Wednesday, 23 April 2025
StrategicPetroleumReserve

'กองทุนน้ำมันฯ' พลังเดียวที่ 'พีระพันธุ์' ไว้ใช้แก้ปัญหาพลังงานในรอบ 1 ปี สู่การจัดตั้ง SPR เปลี่ยนหนี้หนุน ‘กองทุนฯ' ให้กลายเป็นทรัพย์สินของประเทศ

ท่ามกลางบรรยากาศของความรู้สึกคับข้องใจของบรรดาผู้ที่สนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติถึงการเข้าร่วมรัฐบาลแพทองธาร 1 แต่หลาย ๆ คนอาจ หลงลืม เพิกเฉย หรือละเลยต่อผลงานหนึ่งปีของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรคฯ ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เป็นหนึ่งปีในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของ ‘พีระพันธุ์’ ที่สร้างประโยชน์โภคผลอันมหาศาลให้เกิดกับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งหมดทั้งมวล ด้วยการเดินหน้าเต็มที่ในการแก้ปัญหา ‘เชื้อเพลิงพลังงาน’ ที่หมักหมมมายาวนานกว่า 50 ปี ตั้งแต่วิกฤตการณ์น้ำมันของโลกในปี 1973 ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกในตอนนั้นสูงขึ้นเกือบ 300%

ด้วยตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ กำกับ และดูแล ‘เชื้อเพลิงพลังงาน’ ไม่ได้ทำการศึกษาถึงต้นตอของปัญหาเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง อาทิ...

(1) ต้นทุนของน้ำมันเชื้อเพลิงที่แท้จริง ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ได้ให้กระทรวงพลังงานออกประกาศของกระทรวงฯ ให้ผู้ค้าน้ำมันต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่อกระทรวงฯ ทุกเดือน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถรับรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ 

(2) ‘ราคาน้ำมัน’ ต้องไม่ขึ้นลงรายวัน ‘พีระพันธุ์’ ได้สั่งให้มีการ ‘รื้อระบบการปรับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง’ โดยผู้ค้าต้องแจ้งให้กระทรวงฯ ทราบก่อน และให้ผู้ค้าปรับราคาขายปลีกน้ำมันได้เพียงเดือนละหนึ่งครั้ง สิ้นสุด หมดยุคที่บรรดา ‘ผู้ค้าเชื้อเพลิงพลังงาน’ จะกำหนดราคาตามอำเภอใจ ‘พีระพันธุ์’ ได้สั่งให้มีการศึกษาข้อมูลของประเทศต่าง ๆ เพื่อเตรียม ‘สร้าง’ ระบบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อพี่น้องประชาชนคนไทย เพื่อนำผลสรุปการศึกษามาพิจารณาในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ทั้งหมด

(3) แก้ไขปัญหา ‘กองทุนน้ำมัน’ ซึ่งเป็นภาระหนักของประเทศและพี่น้องประชาชนคนไทย เพราะที่มาทุกยุคทุกสมัยและทุกรัฐบาลต่างก็ใช้ ‘กองทุนน้ำมัน’ ในการอุดหนุนและชดเชยทำให้สามารถตรึงราคา ‘เชื้อเพลิงพลังงาน’ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG เพราะเชื้อเพลิงทั้งสองชนิดนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ด้วยเป็นเครื่องมือในระยะสั้นเพียงชั่วคราวและต้องคำนึงถึงระเบียบวินัยทางการเงินการคลังเป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันการณ์กลับกลายเป็นว่า ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ณ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2567 ติดลบสุทธิถึง 106,843ล้านบาท

ปัจจุบัน ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ยังเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่รัฐบาลใช้ในการแก้ไขปัญหาราคาเชื้อเพลิงพลังงาน เพราะไม่ว่าจะเป็น บทบาท อำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพได้ ‘พีระพันธุ์’ จึงจำเป็นต้องใช้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เครื่องมือเดียวที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเป็นการลดทอนและบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG ของพี่น้องประชาชนคนไทยไปก่อน พร้อมกับเตรียมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) ไปด้วย โดย ‘พีระพันธุ์’ จะเปลี่ยน ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ที่ใช้เงินและสร้างหนี้สาธารณะ ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินของประเทศ ต่อไปกองทุนน้ำมันฯ ที่มีน้ำมันสำรองของประเทศ จะเป็นทรัพย์สินของประเทศไม่ใช่ภาระหนี้สินอีกต่อไป

