Tuesday, 22 April 2025
Robinhood

โรบินฮู้ด เชือดไรเดอร์กร่าง ทำร้ายร่างกายปชช. พบใช้ไอดีเพื่อนมาวิ่งงาน จ่อเอาผิดทั้งเพื่อน-คนทำ

สืบเนื่องจาก มีการเผยแพร่คลิปบนโซเชียลมีเดีย กรณีไรเดอร์ในเครื่องแบบ Robinhood ก่อเหตุขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า บริเวณซอยสายไหม 78 เขตสายไหม กทม. และเฉี่ยวชนประชาชนที่กำลังใช้ทางเท้า ก่อนก่อเหตุทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายนั้น

ล่าสุด ทาง Robinhood ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลโดยทันทีที่ทราบเรื่อง และพบว่าไรเดอร์ที่ก่อเหตุ มิได้เป็นไรเดอร์ในระบบของ Robinhood แต่มีการนำไอดีของเพื่อนที่เป็นไรเดอร์ Robinhood มารับงานในช่วงเวลาเกิดเหตุ ซึ่งทางบริษัทได้ดำเนินการปิดระบบถาวรคนขับผู้ให้ยืมไอดีทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายอีกในอนาคต 

‘ผู้บริหาร LINE MAN’ อ้าแขน!! รับ 'ไรเดอร์-ร้านค้า' Robinhood ลั่น!! "เราเป็นผู้เล่นสัญชาติไทยรายเดียวที่เหลืออยู่"

(27 มิ.ย.67) โรบินฮู้ด (Robinhood) เตรียมประกาศปิดบริการในวันที่ 31 ก.ค.2567 ผ่านการดำเนินงานมา 4 ปี และขาดทุนสะสมกว่า 5.5 พันล้านบาท แม้จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่ม SCBX อย่างเต็มที่

ฟู้ดดิลิเวอรีสตาร์ตอัปเจ้านี้เปิดตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19 ด้วยแนวคิด ‘แอปเพื่อคนตัวเล็กที่ยั่งยืน’ ไม่เก็บค่า GP จากร้านค้า แต่ไม่สามารถแข่งขันกับยักษ์ใหญ่อย่าง GrabFood และ LineMan ที่ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 100% (GrabFood 56% และ LineMan 53%) ในขณะที่โรบินฮู้ดมีส่วนแบ่งเพียง 5%

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า ภาพรวมของธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี (Food Delivery) หรือธุรกิจบริการส่งอาหาร ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะไทยมีผู้เล่นหลายรายอยู่ในตลาด หรือถ้าส่งผลกระทบก็ยังคงเป็นเชิงบวก เพราะทำให้การแข่งขันมีผู้เล่นน้อยลง โดยได้กล่าวว่า…

“เมื่อโรบินฮู้ดปิดตัวลง ไลน์แมน วงใน กลายเป็นฟู้ดดิลิเวอรีสัญชาติไทยรายสุดท้ายที่เหลืออยู่ เพราะเป็นบริษัทโดยคนไทยเป็นเจ้าของ ผมได้คุยกับทีมงานโรบินฮู้ด คุยถึงเรื่องว่าพนักงานคนไหนที่ไลน์แมน วงในสามารถรับเข้าทำงานต่อได้บ้าง” 

“ไรเดอร์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มของโรบินฮู้ดสามารถที่จะเข้ามาสมัครทำงานกับ ไลน์แมน วงใน ต่อได้เลย โดยเราจะช่วยรับคนเท่าที่จะรับได้เพราะกำลังขยายการเติบโต ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม บางพื้นที่อาจจะยังไม่เข้าถึงบริการ บางพื้นที่อาจต้องรอการเพิ่มบริการ” 

