Wednesday, 23 April 2025
Story

‘วิชัย ทองแตง’ เผยแผนดำเนินชีวิตในวัย 76 ปี ทิ้งฉายา ‘พ่อมดตลาดหุ้น’ สู่นักปั้นธุรกิจสตาร์ตอัป

ในวัย 76 ปี ชื่อของ ‘วิชัย ทองแตง’ กำลังจะกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง หลังจากหลายปีที่ผ่านมา ค่อนข้างเงียบหายไป จากอดีตที่เคยโด่งดังในยุคของการเป็นทนายมือทอง และเข้าสู่แวดวงตลาดหุ้น มีการ ‘เทกโอเวอร์กิจการ’ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นเจ้าของธุรกิจหลายอย่าง

มาถึงวันนี้ ในวันที่หันหลังให้กับฉายา ‘เจ้าพ่อตลาดหุ้น’ แล้ว ฉากและชีวิตจะก้าวไปอย่างไร มาลองฟังมุมมองและแพชชันใหม่ ๆ ที่ ‘วิชัย ทองแตง’ ตั้งใจผลักดันกัน

>> ลุยปั้นคน-ไม่เน้นสร้างเวลท์
“new chapter ของผมต่อจากนี้ คือ สร้างคนเป็นหลัก ไม่เน้นสร้างเวลท์ (ความมั่งคั่ง) เหมือนก่อนแล้ว” อดีตเจ้าพ่อตลาดหุ้น ประกาศจุดยืนใหม่ของตัวเอง

วิชัยบอกว่าปัจจุบันตนไม่ใช่เซียนหุ้นแล้ว และไม่อยากจะให้ภาพตัวเองเป็นพ่อมดตลาดหุ้น หรือเป็นนักลงทุนขาใหญ่เหมือนในอดีต เพราะตนคิดว่าก้าวข้ามจากส่วนนั้นมาแล้ว โดยปัจจุบันได้โอนทรัพย์สินแบ่งให้ลูก ๆ ไปเกือบหมดแล้ว และวางมือจากธุรกิจเดิม ลาออกจากประธานกรรมการโรงพยาบาลพญาไท เพื่อขอออกมาทำตาม ‘passion’ ของตัวเอง นับตั้งแต่ตอนอายุ 70 ปี หรือตั้งแต่ราว 6 ปีก่อน ปัจจุบันรับบทเป็นเพียงที่ปรึกษาในแต่ละธุรกิจเท่านั้น

>>ดันสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้น
“ตอนนี้ new chapter ของผมเป็นคนเก่าในชีวิตใหม่ ที่เริ่มต้นเมื่อตอนอายุ 70 ปี คือ ผมอยากมีภาพเป็น ‘นักปั้นหุ้น’ มากกว่า” วิชัยบอก พร้อมอธิบายว่า การปั้นหุ้น ก็คือ การปลุกปั้นบริษัทที่จะเข้าตลาดหุ้น โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ตอัปของเด็กรุ่นใหม่ ที่เดินทางมาถึงจุดหนึ่งแล้วไปต่อไม่ได้ โดยตนจะเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้ามาคุยและวางแผนอนาคตร่วมกัน ซึ่งความตั้งใจของตนเองในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ จะต้องสร้างยูนิคอร์นตัวใหม่ให้ได้

“ตอนนี้เด็ก ๆ ให้ฉายาผมว่า ‘godfather of startup’ หรือแปลเล่น ๆ ว่า ‘พ่อทูนหัว’ ฉะนั้น new chapter ของผมต่อจากนี้ คือสร้างคนเป็นหลัก ไม่เน้นสร้างเวลท์เหมือนก่อนแล้ว” วิชัยกล่าว

โดยที่ผ่านมา ได้เฟ้นหาเด็กรุ่นใหม่ที่มีความกระหายอยากทำธุรกิจ แต่ที่สำคัญต้องมีคุณธรรมด้วย ซึ่งตรงนี้นับเป็นข้อกำหนดที่ร่วมธุรกิจกับทาง ‘บิทคับ’ ด้วย ว่าตนขอทำแค่ส่วนที่เกี่ยวกับบล็อกเชน และดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเท่านั้น ส่วนที่เป็นคริปโตเคอร์เรนซี พวกการเทรดต่าง ๆ จะไม่ยุ่ง

>>โฟกัสธุรกิจ ‘เมกะเทรนด์’
สำหรับประเภทธุรกิจที่ให้ความสำคัญ วิชัยกล่าวว่าจะเป็น ‘เมกะเทรนด์’ นอกจากเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชนแล้ว ก็ยังมีธุรกิจคาร์บอนเครดิต ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวแถลงข่าวใหญ่ ในเร็ว ๆ นี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยบริษัทนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบการเคลมคาร์บอนเครดิตได้สูงขึ้น และมีตลาดรองรับ ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่จะช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้เป็นอย่างดี