ทั้งนี้ SPR นอกจากจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานจากการที่รัฐบาลเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอใช้ในประเทศได้ 50-90 วันแล้ว ยังเป็นการสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงอีกด้วย เพราะจะต้องมีการหมุนเวียน เข้าและออก มีการจำหน่ายถ่ายโอนให้โรงกลั่นและบริษัทที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตลอดเวลา ด้วยปริมาณน้ำมันสำรองใน SPR เป็นทรัพย์สินที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้ 

ดังนั้นปริมาณน้ำมันสำรองใน SPR จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจในการต่อรองและเพิ่มการถ่วงดุลให้กับระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอีกด้วย เพราะจะสามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศได้ตลอดเวลา ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ณ เวลาที่ซื้อมาหรือจำหน่ายออกไป ซึ่งที่สุดจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติกับพี่น้องประชาชนคนไทยอย่างมากมาย

นอกจากนั้นแล้ว สิ่งต่าง ๆ ที่ ‘พีระพันธุ์’ ได้ทำ กำลังทำ และจะทำ อาทิ (1) ‘ค่าไฟฟ้า’ หากไม่สามารถลดราคาได้ ก็ตรึงราคาไว้ไม่ให้ขึ้น ‘ค่าไฟฟ้าในหอพัก’ ต้องเหมาะสมเป็นธรรม สนับสนุนการติด ‘โซลาร์ รูฟ’ เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟแพงอย่างยั่งยืน (2) สนับสนุนสร้างนวัตกรรมพลังงานราคาถูก เช่น ไฮโดรเจนซึ่งจะเป็นพลังงานแห่งอนาคต (3) ‘ก๊าซหุงต้ม’ กระทรวงฯ ต้องมีอำนาจในการกำกับ ดูแล อย่างเต็มที่ (4) เปิดช่องให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณะกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาแหล่งน้ำมันราคาถูกมาใช้ได้เอง

ระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา ‘พีระพันธุ์’ ได้พยายามทำงานอย่างหนักเพื่อพี่น้องประชาชนคนไทย ซึ่งหวังว่าจะสามารถ ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ ปัญหา ‘เชื้อเพลิงพลังงาน’ ที่เหลือทั้งหมดให้เสร็จสิ้นได้ภายใน 1 ปี โดย ‘พีระพันธุ์’ ขอให้มั่นใจว่าจะพยายามปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนคนไทยในเรื่องของพลังงานให้ดีที่สุด โดยไม่กลัวอิทธิพลอะไรและไม่อยู่ใต้อิทธิพลใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ ‘พีระพันธุ์’ ฝากขอบคุณและขอให้พี่น้องของประชาชนคนไทยช่วยเป็นผนังกำแพงให้พิงเพื่อทำงานสำคัญนี้ให้สำเร็จแล้วเสร็จด้วย

10 นโยบายเร่งด่วน ‘รัฐบาลแพทองธาร’ ทำทันที พบ!! ‘SPR’ ของ ‘พีระพันธุ์’ ถูกบรรจุวาระเร่งด่วน

(9 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 12-13 กันยายน 2567 รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นที่เรียบร้อย แถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยมีการเปิดเผยนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการทันที ซึ่งมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์รัฐสภา ดังนี้…

นโยบายที่ 1 รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์

นโยบายที่ 2 รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs เช่น การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อประคับประคองให้กลับมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

นโยบายที่ 3 รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) รวมทั้งการพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย ‘ค่าโดยสารราคาเดียว’ ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง

นโยบายที่ 4 รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน พร้อมทั้งจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นโยบายที่ 5 รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และการประกอบอาชีพ

นโยบายที่ 6 รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งอาหารฮาลาล และฟื้นนโยบาย ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’ ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรก

นโยบายที่ 7 รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว 

นโยบายที่ 8 รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด การค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ตลอดจนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งมีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม 

นโยบายที่ 9 รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงที โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์

นโยบายที่ 10 รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ

'พีระพันธุ์' ตอกย้ำ!! กฎหมายสำคัญด้านพลังงาน 3 ฉบับ เดินหน้า!! แก้ปัญหาโครงสร้างพลังงานไทยสะสมยาวนานได้อย่างยั่งยืน