ส่วนร้านค้า 98% ที่อยู่ในแพลตฟอร์มโรบินฮู้ดก็ได้อยู่กับไลน์แมน วงใน ด้วยแล้ว แต่ร้านค้าไหนที่ประสบปัญหาทางบริษัท ก็ยินดีต้อนรับเสมอ และพร้อมที่จะช่วยเหลือร้านค้าอย่างใกล้ชิด อาจจะพูดได้ว่าการเป็นภารกิจที่ต้องรับไม้ต่อจากโรบินฮู้ด”

สำหรับแนวโน้มของการเติบโตของตลาดดิลิเวอรี คุณยอด ระบุว่า ตลาดดิลิเวอรีปี 2567 นี้ค่อนข้างที่จะเติบโต แม้กำลังซื้อโดยรวมในประเทศไทยอาจจะไม่มากนัก แต่กำลังซื้อออนไลน์ยังมีอยู่ โดยคาดการณ์ว่าตลาดดิลิเวอรีไทยในปีนี้จะโตถึง 10% แต่ไลน์แมน วงในอาจโตมากกว่านั้น

“การเติบโตของไลน์แมน วงใน สำหรับฟู้ดดิลิเวอรียังคงเติบโต เรียกได้ว่าเป็นลำต้นที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะมี product ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนของไลน์เพลย์ (LINE Play) ที่เพิ่มบริการเข้ามาเมื่อปีที่แล้วก็มีมูลค่าธุรกิจที่เติบโตถึง 2 เท่า”

“ผมอยากให้มองฟู้ดดิลิเวอรีเป็นเหมือนอีคอมเมิร์ซของร้านอาหาร แต่เดิมเราต้องเดินไปกินที่ร้าน ซึ่งในตอนนี้เราสั่งมากินที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ แม้โควิดจบคนก็ยังใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะกลายเป็นนิสัยของคนไปแล้ว”

“หากจะบอกว่าธุรกิจดิลิเวอรีทำกำไรไม่ได้เลย หรือไม่มีวันจะทำกำไรได้ ก็คงคิดว่าไม่ใช่ เพราะอย่างผมเห็นตัวเลขกำไรที่วิ่งหลังบ้านทุกวัน คาดว่าในอนาคตก็อาจทำกำไรได้อีกขึ้นอยู่กับสภาพโดยรวมของตลาดด้วย”

“ตลาดต่างประเทศที่มีผู้เล่นน้อยราย เช่น จีน มีผู้เล่นเพียง 2 ราย ซึ่งทั้งสองรายก็สามารถทำกำไรจากกิจการดิลิเวอรีได้ ฝั่งอเมริกาก็มีอีกหลายบริษัทที่สามารถทำกำไรได้ ดังนั้น มันจึงขึ้นอยู่กับสภาพของตลาด จำนวนผู้เล่น และสภาพเศรษฐกิจของประเทศ แต่สุดท้ายแล้ว ฟู้ดดิลิเวอรีจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่หลายผู้เล่นสามารถทำกำไรได้” 

คุณยอด ยังได้กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล มองว่าหากสามารถใช้จ่ายออนไลน์หรือแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรีตัดยอดเงินจากเงินตรงนี้ได้ ก็จะทำให้ช่วยร้านค้ารายย่อยหรือร้านค้าที่ไม่ได้มีหน้าร้านได้มากขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มจำนวนยอดขาย

“ผมได้อ่านความเห็นของกลุ่มสตาร์ตอัป ซึ่งผมก็เห็นด้วยบางรายโดยเฉพาะนายกสมาคมสตาร์ตอัปไทย เขาตั้งคำถามเรื่องการ subsidize ของสตาร์ตอัปหรือบริษัทใหญ่ ๆ ที่ลงมาทำสตาร์ตอัปเอง 

โดยผมมองว่า หากรัฐบาลจะช่วยเหลือโรบินฮู้ด อยากให้พิจารณาอย่างรอบคอบว่าทำไมถึงต้องให้การสนับสนุน (subsidize) และจะทำในรูปแบบใด รวมถึงควรพิจารณาว่าการช่วยเหลือควรจำกัดเฉพาะวงการนี้หรือไม่” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวทิ้งท้าย 

