'จุรินทร์' ประกาศ ไทยยื่นสัตยาบัน RCEP แล้ว ตั้งเป้าต้นมกราคม 65 มีผลบังคับใช้ ลุยการค้า-การส่งออก ตลาดใหญ่ของโลก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แถลงข่าวเรื่อง RCEP หลังจากที่สมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 15 ประเทศได้ร่วมลงนาม
นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องการให้สัตยาบัน RCEP( Regional Comprehensive Economic Partnership) โดยกติกาข้อตกลง RCEP ซึ่งมีสมาชิกปัจจุบัน 15 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ กับอีก 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งได้มีการเจรจาและเป็นที่ยุตติเมื่อปี 2562 ขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันเสร็จสิ้นแล้วในเวลานั้น แต่ว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะเงื่อนไขที่กำหนดไว้ คือ อย่างน้อยในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศต้องมีไม่น้อยกว่า 6 ประเทศให้สัตยาบัน และประเทศนอกสมาชิกอาเซียนที่มี 5 ประเทศอย่างน้อย 3 ประเทศร่วมให้สัตยาบัน รวม 3 + 6 ก็เป็น 9 ประเทศ ขณะนี้ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มว่าจะให้สัตยาบันครบ 6 ประเทศแล้ว ประกอบด้วย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชาและเวียดนาม รวมทั้งประเทศ ไทย ได้ยื่นให้สัตยาบันแล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา
โดยยื่นต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนที่ประเทศอินโดนิเซีย ส่วนประเทศนอกสมาชิกอาเซียน มีจีนกับญี่ปุ่นยื่นไปแล้ว ถ้ามีอีกหนึ่งประเทศ ก็ถือว่าครบตามเงื่อนไข ซึ่งคาดว่าต้นปีหรือเดือนมกราคม 65 ข้อตกลง RCEP จะบังคับใช้ในประเทศสมาชิก 15 ประเทศต่อไป ซึ่งจะมีผลให้ RCEP กลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันถึง 2,300 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรโลก และทำให้กลุ่มประเทศ RCEP มีจีดีพี 33.6% ของจีดีพีโลก หรือ 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก มูลค่าการค้าประมาณ 30% ของมูลค่าการค้าโลก ถ้ามีผลบังคับใช้ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย
" ยกตัวอย่าง เช่น ประเด็นที่1 การส่งออกภาษีเป็นศูนย์อย่างน้อย 39,366 รายการ โดยลดเหลือศูนย์ จำนวน 29,891 รายการทันทีที่บังคับใช้ ประเด็นที่2 ตลาด RCEP จะเป็นการเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทยหลายรายการ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น ประเด็นที่3 ไทยจะได้รับการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยเฉพาะในการส่งออก เมื่อสินค้าไปสู่ด่านถ้าเป็นสินค้าเน่าเสีย ผู้ค้าจะต้องปล่อยสินค้าภายในเวลา 6 ชั่วโมง จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกผลไม้ ผักและสินค้าเน่าเสียหลายรายการของไทย