‘พีระพันธุ์’ ร่วมงานเสวนา ‘สามย่านคาเฟ่’ ครั้งที่ 2 ย้ำชัด จะเดินหน้านโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' พลังงานไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเผยกฎหมายสำคัญด้านพลังงาน 3 ฉบับ ทั้งกฎหมายคุมกิจการค้าน้ำมัน กฎหมายส่งเสริมการติดตั้ง โซลาร์เซลล์ และกฎหมายตั้งคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ จะยกร่างเสร็จภายในปีนี้ ก่อนจะยื่นเสนอสภาพิจารณาต่อ เชื่อจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน

ไม่นานมานี้ (22 ก.ย.67) สำนักข่าวออนไลน์ UTN TODAY ได้จัดงานเสวนา จัดงานเสวนาอินฟลูฯ 'สามย่านคาเฟ่' แลกเปลี่ยน เรียนรู้ โลกออนไลน์ ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ณ KliqueXSomyan ชั้น 3 I'm Park สามย่าน โดยภายในงานได้รับเกียรติจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้ร่วมงาน พร้อมตอบคำถามเรื่องพลังงานในหลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องโครงสร้างพลังงาน การติดตั้งโซลาร์เซลล์ และการจัดตั้งระบบน้ำมันสำรอง การจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ (SPR)

นายพีระพันธุ์ ได้ย้ำถึงแนวทางการทำงานตามนโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนและประเทศชาติ ผ่านการออกกฎหมายด้านพลังงานฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ ประกอบด้วย...

(1) กฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง 
(2) กฎหมายที่อนุญาตส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ และ 
(3) กฎหมายการจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve)

นายพีระพันธุ์ ระบุว่า กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จะเข้ามาตอบโจทย์และไขปัญหาโครงสร้างพลังงานของประเทศไทยที่สะสมมาเป็นเวลายาวนาน พร้อมทั้งช่วยแก้ปัญหาราคาพลังงานได้อย่างยั่งยืน

โดยกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะเน้นในเรื่องการคำนวณราคาน้ำมันตามต้นทุนจริงแทนการอิงราคาน้ำมันจากต่างประเทศ และการดึงอำนาจด้านกำหนดเพดานภาษีน้ำมันกลับคืนมา เพื่อดูแลราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่สำคัญจะไม่ให้ราคาน้ำมันขึ้นลงรายวันตามอำเภอใจอีกต่อไป ขณะเดียวกันกฎหมายฯ ยังจะครอบคลุมไปถึงโครงสร้างการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เพราะปัจจุบันถูกเรียกเก็บภาษีหลายต่อ ทั้งภาษีการค้าน้ำมัน, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีท้องถิ่น ไม่เพียงเท่านั้นยังเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งล้วนส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ๆ ที่เนื้อน้ำมันที่กลั่นแล้วราคาอยู่ที่ 20-21 บาทต่อลิตรเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของภาษี อาจจะไม่สามารถลดได้อย่างเต็มที่ เพราะจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศ แต่จะเปิดโอกาสให้ภาคการเกษตร ธุรกิจขนส่ง และผู้มีรายได้น้อย ที่สามารถจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาใช้แทนการซื้อภายในประเทศ เพื่อทางออกในการลดต้นทุนทางภาษี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเปิดนำเข้าน้ำมันเสรี โดยไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างให้คณะทำงานตรวจสอบความเรียบร้อย

ส่วนในค่าไฟฟ้าแพง ที่เป็นปัญหาต่อประชาชนชาวไทยทั้งประเทศนั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า แม้ว่าจะไม่สามารถลดราคาค่าไฟลงได้ แต่จะพยายามไม่ให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้ เพราะต้องยอมรับว่า ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าของประเทศมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะราคาก๊าซที่เป็นต้นทุนหลักยังมีราคาสูง เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยไม่เพียงพอ 

แต่ปัญหาค่าไฟแพงจะสามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน ด้วยการหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้ในครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยมีแสงอาทิตย์เพียงพอ แต่ในขณะนี้ ต้องยอมรับว่า การขออนุญาตในการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีความยุ่งยาก เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และไม่มีกฎหมายในด้านนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น กฎหมายที่อนุญาตส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ขึ้นมา เพื่อให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งร่างกฎหมายอยู่ระหว่างปรับปรุงเพิ่มเติม