อย่างไรก็ดี การปิดตัวลงของโรบินฮู้ด ได้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรียังเผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งการแข่งขันที่รุนแรง ต้นทุนดำเนินการสูง และความยากในการรักษาฐานลูกค้า

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องค่า GP ที่สูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อร้านอาหารขนาดเล็ก และผู้บริโภค ในสภาวะที่ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น นักลงทุนเริ่มไม่อดทนกับธุรกิจที่ขาดทุนต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายแพลตฟอร์มต้องปรับตัว ควบรวมกิจการหรือพยายามครองตลาดเพื่อความอยู่รอด

ซีอีโอ ‘Robinhood’ เคลื่อนไหว หลังเตรียมยุติการให้บริการ ในวันที่ 31 กรกฎาคม นี้ เปิดแพลตฟอร์ม ‘TalentOfRobinhood’ ช่วยพนักงานกว่า 100 คน หางานใหม่

เมื่อวานนี้ (5 ก.ค.67) หลังจาก ‘เอสซีบี เอ็กซ์’ (SCBX) ประกาศยุติการให้บริการแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ ‘โรบินฮู้ด’ (Robinhood) ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. หลายฝ่ายก็ได้ติดตามความเคลื่อนไหวในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงมาตรการเยียวยาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นไรเดอร์ ร้านค้า และพนักงานของบริษัท

ล่าสุด ‘นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ได้ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘TalentOfRobinhood’ เพื่อเป็นพื้นที่ในการหางานของพนักงาน Robinhood โดยล่าสุดที่ได้ตรวจสอบ ปรากฏรายชื่อพนักงานบนเว็บไซต์ https://talentofrobinhood.com/ จำนวน 176 คน ซึ่งมีตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานระดับปฏิบัติการในฝ่ายต่าง ๆ

ทั้งนี้ เนื้อความจากโพสต์บนเฟซบุ๊กของ ‘นายกวีวุฒิ’ ระบุว่า

‘The Last Product of Robinhood’

สวัสดีครับ พี่ ๆ เพื่อน ๆ
เชื่อว่า หลาย ๆ คนทราบข่าวแล้ว
Robinhood Delivery จะปิดบริการวันที่ 31 ก.ค. นี้แล้วครับ
‘แอปเพื่อคนตัวเล็ก’ นี้ ต้องขอขอบคุณลูกค้าทุกท่าน
ที่ได้ให้โอกาสแอปไทย อย่างพวกเราบริการมาตลอด 4 ปี ครับ
แม้ ‘แอป’ เราจะปิดไปแล้ว
แต่หน้าที่ผมในฐานะ ‘CEO คนสุดท้าย’ ยังไม่จบครับ

ผมพูดได้อย่างเต็มปากเลยครับ
ว่าผม ‘ภูมิใจ’ และ ‘รัก’ ทีมงาน Robinhood ทุกคน
ต้องขอขอบคุณ คุณอาทิตย์ พี่โจ้ พี่บิ๊ก ที่ได้เปิดโอกาสที่แสนพิเศษนี้ให้กับผม
ผมได้เรียนรู้ first hand ว่า ‘คนฝีมือดี ทัศนคติดี นิสัยดี ที่ไฟลุกโชน’
เมื่อมาอยู่รวมกันปริมาณมาก เราสร้างสิ่งที่ extraordinary ได้มากมาย

เรา operate ธุรกิจได้ถึง 7 ธุรกิจในเวลาเดียวกัน (ใช่ครับ ออกจะเยอะไปสักนิด)
Food Delivery/ Mart/ Express/ OTA (Online Travel Agent)/ Ride Hailing/ Lending/ EV Rental 
เราส่งมอบ ‘คุณภาพ’ บริการให้มีมาตรฐานสูง สำหรับลูกค้าหลายล้านคน