ต่อมาธุรกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ที่รับซื้อพลาสติก ซึ่งจะดำเนินการเป็น 2 แบบ คือ 1.) เม็ดพลาสติกรีไซเคิล และ 2.) กลั่นออกมาเป็นน้ำมัน ซึ่งธุรกิจแบบนี้มีความจำเป็นกับประเทศไทยตอนนี้มาก

ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะติดเชื้อ ซึ่งทุกวันนี้ยังมีคนทำน้อย โดยตนกำลังปั้นบริษัทแบบนี้ ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตและยิ่งใหญ่ได้ ไม่เพียงแค่ในประเทศ แต่หากินในต่างประเทศได้ด้วย

ส่วนธุรกิจที่ใช้ AI ก็สนใจ ซึ่งก็มีสตาร์ตอัปรายหนึ่งที่น่าสนใจ สามารถบริหารโหลดสำหรับการชาร์จไฟฟ้าของรถอีวี เพราะรถอีวีเวลาชาร์จไฟครั้งหนึ่งเท่ากับติดแอร์พร้อมกัน 10 ตัว ทำให้โหลดกระชากมาก

“ลองคิดดูเล่น ๆ ถ้าคนไทยทั้งประเทศใช้ไฟพร้อมกัน หม้อแปลงจะอยู่ได้ไหม ตอนนี้ไม่มีใครคิด แต่ผมไปเจอสตาร์ตอัปเด็กไทยคนหนึ่ง ไปประกวดระดับโลกได้ที่ 29 เขาทำสิ่งนี้อยู่ ผมพาเขา เข้าไปพรีเซนต์กับการไฟฟ้าแล้ว ธุรกิจพวกนี้คอยไม่ได้ เพราะกระแสอีวีเข้ามาเร็ว” วิชัยกล่าว

นอกจากนี้ ยังสนใจเกี่ยวกับ smart farmer โดยกำลังปั้นบริษัทบริหารฟาร์ม สร้างโมเดลเกษตรกรหัวขบวนอยู่ โดยสตาร์ตอัปรายนี้นอกเหนือบริหารฟาร์มแล้วยังสามารถค้นหาดีมานด์และซัพพลายให้มาเจอกันได้ ซึ่งสามารถช่วยลดขั้นตอนพ่อค้าคนกลางออกไปได้

“ตอนนี้บริษัทที่ว่านี้ เพิ่งทำ ‘กระดานเทรดข้าว’ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด เสร็จเรียบร้อยไปเมื่อ 3 เดือนก่อน” วิชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาโรงพยาบาลพญาไท ย้ำว่า ตนและลูก ๆ ก็ไม่ได้ทิ้งธุรกิจด้านสุขภาพ (healthcare) เพราะเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงสูงมาก

>>ดันสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้น
สำหรับปีนี้วิชัยคาดว่าจะผลักดันบริษัทสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้นได้ ประมาณ 2 บริษัท โดยตนจะไม่ถือหุ้นใหญ่เกิน 50% อาจจะถือหุ้นแค่ 20-30% และไม่เข้าไปบริหาร

“ผมต้องการให้สตาร์ตอัปเกิด ฉะนั้น ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเทกโอเวอร์” วิชัยกล่าว

>>สูตรเลือกสตาร์ตอัป
วิชัยกล่าวว่า การเลือกสตาร์ตอัปที่จะนำมาปั้นนั้น ตนมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 50 คน ที่อยู่ในเครือข่าย ที่มีหน้าที่วิเคราะห์ธุรกิจให้ เพราะทุกวันนี้สตาร์ตอัปเข้ามาหามาก เพราะ pain point ของสตาร์ตอัป คือการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเด็กที่เข้ามาจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า what’s next ? คืออะไร มีแผนธุรกิจต่อไปอย่างไร มีแผน 5-10 ปีหรือไม่ ต้องการเพิ่มทุนอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้

“ผมมีสูตรเลือกสตาร์ตอัป คือ ขอให้มี 2G ก่อน G แรกคือ growth ต้องมีการเติบโต รายได้มากน้อยไม่ว่ากัน และ G ที่สอง คือ gain ต้องมีกำไร เพราะนั่นแปลว่าเข้าใจวิธีการบริหารและต้นทุนธุรกิจดี ถ้ามี 2G แล้ว ผมก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก จากนั้นก็จะหาช่องทางระดมทุน หรือแนะนำกลุ่มเวนเจอร์แคปปิตอล (VC) พร้อมทั้งช่วยวางแผนทางการเงินให้ด้วย” วิชัยกล่าว

“นอกจากนี้ ทุกคนที่เข้ามา ต้องปฏิญาณ 3 ข้อ คือ 1. ไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกง หรือหลอกลวงผู้อื่น 2. เรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีมีคุณธรรม และ 3. แบ่งปันความรู้และโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่า” เดอะ ก็อด ฟาร์เธอส์ นักปั้นสตาร์ตอัปกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: prachachat


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top