ขณะที่กฎหมายฉบับที่ 3 จัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) นั้น อยู่ระหว่างการยกร่าง โดยนายพีระพันธุ์ ย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญ ที่จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านน้ำมัน เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการสำรองน้ำมันของประเทศเลย มีเพียงการสำรองเชิงพาณิชย์ของผู้ค้าน้ำมัน และมีปริมาณสำรองเพียง 20 กว่าวันเท่านั้น หากเกิดวิกฤตน้ำมันเหมือนเมื่อปี 1973 ประเทศไทยจะไม่สามารถรับมือได้เลย

ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีคลังจัดเก็บน้ำมันสำรองในเบื้องต้น 90 วัน หรือประมาณ 9,000 ล้านลิตร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง ขณะเดียวกันหลักการของกฎหมายนี้คือจะนำน้ำมันสำรองนี้มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเปลี่ยนการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน มาเป็นเก็บน้ำมันเข้าคลังน้ำมันของรัฐบาลแทน และแน่นอนว่า จะทำให้กองทุนน้ำมันที่เคยเป็นหนี้สิน กลายเป็นทรัพย์สินของประเทศประมาณ 1.8 แสนล้านบาททันที

“กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มีความคืบหน้าอย่างมาก และในฐานะนักกฎหมายต้องบอกว่า เป็นการยกร่างกฎหมายที่เร็วมาก และคาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการยกร่างกฎหมายทั้งหมดภายในปีนี้ โดย 2 ฉบับแรก อาจจะเข้าสภาได้ทันภายในปี 2567 ส่วนฉบับที่ 3 การสํารองน้ำมันของประเทศ คาดว่า จะเข้าสภาได้ปี 2568 และเชื่อมั่นว่ากฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา เพราะเป็นกฎหมายที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชน รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนอีกด้วย” นายพีระพันธุ์ กล่าว

เชื้อเพลิงพลังงานที่ใช้กันมากที่สุด ในชีวิตประจำวันของคนไทย เหตุใดต้องมี ‘SPR’ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์

(19 ต.ค. 67) นับแต่มีการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในสำหรับรถยนต์และรถบรรทุกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และเมื่อเครื่องยนต์น้ำมันดีเซลเข้ามาแทนที่เครื่องจักรไอน้ำในเรือรบ การควบคุมปริมาณน้ำมันจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในยุทธศาสตร์ทางการทหาร และมีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สองหลังจากที่ถ่านหินลดความนิยมลงในช่วงกลางทศวรรษ 1950 สำหรับบ้านเราแล้ว มีการนำเข้ารถสันดาปภายในตั้งแต่ พ.ศ. 2447 และคนไทยก็ใช้รถยนต์อย่างแพร่หลายต่อเนื่องนับแต่นั้นมา 

ด้วยรถยนต์สันดาปภายในใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงปิโตรเลียม ซึ่งในอดีตไทยเรายังต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปกระทั่งมีการสร้างโรงกลั่นน้ำมันเชิงพาณิชย์เป็นแห่งแรก ณ ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร (ในสมัยนั้น) และเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2507 กิจการน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐบาลไทยได้กลายเป็นวิสาหกิจของรัฐ 2 แห่งในปัจจุบันคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทุกวันนี้คนไทยบริโภคเชื้อเพลิงพลังงานเทียบเท่าน้ำมันดิบ 1,995,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 44% ก๊าซธรรมชาติ 38% ถ่านหิน 12% พลังงานจากน้ำ แสงอาทิตย์ และพลังงานไฟฟ้านำเข้า ฯลฯ อีก 6% ดังนั้นคนไทยจึงบริโภคเชื้อเพลิงพลังงานปริมาณมหาศาล โดยต้องนำเข้าถึง 80% และที่ต้องนำเข้ามากที่สุดคือ ‘ปิโตรเลียม’