เรา bring tech home บริหารจัดการ technology เองได้ในระยะเวลา 1 ปี vendor หายหมด 
เราสร้างกระบวนการ product development ที่ technology company หนึ่งพึงจะทำได้สำเร็จ 
เรามีหลังบ้านที่แข็งแกร่งกว่าใคร ๆ เพราะเราเป็น super app ที่ต้องทำตามกฎระเบียบแบงค์ชาติ 
เรามี Accountability ไว้ใจทีมงานหน้างานให้ตัดสินใจ รับผิดชอบงานได้เต็มที่ วัดผลได้ 

เรา Boundaryless กล้าฟีดแบ็ก รับฟีดแบ็ก แบบต่อหน้า อย่างถูกวิธี ไม่ cross net 
เรา Customer-Centric ‘ลูกค้าได้อะไร’ คือคำถามติดปากพนักงานทุกคน 
เรา Data-Driven ข้อมูลอยู่ที่ไหน เอามาดูกัน ใช้ในการตัดสินใจทุกสิ่ง 
เรา Enjoy the moment 
เราหาท่าสนุกกับงานตรงนี้ เพื่อน ๆ ตรงนี้ โมเมนท์ตรงนี้ ในทุก ๆ วัน 
เรารู้ว่า Culture is Behaviour 
เราจึงเริ่มจากปรับ ‘พฤติกรรม’ ของตัวเอง 
เราถนัดทำงานกับคนที่หลากหลาย เราทะเลาะกันบ้าง เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด
เรารัก ‘เพื่อนของเรา’ และ ‘ภาคภูมิใจในงานของเรา’

แน่นอนธุรกิจ platform ลักษณะนี้ มันมีความท้าทายต่าง ๆ นานา Business Model ที่ burn เงิน แถมไม่มี scale ที่มันควรจะเป็น ในตลาดที่คู่แข่งเราเก่ง ๆ กันทุกคน

Robinhood Delivery ก็มาถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้ แต่ TalentOfRobinhood กลุ่มนี้ พี่ ๆ เพื่อน ๆ ช่วยสนับสนุนต่อได้ครับ

ไฟแห่งการทำงานพวกเขายังลุกโชนอยู่ ไม่มอดหายไปแม้แต่นิด พวกเขายังมี ‘อนาคต’ สร้างสรรค์สังคมได้อีกแยะ

ด้วยความเชื่อนี้ ผมจึงขออนุญาตภูมิใจนำเสนอ

https://talentofrobinhood.com/

เว็บไซต์เล็ก ๆ ที่ผมเองลงมือเป็น Lead Product Owner เพื่อให้ใช้งานง่ายที่สุด สำหรับ recruiter ทุกท่าน ทีมงานเล็ก ๆ เสกมันขึ้นมาในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ เพื่อช่วยน้อง ๆ ของเราหางาน

ภายในเราจัดหมวดหมู่ไว้ดูง่าย
ดูแบบเรียงแถว ดูแบบ org chart
ชอบคนไหน กด save ไว้ดูทีหลังได้
แต่ละคน เก่งอะไร รับผิดชอบอะไร มองหางานแบบไหน
ข้อมูลพนักงานถูกต้อง ครบถ้วน ได้รับ consent เรียบร้อย
ให้ติดต่อตรงได้เลย ตามสะดวก

ถ้าพี่ ๆ เพื่อน ๆ คิดว่า คุณสมบัติพนักงานด้านบน เป็นสิ่งที่องค์กรต้องการ
ผมกราบฝากสนับสนุน TalentOfRobinhood กลุ่มนี้ ด้วยการกด ‘Share’ สักหนึ่งครั้ง เขียนข้อความสั้น ๆ ให้กำลังใจพวกเขา และเข้าไปเยี่ยมชม https://talentofrobinhood.com/

