอถูกส่งต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศ และท้ายที่สุดเธอไม่สามารถเดินทางออกจากญี่ปุ่นได้เมื่อเกิดสงครามกับสหรัฐอเมริกา ทั้งยังไม่สามารถอยู่กับครอบครัวของป้าได้ เพราะเธอเป็นพลเมืองอเมริกัน ซ้ำร้ายเธอยังไม่สามารถรับความช่วยเหลือใด ๆ จากพ่อแม่ของเธอที่ถูกกักไว้ในค่ายกักกันชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นในมลรัฐแอริโซนาอีกด้วย และที่เจ็บปวดที่สุดคือหลังจากการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ (7 ธันวาคม ค.ศ. 1941) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะรับรองการเป็นพลเมืองของเธออีก

เมื่อชีวิตดูมืดมิดและมาถึงทางตัด Iva Toguri จึงต้องจำใจยอมรับงานเป็นพนักงานพิมพ์ดีดชั่วคราวที่ Radio Tokyo (NHK) 

ต่อมาเธอได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ประกาศของ The Zero Hour รายการโฆษณาชวนเชื่อความยาว ๗๕ นาทีอย่างรวดเร็ว ซึ่งรายการนี้ประกอบด้วย เรื่องตลก รายงานข่าว และเพลงอเมริกันยอดนิยม 

เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 เธอถูกกองทัพสหรัฐฯ ควบคุมตัวเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนที่เธอจะถูกปล่อยเนื่องจากขาดหลักฐาน เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมเห็นพ้องต้องกันว่า การออกอากาศของเธอ ‘ไม่มีพิษมีภัย’


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top