‘ปิโตรเลียม’ หมายถึง สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีธาตุเป็นองค์ประกอบหลัก คือ คาร์บอน และไฮโดรเจน โดยอาจมีธาตุอื่น เช่น กํามะถัน ออกซิเจน ไนโตรเจน ปนอยู่ด้วย ปิโตรเลียมเป็นได้ทั้งของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของปิโตรเลียมเอง พลังงานความร้อน และความกดดันตามสภาพแวดล้อมที่ปิโตรเลียมสะสมตัวอยู่ ซึ่งแบ่งตามสถานะในธรรมชาติได้ 2 ชนิด ได้แก่ 
1. น้ำมันดิบ (Crude Oil)  มีสถานะตามธรรมชาติเป็นของเหลว ประกอบด้วยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดระเหยง่ายเป็นส่วนใหญ่ แบ่งเป็น 3 ชนิด ตามคุณสมบัติ และชนิดของไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบอยู่ คือ
1.1 น้ำมันดิบฐานพาราฟิน
1.2 น้ำมันดิบฐานแนฟทีน
1.3 น้ำมันดิบฐานผสม 

โดยน้ำมันดิบทั้ง 3 ชนิด เมื่อนํามากลั่นแล้ว จะให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นปิโตรเลียมที่อยู่ในสถานะก๊าซที่สภาพแวดล้อมบรรยากาศ ซึ่งไทยเรานำเข้าน้ำมันดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป (เบนซิน ดีเซล น้ำมันก๊าด น้ำมันเตา) โดยกำลังการกลั่นเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และส่งออกในปริมาณที่ไม่มากนัก 

2. ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas)  จะประกอบด้วยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในปริมาณร้อยละ 95 ขึ้นไป ส่วนที่เหลือจะเป็น ไนโตรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ปนอยู่เพียงเล็กน้อย ไฮโดรคาร์บอนในก๊าซธรรมชาติ จัดอยู่ในอนุกรมพาราฟิน มีคุณสมบัติอิ่มตัวและไม่เปลี่ยนแปลงทางเคมีในสภาวะปกติ ก๊าซธรรมชาติมีองค์ประกอบส่วนใหญ่คือ มีเทน (CH4) ซึ่งมีน้ำหนักเบาที่สุด และจุดเดือดต่ำที่สุดเป็นส่วนประกอบถึงประมาณร้อยละ 70 ขึ้นไป ปัจจุบันเป็นเชื้อเพลิงพลังงานหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง

โดยที่ประเทศไทยนำเข้า ‘ปิโตรเลียม’ ปีละกว่าล้านล้านบาท ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกจึงส่งผลอย่างสำคัญต่อราคาเชื้อเพลิงพลังงานในประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจของไทยโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาต่างก็ใช้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เพื่ออุดหนุนชดเชยเพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลซึ่งถือเป็นน้ำมันเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรถโดยสารและรถบรรทุกขนส่งส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ซึ่ง ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มาจาก 3 ส่วน คือ
- ส่วนของภาษีสรรพสามิตที่กรมสรรพสามิตเรียกเก็บจากผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ
- ส่วนของภาษีศุลกากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บจากผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
- ส่วนของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้รับสัมปทานที่ทำธุรกิจก๊าซ ซึ่งต้องนำส่งเงินให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ปัจจุบัน ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ของไทยติดลบเกือบหนึ่งแสนล้านบาท ทำให้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องศึกษาหาหนทางเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยด่วนที่สุด จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดทำ ‘ระบบ SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ เข้ามามีบทบาททำหน้าแทนที่ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ด้วยในอนาคตเมื่อรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานเป็นผู้ถือครองปริมาณน้ำมันมากที่สุดในประเทศเพียงพอสำหรับการใช้งาน 50-90 วันแล้ว รัฐบาลย่อมสามารถนำปริมาณสำรองเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ เพราะที่ผ่านมาปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากวิกฤตเชื้อเพลิงมีการใช้ ‘เงิน’ จาก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ในการแก้ไขปัญหา 

แต่ในยามที่เกิดวิกฤตน้ำมัน ‘เงิน’ จะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องหรือเหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหา เพราะต้องใช้ ‘เงิน’ มากขึ้นในการซื้อน้ำมัน หรือในบางสถานการณ์แม้ จะมี ‘เงิน’ ก็ตาม แต่อาจไม่สามารถหาซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่สามารถขนส่งมาประเทศไทยได้ ดังนั้น ด้วยการถือครอง ‘น้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง’ โดยรัฐที่มากพอ (สำหรับการใช้งาน 90 วัน) เพื่อรอเวลาที่วิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงจะผ่านพ้นไป จึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top