ส่งให้ HR ขององค์กรคุณ เผื่อเอาไว้นะครับ

ขอบคุณทุกท่านอีกครั้งที่สนับสนุน Robinhod มาโดยตลอดครับ
ขอบคุณจริง ๆ จากหัวใจ ชาว RBH ทุกคน
ฝากสนับสนุน The Last Product of Robinhood ด้วยนะครับ

https://talentofrobinhood.com/

จนกว่าจะพบกันใหม่

ต้อง กวีวุฒิ
CEO, Purple Ventures

SCBX เลื่อนยุติการให้บริการส่งอาหาร 'Robinhood' หลังพบหลายกลุ่มทุนเสนอซื้อกิจการเข้ามามากเกินคาด

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) เลื่อนการยุติการให้บริการส่งอาหาร (Food Delivery) ของแอปพลิเคชัน Robinhood ออกไปจากกำหนดเดิม คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. เนื่องจากบริษัทอยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อเสนอเข้าซื้อกิจการทั้งหมดจากผู้ที่สนใจ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่คาดไว้ โดยยังคงการยุติการให้บริการส่วนอื่น ได้แก่ Travel, Ride, Mart และ Express ตามกำหนดเดิม คือในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567

ทั้งนี้ บริษัทมีความตั้งใจและพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะทำให้แอปพลิเคชัน Robinhood ซึ่งเกิดขึ้นจากการพัฒนาโดยคนไทยเพื่อคนไทย ได้มีโอกาสที่จะได้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน อันจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภค ร้านค้า และไรเดอร์ส่งอาหาร

SCBX หวังว่าการเลื่อนการยุติการให้บริการส่งอาหาร (Food Delivery) ออกไปอีกระยะหนึ่ง หลังจากวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 จะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากลูกค้า เพื่อช่วยเหลือร้านค้าและไรเดอร์ส่งอาหาร ผ่านแอปพลิเคชัน Robinhood เช่นเดียวกับตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป

ก่อนหน้านี้ SCBX ได้แจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้กลุ่ม SCBX มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป หลังจากบรรลุภารกิจช่วยเหลือร้านค้า ไรเดอร์ และคนตัวเล็กในช่วงวิกฤตโควิดได้ตามเป้าประสงค์

ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงโควิด แอปพลิเคชัน Robinhood ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของร้านอาหารและธุรกิจต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองท่องเที่ยว จนผู้ประกอบการเหล่านั้นผ่านพ้นวิกฤต Robinhood ยังได้ช่วยเหลือต่อจนผ่านเข้าสู่สภาวะปกติได้

นอกจากนั้น Robinhood ยังช่วยสร้างงานให้กับไรเดอร์หลายหมื่นชีวิตในช่วงที่ยากลำบากอย่างต่อเนื่อง และดูแลอย่างเป็นธรรมจนหลายคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในส่วนของลูกค้าผู้ใช้บริการ Robinhood ได้เป็นตัวกลางช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายในราคาที่เป็นธรรมมาโดยตลอด

บัดนี้ เมื่อวิกฤตโควิดผ่านพ้นไปและธุรกิจต่าง ๆ เข้าสู่สภาวะปกติ แอปพลิเคชัน Robinhood จึงตัดสินใจยุติบทบาทลง เพื่อให้การยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood เป็นไปอย่างราบรื่น และส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อลูกค้าผู้ใช้งาน ร้านค้า ไรเดอร์ ผู้ขับรถยนต์โดยสาร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โปรดทราบถึงข้อมูลสำคัญ ดังนี้

ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป ลูกค้าจะไม่สามารถใช้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ได้เป็นการถาวร, ผู้ประกอบการร้านค้า ไรเดอร์ ผู้ขับรถยนต์โดยสาร สามารถใช้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood Shop, Robinhood Rider, Robinhood Driver เพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้จนถึงวันที่ 31 ก.ค.2567 เวลา 20.00 น.

‘ไทยเบฟ’ ตั้ง ‘ลิตเติ้ล จอห์น ดิจิทัล’ ทุนจดทะเบียน ‘หมื่นล้าน’ ลุยธุรกิจดิจิทัล

(7 ก.ย.67) มีกระแสข่าวใหญ่ ‘บิ๊กดีล’ ของ ‘บิ๊กคอร์ป’ ยักษ์เครื่องดื่มและอาหารในภูมิภาคอาเซียนอย่าง ‘ไทยเบฟเวอเรจ’ ที่ถูกเอ่ยไปอยู่ในโผของรายชื่อที่สนใจธุรกิจแพลตฟอร์ม Food Dlivery อย่าง ‘โรบินฮู้ด (Robinhood)’ ที่ก่อนหน้านี้ประกาศ ‘ยกธงขาว’ จะปิดให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood เป็นการถาวร วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 หลังบริษัทเผชิญ ‘ขาดทุนบักโกรก’ สะสมกว่า 5,000 ล้านบาท

เกิดความปราชัยในสนามธุรกิจไม่ทันไร เห็นการกลับลำ เลื่อนการยุติให้บริการออกไปก่อน เมื่อมีบรรดา ‘นายทุนใหญ่’ ให้ความสนใจยื่นเสนอเจรจาซื้อกิจการ ‘รับไม้ต่อ’ เพื่อเป็นหนึ่งใน ‘ขั้วที่ 3’ รายใหญ่ สู้ศึกฟู้ดเดลิเวอรี่ยกใหม่

‘ทุนใหญ่’ ที่ถูกเผยจะเป็นผู้นำทัพ ‘โรบินฮู้ด’ ปรากฏชื่อของ ‘บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)’ ที่มี ‘เจ้าสัวหนุ่ม ฐาปน สิริวัฒนภักดี’ ทายาทของราชันย์น้ำเมา ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็น 1 ใน 3 รายชื่อที่อยู่ในวงบิ๊กดีล! ดังกล่าว

ความเคลื่อนไหวของ ‘ไทยเบฟ’ สอดรับกับกระแสข่าวรุกฟู้ดเดลิเวอรี่เห็นชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่ภายใต้ชื่อ ‘บริษัท ลิตเติ้ล จอห์น ดิจิทัล จำกัด’ (Little John Digital) ซึ่งมีทุนจดทะเบียนมากถึง 1 หมื่นล้านบาท(10,000 ล้านบาท) ประกอบด้วยหุ้นสามัญ 1,000,000 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท

ขณะที่การลงทุนดังกล่าว จะเป็นเงินทุนที่จัดจากภายใน ส่วนการถือหุ้นนั้น มีบริษัทโดยอ้อมของเครืออย่าง “โอเพน อินโนเวชั่น”(Open Innovation) ที่เป็นบริษัทลงทุนด้านเทคโนโลยี และดิจิทัล ถือหุ้นใน ‘ลิตเติ้ล จอห์น ดิจิทัล’ สัดส่วน 99.9999%

ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวมีรายนาม ‘คณะกรรมการบริษัท’ ที่เป็นแม่ทัพนายกองของ ‘ไทยเบพ’ ครบครัน! ทั้ง นายอวยชัย ตันทโอภาส ผู้เป็นขุนพลธุรกิจสุราให้กับเจ้าสัวเจริญมาอย่างยาวนาน นายโฆษิต สุขสิงห์ ที่เป็นขุนพลข้างกายเจ้าสัวหนุ่ม ฐาปน และดูแลธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึง ‘เทคโนโลยี-ดิจิทัล’ ด้วย ยังมี นางต้องใจ ธนะชานันท์ ซึ่งดูแลด้านความยั่งยืน นางสาวนันทิกา นิลวรสกุล นายโสภณ ราชรักษา ที่ก้าวเป็น ‘แม่ทัพธุรกิจอาหาร’ ให้กับกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ หมาด ๆ และเป็นการสลับเก้าอี้กับ ‘นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล’ ที่เปลี่ยนจากเคลื่อนธุรกิจอาหาร ไปดูแลธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ นายกฤษฎา วรรธนภาคิน และนายพิพิธ จริยวัฒนวิจิตร

‘ไทยเบฟ’ เป็นอาณาจักรเครื่องดื่มและอาหารที่ใหญ่ มีแบรนด์สินค้ามากมาย โดยงวด 9 เดือน (ปีงบประมาณ ต.ค.-66 ก.ย.67) บริษัททำรายได้จากการขายที่ 217,055 ล้านบาท เติบโตเล็กน้อย 0.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) 38,595 ล้านบาท เติบโต 2.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เครื่องดื่มโดยรวมทั้ง เหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ทำเงินมหาศาล ส่วน ‘อาหาร’ 9 เดือน มีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรก่อนหักภาษี 1,438 ล้านบาท ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

พอร์ตโฟลิโออาหารเต็มไปด้วย ‘แบรนด์แกร่ง’ ที่ยืนหนึ่งยาวนานนับสิบปี เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น โออิชิ แกรนด์ ชาบูชิ ยังมีเสริมทัพด้วยแบรนด์ระดับโลกทั้งไก่ทอดเบอร์ 1 ‘เคเอฟซี’ และร้านกาแฟ ‘สตาร์บัคส์’ ฯ ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่พร้อมต่อจิ๊กซอว์ สร้างการเติบโตในอนาคต

ดังนั้น ภาพใหญ่เครื่องดื่มเป็น ‘หัวใจ’ สำคัญของบริษัท แต่เครื่องดื่มเป็นสินค้าคู่ (Combination) ‘อาหาร’ อยู่เสมอ กินแล้วต้องดื่ม ทำให้บริษัทยังหาช่องเพื่อเบ่งพอร์ตโฟลิโอให้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งครึ่งปีแรก ‘อาหาร’ มีสัดส่วนรายได้เพียง 6.7% เท่านั้น และ ‘กำไรสุทธิ’ เพียง 3.6% สะท้อนว่ายังโตได้อีก!

หากสร้างการเติบโตของไทยเบฟอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ PASSION 2025 ที่จะขยายตลาด สร้างแบรนด์ ‘เข้าถึงผู้บริโภค’ ให้มากขึ้น

หากดีลประวัติศาสตร์รุกคืบเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีอย่าง ‘โรบินฮู้ด’ จะเสริมแกร่งให้กับ ‘ไทยเบฟรอบทิศ’ ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ฟอาหารถึงมือผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันจะสตาร์บัคส์ เคเอฟซี และอื่นๆ ล้วนมีบริการดังกล่าว ซึ่งบางอย่างพึ่งพาพันธมิตร แต่มีบางอย่างที่ทำเองอย่าง โออิชิ

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญสุดหากได้ ‘โรบินฮู้ด’ มาอยู่ใต้เงา ‘ไทยเบฟ’ นั่นคือการได้ ‘คลังแสงข้อมูล’ (Big Data) ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้ออาหารของผู้บริโภค ซื้อเมนูอะไร ราคาต่อบิลเท่าไหร่ ความถี่เป็นอย่างไร ฯ ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์ ต่อยอดการทำตลาด จัดโปรโมชั่นเพื่อ ‘กระตุ้นยอดขาย’ ได้อีกมากโข

ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้ข้อมูลบรรดา ‘หน้าร้านอาหาร’ ต่างๆ ที่จะเป็นอีกหนึ่ง ‘จิ๊กซอว์’ ให้ไทยเบฟ ต่อยอด ‘การขายเครื่องดื่มทุกหมวด’ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

นี่มองแค่การเสริมแกร่งไทยเบฟ ยังไม่นับทั้งอาณาจักร ‘ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น’ หรือทีซีซี กรุ๊ป มองยังไง

เป็นที่ประจักษ์ว่า ‘โรบินฮู้ด’ อยู่ใต้เงา ‘เอสซีบี เอกซ์’ (SCB X) ที่จุดเริ่มต้นอยากช่วยเหลือคนตัวเล็กช่วงวิกฤติโควิด-19 ทว่า การลงสนามฟู้ดเดลิเวอรี หนึ่งในธุรกิจเผาเงิน เพื่อแลกกับผู้บริโภคมาใช้แพลตฟอร์มไม่ได้แจ้งเกิดง่ายๆ ยิ่งต้องกลืนเลือด 5,000 กว่าล้านบาท ใน 4 ปี จะกัดฟันฝืนขาดทุนต่อ ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะไม่ต่อยอดธุรกิจหลัก (Core business)

เมื่อ ‘เอสซีบี เอ็กซ์’ จะทิ้ง ‘โรบินฮู้ด’ สร้างมาแล้วไม่สูญเปล่า นายทุนใหญ่ต้องการรับช่วงต่อ ได้เม็ดเงินมา ‘บรรเทาบาดแผลธุรกิจ’ ได้ไม่มากก็น้อย ส่วนทุนใหม่รับศักยภาพจากดีลนี้ คือการได้ยอดลูกค้าที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไม่น้อยเพราะมีจำนวน ‘นับล้านราย’ ร้านค้าบนแพลตฟอร์มที่พร้อมเสิร์ฟลูกค้า ‘ร่วมแสนราย’ เหล่า ‘ไรเดอร์’ อีกนับ ‘หมื่นชีวิต’

แบรนด์ ‘โรบินฮู้ด’ ติดตลาดแจ้งเกิดแล้ว และภาพลักษณ์แบรนด์ถือว่าครองใจผู้บริโภค คนใช้งานอย่างดี เมื่อมีทุนมาใส่เงินต่อ การ ‘ลุกขึ้นเดิน-วิ่ง’ สู้ต่ออีกครั้งย่อมไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ยิ่งถ้าอยู่ภายใต้ ‘ไทยเบฟ’ รับรองว่า ‘สงครามฟู้ดเดลิเวอรี่’ 8.6 หมื่นล้านบาท เดือด!!

ในแวดวงธุรกิจ จะเห็น ‘ไทยเบฟ’ เดินทางลัด ‘ซื้อและควบรวมกิจการ’ (M&A) อยู่เป็นนิจ เพราะมีเงิน มันสมอง(ขุนพลนายกอง) พร้อมต่อยอดสิ่งที่ซื้อมาให้เติบโต และซีนเนอร์ยี ทั้งอาณาจักรแสนล้านบาทได้

เห็นการซื้อกิจการบ่อย ๆ ของไทยเบฟ และล้วนเป็นบิ๊กดีลระดับ ‘หมื่นล้าน-แสนล้านบาท’ แทบทั้งสิ้น

ปัจจุบันไทยเบฟมีภาระหนี้ทั้งจากกู้เงินธนาคาร หุ้นกู้ ที่จะครบกำหนดชำระ เช่น 5 ปี และอื่นๆ รวมมูลค่า 209,044 ล้านบาท (ณ สิ้นมิ.ย.67) แต่กระนั้น อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน หรือ Interest Bearing Debt to Equity Ratio อยู่ในระดับต่ำ 0.68% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ระดับ 0.65% สะท้อนฐานะทางการเงินขององค์กรแกร่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ ‘ไทยเบฟ’ จะมีชื่ออยู่ในโผผู้สนใจเจรจา ‘โรบินฮู้ด’ แต่ดีลนี้ ยังไม่ใช่!สำหรับยักษ์เครื่องดื่มและอาหาร เพราะรายงานข่าวระบุว่า ‘รายอื่น’ คือผู้คว้า ‘โรบินฮู้ด’ ไปต่อยอดธุรกิจเรียบร้อยแล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top